นงนุช สิงหเดชะ/ทั่วโลกเข็น กม. ปราบ Fake news โซเชียล

บทความพิเศษ

นงนุช สิงหเดชะ

ทั่วโลกเข็น กม. ปราบ Fake news โซเชียล

การอุบัติขึ้นของสื่อรูปแบบใหม่อย่างโซเชียลมีเดีย แน่นอนว่าแม้จะมีประโยชน์มากมายในแง่การสื่อสารติดต่อกันของผู้คนในสังคม แต่ก็มีปัญหามากมายเกิดขึ้นตามมาด้วย
ดังที่ทราบกัน ทั้งการแพร่ภาพที่ไม่เหมาะสม เช่น ภาพลามกอนาจาร ภาพที่โหดร้ายน่ากลัว เช่น การฆ่าตัวตายแบบสดๆ การเผยแพร่ข้อความเท็จหรือโฆษณาชวนเชื่อด้วยจุดประสงค์ร้ายบางอย่าง การโพสต์ข้อความที่สร้างความเกลียดชัง ฯลฯ
เนื่องจากสภาพของสื่อโซเชียลมีเดียนั้นมีความรวดเร็วในการแพร่กระจายและเข้าถึงคนจำนวนมหาศาลในคราวเดียวกันยิ่งกว่าสื่อแบบดั้งเดิม จึงทำให้หน่วยงานรัฐยากที่จะไล่ตามทันในการสอดส่องดูแลหรือวางกฎกติกาเพื่อควบคุมให้อยู่ในความเหมาะสม
นี่จึงเป็นปัญหาท้าทายและโจทย์ใหญ่ของทุกรัฐบาลของประเทศประชาธิปไตยในโลกยุคดิจิตอล

ปัจจุบันปัญหาการปล่อยข่าวเท็จหรือ Fake news ตลอดจนการโพสต์ข้อความที่กระตุ้นความเกลียดชังหรือขัดต่อความสงบต่อความเรียบร้อยของสังคม เป็นความกังวลใหญ่ของรัฐบาลหลายประเทศ
และมีบางประเทศแม้แต่ประเทศประชาธิปไตยในยุโรป เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศสได้เริ่มออกกฎหมายเพื่อปราบปราม Fake news บนโซเชียลมีเดียแล้ว แม้จะถูกตำหนิว่าลิดรอนเสรีภาพของประชาชนก็ตาม
เยอรมนีได้คลอดกฎหมายออกมาใช้แล้วเมื่อเดือนมกราคมปีนี้
โดยสาเหตุมาจากช่วงรณรงค์การเลือกตั้งเยอรมนีเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งมีพวกขวาจัดที่ต่อต้านนโยบายต้อนรับผู้อพยพของนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความอันเป็นเท็จซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจของประชาชนในทางการเมือง
รวมทั้งข้อความที่สร้างความเกลียดชังทางเชื้อชาติและกล่าวร้ายผู้อื่น
รัฐบาลเยอรมนีเกรงว่าข่าวลวงจากอินเตอร์เน็ตอาจมีบทบาทสำคัญต่อการตัดสินใจทางการเมืองของประชาชนแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในแล้วในอเมริกาช่วงที่โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังหาเสียงเพื่อชิงตำแหน่งผู้นำสหรัฐในปลายปี 2559 โดยในคราวนั้นมีผู้ปล่อยข่าวลวงทางเฟซบุ๊กว่า “พระสันตะปาปาฟรานซิส ทรงสนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์”
ซึ่งปรากฏว่าสุดท้ายทรัมป์พลิกล็อกชนะเลือกตั้งจริงๆ

