วงค์ ตาวัน : พรรคหนุนและพรรคต้าน

วงค์ ตาวัน

ยังไม่รู้ว่าจะเลื่อนกันอีกหรือไม่ แต่เอาเป็นว่า เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ออกมาประกาศวันเลือกตั้งล่าสุด โดยขยับออกไปเป็น”ไม่เกินกุมภาพันธ์ 2562″ ก็ต้องถือกันว่าเป็นไปตามนี้ ประกอบกับเมื่อมีการเปิดให้กลุ่มการเมืองต่างๆ มายื่นขอจดแจ้งตั้งพรรคการเมือง

บรรยากาศการเมืองจึงคึกคักขึ้นมาทันที เตรียมพร้อมจะลงสนามเลือกตั้งกันยกใหญ่

มีผู้ที่ยื่นขอตั้งพรรคการเมืองหลายคณะ ประกาศจุดยืนชัดเจนว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ให้เข้ามาเป็นนายกฯ อีกครั้ง ในฐานะคนนอก

“แต่ก็ไม่สามารถสร้างความฮือฮาได้มากนัก เพราะหน้าคุ้นๆ กันอยู่ รู้กันมาตั้งนานแล้วว่ากลุ่มเหล่านี้เป็นเครือข่ายสนับสนุน คสช. อย่างแน่นอน”

ขณะเดียวกันการเตรียมตัวจัดตั้งพรรคการเมืองของ กปปส. ซึ่งเป็นพรรครัก พล.อ.ประยุทธ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ดูจะว้าวุ่นสับสน ด้วยความที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เคยประกาศบนเวทีนกหวีดไปแล้วว่า จะเลิกยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอย่างเด็ดขาด จะมาออกหน้าออกตาตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาคงไม่ได้

เลยต้องมีคนใกล้ตัวออกหน้าแทน

แถมการเตรียมตั้งพรรค กปปส. กลับสร้างผลกระทบกับพรรคประชาธิปัตย์เสียมากกว่า

อดีตหัวหน้าพรรค นายชวน หลีกภัย ต้องลงมาร่วมประหารือกับแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อรับกับสถานการณ์ที่ กปปส. จะตั้งพรรค

เพราะแน่นอนว่า กลายเป็นแย่งชิงผู้มัครเลือกตั้ง แย่งชิงอดีต ส.ส. และแย่งฐานมวลชนปักษ์ใต้กันเอง

“กลายเป็นว่าพรรคการเมืองใหม่ที่จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ ไม่สามารถจุดกระแสให้น่าสนใจ กระแสหนุนประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ จึงไม่คึกคักเท่าที่ควร!”

อีกประการอาจเป็นเพราะว่า เสียงที่จะโหวตให้ประยุทธ์เป็นนายกฯ ในฐานะคนนอกนั้น ได้เตรียมเอาไว้อยู่แล้วส่วนหนึ่ง คือ พรรคสมาชิกวุฒิสภา 250 เสียง

ล็อกเอาไว้แล้ว ไม่เกี่ยวอะไรกับชาวบ้าน

“ก็เลยไม่กลายเป็นกระแสที่แผ่กว้างไปในหมู่ประชาชน เพราะเป็นเรื่องที่เขาเตรียมการกันเอาไว้หมดแล้ว ประชาชนไม่มีส่วนร่วมหรือไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด”

ในทางตรงกันข้าม พรรคที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับนายกฯ คนนอกแน่ๆ ก็คือ พรรคเพื่อไทย ซึ่งไม่ได้เคลื่อนไหวออกหน้าออกตา เพราะ คสช. ยังไม่ปลดล็อกให้พรรคเก่า จึงยังขยับตัวไม่ได้

แต่แค่ 2 อดีตนายกฯ บินโฉบไปโฉบมาย่านนี้ ก็กลายเป็นข่าวใหญ่ สร้างแรงกระเพื่อมได้กว้างขวาง

ทั้งเป็นที่รู้กันว่า เลือกตั้งหนหน้า พรรคเพื่อไทยเดินเครื่องเต็มสูบแน่นอน

ไม่เพียงพรรคเก่าอย่างเพื่อไทยเท่านั้น

แต่การเปิดตัวเตรียมตั้งพรรคของ”คนรุ่นใหม่” นำโดย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นักธุรกิจหนุ่มคนรุ่นใหม่ไฟแรง และมีสายสัมพันธ์กับเหล่าปัญญาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นอันดี ร่วมกับนักวิชาการแห่งยุคสมัย นายปิยบุตร แสงกนกกุล จากกลุ่มนิติราษฎร์

“กลับสามารถกระชากความสนใจจากสังคมได้อย่างมาก!”

