แฟ้มข่าวเศรษฐกิจ : สรรพากรเดินหน้ารีดภาษีร้านออนไลน์ / รัฐเบิกจ่ายลงทุนยังหลุดเป้า / ประสารชี้ ศก.ไทยโตตามวัฏจักร

“แบงก์รัฐ” ร่วมหนุนเถ้าแก่ยุค 4.0

นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล ประธานกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ได้ร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ทำโครงการสร้างบ้านสร้างอาชีพ และส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อสร้างความมั่นคงในการดำเนินกิจการ และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน และสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้ โดยการเปิดให้บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลที่เป็นลูกค้าของ ธพว. และ บสย. ที่มีความต้องการขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือขอสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการแฟลต/อพาร์ตเมนต์ หรือขอสินเชื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย (พรีไฟแนนซ์) สามารถเลือกใช้สินเชื่อของ ธอส. ได้ โดยจะเปิดให้ยื่นกู้และทำนิติกรรมภายในวันที่ 28 ธันวาคม 2561 โดยความร่วมมือครั้งนี้ มีจุดประสงค์ที่จะสร้างอาชีพในที่อยู่อาศัย เข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ และยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ซึ่งสินเชื่อเถ้าแก่ยุค 4.0 จะคิดดอกเบี้ยพิเศษ 1% ปลอดชำระเงินต้น 3 ปีแรก

สรรพากรเดินหน้ารีดภาษีร้านออนไลน์

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรอยู่ระหว่างการแก้ไขประมวลรัษฎากร มีสาระสำคัญในการกำหนดให้สถาบันการเงินส่งรายงานธุรกรรมการรับและโอนเงินพิเศษของลูกค้าแก่กรมสรรพากรเป็นประจำทุกปี ซึ่งที่ผ่านมากรมสรรพากรมีอำนาจในการขอรายงานธุรกรรมการเงินของลูกค้าจากสถาบันการเงินที่เห็นว่า มีความผิดปกติได้อยู่แล้ว แต่กรณีนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจน และเน้นไปยังลูกค้าที่มีธุรกรรมพิเศษ เช่น การขายสินค้าหรือบริการต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์ ขอให้มีการรายงานเป็นประจำทุกปี และในส่วนที่ไม่ได้ขายสินค้าหรือบริการ หากมีธุรกรรมการรับหรือโอนตามที่กำหนดก็จะต้องรายงาน เพื่อให้ทราบว่าเป็นธุรกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอะไร ซึ่งกรณีนี้ช่วยป้องกันการทุจริตในด้านต่างๆ และรวมถึงปัญหาฟอกเงินด้วย

ทั้งนี้ ธุรกรรมพิเศษที่สถาบันการเงินต้องรายงานนั้น หมายถึงยอดฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไปต่อปี หรือยอดฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 200 ครั้งขึ้นไปและมียอดรวมตั้งแต่ 2,000,000 บาทขึ้นไปต่อปี อย่างไรก็ตาม การแก้ไขกฎหมายดังกล่าว อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนระหว่างวันที่ 1-15 เมษายนนี้ โดยจะนำความเห็นมาปรับปรุงให้เหมาะสม ก่อนเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี เพื่อส่งเข้าสู่การพิจารณาในชั้นสภานิติบัญญัติ (สนช.) โดยตั้งเป้าหมายจะผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในปีนี้

ประสารชี้ ศก.ไทยโตตามวัฏจักร

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ศาสตราภิชานกองทุนเพื่อการบริหารวิชาการและการศึกษา คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกมีการขยายตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 2562 จะขยายตัว 3.9% ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวตาม แต่การส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน ภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างพื้นฐานใน 3 เรื่อง คือ การพัฒนาคน การลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความล้าสมัยของโครงสร้างสถาบันทางเศรษฐกิจ

โดยที่ผ่านมาแผนเศรษฐกิจของไทยจะให้ความสำคัญกับเรื่องของปริมาณมากกว่าการพัฒนาในเชิงคุณภาพ ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมมีปัญหาในเชิงโครงสร้างซึ่งเป็นปัจจัยฉุดรั้งการพัฒนาประเทศ แม้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้จะเป็นสัญญาณที่ดี แต่ในความเป็นจริงแล้วถือเป็นการขยายตัวตามวัฏจักร ไม่ได้มาจากศักยภาพทางการแข่งขันที่แท้จริง ดังนั้น ภาครัฐและเอกชนควรมองอย่างระมัดระวัง พยายามแก้ปัญหาโครงสร้าง และปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก

สคร.เร่งตั้ง บ.ฟินเทคขายข้อมูล

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า สคร. เตรียมจัดตั้งบริษัทฟินเทค เพื่อรวบรวม ดูแล และขายข้อมูลให้แบงก์รัฐ โดยจะสร้างแพลตฟอร์มอำนวยความสะดวกแบงก์รัฐ ให้สามารถบริการประชาชนและเอสเอ็มอี โดยได้รับสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง ซึ่งบริษัทดังกล่าวจะรู้ว่า ลูกค้าที่เป็นเอสเอ็มอีอยู่ที่ไหนบ้าง และเมื่อเชื่อมโยงข้อมูลของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) กับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จะทราบได้ว่า เอสเอ็มอีหนึ่งคนนั้น ตอนนี้ใช้บริการสินเชื่ออยู่กับแบงก์รัฐไหนบ้าง และเป็นหนี้เสียเท่าไร หรือต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง โดยในระยะต่อไปของการพัฒนาระบบบิ๊กดาต้าของแบงก์รัฐ สคร. จะให้คะแนนในการประเมินสินเชื่อนั้น นอกจากดูข้อมูลด้านกิจการและสถานะการเงินแล้ว ยังสามารถวิเคราะห์ลึกลงไปถึงข้อมูลที่ไม่ใช่ตัวเอง เพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมของลูกค้ามากขึ้น

รัฐเบิกจ่ายลงทุนยังหลุดเป้า

นางญาณี แสงศรีจันทร์ รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ผลการเบิกจ่ายสิ้นไตรมาส 2 ประจำปีงบประมาณ 2561 ตั้งแต่ตุลาคม 2560-มีนาคม 2561 งบประมาณภาพรวมเบิกจ่ายได้ 1,470,559 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 2,900,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 50.70% ต่ำกว่าเป้าหมาย 1.59% (เป้าหมาย 52.29%) แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ เบิกจ่ายได้ 1,289,746 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 2,240,219 ล้านบาท หรือคิดเป็น 57.60% สูงกว่าเป้าหมาย 2.60% (เป้าหมาย 55.00%) ส่วนรายจ่ายลงทุน เบิกจ่ายได้ 180,811 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 577,298 ล้านบาท หรือคิดเป็น 31.30% ต่ำกว่าเป้าหมาย 11.81% (เป้าหมาย 43.11%) โดยก่อหนี้แล้วจำนวนทั้งสิ้น 366,237.38 ล้านบาท หรือคิดเป็น 55.59% สำหรับการเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่กันไว้เบิกเหลื่อมปีทำได้แล้ว 127,635 ล้านบาท ของวงเงิน 323,948 ล้านบาท หรือคิดเป็น 39.40% ก่อหนี้แล้ว 233,179 ล้านบาท หรือคิดเป็น 71.98%

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า ช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 สคร. จัดเก็บรายได้จากรัฐวิสาหกิจจำนวน 68,147.20 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายการจัดเก็บรายได้แผ่นดินสะสม 10,168.85 ล้านบาท คิดเป็น 17.54% ของเป้าหมายรายได้แผ่นดินสะสม 57,978.35 ล้านบาท