เยอรมนี ซึ่งผ่านบทเรียนเจ็บปวดจากเหตุการณ์สังหารยิวนับล้านคนโดยฮิตเลอร์ ทำให้การพูดยั่วยุเพื่อให้เกิดความรุนแรงทางเชื้อชาติและข้อความสนับสนุนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรง
ดังนั้น ในกฎหมายควบคุมโซเชียล จึงกำหนดให้เจ้าของเน็ตเวิร์กที่มีผู้ใช้บริการเกินกว่า 2 ล้านรายขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ กูเกิล ยูทูบ สแน็ปแชตและอินสตาแกรม (ยกเว้น LinkedIn,WhatsApp และ Xing) ต้องลบหรือบล๊อกข้อความที่เห็นชัดว่าเป็นอาชญากรรม เช่น “พวกยิวควรถูกรมด้วยก๊าซ” ภายใน 24 ชั่วโมง นับจากมีผู้ร้องเรียน
หากเจ้าของเน็ตเวิร์กไม่ปฏิบัติตามอาจต้องถูกปรับมากถึง 50 ล้านยูโร (ราว 1,920 ล้านบาท) อีกทั้งยังกำหนดให้เจ้าของเน็ตเวิร์กต้องจัดทำรายงานปีละ 1 ครั้งว่าจะได้จัดการกับปัญหาที่มีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับข้อความที่ผิดกฎหมายหรือไม่เหมาะสมอย่างไรบ้าง (เช่น ได้ลบไปกี่โพสต์ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาและเพราะอะไร)
รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของเยอรมนีซึ่งเป็นเจ้าภาพของกฎหมายนี้ระบุว่า กฎหมายดังกล่าวมีไว้เพื่อต่อต้านข้อความที่สร้างความเกลียดชังและกระตุ้นความรุนแรง
พร้อมกับระบุว่าที่ผ่านมาโซเชียลมีเดียเหล่านี้ไม่ได้พยายามเพียงพอในอันที่จะลบโพสต์ที่เป็นอาชญากรรม โดยข้อมูลที่ได้รับจากหน่วยงานปกป้องเยาวชนพบว่า ทวิตเตอร์ลบข้อความผิดกฎหมายที่มีผู้ร้องเรียนเพียง 1% เฟซบุ๊กลบ 39% ลดลงจาก 46% ขณะที่กูเกิลทำได้ดีกว่า ส่วนยูทูบนั้นทำได้ดีที่สุด กล่าวคือ 90% ของวิดีโอที่ถูกร้องเรียนโดยผู้ใช้บริการได้รับการลบตามที่ร้องขอ
แน่นอนว่าฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยได้โจมตีอย่างหนัก โดยเห็นว่ากฎหมายนี้ไม่ต่างจากกฎหมาย “เซ็นเซอร์” สื่อ และจะกลายเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการสร้างอิทธิพลทางการเมืองเสียเอง และเท่ากับรัฐบาลละเมิดหลักกฎหมายพื้นฐานว่าด้วยความเป็นกลาง
นอกจากนั้นก็มีเสียงวิจารณ์ว่า ทำไมรัฐบาลมอบอำนาจให้บริษัทเอกชนที่เป็นเจ้าของเน็ตเวิร์กเหล่านี้ทำการลบข้อความผิดกฎหมาย แทนที่จะให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน และการทำเช่นนั้นก็เท่ากับว่าบุคคลที่โพสต์ข้อความผิดกฎหมายจะไม่ได้รับการลงโทษใช่หรือไม่ เพียงแค่ลบแล้วก็แล้วกัน

