ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ:ดนตรีในรัฐที่โน้ตเพลงที่เก่าที่สุดของตนเอง เป็นแค่เรื่องพาฝัน

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

โน้ตเพลงที่เก่าแก่ที่สุดของสยาม เท่าที่มีหลักฐานจดบันทึกไว้ มีอยู่ในเอกสารฝรั่งเศส ที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในหมู่ผู้สนใจเรื่องดนตรี และประวัติศาสตร์คือ เพลง “สายสมร” ในบันทึกของ ซิมง เดอ ลา ลูแบร์ อัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ที่เดินทางเข้ามาในกรุงศรีอยุธยาครั้งแผ่นดินของพระนารายณ์เมื่อปี พ.ศ.2230

บันทึกการเดินทางมายังสยามฉบับนี้ตีพิมพ์ออกมาในชื่อ “Du Royuame de Siam” (หรือ “จดหมายเหตุลา ลูแบร์” ในภาคภาษาไทย) ที่กรุงปารีสในอีก 6 ปีให้หลัง

แต่ความเข้าใจที่ว่าโน้ตเพลง “สายสมร” ในบันทึกของ ลา ลูแบร์ เป็นโน้ตเพลงเก่าแก่ที่สุดของชาวสยามเท่าที่มีการจดบันทึกเป็นเพียงความเข้าใจผิด

เพราะที่จริงแล้วยังมีโน้ตเพลงสยามที่ถูกตีพิมพ์มาก่อนอีกเพลงหนึ่ง แต่ไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากนัก

คือ โน้ตเพลง “สุดใจ” (บางท่านอ่านจากคำที่ชาวฝรั่งเศสสมัยนั้น ถอดเสียงไปเขียนด้วยตัวอักษรโรมันเป็นอีกอย่างหนึ่งว่า “ฉุยฉาย” แต่ไม่ได้รับการยอมรับมากนัก) ซึ่งอยู่ในบันทึกของ นิโคลาส์ แชร์แวส นักเดินทางชาวฝรั่งเศส ที่ติดตามคณะเผยแผ่ศาสนาเข้ามาในกรุงศรีอยุธยา ระหว่างเรือน พ.ศ.2224-2229

แชร์แวสอยู่ในอยุธยาเกือบ 6 ปี นานกว่าที่ ลา ลูแบร์ ที่แวะมาตากอากาศในอยุธยาเพียงสามเดือนเศษถึงเกือบ 24 เท่าตัว ก่อนที่จะกลับไปพิมพ์หนังสือชื่อ “Histoire Naturelle et Politique du Royuame de Siam (หรือที่มีชื่อแปลในภาษาไทยว่า “ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม”) ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกที่กรุงปารีสเมื่อปี พ.ศ.2231 หนึ่งปีหลังจากที่ มงซิเออร์ ลา ลูแบร์ เดินทางถึงอยุธยา

ที่สำคัญคือ ในเอกสารของแชร์แวสระบุเอาไว้ว่า ได้จดโน้ตเพลงจากแผ่นดินของพระนารายณ์มาสองเพลง

แต่ฉบับที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในภาคภาษาฝรั่งเศสกลับมีเฉพาะโน้ตเพลง “สุดใจ” เพียงเพลงเดียวเท่านั้นที่ถูกตีพิมพ์

จนกระทั่งทำให้ในฉบับที่มีการแปลไปเป็นภาษาอังกฤษเป็นครั้งแรก ยังต้องมีข้อความระบุไว้ว่า ในต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสมีการตีพิมพ์โน้ตเพลงเพียงเพลงเดียว

ในขณะเดียวกัน บันทึกของ ลา ลูแบร์ ที่เริ่มต้นบทที่ว่าด้วยดนตรีของชาวสยามว่า “ชาวสยามไม่มีศิลปะในการขับร้องเลย” (ตามสำนวนแปลของ สันต์ ท. โกมลบุตร พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2510) ซ้ำยังมีข้อความบันทึกเกี่ยวกับการดนตรีในกรุงศรีอยุธยาในเชิงดูแคลนอย่าง เช่น “ชาวสยามไม่รู้จักการทำดนตรีชนิดที่มีจังหวะจะโคน” หรือแม้กระทั่ง “ไม่รู้จักแยกแยะเครื่องดนตรีในวงออกให้เป็นระเบียบ” ในบันทึกของผู้ที่มีทัศนะต่อดนตรีการของอยุธยาเช่นนี้กลับจดโน้ตเพลงที่มีชื่อว่า “สายสมร” เอาไว้?

น่าสงสัยนะครับ โดยเฉพาะเมื่อไม่มีข้อความตอนไหนเลยที่ ลา ลูแบร์ อ้างว่าคณะของตนเองได้จดโน้ตเพลงเอาไว้ ในขณะที่แชร์แวสอ้างว่าจดไว้สองเพลง แต่มีการตีพิมพ์ออกมาแค่เพลงเดียว

ดังนั้น จึงน่าสงสัยว่า เพลงสายสมรในบันทึกของลา ลูแบร์ เป็นของที่หยิบยืมมาจากโน้ตที่แชร์แวสได้เขียนไว้อีกเพลงหนึ่ง แต่ไม่ได้รับการตีพิมพ์

แต่คำสันนิษฐานนี้ ยังมีเงื่อนไขที่ต้องพิจารณาอยู่อย่างน้อยอีกสองข้อ

ข้อที่หนึ่งคือ แชร์แวสไม่ได้บันทึกไว้ว่าโน้ตเพลงที่ได้บันทึกไว้ชื่อว่าอะไรบ้าง? เงื่อนไขข้อนี้คงไม่มีใครหาคำตอบได้เว้นแต่จะขุดแชร์แวสขึ้นมาถาม

ส่วนข้อที่สองคือ ความเห็นของนักวิชาการทางด้านดนตรีที่อธิบายว่า โน้ตเพลงทั้งสองเพลงนี้มีลีลา ฝีมือ และวิธีการจดบันทึกที่แตกต่างกัน

ผมไม่ใช่นักดนตรี คงจะอธิบายในแง่ของลีลา และฝีมือไม่ได้ แต่หากนับเฉพาะวิธีการ เพลงสายสมรนั้นเป็นโน้ตคำร้อง ส่วนเพลงสุดใจบันทึกไว้ทั้งโน้ตคำร้อง และโน้ตดนตรี ที่สำคัญคือจากปากคำของนักวิชาการสายดนตรีหลายๆ ท่านอธิบายไว้ตรงกันว่า โน้ตเพลงสุดใจนั้นมีท่วงทำนองอย่างฝรั่ง ในขณะที่โน้ตเพลงสายสมรออกจะเป็นการบันทึกที่เลอะเทอะหาแก่นสารอะไรไม่ได้

นี่จึงเป็นที่มาของข้อสันนิษฐานต่างๆ นานา เช่น เพลงสุดใจอาจเป็นเพลงร้องในโบสถ์ชาวคริสต์สมัยอยุธยาที่แต่งเนื้อร้องเป็นไทย แต่ข้อสันนิษฐานอย่างนี้ยังไม่มีหลักฐานแวดล้อมประกอบพอให้ชวนเชื่อถือได้มากนัก

โดยมากแล้วนักวิชาการส่วนใหญ่มองโน้ตเพลงทั้งสองเพลงนี้อย่างโดดเดี่ยว คือมองเป็นเครื่องตัวโน้ตที่จดบันทึกเสียงในสมัยปลายอยุธยาเอาไว้ มากกว่าจะมองในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ตัวโน้ตของเพลงทั้งสองเพลงนี้จึงแทบจะไม่เคยถูกนำมาเชื่อมโยงกับเงื่อนไขอื่นๆ แม้กระทั่งเงื่อนไขของการที่มันถูกจดบันทึกไว้ในบันทึกของแชร์แวสน่ะแหละ

ลา ลูแบร์ ที่ดูแคลนดนตรีในแผ่นดินพระนารายณ์ ตามอย่างชาวยุโรป โดยเฉพาะยุโรเปียนกระฎุมพี ผู้คิดว่าตัวเองศิวิไลซ์เสียเต็มประดาอย่างที่ผู้ดียุโรปในสมัยโน้นควรจะเป็น จะมาสนใจใคร่รู้ในดนตรีชั้นต่ำตามสายตาของชาวยุโรปชั้นสูงทำไม?

