จรัญ พงษ์จีน : เก็บมาเล่าจากทัวร์รัสเซีย

จรัญ พงษ์จีน

มีเรื่อง “เก็บ” ขอนำมาเล่าย้อนหลัง ที่ยังถือว่า “ไม่สาย” กับการได้ร่วมคณะผู้สื่อข่าว-บรรณาธิการสื่อหลายสำนัก เดินทางไปดูงานกับคณะผู้บริหารของกลุ่ม ปตท. ที่เสมือนหนึ่งยก “ทัพหลวง” ไปเยือนประเทศ “รัสเซีย” ซึ่งประกอบไปด้วยผู้บริหารระดับสูงของบริษัทในเครือ “เกือบจะทั้งหมด”

นำทีมโดย “ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์” ประธานกรรมการ ปตท. “เทวินทร์ วงศ์วานิช” ซีอีโอเบอร์หนึ่ง ปตท. “สมพร ว่องวุฒิพรชัย “ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.สผ. “อธิคม เติบศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไทยออยล์ “สุกฤตย์ สุรบถโสภณ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไออาร์พีซี “เติมชัย บุนนาค” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือจีพีเอสซี “ประเสริฐ สลิลอำไพ” ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่บริหารชื่อเสียงองค์กรและกิจการเพื่อสังคม

สัปดาห์เต็มๆ กับตารางดูงานที่ถี่ยิบระหว่างวันที่ 17 มีนาคม-25 มีนาคมที่ผ่านมา

พบปะผู้บริหารหลายองค์กร เจรจาแบบครบวงจรเลยทีเดียว ทั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานรัสเซีย บริษัทน้ำมันเอกชน และรัฐวิสาหกิจ รวมถึงมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการขุดเจาะน้ำมัน

อาทิ Rosneft, Federal Antimonopoly Service, Skolkovo, Ministry of Energy of the Russian Federal, State University of Oil and Gas, St. Petersburg Mine University เป็นต้น

ลึกลงไปในรายละเอียด ภาพโดยรวมในการดูงาน เฉพาะ “กระทรวงพลังงานรัสเซีย” มีการจัดโครงสร้างการจัดการพลังงานใหม่ ยกระดับคุณภาพ สร้างสมดุล ลดความเสี่ยงของการพึ่งพาพลังงานอย่างเดียว การเข้าถึงทรัพยากรของคนในชาติ, การพัฒนาเศรษฐกิจโดยการใช้ธุรกิจด้านพลังงานยังมีความสำคัญกับรายได้ของประเทศ การพัฒนาด้านเทคโนโลยีมีความสำคัญเพื่อให้ต้นทุนการผลิตต่ำสุด มีความพยายามในการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมที่มีมากกว่า 2,000 แหล่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ยังไม่เคยพัฒนา โดยคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นสำคัญ

“เหนือสิ่งอื่นใด” คือการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและสหพันธรัฐรัสเซีย ที่มีต่อกันมายาวนานกว่า 100 ปี ให้เกิดความต่อเนื่อง ซึ่งก่อนหน้าที่ผู้บริหาร “ปตท.” ยกคณะเดินทางไปดูงาน

“สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” เสด็จพระราชดำเนินเยือนรัสเซีย เพื่อกระชับสัมพันธไมตรี เป็นการเฉลิมฉลองครบรอบความสัมพันธ์ไทย-รัสเซีย ครบรอบ 120 ปี

และเมื่อปี พ.ศ.2560 “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ก็เดินทางไปเยือนรัสเซีย เพื่อหารือความสัมพันธ์ทวิภาคีกับ “ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน” หลัง “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกฯ ด้านความมั่นคง และ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกฯ เศรษฐกิจเดินทางไปเยือนมาก่อนหน้าเมื่อปลายปี 2559

