ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : พระแสงขรรค์ชัยศรี เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เก่าแก่ที่สุดของสยาม

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

เครื่องราชกกุธภัณฑ์ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ประกอบไปด้วย พระมหาพิชัยมงกุฎ, พัดโบกวาลวิชนี, ธารพระกร, ฉลองพระบาทเชิงงอน พระแสงขรรค์ชัยศรี นับรวมมีห้าประการ จึงเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า “เบญจราชกกุธภัณฑ์”

แปลตรงตัวว่า “เครื่องราชกกุธภัณฑ์ทั้ง 5” และถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์สยาม โดยเป็นสมบัติสำคัญที่ใช้สำหรับประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ดังนั้น เครื่องราชกกุธภัณฑ์ จึงเปรียบเสมือนสัญลักษณ์แทนองค์ “พระจักรพรรดิราช” ตามที่ปรากฏในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา โดยแม้ว่าสัญลักษณ์ต่างๆ เหล่านี้จะแตกต่างกันในรายละเอียดอยู่มากเลยทีเดียว แต่ก็เชื่อได้ว่ามีต้นเค้าที่มาอยู่ไม่มากก็น้อย

เฉพาะในกรณีของสยามนั้น อาจจะได้รับคติความเชื่อนี้ผ่านทางพุทธศาสนา สายลังกาวงศ์

เพราะในหนังสือที่ชื่อว่า มหาวงศ์ ที่ก็คือพงศาวดารของลังกาทวีปนั้น ได้กล่าวถึงเครื่องราชกกุธภัณฑ์ทั้ง 5 ชิ้นของกษัตริย์ศรีลังกาโบราณ ที่ก็ประกอบไปด้วยเครื่องสูงชนิดเดียวกันกับเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ของไทยครบทั้ง 5 ชนิด

น่าสนใจนะครับ ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ทรงเป็นผู้ที่โปรดให้มีการชำระพงศาวดารของเกาะศรีลังกาฉบับนี้ และแปลออกเป็นภาษาไทยในรัชสมัยของพระองค์เอง

ดังนั้น ถ้ารูปแบบของเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ของสยาม ยุคกรุงรัตนโกสินทร์นั้น จะไปต้องตรงกันกับของที่มีอยู่ก่อนในราชสำนักของเกาะศรีลังกา ก็คงจะไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจอะไรนัก

แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าก็คือ การที่ราชสำนักของกรุงเทพฯ ระบุชื่อของพระขรรค์ องค์ที่เป็นหนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์เอาไว้อย่างชัดเจนว่า “พระแสงขรรค์ชัยศรี” ทั้งๆ ที่หนังสือมหาวงศ์ พระราชพงศาวดารของเกาะศรีลังกานั้น ไม่ได้ระบุพระนามของพระขรรค์เป็นการชี้เฉพาะลงไปอย่างนี้เสียหน่อย

 

ชื่อ “พระแสงขรรค์ชัยศรี” มีอยู่เก่าทั้งในราชสำนักของกรุงศรีอยุธยา และของกรุงสุโขทัย โดยมีตำนานที่มาเล่าไว้ในศิลาจารึกจากวัดศรีชุม จ.สุโขทัย หรือที่เรียกกันว่า จารึกสุโขทัยหลักที่ 2 ว่า ได้มาจากราชสำนักของขอม ที่เมืองยโสธรปุระ หรือเมืองพระนครธม ดังข้อความที่ว่า

“…เมื่อก่อนผีฟ้า เจ้าเมืองศรียโสธรปุระ ให้ลูกสาวชื่อนางสิขรมหาเทวีกับขันชัยศรีให้นามเกียรติแก่พ่อขุนผาเมือง…”

ข้อความในจารึกดังกล่าว แปลความหมายตรงตัวได้ว่า ผีฟ้า เจ้าเมืองยโสธรปุระ ซึ่งก็หมายถึงกษัตริย์แห่งนครธม หรือเมืองพระนครหลวง ของพวกขอม ได้พระราชทานพระแสงขรรค์ชัยศรี พร้อมกับนางศิขรเทวี อันเป็นพระราชธิดาของพระองค์ ให้กับพ่อขุนผาเมือง ซึ่งตามข้อความในจารึกหลักนี้ได้แสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงเป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างสูง อยู่ในราชสำนักสุโขทัย

แต่จะด้วยเหตุผลกลใดไม่ทราบชัด พระแสงขรรค์องค์นี้ก็ได้กลับกลายมาเป็นเครื่องหมายแห่งพระราชอำนาจชิ้นสำคัญของพระมหากษัตริย์อยุธยาไปในที่สุด ซึ่งก็อาจจะเป็นไปได้สองทางเป็นอย่างน้อย

