รายงานพิเศษ/นวัตกรรมแกรฟีน (graphene) เทคโนโลยีโลกในอนาคต โทรศัพท์พับงอได้ในอีก 5 ปี

A worker of Mobile World Congress uses a smartphone in front of the venue's entrance on February 23, 2018, ahead of the start of the world's biggest mobile fair, held from February 26 to March 1. / AFP PHOTO / LLUIS GENE

รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ

https://www.facebook.com/ChokCyberAIEntertainment/

นวัตกรรมแกรฟีน (graphene)

เทคโนโลยีโลกในอนาคต

โทรศัพท์พับงอได้ในอีก 5 ปี

งานโมบาย เวิลด์ คองเกรส (เอ็มดับเบิลยูซี) งานแสดงสินค้าด้านการสื่อสารและโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งปีนี้จัดขึ้นที่นครบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี

Mobile World Congress เป็นงานชุมนุมที่ใหญ่ที่สุดในโลกอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือ

ในปีนี้ผู้ผลิตได้นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ และเทคโนโลยีเครือข่ายไร้สายความเร็วสูง 5จี ที่กำลังจะนำมาใช้มาแสดง แต่บริษัทผู้ผลิตสมาร์ตโฟนยักษ์ใหญ่อย่างหัวเว่ย แอลจีและเอชทีซีไม่เปิดตัวสินค้าเรือธงรุ่นใหม่ของตนในงานปีนี้

ทำให้ซัมซุงมีโอกาสดีที่จะได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากการเปิดตัวสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่

ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือจะเน้นไปที่การเปิดตัวโทรศัพท์จอใหญ่ในตลาดระดับกลาง ไม่จำกัดเฉพาะรุ่นเรือธงอีกต่อไปเพื่อพยายามเพิ่มยอดขาย

นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมโทรคมนาคมหวังที่จะแนะนำการให้บริการอินเตอร์เน็ต 5จี ที่มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเร็วกว่า 4จี ราว 1,000 เท่า

ซึ่งน่าจะเป็นการจุดชนวนให้เกิดการเติบโตของอุปกรณ์และการให้บริการ

หนึ่งของการวิจัยและนวัตกรรมของการพัฒนาเทคโนโลยีในอนาคต ซึ่งนักวิจัยที่ร่วมงานโมบาย เวิลด์ คองเกรส ที่ประเทศสเปน คาดว่าโทรศัพท์พับได้จะออกสู่ตลาดในอีก 5 ปีข้างหน้า

โครงการวิจัยดังกล่าว ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างสถาบันวิชาการและบริษัทเอกชนมากกว่า 150 แห่งทั่วทวีปยุโรป มีเป้าหมายเร่งพัฒนาเทคโนโลยีให้ “แกรฟีน (graphene)” นำเสนอแนวคิดที่น่าตื่นเต้นสำหรับการนำเสนอประโยชน์จากแกรฟีนต่อการใช้งานใหม่ๆ

แกรฟีน (graphene) คือ 1 ชั้นอะตอมของคาร์บอนที่เรียงตัวต่อกันเป็นโครงสร้างรูปหกเหลี่ยม ด้วยพันธะโคเวเลนต์ที่มีความแข็งแรง และเชื่อมต่อกันเป็นโครงร่างลักษณะเหมือนกับรังผึ้ง

คุณสมบัติที่โดดเด่นทําให้แกรฟีนมีความแข็งแกร่งกว่าเพชร และแข็งแกร่งกว่าเหล็กกล้า มีความยืดหยุ่นสูง สามารถถูกบิดงอได้

จึงทำให้มีการนําวัสดุแกรฟีนมาใช้งานด้านการพัฒนาวัสดุต่างๆ

เช่น ใช้แกรฟีนคอมโพสิตมาทําไม้แบดมินตันและไม้เทนนิส ทําให้ได้อุปกรณ์กีฬาที่มีความแข็งแรงทนทานแต่มีน้ำหนักเบากว่าเดิม

ใช้เป็นเกราะกันกระสุนแทนเคฟลาร์ (Kevlar)

ทําหน้าจอแบบสัมผัสที่โค้งงอได้

นํามาเป็นขั้วไฟฟ้าในแบตเตอรี่

และวัสดุนําส่งยาระดับนาโนในทางการแพทย์

Apple เองก็ได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับ Graphene อย่างน้อย 2 ฉบับ ในสหรัฐอเมริกา

ในขณะที่ในสหราชอาณาจักร ก็มีรายงานว่า IBM Xerox Foxconn Industries และ Fujitsu ก็ได้ยื่นขอจดทะเบียนแล้วเช่นกัน

IBM ได้ทดลองนำแผ่นแกรฟีนมาผลิตเป็นทรานซิสเตอร์ในคอมพิวเตอร์ พบว่า ช่วยให้การประมวลผลมีความเร็วขึ้นถึง 100 กิกะเฮิร์ตซ์

แกรฟีนสามารถนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ พัฒนาสมาร์ตโฟนและเทคโนโลยี วัสดุอุปกรณ์ในตลาด ที่ทางโครงการหวังว่าจะใช้ประโยชน์จากวัสดุสารพัดประโยชน์แห่งอนาคตนี้ได้เร็วๆ นี้

ทั้งนี้ แกรฟีนมีคุณสมบัติที่แข็งกว่าเหล็ก แต่บางกว่ากระดาษ และสามารถยืดหรือบิดงอได้ นอกจากนี้ ยังมีน้ำหนักเบาและมีคุณสมบัตินำไฟฟ้าที่ดีเยี่ยม

ในอนาคตข้างหน้า แกรฟีนจะถูกนำมาใช้งานอย่างแพร่หลายและเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาอุปกรณ์สมาร์ตโฟน อุปกรณ์สวมใส่ที่มีความยืดหยุ่นสูง หรือแม้กระทั่งนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของแบตเตอรี่ที่โค้งงอได้

ซึ่งบริษัทไอทีทั่วโลกกำลังเผชิญกับข้อจำกัดในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและข้อจำกัดด้านการออกแบบ

แกรฟีนจะเป็นตัวแปรสำคัญซึ่งตอนนี้ได้รับความสนใจจากยักษ์ใหญ่วงการไอทีทั้ง Apple, Samsung และ Google

ด้านนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอาเคิน (Aachen) ในประเทศเยอรมนี ที่นำชิพรับสัญญาณไร้สายที่ยืดหยุ่นได้ มาจัดแสดงที่งานโมบาย เวิลด์ คองเกรส (Mobile World Congress) ปีนี้ ที่นครบาร์เซโลนา ประเทศสเปน เปิดเผยว่า แกรฟีนจะถูกนำมาใช้ผลิตโทรศัพท์มือถืออย่างแพร่หลายภายในปี 2023 ซึ่งจะทำให้โทรศัพท์มือถือจะสามารถงอ หรือแม้แต่พับได้

ในขณะที่นักวิจัยอีกกลุ่ม กำลังนำคุณสมบัติของแกรฟีนมาประยุกต์ใช้กับอุปกรณ์การกีฬา สำหรับนักกีฬาและคนรักสุขภาพ กับเซ็นเซอร์รับแรงกด (pressure censor) ที่อยู่ในรองเท้าอัจฉริยะ

โดยแผ่นกราฟีนที่อยู่ในพื้นรองเท้าด้านในจะวัดการกระจายแรงกดทุกครั้งขณะวิ่ง และส่งข้อมูลไปยังแอพพลิเคชั่นมือถือผ่านบลูทูธ

ช่วยให้นักกีฬาสามารถปรับปรุงการวิ่งให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด