แพทย์ พิจิตร : บทเรียนจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2549 : การป้องกันการยุบสภาที่ไม่ชอบ (38)

แนวทางสุดท้ายที่จะป้องกันมิให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจในการยุบสภาอย่างไม่ถูกต้องตามหลักการและประเพณี คือ หลักการ 3 หลักการอันได้แก่ “การปฏิเสธการยุบสภาที่ไม่จำเป็น” “การให้ไปทบทวนพิจารณาคำแนะนำการยุบสภา” และ “ประมุขของรัฐที่ผูกพันโดยกฎประเพณี (conventional rules)”

โดยทั้งสามหลักการนี้ให้ความสำคัญต่อบทบาทของประมุขของรัฐในการป้องกันมิให้เกิดการใช้ยุบสภาอย่างไม่ถูกต้อง

ซึ่งผู้เขียนจะเน้นไปที่พระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ โดยไม่กล่าวถึงประธานาธิบดี เพราะประเทศไทยใช้ระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และจะเห็นได้ว่าทั้งสามหลักการนี้จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในเงื่อนไข 2 อย่าง

ประการแรกคือ บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนโดยให้อำนาจประมุขของรัฐในการวินิจฉัยว่า จะยอมหรือปฏิเสธคำแนะนำการยุบสภาของนายกรัฐมนตรี/คณะรัฐมนตรี/สภาผู้แทนราษฎรหรือให้กลับไปทบทวน

ประการที่สอง ในกรณีของระบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข กล่าวได้ว่า พระราชอำนาจดังกล่าวนี้อยู่กับองค์พระประมุขมาอยู่ก่อนแล้ว หากพิจารณาตามประเพณีการปกครองระบบรัฐสภาของอังกฤษ นั่นคือ โดยประเพณีการปกครองแบบนี้ พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจนี้สืบทอดมาโดยตลอด เพียงเมื่อบริบทเปลี่ยนแปลงไป การใช้พระราชอำนาจนี้ก็ลดน้อยถอยลงไปตามเงื่อนไขสถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลง

สำหรับแนวทางสุดท้ายนี้ บทบาทสำคัญอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์ในการป้องกันมิให้นายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎรอย่างไม่ถูกต้อง การป้องกันที่ว่านี้คือ การปฏิเสธคำแนะนำยุบสภาหรือให้นายกรัฐมนตรีกลับไปพิจารณาทบทวน

ในการทำความเข้าใจแนวทางนี้ ผู้เขียนจะไม่ขออภิปรายพระราชอำนาจในการริเริ่มที่จะยุบสภาขององค์พระมหากษัตริย์ แต่ผู้เขียนจะอภิปรายแต่เฉพาะพระราชอำนาจที่จะปฏิเสธคำแนะนำยุบสภาหรือให้นายกรัฐมนตรีกลับไปพิจารณาทบทวนเท่านั้น

 

สําหรับมุมมองที่เห็นว่า อำนาจในการยุบสภานั้น อาจริเริ่มได้จากทั้งนายกรัฐมนตรีและจากองค์พระมหากษัตริย์ ในแวดวงนักวิชาการสาขากฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายมหาชนของไทย มีนักวิชาการอย่างน้อยสองท่านที่เห็นเช่นนั้น ได้แก่ ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ และ ศ.กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ

และแน่นอนว่า สำหรับฝ่ายที่เห็นว่า พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจริเริ่มยุบสภาได้ ก็ย่อมจะเห็นว่า พระองค์ย่อมทรงมีพระราชอำนาจที่จะปฏิเสธการยุบสภาที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำมา

อย่างในกรณีของอาจารย์บวรศักดิ์ ล่าสุดก็ยังยืนยันว่า พระมหากษัตริย์ไทยทรงมีพระราชอำนาจที่จะปฏิเสธการยุบสภาที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำมา

ขณะเดียวกัน แม้นว่าจะมีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจริเริ่มในการยุบสภา แต่ฝ่ายนี้ก็ไม่ได้ปฏิเสธว่า พระมหากษัตริย์ทรงปฏิเสธคำแนะคำของนายกรัฐมนตรีที่ขอให้ทรงยุบสภาผู้แทนราษฎรได้

และหากองค์พระมหากษัตริย์จะทรงปฏิเสธคำแนะนำดังกล่าวของนายกรัฐมนตรีได้ ก็แน่นอนว่าการให้กลับไปทบทวนก็ย่อมทำได้

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจริเริ่มในการยุบสภาแต่ยอมรับว่าพระองค์ทรงปฏิเสธคำแนะนำดังกล่าวของนายกรัฐมนตรี

ได้อ้างอิงความเห็นของ ศ.พิเศษ ดร.หยุด แสงอุทัย

ดังความว่า

 