หนึ่งคือ ก็เป็นเพราะพ่อขุนผาเมืองเองนั่นแหละครับ ที่ทรงพระแสงขรรค์ชัยศรีนำเข้ามาในราชสำนักอยุธยา เพราะข้อความในจารึกวัดศรีชุม ได้เล่าถึงพ่อขุนผาเมืองต่อไปอีกด้วยว่า ทรงยึดกรุงสุโขทัยกลับมาจากขอมสบาดโขลญลำพง แล้วมอบเมืองสุโขทัย พร้อมพระนาม “ศรีอินทรบดินทราทิตย์” ที่กษัตริย์เมืองนครธมพระราชทานให้พระองค์ (พร้อมๆ กับพระแสงขรรค์ชัยศรี และนางศิขรเทวี) ให้กับพระสหายคนสำคัญก็คือ พ่อขุนบางกลางหาว (คือพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พระราชบิดาของพ่อขุนรามคำแหง โดยชื่อ “อินทราทิตย์” นั้นมาจากพระนามที่พ่อขุนผาเมืองมอบให้นี่เอง) แล้วก็ออกไปจากสุโขทัยไปยังที่ใดที่หนึ่ง

ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า พระองค์เสด็จไปที่ไหน? และทำไมจึงไม่ครองกรุงสุโขทัย แต่กลับมอบให้พระสหายมันเสียอย่างนั้น เพราะไม่ได้มีศิลาจารึกหลักใดระบุเอาไว้อีกเลย

นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่จึงสันนิษฐานกันว่า พระองค์ได้เสด็จไปครองราชย์ยังเมืองที่ใหญ่กว่าสุโขทัย ซึ่งก็ว่ากันไปหลายทาง บางท่านก็ว่าคือ นครธม บ้างก็ว่าเมืองโคราช

แต่ที่สำคัญก็คือ มีบางข้อสันนิษฐานที่เสนอว่า เป็น “พ่อขุนผาเมือง” คนเดียวกันนี่แหละครับ ที่เสด็จออกจากกรุงสุโขทัย แล้วมาสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเมื่อ พ.ศ.1893 ในพระนามใหม่ว่า “สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1” หรือที่ใครต่อใครมักจะเรียกกันอย่างคุ้นปากมากกว่าว่า “พระเจ้าอู่ทอง”

พ่อขุนผาเมืองจะใช่ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยาจริงหรือเปล่าไม่รู้? แต่ก็มีพระแสงขรรค์ชัยศรีอยู่ที่ราชสำนักอยุธยาจริงๆ

 

ส่วนหนทางที่สองนั้นก็คือ พระแสงขรรค์สำคัญองค์นี้ได้เข้าสู่ราชสำนักกรุงศรีอยุธยา เมื่อรัชสมัยของสมเด็จพระนครินทราชา (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1952-1967)

พระมหากษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยาพระองค์นี้ เป็นเชื้อสายของราชวงศ์สุพรรณภูมิ แต่มีเชื้อข้างพระราชมารดาเป็นสายราชวงศ์พระร่วง คือสุโขทัย ก่อนหน้าที่พระองค์จะเสด็จมาครองราชย์ที่กรุงศรีอยุธยานั้น น่าจะเคยครองเมืองกำแพงเพชรมาก่อน ซึ่งนั่นก็อาจทำให้พระองค์นำพระแสงขรรค์ชัยศรีมาพร้อมกันนั้นด้วย

ที่สำคัญก็คือ ในกรุพระปรางค์ วัดราชบูรณะ ที่พระราชโอรสของพระองค์คือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือเจ้าสามพระยาทรงสร้างขึ้นนั้น ก็พบพระขรรค์ทองคำองค์หนึ่ง

ซึ่งอาจจะเกี่ยวพันกับพระแสงขรรค์ชัยศรีด้วยก็ได้

 

แต่ไม่ว่า “พระแสงขรรค์ชัยศรี” จะเข้ามาในราชสำนักกรุงศรีอยุธยาอย่างไรก็ตาม ก็ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ถึงความสำคัญ ในฐานะสัญลักษณ์แห่งพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์อยุธยา และยังใช้สืบเนื่องมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

หลักฐานสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เป็นร่องรอยให้เห็นว่า พระแสงขรรค์ชัยศรี เป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์สำคัญคู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยา อาจจะเห็นได้จากข้อความบางตอนในหนังสือเก่าฉบับหนึ่ง ที่เรียกว่า “คำให้การชาวกรุงเก่า” ซึ่งก็คือคำสัมภาษณ์เชลยศึก ที่พวกทัพอังวะ (ยังไม่ใช่พม่า หรือเมียนมา เพราะภูมิภาคอุษาคเนย์ยังไม่มีรัฐชาติสมัยใหม่ในยุคนั้น) กวาดต้อนไปจากกรุงศรีอยุธยา ในคราวเสียกรุง ครั้งที่ 2