ในขณะที่แชร์แวสซึ่งติดตามมาสยามกับคณะบิชอปแห่งเมืองเฮลิโอโปลิส และเป็นนักบวชมาตั้งแต่ก่อนอายุจะเต็มยี่สิบ ในชีวิตของเขาไม่ได้เขียนหนังสือทำนองนี้เพียงเล่มเดียว ยังมีงานอย่าง “The Description Historique du Royuame de Macacar” และ “A Life of St. Martin” ซึ่งเขียนขึ้นในช่วงไล่เลี่ยกันกับที่แชร์แวสเขียนถึงสยาม หลังการผจญภัยในโลกตะวันออก แชร์แวสยังออกไปผจญโลกใหม่กับคณะมิชชันนารีในเวเนซุเอลา จนกระทั่งถูกสังหารเสียชีวิตโดยพวกคาริบอินเดียน เมื่อปี พ.ศ.2272

โดยโปรไฟล์แล้วทั้งสองคนมีฐานะและทัศนคติที่ต่างกันแน่ จึงไม่แปลกอะไรเลยถ้าคณะของแชร์แวส ที่มุ่งจะแสวงหาคนเข้ารีตอยู่ในอาณาจักรของพระเจ้า จะให้ความสำคัญกับดนตรีพื้นเมืองมากกว่าคณะของ ลา ลูแบร์ ที่เดินทางมาสู่บ้านเมืองที่พวกเขาดูถูกว่าเป็นอนารยะด้วยเหตุผลทางการเมือง

แต่การณ์มักจะไม่ง่ายอย่างใจหวัง การตีพิมพ์หนังสือการสำรวจดินแดนใหม่ๆ ในยุโรปตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17-19 เป็นเรื่องของมุมมองที่ชาวยุโรปมองดินแดนภายนอกว่ามักจะต่ำต้อยกว่าตนเอง

หนังสือที่ถูกตีพิมพ์ในสมัยนั้นมีข้อถกเถียงอย่าง ชาวอินเดียนแดงสมควรจะถูกนับว่าเป็นมนุษย์หรือไม่? นครวัดนครธมเป็นสิ่งปลูกสร้างของพวกโรมันไม่ใช่ของพวกขอมหรือชาวพื้นเมืองอื่นๆ ฯลฯ

ทัศนคติอย่างนี้ ได้ก่อให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ในขณะเดียวกันก็สร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับดินแดน วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ฯลฯ นอกภาคพื้นทวีปยุโรปอย่างบิดเบือนจากสายตาของคนนอก เพราะพวกยุโรปมองดินแดน และวัฒนธรรมเหล่านี้อย่างที่มีศัพท์ฝรั่งเรียกว่า “exotic”

คำว่า “exotic” มีคำแปลเป็นศัพท์วิชาการว่า “แปลกถิ่น” แต่ไม่ใช่แค่รู้สึกแปลกที่จนนอนไม่หลับเพียงอย่างเดียว ความ exotic ยังมีความรู้สึกตื่นเต้น ตื่นตาตื่นใจ หรือมหัศจรรย์พันลึกอื่นๆ ผสมอยู่ด้วย

หนังสือที่ถูกเขียนขึ้นในระยะนี้จึงมีทั้งที่เขียนขึ้นจากความ exotic จริงๆ และเขียนขึ้นเพื่อให้เกิดความ exotic แก่ผู้อ่าน

แน่นอนว่าผมหมายถึงทั้งเรื่องราว และรูปประกอบ และถ้ามองว่าทั้งโน้ตเพลงสุดใจ และสายสมรเป็นเพียงภาพประกอบภาพหนึ่งในบันทึกของ แชร์แวส และ ลา ลูแบร์ แล้ว ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะต้องประเมินความน่าเชื่อถือของหลักฐานไปได้

โดยเฉพาะโน้ตเพลง สายสมร ที่ถ้าหากไม่ได้ถูกบันทึกโดยคณะของ ลา ลูแบร์ ก็ยิ่งควรพิจารณาประเมินค่ากันเสียใหม่

การที่รัฐบาลชุดปัจจุบัน มีนโยบายให้เด็กไทยทุกคน เล่นดนตรีไทยได้อย่างน้อยคนละ 1 อย่าง โดยจะเริ่มตั้งแต่ภาคการศึกษาต้น ปีการศึกษา 2560 คือปีหน้าที่จะถึงนี้ ก็คงจะเป็นทำนองเดียวกันนี่แหละ

เพราะรัฐท่านก็คง exotic กับดนตรีไทย มากเสียจนไม่ทันได้ประเมินว่า เด็กๆ จะได้รับประโยชน์อะไรจากข้อบังคับนี้บ้าง?

และจะเป็นประโยชน์กว่าไหม ถ้าเอางบฯ เดียวกันนี้ไปส่งเสริมให้เด็กทำกิจกรรมอันเป็นประโยชน์อื่นๆ ตามแต่ความสนใจ และถนัดถนี่ของเจ้าตัว?

แต่ก็อย่างว่านะครับ จะเอาอะไรกับรัฐที่โน้ตดนตรีเก่าแก่ที่สุดยังไม่ใช่ดนตรีของตัวเอง?