พิศณุ นิลกลัด : หัวอกคนนั่งรถเข็นไปเชียร์ฟุตบอล

พิศณุ นิลกลัด

ทีมฟุตบอลเชลซีได้ออกมาให้คำมั่นสัญญาเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ว่า ในการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ ลีกอังกฤษฤดูกาลหน้า สนามสแตมฟอร์ด บริดจ์ จะปรับปรุงให้สนามมีพื้นที่สำหรับแฟนฟุตบอลพิการที่ต้องนั่งรถเข็น จากปัจจุบันที่จุรถเข็นได้ 107 คัน เพิ่มเป็น 219 คัน เป็นไปตามกฎสนามแข่งกีฬาในอังกฤษที่ตั้งไว้ หลังจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมกัน หรือ The Equality and Human Rights Commission (ECHR) ออกโรงขู่ว่าหากสโมสรฟุตบอลใดยังปฏิบัติต่อผู้พิการอย่างไม่เท่าเทียม อาจมีการลงโทษทางกฎหมาย

ตามกฎสนามแข่งกีฬาในอังกฤษที่เริ่มบังคับใช้ในปี 2003 สนามกีฬาสร้างใหม่ที่มีความจุ 20,000 ที่นั่ง ต้องจัดบริเวณที่เพียงพอต่อรถเข็นสำหรับคนพิการหรือแฟนฟุตบอลที่ต้องนั่งรถเข็นอย่างน้อย 150 คัน

และหากมีที่นั่งเกิน 20,000 ที่นั่ง ทุกๆ 1,000 ที่นั่งที่เพิ่มขึ้น ต้องเพิ่มบริเวณสำหรับรถเข็นคนพิการอีก 3 คัน

หากสนามกีฬาที่สร้างใหม่มีความจุเกิน 40,000 ที่นั่ง ต้องจัดบริเวณให้เพียงพอต่อรถเข็นผู้พิการอย่างน้อย 210 คัน

สำหรับสนามสแตมฟอร์ด บริดจ์ มีความจุ 41,631 ที่นั่ง บริเวณเชียร์ของแฟนฟุตบอลที่ต้องนั่งรถเข็นควรมีความจุ 212 คัน ซึ่งในฤดูกาลหน้า ทางทีมเชลซีจะเพิ่มความจุบริเวณเชียร์ของแฟนฟุตบอลที่ต้องนั่งรถเข็นเป็น 219 คัน มากกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้นิดหน่อย

 

ในบรรดาทีมพรีเมียร์ ลีก 20 ทีม มี 12 ทีมที่จัดบริเวณรถเข็นสำหรับคนพิการเพียงพอตามกฎสนามแข่งกีฬา

ทีมบอร์นมัธ มีบริเวณที่นั่งสำหรับรถเข็นมากที่สุดเมื่อเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์กับที่นั่งทั้งหมดในสนามแข่ง โดยสนามวิทัลลิตี สเตเดี้ยม มีความจุ 11,360 ที่นั่ง มีบริเวณเชียร์ให้กับแฟนฟุตบอลที่ต้องนั่งรถเข็นถึง 195 คัน จากเกณฑ์ที่ตั้งไว้ 107 คัน

อันดับ 2 คือ ไบรท์ตัน, อันดับ 3 คือ สโต๊ก ซิตี้ และอันดับ 4 คือ เลสเตอร์ ซิตี้

สนามคิงเพาเวอร์ สเตเดี้ยม ของทีมเลสเตอร์ ซิตี้ มีความจุ 32,312 ที่นั่ง มีบริเวณเชียร์ให้กับแฟนฟุตบอลที่ต้องนั่งรถเข็น 197 คัน จากเกณฑ์ที่ตั้งไว้ 187 คัน

ส่วนเชลซี อยู่อันดับที่ 18

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด อยู่อันดับ 19 โดยสนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด มีความจุ 75,643 ที่นั่ง แต่มีบริเวณเชียร์ให้กับแฟนฟุตบอลที่ต้องนั่งรถเข็นเพียง 120 คัน ต่ำกว่าเกณฑ์ถึง 162 คัน

สำหรับอันดับแย่สุดคือทีมเบิร์นลีย์ สนามเทิร์ฟ มัวร์ มีความจุ 21,401 ที่นั่ง แต่มีบริเวณเชียร์ให้กับแฟนฟุตบอลที่ต้องนั่งรถเข็นเพียง 42 คัน ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ 112 คัน

 

สนามฟุตบอลที่มีที่ไม่เพียงพอกับแฟนที่นั่งรถเข็นก็ออกมาแก้ตัวว่า สนามฟุตบอลของทีมสร้างมานานแล้ว ต้องใช้เวลาในการปรับปรุงเพิ่มบริเวณสำหรับแฟนฟุตบอลผู้พิการที่นั่งรถเข็นเข้าชม

ซึ่งก็สร้างความไม่พอใจให้กับแฟนฟุตบอลผู้พิการเป็นอย่างมาก เพราะทีมฟุตบอลในพรีเมียร์ ลีก ร่ำรวยทั้งนั้น หากให้ความสำคัญกับแฟนฟุตบอลผู้พิการการปรับปรุงสนามแข่งขันให้รองรับแฟนฟุตบอลที่นั่งรถเข็นมาชมได้เพียงพอ ก็ไม่น่าจะใช้เวลานานขนาดนี้

ประเทศที่พัฒนาแล้ว สิทธิของผู้พิการเป็นสิ่งที่รัฐบาลและสังคมให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายเช่นเดียวกับคนปกติ

แต่ในสนามฟุตบอลที่อังกฤษ ลีกฟุตบอลที่มีรายได้มหาศาล มีแฟนกีฬาติดตามมากที่สุดในโลก กลับไม่ดูแลผู้พิการที่เข้าชมในสนามอย่างที่ควรเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องบริเวณพื้นที่สำหรับผู้พิการที่นั่งรถเข็นในสนามแข่งขัน ซึ่งมีไม่เพียงพอ

หรือมีพื้นที่เพียงพอ แต่ว่าอยู่ในมุมไม่ดี เห็นไม่ชัด เวลาที่แฟนๆ ในสนามยืนเชียร์ ก็บังวิวจนไม่เห็นการแข่งขัน ซึ่งแฟนฟุตบอลที่นั่งรถเข็นบางคนบอกว่านั่งดูโทรทัศน์ที่บ้านยังสนุกกว่า

แฟนฟุตบอลผู้พิการคนหนึ่งพูดได้ถึงอารมณ์แฟนลูกหนังว่า “สำหรับคนพิการ การได้เข้าสนามฟุตบอลไปเชียร์ทีมรัก ทำให้ลืมไปว่ากำลังนั่งอยู่บนรถเข็น และลืมไปชั่วขณะว่าตัวเองพิการ”