แมลงวันในไร่ส้ม/สิ้นมนต์ ‘นกหวีด’ ‘มาร์ค’ ไม่เอา ‘บิ๊กตู่’ ป.ช.ป. พลิกเกมสู้เลือกตั้ง

แมลงวันในไร่ส้ม

สิ้นมนต์ ‘นกหวีด’

‘มาร์ค’ ไม่เอา ‘บิ๊กตู่’

ป.ช.ป. พลิกเกมสู้เลือกตั้ง

การเมืองเดินเข้าสู่อีกขั้นตอน ของคำสั่ง 53/2560 ที่กำหนดให้พรรคการเมืองต้องดำเนินการต่างๆ แทนที่จะบังคับใช้ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง
หลังจากพรรคการเมืองใหม่ ยื่นขอจดทะเบียน เริ่มต้นมาตั้งแต่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ล่าสุดถึงคิวที่พรรคการเมืองเดิมต้องเรียกสมาชิกพรรคมายืนยันสมาชิกภาพภายใน 30 วัน นับจากวันที่ 1 เมษายนเป็นต้นไป ที่เรียกกันว่า “เซ็ตซีโร่” สมาชิกพรรค
ใครไม่มาต้องยื่นสมัครใหม่ ซึ่งงานนี้ทำให้พรรคที่มีสมาชิกมากๆ อย่างประชาธิปัตย์ (ปชป.) เดือดดาลเป็นพิเศษ เพราะเกรงสมาชิกนับล้านจะหายหกตกหล่น
ที่น่าสนใจอีกประเด็น ได้แก่ การที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป. ประกาศไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ
ท่าทีดังกล่าว เปิดเผยออกมาจากการให้สัมภาษณ์ภายหลังแถลงนโยบายพรรค เมื่อวันที่ 1 เมษายน อันเป็นวันยืนยันสมาชิกภาพ ปชป. วันแรก
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า แนวทางของพรรคในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ที่มีเรื่องของนายกฯ คนนอก หัวใจสำคัญอยู่ที่ว่าต้องการให้บ้านเมืองเดินไปทางไหน ได้แถลงนโยบายไปว่า ปชป.ยุคใหม่ พรรคต้องไปขอความสนับสนุนจากสมาชิกและประชาชน การจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะต้องเคารพเจตนารมณ์ของประชาชน
“ยืนยันว่า สมาชิกพรรค ปชป. ก็ยังสนับสนุนหัวหน้าพรรค ปชป. อยู่แล้ว ส่วนใครที่จะออกนอกแถวไปสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้น ให้ไปทางเลือกอื่น ไม่ต้องมาที่นี่ เพราะมีพรรคอื่นรองรับเยอะแยะ ถ้าจะอยู่กับพรรค ปชป. ก็ต้องสนับสนุนหัวหน้าพรรค ไม่ว่าหัวหน้าพรรคจะเป็นใครก็ตาม ซึ่งความเป็นไปได้ที่พรรค ปชป. จะสนับสนุนทหารเป็นรัฐบาลนั้น ต้องไปดูว่า ทหารเข้ามาได้อย่างไร และมีกี่เสียง” หัวหน้าพรรค ปชป. กล่าว
นับเป็นท่าทีที่น่าสนใจ ขณะเดียวกับที่ในการรายงานตัวของสมาชิกพรรค ปชป. ครั้งนี้ กลุ่ม กปปส. ที่เคลื่อนไหวชัตดาวน์ ขับไล่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย และขัดขวางการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 จนกระทั่งเกิดรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 พากันกลับมารายงานตัวเป็นแถว
นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ยืนยันว่านอกจาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ ที่ลาออกไป และ นายธานี เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.สุราษฎร์ฯ ที่แสดงเจตนาว่าจะเป็นผู้ไปจดแจ้งพรรคการเมืองใหม่ ก็ยังไม่มีอดีต ส.ส. ท่านอื่น มาบอกว่าจะไม่มาร่วมงานกับเรา
และเท่าที่สังเกต วันนี้หลายท่านก็มายืนยันแล้ว บางท่านที่มายืนยันไม่ได้เนื่องจากไปบวช แล้วพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรค ก็ต้องรอสมัครสมาชิกพรรคใหม่
เท่ากับว่า บรรดา กปปส. ก็ต้องรับเงื่อนไข ไม่สนับสนุนนายกฯ คนนอก คือ พล.อ.ประยุทธ์ ไปพร้อมกัน