ความสัมพันธ์ระหว่างภาคประชาชนระหว่างไทย-รัสเซียนับว่ามีความแน่นแฟ้นมากขึ้น โดยในปี 2560 นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยสูงถึง 1.3 ล้านคน ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยก็นิยมเดินทางไปท่องเที่ยวรัสเซียมากขึ้น เมืองยอดนิยมคือ Moscow St.Petersburg พ่อค้า-แม่ค้า Souvenir หลายร้าน พูดจาทักทายขายของที่ระลึกเป็นภาษาไทย

“คนรัสเซีย” มีความเคารพและซื่อสัตย์ต่อสัญญา ตกลงแล้วจะไม่ผิดสัญญา มีความหยิ่ง ทะนงตัว พึ่งพาตัวเองสูง

ปัจจุบัน “การบินไทย” ได้เพิ่มเที่ยวบินให้บริการระหว่างกรุงเทพฯ-มอสโก ถึง 4 เที่ยวต่อสัปดาห์

มูลค่าการค้าระหว่างไทย-รัสเซียเพิ่มสูงขึ้นถึง 79 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2560 ตามข้อตกลงระหว่างไทย-รัสเซีย วางเป้าหมายเพิ่มมูลค่าทางการค้าให้ได้ตามเป้า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2563

สินค้าส่งออกจากไทยที่สำคัญได้แก่รถยนต์และชิ้นส่วน คิดเป็น 42 เปอร์เซ็นต์ ตามด้วยอาหารสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์ยาง

อุปสรรคสำคัญ ระยะเวลาเดินทางของสินค้าจากไทยสู่รัสเซีย ค่อนข้างนานประมาณ 45-60 วัน

อย่างไรก็ตาม รัสเซียให้ความสนใจต่อภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2561 นำผู้แทนบริษัทในภาคพลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน การเงิน และธนาคารจำนวน 74 คนมาร่วมงาน “รัสเซีย-ไทยแลนด์ บิสสิเนส ฟอรั่ม” ที่กรุงเทพฯ

 

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับสหภาพโซเวียตมีความแนบแน่นในหลายมิติมายาวนาน บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นที่ตั้ง และนำมาซึ่งการเสด็จฯเยือนรัสเซียของ “ราชวงศ์ระดับสูง” ถึง 3 พระองค์ เมื่อก่อนหน้านี้

ได้แก่ การเสด็จฯเยือนสหภาพโซเวียตอย่างเป็นทางการของ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ” ณ ขณะนั้นระหว่างวันที่ 16-21 พฤษภาคม พ.ศ.2532 การเสด็จเยือนสหภาพโซเวียตของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในปีเดียวกัน และการเสด็จฯเยือนสหพันธรัฐรัสเซียอย่างเป็นทางการของ “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ” ในปีพ.ศ.2536

จุดหนึ่งที่ทำให้ความร่วมมือระหว่างสองประเทศพัฒนาคือไทย-รัสเซียก้าวหน้าอย่างมีพลวัตสูงยิ่งในทุกด้าน ก้าวต่อมานั่นคือการมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของ “ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน” และ “นางลุดมิลา ปูตินา” ภริยา ในฐานะพระราชอันตุกะของ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” รัชกาลที่ 9 และ “สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ” ในรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2546 หรือ ค.ศ.2003 หรือเมื่อ 15 ปีที่แล้ว

“ปูติน” ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้นำรัสเซียครั้งแรก เมื่อปี 2000-2008 และเป็นนายกรัฐมนตรีระหว่างปี 2008-2012 และกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง

ประกาศลงเลือกตั้งใหม่ ชนะถล่มทลายอีกครั้งตามคาดไปเมื่อคืนวันอาทิตย์ 18 มีนาคม จะอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีของรัสเซียอีก 6 ปี ครบวาระในปี 2024

นับเป็นวาระแห่งประวัติศาสตร์ ผู้นำประเทศระดับประธานาธิบดีของรัสเซียที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย ซึ่งได้พระราชทานงานเลี้ยงอาหารค่ำเป็นเกียรติแก่ผู้นำสูงสุดของประเทศรัสเซียด้วย

“รัสเซีย” ถูกสร้างภาพให้ดราม่า เป็นผู้ร้ายแค่ในจอภาพยนตร์