โลกหมุนเร็ว/เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง/เมืองแสงอาทิตย์

โลกหมุนเร็ว
เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง
[email protected]

เมืองแสงอาทิตย์

วันนี้กรุงเทพฯ แดดเปรี้ยง เสียดายแดดที่หมดไปวันๆ รีบเอาที่นอนหมอนมุ้งออกมาตาก คนในบ้านว่างก็ให้ทำหมูแดดเดียว วันเดียวก็ได้กิน
ผู้เขียนเคยไปเที่ยวคุนหมิงตั้งเกือบยี่สิบปีแล้ว ที่นั่นใช้พลังงานแสงอาทิตย์กัน มองจากที่พักไปยังหลังคาบ้านอื่นๆ เห็นแผงโซล่าร์เซลล์บนหลังคาอยู่หลายหลัง
ในซอยบ้านของผู้เขียน เป็นถิ่นคนชั้นกลาง มีบ้านอยู่หลังหนึ่งเป็นบ้านตึกมีสามชั้น มองขึ้นไปบนสุด เห็นลักษณะเป็นแผงพลังแสงอาทิตย์ วันหนึ่งจังหวะดีก็เข้าไปคุยด้วย
“ใช้พลังแสงอาทิตย์หรือคะ” เราเริ่มก่อน
“ใช่ค่ะ” สุภาพสตรีเจ้าของบ้านที่เผอิญเดินออกมาหน้าบ้านตอบ “ทึ่งจังเลยค่ะ ขอเวลาคุยด้วยสักครู่นะคะ แล้วใช้พลังแสงอาทิตย์กับอะไรบ้างคะ” เราชวนคุยต่อด้วยความทึ่งจริงๆ
“แสงสว่างในบ้านทุกจุดใช้พลังแสงอาทิตย์ค่ะ” เธอตอบ “แล้วเครื่องปรับอากาศล่ะคะ” “ยังไม่ได้ใช้ค่ะ” เราเองก็ทราบมาพอเลาๆ ว่าส่วนใหญ่พลังแสงอาทิตย์ที่ใช้ตามบ้านยังไม่สามารถใช้กับเครื่องปรับอากาศได้
ตรงกันข้ามบ้านของเธอเป็นเสาไฟฟ้า เธอชี้ให้ดูตู้ไฟที่หน้าตาไม่เหมือนคนอื่น เธออธิบายว่านี่คือตู้ไฟบ้านเธอซึ่งเธอขายกระแสไฟให้กับการไฟฟ้าฯ
“เมื่อก่อนให้ราคาใช้ได้ แต่แล้วก็บีบราคาลงมา จนเราหมดกำลังใจ” เธอบอกราคาที่ขายได้ แต่เหตุการณ์นี้นานเป็นปีแล้ว ผู้เขียนจำราคาไม่ได้ “เรารู้สึกว่าเขาไม่จริงใจในการที่จะสนับสนุนให้ประชาชนใช้พลังงานทางเลือก รู้สึกผิดหวังจริงๆ”
เธอพูด

ประเทศที่มีแดดแรงเหลือเฟือเป็นเวลายาวนานอย่างประเทศไทย น่าที่จะนำมันมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เข้าใจว่าเทคโนโลยีที่ต้องใช้ไม่น่าจะซับซ้อนอะไรนัก และบ้านพักอาศัยจำนวนพอสมควรต้องการประหยัดค่าไฟ แต่ไม่รังเกียจในการลงทุนเริ่มแรก ก็กลับมาหมดกำลังใจเพราะการรองรับของภาครัฐไม่เอื้ออำนวย
ผู้เขียนเคยไปเข้ารับการอบรมปฏิบัติธรรมที่จังหวัดลำพูน อาคารอบรมออกแบบให้ใช้พลังงานน้อย เมื่อเดินสำรวจไปรอบๆ อาคารพบตู้ไฟสัญชาติเยอรมันติดตั้งอยู่ เป็นตู้ไฟที่มีการสลับกันใช้ระหว่างพลังงานไฟฟ้ากับพลังงานแสงอาทิตย์
ยุคของพลังงานทางเลือกได้เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน โดยมีกระแสรถยนต์ไฟฟ้าเป็นผู้ถือธงนำ มันมาพร้อมกับการสูญเสียของพลังงานกระแสหลัก ซึ่งแน่นอนต้องมีการปกป้องผลประโยชน์ในระดับหนึ่ง
แต่การปกป้องคงอยู่ได้อีกไม่นาน ประเทศจีนกำลังนำทางเรื่องไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ อีกไม่นานเทคโนโลยีที่ไม่แพงจะมาถึงเมืองไทย
ในมลรัฐฟลอริดาซึ่งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรของทวีปอเมริกาเหนือ เป็นที่ที่มีแดดแรงเกือบตลอดปี มีหมู่บ้านตัวอย่างกำลังเกิดขึ้น เป็นหมู่บ้านแสงอาทิตย์ ถ้าผ่านไปที่นั่นจะเห็นแผงโซล่าร์เซลล์ไกลสุดลูกหูลูกตา ที่นี่เป็นเมืองใหม่เมืองแรกในอเมริกาที่จะใช้พลังงานแสงอาทิตย์ล้วน มีชื่อว่า Babcock Ranch อยู่ทางตอนใต้ของมลรัฐฟลอริดา
ที่นี่แผงโซล่าร์เซลล์ยาวเหยียดสุดลูกหูลูกตาที่ว่าจะสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ถึง 75 เมกะวัตต์
บ้านกำลังก่อสร้างทีละหลัง เมื่อเสร็จจะมีบ้านทั้งหมดจำนวน 19,500 หลัง และมีประชากรอยู่อาศัย 50,000 คน และจะมีโรงเรียนหลายโรงเรียน
ขณะนี้มีเพียง 2 ครอบครัวที่ย้ายเข้ามาอยู่ที่นี่แล้ว ทั้งสองครอบครัวรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้มาเป็นส่วนหนึ่งของ “ผู้บุกเบิก”

น่าคิดนะคะว่าเด็กรุ่นใหม่ที่เกิดและเติบโตที่นี่จะได้เรียนรู้เรื่องพลังงานทางเลือกอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องเสียเวลาเข้าห้องเรียน ไม่ต้องหาหนังสือมาอ่าน เพราะเขาอยู่กับพลังงานธรรมชาติ
ภูมิประเทศของบริเวณนี้ซึ่งมีเนื้อที่ถึง 73,000 เอเคอร์ เป็นพื้นที่ต้นสนและทุ่งหญ้า ขณะนี้มีผู้มาจองบ้านแล้ว 100 ราย และมีผู้เข้ามาพักอาศัยแล้ว 2 ครอบครัว แต่คึกคักไปด้วยคนที่สนใจเข้าชมโครงการโดยนั่งมาในรถไฟฟ้าที่ไร้คนขับ เห็นมีต้นไม้แสงอาทิตย์อยู่ประปราย ต้นไม้ที่ว่านี้มีแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ด้านบน เก็บแสงอาทิตย์ไว้ พอถึงเวลากลางคืนไฟก็จะส่องสว่าง
เมืองใหม่ ชีวิตใหม่กำลังจะเริ่มขึ้น และผู้ที่เข้ามาอยู่จะได้ชื่อว่าเป็น “ผู้บุกเบิก”

ส่วนที่ประเทศเยอรมนี ที่เมืองไฟร์บวร์ก มีชุมชนพลังงานแสงอาทิตย์ต้นแบบ แต่ระบบนั้นแตกต่างจากของ Babcock Ranch ในฟลอริดา แผงรับพลังงานแสงอาทิตย์จะอยู่บนหลังคาอาคารแต่ละหลัง ที่น่าทึ่งคืออาคารทุกหลังจะผลิตกระแสไฟได้มากกว่าที่ใช้ภายในอาคาร เรียกว่า PlusEnergy
สถาปนิกออกแบบให้อาคารทั้งหมดมี 3 รูปแบบ ได้แก่ อาคารพาณิชย์ด้านหน้าชุมชน อาคารพักอาศัยแบบอาคารแถว และที่พักอาศัยแบบเพนต์เฮ้าส์ ทุกหลังโครงสร้างเป็นไม้ และใช้วัสดุประหยัดพลังงานในการประกอบเป็นอาคารทั้งหมด
ภายในชุมชนไม่มีการใช้รถยนต์ มีแต่การเดินและใช้จักรยาน มีที่จอดรถยนต์ส่วนกลาง
ชุมชนนี้สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ถึง 420,000 กิโลวัตต์-ชั่วโมง จากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ คิดเป็นพลังงานที่ส่งออกสูงสุดต่อปีเท่ากับ 445 กิโลวัตต์ สามารถลดการใช้พลังงานเทียบเท่ากับน้ำมัน 200,000 ลิตร
และลดคาร์บอนไดออกไซด์ 500 ตันต่อปี