รัฐประหาร22พฤษภาคม2557 เป็นรัฐประหารที่นำไปสู่ประชาธิปไตย?(18):ภายใต้เกณฑ์ของVarol

คราวที่แล้วผู้เขียนได้กล่าวค้างถึงเกณฑ์ข้อที่สี่ที่ Ozan Varol ได้ตั้งไว้สำหรับการประเมินว่า รัฐประหารใดจะสามารถเป็นรัฐประหารที่นำไปสู่ประชาธิปไตยได้

เกณฑ์ข้อที่สี่มีเนื้อหาดังนี้คือ รัฐประหารโดยกองทัพได้รับการยอมรับอย่างสูงจากผู้คนภายในประเทศ และทหารส่วนใหญ่ของกองทัพจะเป็นกำลังพลที่มาจากการเกณฑ์ทหารจากประชาชน

ซึ่งการที่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ได้รับการยอมรับนั้น มิได้มาจากปัจจัยของผู้คนภายในประเทศเท่านั้น

แต่ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งคือ สถาบันพระมหากษัตริย์

เพราะอย่างที่ได้กล่าวไปตอนที่แล้วว่า หลังจาก พ.ศ.2500 สถาบันพระมหากษัตริย์ค่อยๆ เริ่มเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จและความล้มเหลวของการทำรัฐประหาร

และมีความชัดเจนเด็ดขาดในเหตุการณ์ความพยายามทำรัฐประหารที่นำโดย พลเอกสัณฑ์ จิตรปฏิมา ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2524 ที่ยืนยันและพิสูจน์ได้ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นปัจจัยชี้ขาดความสำเร็จหรือล้มเหลวของการพยายามทำรัฐประหารในสมัยที่พลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรี

จากสถานะบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ ที่กล่าวมา ทำให้เข้าใจได้ว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในปี พ.ศ.2549 สถาบันจะถูกนำมาอ้างอิงอีกครั้งในการต่อสู้ทางการเมืองของฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อต่อต้านล้มรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

แต่ในความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้ แม้ว่าจะมีความพยายามกล่าวอ้างถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่สามารถสัมฤทธิผลได้ดังความต้องการของกลุ่มการเมืองที่กล่าวอ้างมาตรา 7

ด้วยมีผู้ทรงคุณวุฒิและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองมีความเห็นแตกต่างขัดแย้งกันในการตีความมาตรา 7

อีกทั้งประชาชนอีกฝ่ายหนึ่งก็ยังยืนหยัดออกมาชุมนุมสนับสนุนรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ แม้ว่าจะมีความพยายามกล่าวถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ในด้านลบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ตาม

นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจและแตกต่างไปจากอดีต

เพราะนับตั้งแต่ พ.ศ.2516 เป็นต้นมา หากฝ่ายหนึ่งสามารถกล่าวอ้างสถาบันให้สังคมเชื่อได้ ฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามก็มักจะหมดความชอบธรรมไปทันที และยากที่ประชาชนจะกล้าออกโรงเห็นต่าง

แม้ว่า ความในมาตรา 7 เกี่ยวกับ “นายกฯ พระราชทาน” จะได้ถูกชี้ขาดโดยพระราชดำรัสในโอกาสที่พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ประธานศาลปกครองสูงสุด (นายอักขราทร จุฬารัตน) นำตุลาการศาลปกครองสูงสุด เฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล ในวันที่ 25 เมษายน 2549 ดังได้กล่าวไปแล้วข้างต้น

นั่นคือ มาตรา 7 ไม่ได้เป็นไปตามการตีความของฝ่ายที่เรียกร้อง “นายกฯ พระราชทาน”

แต่ในวิกฤตการเมืองระหว่าง พ.ศ.2556 จนถึงก่อนหน้ารัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มาตรา 7 ก็ได้กลับมาประเด็นในความขัดแย้งทางการเมืองอีก

