เมนูข้อมูล : “กระแส” กับ “คะแนนเสียง”

การเลือกตั้งที่ได้รับสัญญาณครั้งใหม่อีกครั้งจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ความน่าสนใจไม่ใช่แค่อยู่ที่จะเป็นการเลือกตั้งเพื่อรองรับอำนาจนิยมตามที่มีการเขียนกติกาโครงสร้างอำนาจใหม่ให้กับการปกครองประเทศได้สำเร็จ โดยผลักดันให้ประชาธิปไตยแบบสากลนิยมไปเป็นเพียงเปลือกหรือไม่เท่านั้น

แต่ในมิติของสื่อก็มีประเด็นที่น่าติดตามไม่น้อย

ความเป็นไปที่เกิดขึ้นในกระแสสังคมไทยขณะนี้ การเสียดทานระหว่างอนุรักษนิยมกับเสรีนิยมเป็นไปอย่างเข้มข้น

มีปรากฏการณ์ที่คล้ายจะชักนำให้ชีวิตของคนไทยกลับสู่รากวิถีแบบเก่าอย่างเข้มข้น

ขณะเดียวกัน กลับมีการพูดถึงการพัฒนาสู่วิถีชีวิตแบบใหม่อย่างให้เป็นความหวัง

การกลับคืนสู่รากเหง้าความเป็นไทยโบราณ กับพัฒนาการไปสู่สังคม 4.0 อันเป็นเป้าหมายของแผนการนำไปประเทศไปสู่ ดูจะต้องหาคำตอบกันไม่น้อย ระหว่างเดินไปข้างหน้า กลับหันหลังกลับไปสู่อดีตนั้น ความเป็นไปได้จะเกิดขึ้นได้อย่างไรในเส้นทางที่ดูจะสวนทางกันนั้น

นั่นเป็นเรื่องของคำตอบจากโครงสร้างอำนาจ

สำหรับสื่อมีคำถามที่เจือความคาดหวังอยู่ไม่น้อย

หลังจากสื่อเก่า ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ ทีวี พลิกไปเป็นสื่อกระแสรอง โดยมีสื่อออนไลน์โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย หรือสังคมออนไลน์ขึ้นมาเป็นสื่อกระแสหลัก

ทั้งกระจายไปอย่างรวดเร็วกว้างขวาง และมีพลังสร้างผลสะเทือนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก

คำถามคือว่า สื่อออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียที่สร้างสังคมออนไลน์อย่างซับซ้อนทั้งเฉพาะตัว เป็นกลุ่ม หรือเปิดกว้างสู่สาธารณะทั่วไปนี้

มีผลต่อการตัดสินใจทางการเมืองแค่ไหน

อย่างการเกิดขึ้นของ “พรรคอนาคตใหม่” ที่กำลังเป็นที่ฮือฮาในสังคมออนไลน์ ทั้งในทางชื่นชมว่าเป็น “พรรคการเมือง” ที่จัดเจนในอุดมการณ์จะเป็นทางเลือกของการเมืองไทย และในทางหมิ่นแคลนว่าเป็นความฝันเฟื่องของคนรุ่นใหม่ที่น่าจะได้แค่กระแส ไม่ได้คะแนนเสียง

เพราะคะแนนเสียงนั้นเป็นเรื่องของการลงพื้นที่สัมผัสชีวิตจริงของประชาชน ไม่เข้าถึงด้วยการส่งผ่านออนไลน์

ประเด็นนี้น่าสนใจยิ่ง

ผลสำรวจของ “กรุงเทพโพลล์” เรื่อง “พลังสื่อโซเชียลกับการเมืองยุค 4.0”

ในคำถามที่ว่า “ท่านจะติดตามหรือไม่ หากพรรคการเมือง หรือ กกต. มีการใช้สื่อโซเชียลประชาสัมพันธ์ข้อมูลการเลือกตั้ง หรือการหาเสียง” คำตอบคือติดตาม ร้อยละ 73.9 ไม่ติดตาม ร้อยละ 16.8 ไม่แน่ใจ ร้อยละ 9.3

ในความเห็นต่อพลังสื่อโซเชียล (IG, facebook, twitter) ว่า จะมีผลอย่างไรกับการเลือกตั้งที่จะถึง โดยให้เลือกตอบได้มากกว่า 1 ข้อ ร้อยละ 67.8 ตอบว่าช่วยกระตุ้นให้เกิดกระแส ทำให้คนอยากออกมาเลือกตั้ง ร้อยละ 58.4 ตอบว่าช่วยติดตามกิจกรรมการรณรงค์การเลือกตั้ง ร้อยละ 53.6 เห็นว่าช่วยสร้างช่องทางให้พรรคการเมืองนำเสนอนโยบายของพรรค ร้อยละ 49.1 คิดว่าช่วยเป็นเวทีให้นักการเมืองมาหาเสียง เช่น ไลฟ์สด หรือการดีเบต

คำตอบจากกรุงเทพโพลล์นี้ให้ความรู้สึกว่า สื่อออนไลน์เข้าถึงและน่าจะกำหนดความคิดของคนในยุคปัจจุบันได้ไม่น้อย

การลงพื้นที่เข้าถึงชีวิตจริงของประชาชนกับการเข้าถึงความคิดของคนในยุคปัจจุบันผ่านออนไลน์ แบบไหนจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ

กระแสกับคะแนนเสียงจะเป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่

คงได้รู้กันหลังรู้ผลเลือกตั้ง