จนน่าคิดว่า ตลอด 4 ปีในยุครัฐบาลจากการรัฐประหาร ได้กลายเป็นการสร้างความปรารถนาให้กับคนในสังคมอย่างมากมาย

“ในการไปสู่ความเป็นเสรีประชาธิปไตย และไปสู่การเมืองของคนยุคใหม่ เพื่อการพัฒนาก้าวหน้าของสังคม”

จุดหลักในสนามเลือกตั้งครั้งต่อไป น่าจะเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายที่เอานายกฯ คนนอก กับฝ่ายต้านนายกฯ คนนอก หรือฝ่ายอนุรักษนิยมการเมือง กับฝ่ายเสรีประชาธิปไตย แม้ว่าเมื่อมีการตระเตรียมเอาไว้ทุกด้าน เพื่อให้ได้นายกฯ จากคนนอกอย่างแน่นอนแล้วก็ตาม

เพราะเลือกตั้งได้เข้ามาเท่าไร ก็มีเสียง ส.ว.250 เสียงที่พร้อมจะโหวตนายกฯ จากคนนอกอยู่แล้ว

“แต่ประเด็นที่จะต้องลุ้นกันอยู่ก็คือ เสียงของ ส.ส. ในสภาผู้แทนฯ จะมีฝ่ายไหนมากกว่ากัน!?”

บรรดาพรรคการเมืองที่เตรียมสนัสนุน พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. นั้น ดูแล้วศักยภาพไม่น่าจะมีสูงมากเท่าไรในสนามเลือกตั้ง แม้แต่พรรค กปปส. เอาเข้าจริงๆ จะต้องเน้นหนักในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นฐานเดิมของประชาธิปัตย์อยู่แล้ว

อีกทั้งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในหมู่คนปักษ์ใต้ว่า ถ้านายชวนยังเป็นหลักให้ประชาธิปัตย์ โอกาสของพรรค กปปส. ก็ไม่น่าจะมีมากนัก

ส่วนพรรคที่ต่อต้านนายกฯ คนนอกอย่างแน่นอนก็คือ พรรคเพื่อไทย ซึ่งจากการประเมินคะแนนเสียงแล้ว พื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนืออันกว้างใหญ่ ก็ยังเลือกเพื่อไทยเหมือนเดิม

คาดกันด้วยซ้ำว่า พรรคเพื่อไทย หรืออาจจะมีพรรคใหม่ที่เป็นแนวร่วมกัน รวมแล้วจะได้เสียงเกิน 200 แน่นอน ซึ่งแค่นี้ก็ลำบากมากสำหรับรัฐบาลนายกฯ คนนอก ในการทำงานด้านสภาผู้แทนฯ จะผ่านกฎหมายได้หรือไม่ จะผ่านงบประมาณได้หรือไม่

“นักวิเคราะห์การเมืองวิเคราะห์กันล่วงหน้าแล้วด้วยซ้ำ ว่าหลังการเลือกตั้งเราคงได้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ แต่จะทำงานด้านสภาอย่างยากลำบาก ดีไม่ดีต้องยุบสภาในเวลาไม่เกิน 1 ปี!!”