แต่อย่างไรก็ตาม การทำรัฐประหารในบริบทสังคมไทยยากที่จะสำเร็จและชอบธรรมได้หากขาดพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดิน

ซึ่งในแง่นี้ บริบทการเมืองของไทยมีความแตกต่างจากบริบททางการเมืองของสามประเทศที่ Varol ยกเป็นตัวอย่างของประเทศที่เคยมีการรัฐประหารที่นำไปสู่ประชาธิปไตย เพราะประเทศเหล่านั้นไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์

ดังนั้น เมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมือง กองทัพจึงมีความเป็นอิสระในตัวเองที่จะตัดสินใจเลือกที่จะทำรัฐประหารภายใต้เงื่อนไขที่กองทัพเห็นว่าเป็นผลประโยชน์ของกองทัพ

หรือตัดสินใจเลือกที่จะเข้าข้างกระแสข้อเรียกร้องของประชาชนมากกว่าจะฟังรับฟังคำสั่งรัฐบาลที่ประชาชนต่อต้าน

อย่างไรก็ดี การปรับใช้เกณฑ์ข้อนี้ของ Varol ในปรากฏการณ์ทางการเมืองของไทย เราจะพบข้อไม่ลงรอยในเหตุการณ์บางเหตุการณ์ที่รัฐบาลสั่งให้กองกำลังทหารเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาล

เช่น ในเหตุการณ์พฤษภาคมทมิฬ พ.ศ.2535 แต่ในที่สุดก็ส่งผลให้รัฐบาลสูญเสียความชอบธรรมไป และส่งผลให้ภาพลักษณ์ของกองทัพตกต่ำลงไปเป็นเวลานาน

ผู้เขียนจะอภิปรายประเด็นการรัฐประหารกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในรายละเอียดต่อไปภายใต้สมมุติฐานที่ว่า “ความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่ยั่งยืนและมีเสถียรภาพของรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เกิดขึ้นได้โดยรัฐบาลภายใต้ คสช. และกองทัพต้องเพิ่มเติมมาตรการอื่นๆ ที่เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของสังคมการเมืองไทย นอกเหนือไปจากการดำเนินมาตรการและนโยบายที่เป็นไปตามกรอบความคิดและเกณฑ์ที่ Varol ได้ตั้งไว้”

เพราะระบอบประชาธิปไตยของไทยเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งแตกต่างไปจากระบอบประชาธิปไตยของประเทศตุรกีและโปรตุเกสที่เป็นระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตยกึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภา

อันเป็นสองประเทศที่เป็นกรณีศึกษาที่ Varol ได้สังเคราะห์กรอบความคิดและเกณฑ์ “รัฐประหาร-ประชาธิปไตย” ของเขาขึ้นมา

เกณฑ์ข้อที่ห้าของ Varol คือ กองทัพทำรัฐประหารตามคำเรียกร้องของประชาชนเพื่อล้มระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ/อำนาจนิยม และเปลี่ยนแปลงระบอบ

เมื่อพิจารณาภายใต้เกณฑ์ข้อนี้ เราจะพบว่า จากที่ได้วิเคราะห์การปรับใช้เกณฑ์ข้อที่หนึ่งของ Varol รัฐประหารที่เกิดขึ้นจะต้องเป็นการต่อต้านระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ (totalitarianism) หรือ ระบอบอำนาจนิยม (authoritarianism)

รัฐบาลทักษิณจัดได้ว่าเป็นรัฐบาลอำนาจนิยม และรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จึงถือได้ว่ากองทัพทำรัฐประหารตามคำเรียกร้องของประชาชนในฝ่ายของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

และยิ่งกว่านั้นยังเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับท่าทีของประธานองคมนตรีอีกด้วย

ส่วนในกรณีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แม้จะมีพฤติกรรมที่กล่าวได้ว่าเป็นรัฐบาลอำนาจนิยม

แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ได้ปฏิเสธที่จะลงอำนาจตามวิถีทางตามกติกาของระบอบรัฐสภา