ก่อนหน้านี้ พรรค ปชป. ถูกวิจารณ์อย่างหนักในเรื่องที่มีสมาชิกพรรคจำนวนหนึ่งไปร่วมจัดตั้งกลุ่ม กปปส. ขับไล่รัฐบาลเพื่อไทย และล้มการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557
ส.ส. และสมาชิกพรรคหลายคนมีบทบาทอย่างสูงในการชุมนุมครั้งนั้น
ซึ่งแม้เริ่มต้นด้วยการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่เมื่อรัฐบาลยอมถอย และยุบสภา กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ เพื่อใช้กระบวนการเลือกตั้งแก้ปัญหา
แต่กลุ่มผู้ชุมนุมยังชูคำขวัญ ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง จากนั้นเข้าขัดขวางการสมัครรับเลือกตั้ง นำหีบบัตรเลือกตั้งไปทิ้ง
และล้มการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557
ซึ่งมีประชาชนในภาคเหนือ อีสาน ภาคกลางและ กทม. มาลงคะแนน ส่วนที่ไม่เอาการเลือกตั้ง คือภาคใต้ และบางส่วนของ กทม.
สุดท้ายการเลือกตั้งถูกตัดสินให้เป็นโมฆะโดยศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลว่า การเลือกตั้งไม่ได้จัดขึ้นในวันเดียวกัน
ภาพของนายอภิสิทธิ์และแกนนำพรรคหลายคนร่วมกิจกรรม ร่วมเป่านกหวีดในระหว่างการชุมนุมก็ยังปรากฏให้เห็นจากภาพข่าวในสื่อออนไลน์
และทั้งหมดลงเอยด้วยการที่ทหารในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เข้ายึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
คสช. ประกาศโรดแม็ปจะคืนอำนาจ จัดเลือกตั้ง และเลื่อนหลายครั้งหลายหน จนกระทั่งปัจจุบัน
เป็นเวลาเกือบ 4 ปี

ที่ผ่านมาพรรค ปชป. ประกาศตัวต่อต้านระบบทักษิณเป็นเป้าหมายหลักสำคัญอันดับต้นๆ
แกนนำพรรคล้วนมีท่าทีชิงชังระบบทักษิณ ซึ่งสุดท้าย มีการรัฐประหารเพื่อขับไล่สิ่งที่เรียกว่า “ระบบทักษิณ” ถึง 2 ครั้ง ในปี 2549 และ 2557
แต่ดูเหมือนเครือข่ายระบบทักษิณก็ยังอยู่ และเอาชนะพรรค ปชป. มาหลายครั้ง
แม้แต่ในการเลือกตั้งครั้งใหม่ ที่จะเกิดขึ้น ก็มีโพลระบุว่า พรรคที่ ปชป. เชื่อว่าเป็นตัวแทนระบบทักษิณก็จะเข้าป้ายมาอีก
ทำให้พรรคพร้อมจะร่วมมือกับฝ่ายตรงข้ามระบบทักษิณ
ดังคำให้สัมภาษณ์ของ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี อดีต ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อเร็วๆ นี้ ตอบโต้ นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ที่ออกมาระบุว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะไม่จับมือกับระบบทักษิณ แต่แอบคุยทางลับกับทหาร
น.ส.รังสิมากล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยหากพรรคประชาธิปัตย์จะจับมือกับพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล หรือพูดง่ายๆ คือจับมือกับทหารดีกว่าจับมือกับระบบทักษิณ เพราะตอนที่ตนเป็น ส.ส. ได้รู้ ได้เห็นว่าพรรคเพื่อไทยเป็นพวกประชาธิปไตยแต่ปาก
ในสภายิ่งกว่าบริษัทของเขา พยายามควบคุมหมดทุกอย่าง ไม่ใช่ประชาธิปไตยแท้จริง ระบบทักษิณน่ากลัวกว่าการรัฐประหารด้วยซ้ำไป เราต่อสู้ล้มล้างระบบทักษิณมาแทบเป็นแทบตาย ดังนั้น คงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้จับมือกับพรรคเพื่อไทย เพราะเหมือนน้ำกับน้ำมัน ขาวกับดำต้องอยู่คู่ขนาน ไม่มีทางมาบรรจบกันได้
ถ้าถึงที่สุดจำเป็นต้องโหวตนายกฯ คนนอก และจำเป็นต้องยกมือให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. จริงๆ ตนยอมยกมือให้ แต่ไม่มีทางยอมยกมือให้คนของพรรคเพื่อไทย
ขอบอกนายวรชัยเลยว่าพรรคเพื่อไทยต้องรอฝันหวาน ถ้ายังมีตระกูลทักษิณครอบงำ ก็จะเป็นขาวกับดำแบบนี้ตลอดไป

การขยับเปลี่ยนท่าทีของหัวหน้าพรรค ปชป. จึงทำให้งานการเมืองของพรรค ปชป. รอบนี้ มีความซับซ้อนมากขึ้น
ทางหนึ่ง จากแนวทางไม่เอาหัวหน้า คสช. ของพรรค ต้องเรียกศรัทธาและความเชื่อถือจากประชาชนให้ได้ โดยเฉพาะบรรดาแฟนคลับของพรรค ที่อาจจะสนับสนุน คสช.
อีกทางหนึ่ง คือการทำความเข้าใจ พลิกเปลี่ยนความคิดของบรรดาสมาชิกพรรคที่จำนวนไม่น้อย มีแนวคิดทำนองเดียวกับ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี