E-DUANG : ทำ “ทศกัณฐ์” ให้เป็น “คนเดินดิน”

การดึงให้บุคคลระดับ “ทศกัณฐ์” ลงมาหยอด “ขนมครก” เป็นเรื่อง ใหญ่ เป็นเรื่องไม่ธรรมดา

ไม่ว่าจะมองจาก “ชีวิต” ที่เป็น “จริง”
ไม่ว่าจะมองจาก “ชีวิต” ที่เป็น “จินตนาการ” หรือ “การสร้างสรรค์”
เป็นเรื่อง “ลำบาก”
จึงถูกต้องแล้วที่แม้จะมีเสียง “สนับสนุน” อย่างคึกคักแต่ก็จำเป็นที่ทีมงาน “เที่ยวไทยมีเฮ” จะต้องปรับแก้
เป็นการปรับแก้ตาม “นายจ้าง”
ไม่ว่าจะมาจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ไม่ว่าจะมาจาก กระทรวงวัฒนธรรม
แม้จะเป็น “เสียง” อันมากด้วย “ความชรา”
แต่อย่าลืมเป็นอันขาดว่า พื้นฐานและธรรมชาติของ”เที่ยวไทยมีเฮ” คืออะไร
คือ เอ็มวี คือ “พาณิชยศิลป์”

หากสรุปตามสโลแกนของ สนธิ ลิ้มทองกุล และเครือข่าย “ผู้จัดการ” ก็ต้องว่า

เหมือนจะ “แพ้” แต่ “ไม่แพ้”
การปรับปรุงโดยตัดบทบาท “ทศกัณฐ์” หยอดขนมครกออกไปเป็นความพ่ายแพ้ แน่นอน
เพราะหากไม่แพ้ คงไม่ต้อง “ปรับ”
ขณะเดียวกัน ความสำเร็จในการปรับแต่งฉากนี้เหมือนกับจะเป็นชัยชนะ
เป็นชัยชนะของกลุ่มวัฒนธรรม “เก่า”
เท่ากับการขยับของบรรดา”ครีเอทีฟ”รุ่นใหม่ถูกเบรกหัวคะมำกันเป็นทิวแถว
เป็นเช่นนั้น จริงละหรือ

สถานการณ์จากเอ็มวี “เที่ยวไทยมีเฮ” ซึ่งทะลุทะลวงโดย บัณฑิต ทองดี และคณะ

สะท้อนการพยายามคิด “นอกกรอบ”
แม้จะอยู่ในพรมแดนแห่ง”พาณิชยศิลป์” แต่เป็นไปตามทิศทางแห่ง “เศรษฐกิจสร้างสรรค์”
ถือได้ว่าเป็น “นิว” สตาร์ทอัพ
เท่ากับเป็นการดึงเอา “ทศกัณฐ์” ลงมาให้เล่นบทของคนทำมาหากิน
ไม่ได้แต่รำอย่างเดียว ไม่ได้แต่เออเอิงเอยอย่างเดียว
“ทศกัณฐ์” ยักษ์นักรบ อันธพาลที่อาละวาดจากกรุงลงกากระทั่งถึงกรุงอโยธยา เริ่มมีภาพลักษณ์ใหม่
เป็นภาพลักษณ์เดินดิน หยอด”ขนมครก”