นั่นคือ การยุบสภาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป

แต่อย่างที่ได้กล่าวไปในเกณฑ์ข้อสาม การยุบสภาของรัฐบาลยิ่งลักษณ์กลับไม่มีความชอบธรรมทางการเมือง และส่งผลให้วิกฤตทวีความรุนแรงมากขึ้น จนทำให้กองทัพตัดสินใจทำรัฐประหาร

ถ้าพิจารณาข้อเรียกร้องและการส่งสัญญาณของมวลชนฝ่าย กปปส. ที่ออกมาปักหลักต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์อย่างยืนหยัดยาวนาน เราก็สามารถกล่าวได้ว่า ส่วนหนึ่ง รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 กองทัพทำรัฐประหารตามคำเรียกร้องของประชาชนเพื่อล้มระบอบอำนาจนิยมและทำการเปลี่ยนแปลงระบอบ

แต่ก็มีมิติในเรื่องรัฐผุเสื่อมเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญด้วย ดังที่ได้กล่าวไปในเกณฑ์ข้อสี่ ขณะเดียวกัน เราต้องไม่ละเลยข้อเท็จจริงที่ว่ามีประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยที่ปฏิเสธรัฐประหารทั้งสองครั้ง

ส่วนเกณฑ์ข้อที่หก กองทัพสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการเลือกตั้งที่อิสระและเป็นธรรมระยะเวลาที่ไม่เนิ่นนานเกินไปนัก Varol อธิบายโดยอ้างงานของ Juan Linz and Alfred Stepan ว่า “พลังตอบโต้ที่แข็งแกร่งที่สุดที่เป็นประชาธิปไตยของการบริหารราชการของรัฐบาลรักษาการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยคือ การกำหนดวันที่แน่นอนเพื่อให้มีการเลือกตั้งที่อิสระเสรี”

ซึ่งหมายความว่า Juan Linz, Alfred Stepan แล Varol กำลังสื่อว่า ในรัฐประหารที่นำไปสู่ประชาธิปไตย ในช่วงหลังรัฐประหารจนถึงเลือกตั้ง รัฐบาลรักษาการไม่ได้เป็นรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย แต่สามารถบริหารงานได้และได้รับการยอมรับด้วยเหตุผลที่รัฐบาลรักษาการนั้นไม่ได้ต้องการที่จะอยู่ในอำนาจทางการเมืองยาวนาน แต่มีความมุ่งมั่นที่จะสละอำนาจโดยมีการเลือกตั้งตามกำหนเวลาที่แน่นอน

อีกทั้ง Varol ยังอ้างงานของ Thomas C. Bruneau ที่ศึกษารัฐประหารที่นำไปสู่ประชาธิปไตยของโปรตุเกส โดย Bruneau ได้กล่าวไว้ว่า การสัญญาให้มีการเลือกตั้ง “ส่อให้เห็นถึงการก่อตัวของระบอบที่เป็นประชาธิปไตย”

และ Varol อ้าง Linz และ Stepan อีกว่าการกำหนดวันเลือกตั้งที่แน่นอนเป็นสิ่งจำเป็นต่อการสร้างพื้นที่สาธารณะหรือ “เวทีตลาดทางการเมืองใหม่” (new marketplace) สำหรับตัวแสดงทางการเมือง องค์กรและสถาบันที่เป็นประชาธิปไตย

Varol ย้ำว่า การกำหนดการเลือกตั้งจะเป็นสิ่งที่สร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลทหารที่ทำหน้าที่รักษาการ เพราะการกำหนดวันเลือกตั้งที่แน่นอนจะทำให้รัฐบาลรักษาการตระหนักรับรู้ถึงภาวะที่จำกัดของบทบาทหน้าที่ของตนและเป็นการส่งสัญญาณว่าวาระในการดำรงตำแหน่งของตนนั้นเป็นเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น