จรัญ มะลูลีม : สุรินทร์ พิศสุวรรณ : จากการมาถึงการอำลาจาก (4)

จรัญ มะลูลีม

คุณลักษณะส่วนตัว

เท่าที่รู้จักกันมายาวนานตั้งแต่ ดร.สุรินทร์ยังอยู่บ้านหลังเดินที่ ต.รวมโชค โชคชัย 4 ดร.สุรินทร์ ไม่เคยวิจารณ์ตัวบุคคลถ้าเขาจะวิจารณ์เรื่องใดๆ เขาก็จะวิจารณ์เป็นภาพรวมเช่น

บทบาทของธนาคารอิสลาม (ซึ่งผมเคยเป็นกรรมการบริหารมา 5 ปี) ที่ควรจะเป็น

โทรทัศน์มุสลิมที่ควรรวมเป็นช่องเดียวกัน สุนทรียศาสตร์อิสลามกับวิวัฒนาการ

เขาพูดถึงการสร้างหอนาฬิกาขนาดใหญ่ของซาอุดีอาระเบียที่มาบดบังทัศนียภาพของมหามัสญิดหะรอม (Haram) ในนครมักกะฮ์ (Makkah) ว่าเป็นความทันสมัยที่ไม่พัฒนา

 

ความสัมพันธ์กับคนที่รู้จัก

ในฐานะที่เคยเดินทางไปกับ ดร.สุรินทร์ทั้งในยุโรป เอเชียและแอฟริกา สิ่งหนึ่งที่ ดร.สุรินทร์จะทำเป็นประการแรกๆ คือหาซื้อ Post Card เพื่อส่งความคิดถึงไปยังผู้คนที่เขาเคารพ รู้จักและเคยร่วมงานกันมา

ในสมัยที่ Social Media ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย Post Card และลายมือที่เขียนออกมาจากความรู้สึก จะประทับใจคนรับ Post Card ของเขาและสายสัมพันธ์นี้จะมีอย่างต่อเนื่อง เพราะเขาจะส่ง Post Card บอกเล่าพื้นที่ๆ เขาเดินทางและความระลึกถึงต่อกันสั้นๆ พร้อมกับลายเซ็นตัวโตๆ ลงท้าย Post Card เขาทำแบบนี้มายาวนาน สำหรับผมพบว่า ดร.สุรินทร์น่าจะเริ่มส่ง Post card มาให้ตั้งแต่เขาเป็นรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศและมีโอกาสเดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ ของโลกอย่างต่อเนื่อง

ก่อนจะถึงแก่อนิจกรรมเขาสื่อสารกับคนรู้จักผ่านทาง Line และ Facebook ซึ่งเขาจะส่งให้อย่างต่อเนื่อง

เรื่องที่เขาสนใจมากก่อนจากไปคือชะตากรรมของชาวโรฮิงญาในเมียนมา

 

การรักษาสัญญาและการนัดหมาย

ขณะประชุมองค์การการประชุมอิสลาม (Organization of Islamic Conference) หรือ OIC ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation) หรือในชื่อย่อ OIC เหมือนกันที่กรุงโอกาดูกู (Ogadougou) ประเทศบูร์กินาฟาร์โซซึ่งตั้งอยู่ในแอฟริกาตะวันตก ระหว่างวันที่ 1-5 มิถุนายน ปี 2542 อยู่นั้นมีรายงานว่าจะมีการประท้วงที่เมืองหลวงแห่งนี้ทำให้กำหนดการเดินทางอาจต้องเลื่อนไป

ดร.สุรินทร์กังวลมาก เพราะมีนัดสำคัญอยู่ที่ประเทศไทย จึงปรึกษาหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศของบรูไนคือเจ้าชายอะห์มัด โบลกียะฮ์ พระอนุชาของกษัตริย์ฮัซซานัล โบลกียะฮ์ที่เข้าร่วมประชุมด้วย

เจ้าชายอะห์มัดจึงขอให้กลับพร้อมกันด้วยเครื่องบินส่วนพระองค์ที่ชื่อ Royal Brunei อันเป็นชื่อเดียวกับสายการบินของประเทศ เพื่อไปลงที่ฝรั่งเศส

ราวตีสองซึ่งอากาศหนาวเย็น ผมจำได้ว่าคุณเตซ บุญนาค ซึ่งตอนนั้นเป็นเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสอยู่ได้มาให้การต้อนรับเพื่อไปพักที่สถานทูต และไปเยือนกรุงปารีสเป็นระยะเวลาสั้นๆ ก่อนเดินทางกลับโดยสายการบินไทย โดยตอนนั้นผมได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาและเดินทางไปพร้อมกับนักการทูตอีกสองคน คือคุณสุขเกษม โยธาสมุทร และคุณพจน์ หาญผล

