Victoria and Abdul : ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง (1)

ในตอนหนึ่งของ Victoria and Abdul พระนางเจ้าวิกตอเรียในวัยแปดสิบ พูดถึงความยิ่งใหญ่ของพระองค์ว่า ได้ครองราชย์มากว่าหกสิบปี เห็นนายกรัฐมนตรีมากว่าสิบคน ผ่านกฎหมายกว่าสองพันฉบับ และปกครองคนในเครือจักรภพกว่าพันล้านคน

วิกตอเรียเป็นทั้งราชินีของอังกฤษและไอร์แลนด์ จักรพรรดินีของอินเดีย และอยู่บนบัลลังก์มานานเกือบตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงที่อังกฤษแผ่อำนาจทั้งในเชิงอุตสาหกรรมรวมทั้งเข้าไปยึดครองประเทศต่างๆ หรือขยายอาณานิคมออกไปอย่างมาก

นอกจากนั้น ยังได้สมญานามว่า The Grandmother of Europe เพราะมีบุตรธิดาถึงเก้าพระองค์ ซึ่งบางองค์แต่งงานกับเชื้อพระวงศ์ของยุโรป เช่น เยอรมัน ออสเตรีย รัสเซีย นอร์เวย์ และกลายเป็นกษัตริย์ในเวลาต่อมา

หนังเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในช่วงปลายรัชสมัย เมื่อพระนางเจ้าวิกตอเรียได้พบกับอับดุล คาริม คนรับใช้ชาวอินเดียคนหนึ่ง และตั้งให้เขาเป็นถึงมุนชี่หรือพระอาจารย์ของจักรพรรดินี ยกย่องด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ บ้านพัก ยานพาหนะและของขวัญต่างๆ รวมทั้งพาไปเที่ยวฟลอเรนซ์

พระองค์เชิญครอบครัวของอับดุลมาอังกฤษ ช่วยให้พ่อของเขาได้เงินบำนาญ และให้ศิลปินวาดรูปของเขาติดไว้ในวัง

ทั้งสองสนิทกันถึงขนาดมีที่นั่งร่วมโต๊ะเสวยพระกระยาหาร และในจดหมายที่มีถึงอับดุล พระองค์จะเรียกตนเองว่า “your closest friend,” “your true friend” and “your loving mother.”

ความสัมพันธ์นี้กลายเป็นเรื่องอื้อฉาว อับดุลอาจจะเป็นเพียงคนรับใช้ เพื่อนสนิท และลูกชาย แต่ก็มีเสียงลือกันว่ามีความใกล้ชิดกันในเรื่องเพศด้วย

นอกจากปัญหาชนชั้น หนังจะบอกด้วยว่า คนรอบข้าง ซึ่งหมายถึงเชื้อพระวงศ์และข้าราชบริพารในวัง พากันอิจฉาริษยาอับดุลเพราะอคติทางเชื้อชาติหรือการถือสีผิว ฝรั่งถือว่าอินเดียเป็นชาติที่ป่าเถื่อน
และเมื่อพระนางเจ้าวิกตอเรียสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.2454 เชื้อพระวงศ์ทั้งหลายได้ช่วยกันลบเขาออกจากประวัติศาสตร์

เบอร์ตี้ ลูกชายของเธอ เมื่อได้เป็นกษัตริย์ สั่งให้เผาจดหมายที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์นี้ทั้งหมด ขับไล่อับดุลออกจากบ้านที่ราชินีเคยประทานให้ และส่งกลับอินเดียในทันที

ทั้งหมดนี้เป็นไปตามสูตรหนังเกี่ยวกับราชวงศ์อังกฤษที่กำลังฮิต เช่น The Crown คือวนเวียนอยู่กับความเป็นมนุษย์ของตัวเอก และเน้นกอสซิปมากกว่าประวัติศาสตร์

เราจึงได้เห็นที่มาของกอสซิปต่างๆ เช่น ทั้งสองพบกันอย่างไร สนิทกันแค่ไหน ได้รับการยกย่องอย่างไร รวมทั้งได้เห็นฉากบีบน้ำตาเมื่อลาจากกัน

อย่างไรก็ตาม หนังมีร่องรอยที่เกี่ยวกับยุคอาณานิคม หรือบอกอย่างสั้นๆ ว่าเบื้องหลังความรักและจงรักภักดี มี “บริบท” ของการล่าอาณานิคม และการเมืองของบูรพานิยม (Orientalism) หรือการยกย่อง/เหยียดหยามตะวันออก

อินเดียและการเป็นจักรพรรดินีแห่งอินเดียมีความสำคัญ ฉากงานเลี้ยงใหญ่ที่วังวินด์เซอร์ที่เป็นเหตุ ทำให้ทั้งสองได้พบกัน อาจจะทำหน้าที่เพียงเปิดตัวจูดี้ เดนช์ และบอกว่าอังกฤษเป็นเลิศในเรื่องของพิธีกรรมเกี่ยวกับกษัตริย์

แต่ก็ชี้ด้วยว่านี่คือพิธีฉลองห้าสิบปีของการครองราชย์ของพระนางเจ้าวิกตอเรียหรือ the Golden Jubilee ซึ่งจัดขึ้นในปี พ.ศ.2530

ก่อนที่อับดุลจะได้เข้าเฝ้าก็ต้องแต่งตัวให้ถูกต้อง ในฉากหนึ่ง ช่างตัดเสื้อชาวอังกฤษพูดว่าเขาต้องทำให้อับดุลกลายเป็นอินเดียในสายตาอังกฤษ หรือตามแบบภาพวาดในบริติชมิวเซียม แม้จะไม่ถูกต้องตรงกับความจริงเท่าไร หนังจึงบอกอย่างสั้นๆ ว่า “ความแท้” หรือ originality ของอินเดียเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นใหม่ และโดยอังกฤษเสียมากว่าอินเดียด้วยกันเอง

นอกจากนั้น เดอบาร์ (Durbar) อันเป็นชื่อของห้องรับรองอย่างเป็นทางการในวังออสบอร์นก็มาจากงานชื่อ เดลฮีเดอบาร์ (Delhi Durbar) พระราชพิธีราชาอภิเษกพระนางเจ้าวิกตอเรียเป็นจักรพรรดินีแห่งอินเดีย ซึ่งจัดขึ้นที่เดลี ในปี พ.ศ.2420

พระราชพิธีขนาดใหญ่นี้เป็นการถวายความเคารพแก่ราชวงศ์อังกฤษครั้งแรกในอินเดีย มีผู้เข้าร่วม 68,000 คน กว่า 15,000 คนเป็นข้าราชการ

การฉลองประกอบด้วยการสวนสนามขนาดใหญ่ของทหารอังกฤษและอินเดีย การกินเลี้ยง, การกีฬา การแสดงศิลปะ และปาร์ตี้อีกหลายครั้ง ทั้งหมดกินเวลาราวสองสามสัปดาห์ และต้องเตรียมงานกันหลายเดือน

บทความที่พูดถึงพระราชพิธีนี้อย่างละเอียด คือ Representing Authority in Victorian India ของ Bernard S. Cohn ผู้เขียนบอกว่าอังกฤษนั่นแหละที่สร้างความเก่าของอินเดียขึ้นมา

ซึ่งตรงกับแนวคิดของหนังสือที่รวมบทความเรื่องนี้ คือ The Invention of Tradition ของเอริก ฮอบสบอม และเทอร์เรนซ์ แรงเยอร์ นั่นคือ ประเพณีเก่ากับความเป็นสมัยใหม่นั้นเป็นสิ่งที่อยู่คู่กัน ไม่ได้อยู่ตรงข้ามกัน

โคห์นบอกว่าเดลฮีเดอบาร์ ซึ่งมีชื่อทางการว่า Imperial Assemblage เป็นการประกาศศักดาของอินเดียยุคใหม่ ซึ่งหมายถึงการกวาดล้างอำนาจเก่าในเชิงสัญลักษณ์ โดยมีจุดมุ่งหมายจะทำให้เจ้านายในอินเดียระดับต่างๆ ที่เคยขึ้นต่อราชวงศ์โมกุล ไม่ว่าจะเป็นมหาราชาหรือเจ้าระดับใด พูดภาษาใด หรือนับถือศาสนาใด หันมายอมรับการปกครองของอังกฤษแต่เพียงผู้เดียว

ก่อนหน้านั้น อินเดียประกอบด้วยหลายแคว้นที่แตกต่างกันทั้งวิถีชีวิต ภาษา ศาสนา ชาติพันธุ์ และรูปแบบการปกครอง มีทั้งที่เป็นของอังกฤษไปจนถึงมหาราชา ที่ถือหางอังกฤษไปจนถึงต่อต้านอังกฤษ ที่ยากจนและร่ำรวย และที่เล็กขนาดเล็กเท่าสนามกีฬาไปจนถึงที่ใหญ่กว่าประเทศฝรั่งเศส การจัดระเบียบดินแดนที่กระจัดกระจายเหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน

อินเดียกำลังจะเป็นชาติใหม่ พระราชพิธีนี้จึงคล้ายการฉลองแบรนด์ที่ ‘เพิ่งสร้าง’ หรือนำแบรนด์ใหม่เข้าสู่ตลาด