ในฟากของฝรั่งเศสที่เชิดชูเสรีภาพและประชาธิปไตย ก็มีความน่าตะลึงอยู่ไม่น้อย เพราะได้ออกกฎหมายคุมโซเชียลมีเดียแบบเดียวกับเยอรมนี โดยเจ้าของความคิดก็คือประธานาธิบดีหนุ่ม เอ็มมานูเอล มาครง สาเหตุก็คือตอนเลือกตั้งปีที่แล้วมาครงก็เจอพิษ Fake news ทางโซเชียลมีเดียเล่นงาน และส่วนใหญ่เป็นฝีมือของผู้มีบัญชีอยู่นอกประเทศ โดยมาครงยังได้กล่าวหาว่ารัสเซียพยายามแทรกแซงการเลือกตั้งฝรั่งเศส
“คำโฆษณาชวนเชื่อและคำโกหกกำลังแพร่กระจายไปทั่วโลกในทุกภาษา ถ้าเราต้องการปกป้องประชาธิปไตย เราต้องมีกฎระเบียบที่เข้มแข็งและชัดเจน” นี่คือคำอธิบายจากประธานาธิบดีหนุ่ม
ที่น่าแปลกใจก็คือผลสำรวจพบว่าชาวฝรั่งเศส 79% เห็นด้วยกับการปราบ Fake news บนโซเชียลมีเดียเพราะเห็นว่าข้อมูลเท็จเช่นนี้สร้างปัญหา
ทั้งนี้ ปัจจุบันแหล่งข่าวหลักของชาวฝรั่งเศส 78% ยังคงเป็นสื่อกระแสหลัก (หนังสือพิมพ์ ทีวี) กล่าวคือ เมื่อต้องการเสพข่าวที่น่าเชื่อถือ พวกเขายังหันมาหาสื่อแบบดั้งเดิม

ในเมื่อพี่ใหญ่ประชาธิปไตยในยุโรป ก็ยังกล้าออกกฎหมายที่ถูกมองว่าลิดรอนเสรีภาพสื่อ แล้วทำไมมาเลเซีย ซึ่งไม่ได้มีภาพประชาธิปไตยอยู่แล้วจะทำไม่ได้ ทำให้มาเลเซียกลายเป็นประเทศล่าสุดใหม่หมาดที่อยู่ระหว่างเสนอร่างกฎหมายให้จำคุกถึง 10 ปี หากใครปล่อยข่าวเท็จทางโซเชียล โดยมีผลบังคับใช้กับผู้อยู่นอกประเทศด้วย
แน่นอนว่า นายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรี ถูกโจมตีว่าออกกฎหมายนี้มาเพื่อป้องกันไม่ให้ใครขุดคุ้ยเปิดโปงคดีฉ้อโกงเงินกองทุนแห่งรัฐของมาเลเซียที่โด่งดังไปทั่วโลก
การควบคุมโซเชียลมีเดีย เป็นโจทย์ยากและท้าทายในการหาจุดสมดุลระหว่างการรักษาเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการป้องกันอาชญากรรมและต่อต้านผู้กระตุ้นให้เกิดความเกลียดชังและรุนแรงในสังคม
หากจะไม่ควบคุมเลยตามแนวคิดของพวกหัวเสรีสุดโต่งก็ไม่ถูกต้อง เพราะอย่าลืมว่าระดับการศึกษาและความสามารถในการใช้ดุลพินิจของคนในสังคมไม่เท่ากัน ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่รู้วิธีตรวจสอบว่าข้อมูลทางโซเชียลเชื่อถือได้หรือไม่
อีกทั้งไม่รู้วิธีเสาะหาข้อมูลที่น่าเชื่อถือมาหักล้างหรือเทียบเคียงข่าวที่อาจจะลวงนั้น ทำให้หลงเชื่อได้ง่าย ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนอีกมากอย่างน่าตกใจที่ช่องทางเสพข่าวหลักของพวกเขายังเป็นโซเชียลมีเดีย
ดูจากห้องแชตไลน์ของเพื่อนๆ พวกเรา เห็นได้ชัดว่าแม้จะจบปริญญาตรี แต่ก็ยังมีการแชร์ข่าวลวง ข่าวที่ไม่รู้ที่มาที่ไป ข่าวที่ไม่น่าจะเป็นไปได้กันอยู่เนืองๆ โดยไม่คิดจะตรวจสอบข้อเท็จจริงจากสื่อกระแสหลัก หรือใช้ดุลพินิจของตัวเอง
ต่างจากชาวฝรั่งเศสที่ส่วนใหญ่เกือบ 80% ยังเสพข่าวจากสื่อกระแสหลัก อย่างน้อยเมื่อพวกเขาเห็นข่าวลวงในโซเชียล พวกเขาก็ยังใช้ดุลพินิจได้ว่าควรเชื่อหรือไม่