ปีนั้นเป็นปีแรกที่ไทยเข้าร่วมประชุม OIC ซึ่งหมุนเวียนการประชุมไปตามตัวอักษรของประเทศสมาชิกหลังจากประเทศไทยได้รับสถานะเป็นประเทศสังเกตการณ์ของ OIC ซึ่งผลักดันโดย ดร.สุรินทร์ ทั้งนี้ ในการประชุมที่สหรัฐอเมริกาสมาชิก 2 ใน 3 ของ OIC ยอมรับให้ประเทศไทยมีสถานะเป็นประเทศสังเกตการณ์ (Observer status) ของ OIC ในปี 2542

ทำให้ประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับโลกมุสลิม 57 ประเทศมากขึ้นทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมมาจนถึงปัจจุบัน

 

ความสัมพันธ์ในฐานะนักวิชาการมุสลิม

ผมกับ ดร.สุรินทร์มีพื้นฐานคล้ายคลึงกันคือมีพ่อ-แม่เป็นนักการศาสนา คุณพ่อของ ดร.สุรินทร์ เป็นนักการศาสนาของนครศรีธรรมราช คุณแม่เป็นครูสอนคัมภีร์อัล-กุรอานมีปอเนาะบ้านตาลเป็นสถานที่สอนหนังสือ

ส่วนแม่และพ่อของผมเป็นครูสอนศาสนาและภาษาอาหรับในโรงเรียนอิสลามศรีอยุธยามูลนิธิ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา การมีพื้นฐานคล้ายคลึงกันทำให้ผมกับ ดร.สุรินทร์ สื่อกันได้ไม่ยากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมมุสลิมที่นักวิชาการซึ่งอยู่ในแวดวงมหาวิทยาลัยจะคุ้นเคยและรู้จักและสนิทสนมกัน

ผมเรียนมาทางรัฐศาสตร์เน้นภูมิภาคตะวันออกกลางและโลกมุสลิม ดร.สุรินทร์ก็เรียนมาทางรัฐศาสตร์และสนใจตะวันออกกลางและโลกมุสลิมเหมือนกัน รวมทั้งสนใจความเป็นไปของชาวมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้ของไทยเป็นพิเศษ

สิ่งหนึ่งที่ ดร.สุรินทร์ ชอบเอ่ยถึงขณะที่สนทนากันก็คือคุณูปการณ์ของนักคิดมุสลิมที่มีต่อโลกในสมัยต่างๆ เขาเป็นคนหนึ่งที่ชอบซื้อหาหนังสือทีละหลายเล่ม และเล่าให้ฟังว่าไม่รู้ว่าคนอื่นๆ ที่เดินทางไปต่างประเทศกับเขาจะคิดอย่างไรเวลานั่งเครื่องบินที่บินด้วยระยะทางไกล เมื่อเขาเอาเวลานั่งเครื่องบินเป็นเวลาหาความรู้ ไม่ค่อยได้คุยกับคนที่ไปด้วย ทั้งนี้ ในระหว่างเดินทางพนักงานต้อนรับหญิงบนเครื่องบินที่คุ้นเคยเมื่อเห็น ดร.สุรินทร์ทำท่าเคลิ้มๆ จะหลับก็เข้าไปปิดไฟแต่อีกไม่นาน ดร.สุรินทร์ ก็จะเปิดไฟอีกและอ่านหนังสือต่อไป

ดร.สุรินทร์ ชอบการนำเสนอโดยไม่มีเอกสาร แต่อาศัยการอ่านอย่างต่อเนื่องก่อนนำเสนอเสมอ

 

ความสัมพันธ์กับสื่อมุสลิม

ดร.สุรินทร์ มีความผูกพันกับสื่อมาตลอด เขาให้ความสำคัญกับการเสนอแนวคิดของเขาผ่านบทความของเขาที่เขียนในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post และ The Nation เป็นระยะๆ

ในเวลาเดียวกัน เขาก็ให้ความสำคัญกับสื่อมุสลิมโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ทางนำ เขาต้องการสื่อกับสังคมที่เขาเติบโตมาและสื่อกับสังคมไทยในวงกว้างในเวลาเดียวกัน

ทั้งนี้หนังสือพิมพ์มุสลิมทางนำมักจะลงผลงานของเขามาโดยตลอด ตั้งแต่เขาเรียนจบมาใหม่ๆ จนถึงเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศ รัฐมนตรีต่างประเทศจนถึงตำแหน่งผู้แทนฮัจญ์ทางการ

เมื่ออยู่บนเครื่องบินกัปตันสายการบินไทยได้เปิดโอกาสให้ ดร.สุรินทร์อธิบายถึงการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์และอธิบายถึงเส้นทางบินไปพร้อมๆ กัน