ทวีศักดิ์ บุตรตัน :โลกร้อนเพราะมือเรา (122) “ไต้หวัน” ลบอดีต “เกาะขยะ”

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

“ไต้หวัน” เป็น 1 ใน 7 ประเทศที่กรมควบคุมมลพิษของบ้านเราหยิบยกเอาเป็นกรณีตัวอย่างความสำเร็จในการรีไซเคิลขยะ โดยสรุปใจความใส่ไว้ในร่างแผนจัดการขยะพลาสติอย่างบูรณาการ พ.ศ.2560-2564 ดังนี้

ในปี 2544 องค์กรคุ้มครองสิ่งแวดล้อมไต้หวัน หรือ EPA (Taiwan Environmental Protection Agency) ออกกฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติกและกล่องโฟมโดยไม่คิดมูลค่า เนื่องจากมีถุงพลาสติกในไต้หวัน 16 ล้านชิ้นต่อวัน ทำให้เกิดปัญหาในการกำจัดขยะมูลฝอยประเภทพลาสติกและโฟม

กฎหมายดังกล่าวเริ่มใช้ในวันที่ 5 มิถุนายน 2545 แยกเป็น 2 หัวข้อ

1. ออกกฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติกที่มีความหนาไม่เกิน 0.06 มิลลิเมตร

2. มาตรการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมในระดับผู้ค้าปลีกโดยออกกฎห้ามร้านค้าแจกฟรีถุงพลาสติกและกล่องโฟม

ถ้าฝ่าฝืนมีโทษปรับประมาณ 66,000-300,000 บาท

ระยะแรกของการบังคับใช้กฎหมายมุ่งเน้นหน่วยราชการ หน่วยงานสาธารณะต่างๆ ได้แก่ ร้านค้าของทหาร โรงเรียนรัฐและโรงเรียนเอกชน โรงพยาบาลรัฐ โรงอาหารในหน่วยงานของรัฐจะต้องปฏิบัติตามกฎนี้

ระยะที่สองบังคับใช้กับห้างสรรพสินค้า คลังเก็บสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายอาหารฟาสต์ฟู้ด และร้านอาหารที่มีหน้าร้าน

การเรียกเก็บค่าถุงพลาสติกหรือกล่องโฟมโดยผู้ค้าปลีก ไม่ได้ถูกกำหนดในอัตราที่แน่นอน

ปกติผู้ค้าปลีกจะกำหนดถุงพลาสติกใบละ 1-3 บาท แต่ยกเว้นการเก็บค่าถุงพลาสติกที่ใช้สำหรับบรรจุสินค้าที่สามารถเสียได้ง่าย และพลาสติกที่ใช้ห่ออาหาร

 

หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีต เจอร์นัล ตีพิมพ์รายงานกระบวนการรีไซเคิลของไต้หวันว่า ยอดเยี่ยมเป็นอัจฉริยะและน่าประทับใจมาก

ในอดีตช่วงระหว่างทศวรรษ 1970-1980 ใครๆ ก็พากันให้ฉายา “ไต้หวัน” ว่าเป็นเกาะแห่งขยะ (Garbage Island)

ทุกซอกมุมของตึกในกรุงไทเป หรือตามหัวเมืองต่างๆ ล้วนมีกองขยะซุกอยู่ หนู แมลงสาบวิ่งกันพล่าน กลิ่นเหม็นโชยไปทั่ว ส่วนรอบๆ ชานเมือง มีภูเขาขยะเห็นเป็นหย่อมๆ

เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูฝน ไต้หวันเผชิญกับพายุไต้ฝุ่นหลายลูก แต่ละลูกพัดถล่มเกาะอย่างหนักหน่วง น้ำฝนท่วมขังกองขยะ บ่อบำบัดน้ำเสียที่เต็มไปด้วยมลพิษ น้ำปนเปื้อนไหลซึมลงดิน แหล่งน้ำสาธารณะ

กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน โดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้านในกรุงไทเปมองว่าถ้าปล่อยให้บ้านเมืองเต็มไปด้วยคราบสกปรก สิ่งแวดล้อมเป็นพิษอย่างนี้ ลูกหลานจะอยู่อย่างไร

ปี 2530 แม่บ้านไต้หวันรวมตัวตั้งเป็นสหภาพ เรียกร้องให้รัฐบาลไต้หวันหันมาสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม

อีก 2 ปีต่อมา รัฐบาลออกกฎหมายว่าด้วยสมาคมพลเรือน ให้ความสำคัญกับกลุ่มเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อม ถือเป็นรากฐานของขบวนการรากหญ้าในไต้หวันที่นำมาซึ่งความสำเร็จในการบริหารจัดการขยะ