“ปัญหานี้ผู้เขียนตำรารัฐธรรมนูญอังกฤษฝ่ายข้างมาก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เขียนตำราที่มีความเห็นฝ่ายซ้าย) เห็นว่าพระมหากษัตริย์จะทรงปฏิเสธไม่ได้ เพราะถ้าพระมหากษัตริย์ทรงปฏิเสธก็เท่ากับพระมหากษัตริย์ไม่ได้วางพระองค์เป็นกลางในทางการเมือง โดยเข้าข้างฝ่ายค้านรัฐบาล เพราะการกระทำเช่นนั้นเป็นการตัดโอกาสรัฐบาลที่จะขอให้ราษฎรซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่จะวินิจฉัยว่า การกระทำของรัฐบาลหรือของสภาผู้แทนราษฎรเป็นฝ่ายถูก หรือการที่รัฐมนตรีดำริจะกระทำจะตรงกับเจตจำนงของราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ สำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น น่าจะต้องถือว่าพระราชอำนาจนี้เป็นพระราชอำนาจอันแท้จริง ซึ่งพระมหากษัตริย์จะต้องทรงใช้ความรู้สึกด้วยความซื่อสัตย์ต่อประชากรของพระองค์ ฉะนั้นถ้าปรากฏว่า ได้มีการถวายคำแนะนำให้ทรงยุบสภาโดยไม่ใช่เพื่อให้ราษฎรวินิจฉัยปัญหา เพราะราษฎรเพิ่งจะได้วินิจฉัยปัญหานั้นในการเลือกตั้งทั่วไปมาแล้ว หรือโดยไม่ใช่เพื่อประสงค์จะทราบเจตจำนงของราษฎรแล้ว พระมหากษัตริย์ก็ไม่จำเป็นต้องพระราชทานพระปรมาภิไธย แม้นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีจะแสร้งอ้างอิงเหตุผลอื่นๆ ให้ทรงยุบสภาก็ดี อย่างไรก็ดี ในกรณีเป็นที่สงสัย พระมหากษัตริย์พึงอนุโลมตามคำแนะนำนั้น เพราะรัฐมนตรีที่ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบอยู่แล้ว นอกจากนี้ พระราชอำนาจที่จะทรงปฏิเสธคำแนะนำของรัฐมนตรีในการยุบสภานี้ก็เหมือนกับที่กล่าวมาแล้วในคำอธิบายมาตรา 8 หน้า 78 กล่าวคือ ต้องเป็นในกรณีที่นอกเหนือเหลือเกิน แต่ทั้งนี้ต้องเป็นวิถีทางสุดท้าย (ultima ratio) จริงๆ เช่น ถ้านายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำให้ทรงยุบสภา ทั้งๆ ที่เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลเองไม่เป็นที่ไว้วางใจของราษฎรในประเทศ หรือราษฎรส่วนมากไม่เห็นด้วยในนโยบายของรัฐบาล และการยุบสภาก็จะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เพิ่มการสนับสนุนรัฐบาลในสภา หรือรัฐบาลแพ้คะแนนเสียงในสภามาครั้งหนึ่งแล้ว จึงได้ขอให้พระมหากษัตริย์ทรงยุบสภาเสีย แต่เมื่อเลือกตั้งเข้ามาใหม่ก็ไม่ได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้นกี่มากน้อย แล้วรัฐบาลซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีชุดเดิมเป็นส่วนมากก็ยังแพ้คะแนนเสียงในสภาอีก การยุบสภาในกรณีเช่นนี้ย่อมจะเห็นได้ชัดว่าจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย ตรงกันข้าม การยุบสภากลับจะเป็นวิธีการที่คณะรัฐมนตรีนำมาใช้เพื่อข่มขี่ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปฏิบัติตามความประสงค์ของรัฐมนตรี เพราะสมาชิกกลัวว่าเมื่อจะยุบสภา แล้วตนจะไม่ได้รับเลือกตั้งซ้ำอีก การยุบสภาโดยปราศจากเหตุผลจึงเป็นเครื่องมือที่ทำให้อำนาจอันแท้จริงอยู่กับคณะรัฐมนตรี แทนที่จะอยู่ในมือราษฎรซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

ในกรณีเช่นว่านี้ พระมหากษัตริย์ก็ชอบที่จะปฏิเสธคำแนะนำให้ทรงยุบสภาได้…”

 

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจริเริ่มในการยุบสภาแต่ยอมรับว่าพระองค์ทรงปฏิเสธคำแนะนำดังกล่าวของนายกรัฐมนตรีจึงสรุปว่า “ดังนั้น อำนาจการตัดสินใจยุบสภาผู้แทนราษฎรนั้น อาจพอสรุปได้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจที่จะตัดสินใจให้ยุบสภาหรือไม่ให้ยุบสภาก็ได้ กล่าวคือ ทรงมีสิทธิปฏิเสธคำแนะนำให้ยุบสภาได้ แต่อย่างไรก็ดี ควรตัดสินใจด้วยความรอบคอบและในกรณีเป็นที่สงสัยหรือไม่แน่ใจควรอนุโลมตามคำแนะนำได้”

ขณะเดียวกัน ในนักวิชาการที่เชี่ยวชาญในเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์และรัฐธรรมนูญของอังกฤษอย่าง Bogdanor ก็ยืนยันว่า พระมหากษัตริย์ทรงปฏิเสธคำแนะนำการยุบสภาของนายกรัฐมนตรีได้ เพียงแต่การปฏิเสธยังไม่เคยเกิดขึ้นเท่านั้น หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การยุบสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษที่ผ่านมาทั้งหมด และจนบัดนี้ ยังไม่มีครั้งไหนที่เป็นการยุบสภาที่มิชอบตามที่ Markesinis ได้ศึกษามาจนถึง ค.ศ.1970 และ Bogdanor ศึกษามาจนถึง ค.ศ.1995 และที่ผู้เขียนได้สำรวจและสรุปเหตุผลในการยุบสภาฯ ของอังกฤษจนถึง ค.ศ.2001 จากงานของคุณหนึ่งฤทัย อายุปานเทวัญ

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ในแวดวงวิชาการด้านกฎหมายมหาชนและรัฐธรรมนูญมีความเห็นพ้องต้องกันว่า นอกจากแนวทางอื่นๆ ที่มีการเสนอไว้ข้างต้นแล้ว องค์พระมหากษัตริย์สามารถมีบทบาทป้องกันมิให้นายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎรอย่างไม่ถูกต้องได้

แม้นว่าจะไม่ได้บัญญัติไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญก็ตาม