ไม่เพียงเท่านั้น การเกิดของพรรคปัญญาชนคนรุ่นใหม่ ที่นำโดยธนาธรกับอาจารย์ปิยบุตร ได้รับการขานรับอย่างอื้ออึง ซึ่งคาดว่ากลุ่มอาจารย์ที่มีชื่อเสียงแนวทางประชาธิปไตยก็จะเข้าร่วมสนับสนุน จึงกลายเป็นพรรคทางเลือกใหม่ของสังคมไทย เป็นพรรคที่บรรดาปัญญาชนจะให้ความสนใจอย่างมาก

แม้ว่าผลการเลือกตั้งสำหรับพรรคนี้ อาจจะไม่ได้มากมาย เนื่องจากขาดความเชี่ยวชำนาญในสนามการเมืองแบบนี้ แต่ก็คงจะได้รับเลือกเข้ามาบ้าง รวมทั้งจะกลายเป็นพรรคการเมืองที่เสียงดังในการสร้างกระแสทางการเมือง ด้วยจุดยืนความคิด และการยอมรับของคนในสังคม

“แค่ 2 พรรคนี้ ก็น่าหนักใจแทนฝ่ายหนุนนายกฯ คนนอกอย่างมากทีเดียว”

ขณะที่ยังมีพรรคการเมืองเก่า ที่ยังไม่ได้วางจุดยืนเปิดเผยว่าจะหนุนหรือต้านคนนอก เช่น พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา

เหล่านี้จะถือว่าสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ด้วยแน่นอนก็คงยังพูดไม่ได้ แถมหากกระแสของฝ่ายประชาธิปไตยมาแรง เชื่อว่าพรรคเหล่านี้ก็คงต้องเลือกแนวทางที่สอดรับกับกระแสสังคม

“แนวโน้มสนามเลือกตั้งครั้งต่อไป อันจะเป็นการต่อสู้ระหว่าง พรรคหนุนคนนอก กับพรรคต้านคนนอก คงเข้มข้นแน่นอน!”

จะเป็นจุดแข็งหรือจุดบอดก็ยังไม่แน่ชัด สำหรับพรรค กปปส. ซึ่งจะมีภาพผูกพันกับ พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. อย่างแนบแน่นที่สุด เชื่อว่าคนทั้งสังคมจะย้อนมองเชื่อมโยงกลับไปยังเหตุการณ์ชัตดาวน์ในปลายปี 2556 และต้นปี 2557 แล้วจะเห็นภาพได้ชัดเจน

ว่าทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

เพราะการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เมื่อดำเนินไปจนถึงจุดที่รัฐบาลยอมถอย ล้มกฎหมายนิรโทษกรรม และยอมยุบสภาเพื่อให้เลือกตั้งใหม่ แต่แกนนำ กปปส. กลับไม่เลือกทางออกประชาธิปไตย กลับทำให้มีสถานการณ์เข้าสูทางตัน จนเกิดรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

“มาในวันนี้ ไม่ต้องสงสัยอีกแล้วว่าม็อบกับรถถัง เป็นกระบวนการที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน!”

ไม่ยอมให้ประชาธิปไตยเดินต่อไป เพื่อให้คณะรัฐประหารเข้ามาบริหารบ้านเมืองและปูทางไปสู่การเป็นนายกฯ คนนอกเมื่อมีการเลือกตั้ง โดยพรรค กปปส. จะเป็นฐานสนับสนุน

นั่นจะเกิดคำถามตามมาว่า ข้ออ้างต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เพื่อยังไม่ต้องมีเลือกตั้งนั้น คือการทำให้ประชาธิปไตยต้องสะดุดหยุดลงหลายปี

แล้วผลกระทบที่เกิดกับการหยุดชะงักของบ้านเมือง ผลกระทบเศรษฐกิจการค้าการลงทุนและปากท้องชาวบ้าน ไปจนถึงเสรีภาพของประชาชนส่วนใหญ่ และอำนาจทางการเมืองที่เคยอยู่ในมือของประชาชนส่วนใหญ่ต้องสูญสลายไปนั้น

“มีมูลค่ามากมายมหาศาลเพียงใด และต้องมีใครรับผิดชอบหรือไม่!?”

อย่าลืมว่า 4 ปีที่ผ่านมา ในยุครัฐบาลทหารนั้น ได้สร้างอารมณ์ความรู้สึกให้คนส่วนใหญ่ไปในทางไหน

กระแสขาลงของรัฐบาลในวันนี้ อธิบายอะไรได้มากมาย

“การเลือกตั้งครั้งต่อไปจึงน่าสนใจติดตามผลอย่างยิ่ง โดยหวังว่าจะไม่เลื่อนออกไปอีกเรื่อยๆ!”