กลุ่มแม่บ้านยุคแรกของไต้หวันส่วนใหญ่เป็นภรรยาของอาจารย์ นักวิชาการในมหาวิทยาลัยมีประมาณ 10 คน นัดประชุมหารือแก้ปัญหาขยะชุมชน

ในเวลานั้น การชุมนุมของกลุ่มแม่บ้านดังกล่าวดูเหมือนจะสวนทางกับวิถีประเพณีปฏิบัติดั้งเดิม ที่ผู้หญิงจีนต้องอยู่หลังบ้านดูแลครอบครัว ไม่ใช่มาจุ้นจ้านกิจการนอกบ้าน

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่รัฐบาลไต้หวันดูเหมือนงงๆ กับกลุ่มแม่บ้านว่าออกมายุ่งเกี่ยวอะไรกับการเก็บขยะ แต่ในที่สุดยอมรับว่า กลุ่มแม่บ้านช่วยทำให้บ้านเมืองสะอาดอย่างเห็นเป็นประจักษ์

เพราะกลุ่มแม่บ้านสามารถระดมสรรพกำลังเก็บขยะเพื่อนำไปรีไซเคิลได้มากถึง 40% รวบรวมขยะเปียก นำไปคัดแยกเป็นอาหารให้กลุ่มปศุสัตว์ และแปรรูปเป็นปุ๋ยส่งให้กลุ่มเกษตรกร 35%

 

ต่อมารัฐบาลไต้หวันออกกฎหมายจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม จัดตั้งกองทุนรีไซเคิล เก็บค่าจัดการขยะโรงงานอุตสาหกรรม ค่าธรรมเนียมสินค้าที่นำมารีไซเคิล

รายได้จากการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมนำมาสนับสนุนโครงการกำจัดขยะในชุมชน กลุ่มแม่บ้านที่ร่วมมือร่วมใจกันเก็บคัดเลือกขยะ กลุ่มรักษาความสะอาดในที่สาธารณะ และเจ้าหน้าที่เก็บขยะของรัฐ

รัฐบาลท้องถิ่นเข้าดูแลกระบวนการเก็บและรีไซเคิลขยะอย่างเป็นระบบทั้งในกรุงไทเปและเมืองต่างๆ รวม 22 แห่ง มีกลุ่มแม่บ้าน ชุมชน ห้างร้านและโรงงานอุตสาหกรรมร่วมสนับสนุนอย่างเต็มที่

ส่วนเงินกองทุนรีไซเคิล มีมากกว่า 7,000 ล้านบาท แบ่งไปเป็นงบประมาณให้ความรู้กระบวนการขยะรีไซเคิล แก่เด็ก เยาวชน ชุมชน นำไปใช้ในการวิจัยพัฒนา จัดซื้อรถเก็บขยะรีไซเคิลและสนับสนุนการสร้างโรงเก็บขยะทั่วไต้หวัน

โรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ขยะรีไซเคิลเป็นวัตถุดิบในไต้หวัน ก้าวหน้ามาก อย่างเช่น

โรงงานต้าฝู นำกระดาษใช้แล้ว ขยะโลหะรีไซเคิล แปรรูปใหม่ทำรายได้มากกว่า 3,000 ล้านบาท

โรงงานไต้หวัน รีไซคลิ่ง คอร์ปอเรชั่น วิจัยพัฒนาขยะขวดพลาสติกมาแปรรูปเป็นใยสังเคราะห์นำไปถักทอเป็นเสื้อแจ๊กเก็ตใส่เล่นสกีและพรม

กระบวนการรีไซเคิลของไต้หวัน ก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ คนที่เกษียณอายุ แม่บ้าน รวมถึงกลุ่มที่มีอายุระหว่าง 31-50 ปี เข้าสู่แรงงานรีไซเคิลมากที่สุด

ทบวงสิ่งแวดล้อมไต้หวัน ประเมินมีแรงงานในวงจรรีไซเคิลราว 2 แสนคน

 

นับตั้งแต่เริ่มใช้กฎหมายรีไซเคิลในไต้หวัน สถิติการเก็บขยะรีไซเคิลสูงถึง 65% ของขยะที่ทิ้งทั่วประเทศ

เป็นสถิติน่าทึ่ง ลบทิ้งฉายา “เกาะขยะ” ได้อย่างภาคภูมิใจ

ถ้าเทียบต่อประชากร ไต้หวันเก็บขยะนำไปรีไซเคิลได้มากกว่าสหรัฐเสียอีก

“ยู จีน เฉียน” รัฐมนตรีทบวงสิ่งแวดล้อมคนแรกของไต้หวัน กล่าวว่า การเก็บขยะรีไซเคิลของไต้หวันนั้น ไม่ใช่สำเร็จเพียงชั่วข้ามคืน หากต้องใช้เวลาในการให้ความรู้ การศึกษากับประชาชน ความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ ชุมชน ประชาชนและธุรกิจอุตสาหกรรม