ในหนังสือเก่าฉบับดังกล่าวได้อ้างว่า “ขุนแผน” คนเดียวกับที่เป็นตัวละครเอกในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนนั้น มีดาบวิเศษอยู่เล่มหนึ่ง ชื่อว่า “ดาบฟ้าฟื้น” ต่อมาเมื่อขุนแผนเฒ่าชราลง ก็นำดาบวิเศษเล่มนี้ไปถวายให้กับพระพันวษา ซึ่งพระองค์ก็ทรงรับไว้แล้วประสิทธิ์ประสาทนามว่า “พระแสงปราบศัตรู” แล้วโปรดให้มหาดเล็กเชิญตามเสด็จซ้ายขวาคู่กับ “พระแสงขรรค์ชัยศรี”

แน่นอนว่า ขุนแผนไม่ได้มีตัวตนอยู่จริง เช่นเดียวกับที่คงไม่สามารถระบุลงไปได้ว่า พระพันวษานั้นมีตัวตนจริงเป็นพระมหากษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยาพระองค์ใดหรือเปล่า?

และยิ่งไม่ต้องไปตามหาว่าดาบฟ้าฟื้นอยู่ที่ไหน?

แต่นิทานที่เชลยศึกชาวกรุงเก่า เล่าให้การกับทัพของพวกอังวะนั้น ก็แสดงให้เห็นถึงภาพลักษณ์ และสัญลักษณ์แห่งความเป็นพระมหากษัตริย์ของพระแสงขรรค์ชัยศรี ในสายตาของชาวกรุงศรีอยุธยาครั้งนั้นได้เป็นอย่างดี

จนไม่น่าประหลาดใจอะไรเลย ที่ต่อมาพระขรรค์องค์นี้จะกลายเป็นหนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ทั้ง 5 ในยุครัตนโกสินทร์

 

แต่อันที่จริงแล้ว พระแสงขรรค์ชัยศรีนั้นก็ได้สูญหายไปจากราชสำนักสยาม ตั้งแต่เมื่อคราวที่เสียกรุงเมื่อ พ.ศ.2310 แล้วนะครับ ที่มีอยู่ในราชสำนักกรุงเทพฯ ปัจจุบันนั้นเป็นพระขรรค์ที่ได้มาใหม่

ดังปรากฏมีเรื่องเล่าเอาไว้ว่า เมื่อ พ.ศ.2327 ได้มีชาวประมงทอดแหได้พระขรรค์เก่า ที่ตนเลสาบเขมร ละแวกเมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชาปัจจุบัน โดยเชื่อกันว่าเป็นพระแสงขรรค์ชัยศรี เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน) จึงให้พระยาพระเขมร เชิญเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทำด้ามและฝักขึ้นด้วยทองคำลงประดับอัญมณี และใช้เป็นหนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ในราชวงศ์จักรีมาตราบจนกระทั่งทุกวันนี้

แน่นอนว่านี่ก็คือ พระแสงขรรค์ชัยศรีในราชสำนักกรุงเทพฯ องค์ปัจจุบัน ซึ่งมีพระนามระบุ “ชัยศรี” ระบุเป็นการเฉพาะ แตกต่างไปจากคติเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ของเกาะศรีลังกา ที่พระขรรค์ไม่ได้มีพระนามว่า ชัยศรี

ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะ พระขรรค์ชัยศรี เป็นเครื่องหมายแห่งพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่มาก่อนแล้วนั่นเอง ต่อมาเมื่อมีการเอาธรรมเนียมของราชสำนักศรีลังกาเข้ามาใช้ จนขยายเป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์นั้น ก็ได้สวมพระนาม “ชัยศรี” ลงในพระขรรค์องค์ที่เป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์นั้นด้วย

“พระแสงขรรค์ชัยศรี” จึงเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่เก่าแก่ที่สุดของราชอาณาจักรสยาม และคงเป็นคติเก่าที่มีมาก่อนเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ที่เหลืออีกทั้ง 4 ชนิด ซึ่งคงจะเพิ่งถูกเพิ่มเติมเข้ามาภายหลังจากที่รัชกาลที่ 1 โปรดให้ชำระพงศาวดารของเกาะศรีลังกา และแปลออกเป็นภาษาไทยเรียบร้อยแล้ว

ยิ่งเมื่อเอาเข้าจริงแล้ว ก็ไม่เคยมีหลักฐานแม้เพียงสักนิดเลยว่า ในราชสำนักอยุธยานั้น จะมีเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ 5 ชนิด อย่างที่มีในราชสำนักกรุงเทพฯ