อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : L”Origine du monde การจำลองภาพวาดสุดอื้อฉาว ในประวัติศาสตร์ศิลปะในบริบทร่วมสมัย (1)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปดูนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจมากมานิทรรศการนึง เลยเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันตามเคย

นิทรรศการที่ว่านั้นมีชื่อว่า

L”Origine du monde

ซึ่งเป็นนิทรรศการแสดงเดี่ยวของ ธเนศ อ่าวสินธุ์ศิริ ศิลปินร่วมสมัยชาวไทย ผู้สร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมมาอย่างจริงจังและยาวนาน รวมถึงแสดงงานศิลปะทั้งเดี่ยวและกลุ่มมาอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ

โดยนิทรรศการในครั้งนี้ประกอบด้วยผลงานจิตรกรรม, ผลงานประติมากรรม และผลงานวิดีโอจัดวาง ที่มุ่งเน้นในการสำรวจร่างกายมนุษย์ในฐานะเครื่องมือทางภาษา และความลามกอนาจารที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพื้นที่สาธารณะในขอบเขตของประวัติศาสตร์ศิลปะ ซึ่งเป็นหัวข้อที่ธเนศใช้ในงานศิลปะของเขามาโดยตลอด

ที่น่าสนใจก็คือ แรงบันดาลใจแรกเริ่มและชื่อของนิทรรศการครั้งนี้ นั้นได้มาจากผลงานจิตรกรรมที่โด่งดังและอื้อฉาวที่สุดในประวัติศาตร์ศิลปะตะวันตก (ที่เราเคยกล่าวถึงไปแล้วในตอนแรกๆ) อย่าง L”Origine du monde, 1866

หรือ The Origin of the World (บ่อเกิดของโลก) ของจิตรกรชาวฝรั่งเศส กุสตาฟว์ กูร์แบ (Gustave Courbet / 1819-1877)

ซึ่งเป็นภาพวาดสีน้ำมันรูปผู้หญิงเปลือยไม่ปรากฏหน้าตา หากแต่โคสลอัพไปที่หว่างขาที่อ้าออกกว้าง เปิดเผยอวัยวะซ่อนเร้นเบื้องล่างของเธอให้เห็นอย่างจะแจ้งและแสดงความยั่วยวนทางเพศอย่างเต็มที่จนแทบจะน่าขัน

เดิมทีภาพนี้ถูกว่าจ้างโดยนักสะสมผู้มีรสนิยมทางศิลปะเฉพาะทาง เพื่อเก็บเอาไว้ในคอลเล็กชั่นส่วนตัว ให้ดูกันในหมู่พวกพ้องคอเดียวกัน

 

แต่ภายหลังก็ถูกขายผ่านมือนักสะสมศิลปะหลายต่อหลายคน

จนในที่สุดก็ตกอยู่ในการครอบครองของ ฌากส์ ลากอง (Jacque Lacan) นักจิตวิเคราะห์ชาวฝรั่งเศสชื่อดัง

หลังจากที่เขาเสียชีวิตลง ครอบครัวของลากองก็ตัดสินใจบริจาคภาพนี้ให้กับพิพิธภัณฑ์ออร์แซ (Musee d”orsay) กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

และแสดงอยู่ที่นั่นจวบจนถึงทุกวันนี้

“ผมชอบงานชิ้นนี้มาตั้งแต่สมัยเรียน เพราะว่ามันแสดงความเป็น Voyeur (การถ้ำมอง) ของผู้ชมเพศชาย ที่มีเจตนาจะมองอวัยวะเพศหญิง แต่เราไม่ค่อยรู้ประวัติศาสตร์มันดีนัก จนกระทั่งโลกมีอินเตอร์เน็ต เราเลยเข้าถึงข้อมูลได้”

“สำหรับผม ภาพนี้มันสะใจดี ในฐานะที่เราเป็นคนไทย ประเทศที่โคตรมือถือสากปากถือศีลแล้วมันมีภาพของจิตรกรชั้นครูที่กระแทกหน้าคนตรงๆ ด้วยเจตนาที่จะส่องลงไปตรงอวัยวะเพศตรงๆ ซึ่งเป็นการเล่นกับความมีศีลธรรมของคน เหมือนงานของศิลปินหัวก้าวหน้า (Avant-garde)”

“แต่นี่มันไม่ใช่งานแบบหัวก้าวหน้าแบบเดียวกับโถฉี่ของดูชองป์ แต่มันเป็นงานที่ถูกว่าจ้าง (ในยุคสัจนิยม) ถ้าคนที่รู้ประวัติศาสตร์จะทราบว่า จิตรกรในอดีตบางคนนั้นลำบากมาก ต้องพึ่งพาเงินจากผู้อุปถัมถ์ หรือผู้ว่าจ้าง ไม่ว่าจะเป็นศาสนจักร ขุนนาง ชนชั้นสูง หรืออะไรก็แล้วแต่ และภาพวาดภาพนี้มันถูกนักการทูตในปารีสที่ร่ำรวยและชอบสะสมรูปเซ็กซี่แบบนี้จ้างให้วาดขึ้นมา”

“ซึ่งถ้านิยามโดยหลักวิชาการ ภาพนี้มันก็ไม่ลามก เพราะไม่ได้เอามาให้ใครดู แต่เป็นรูปที่ดูกันในพื้นที่ส่วนตัว เหมือนรูปติดห้องนอน แต่พอดีนักการทูตคนนี้เขาชอบเล่นพนัน พอเป็นหนี้พนันเขาก็เลยต้องเอาไปขาย”

“พอขายแล้วมันก็เปลี่ยนมือไปเรื่อยๆ จนท้ายที่สุดมันไปอยู่กับ ฌากส์ ลากอง ซึ่งเป็นนักวิชาการสายหลังโครงสร้างที่เอาทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ มาตีความใหม่ และเขาเองก็ไม่ใช่นักสะสมประเภทชายเป็นใหญ่ หรือนักถ้ำมอง แต่เขามองมันในมุมมองใหม่ ซึ่งผมคิดว่ามันน่าสนใจมาก”

ธเนศกล่าวถึงภาพวาดอื้อฉาวที่เป็นแรงบันดาลใจเบื้องต้นของนิทรรศการนี้

หลังจากที่ภาพนี้ถูกแสดงต่อสาธารณชนอย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรก ก็ทําให้เกิดข้อครหามากมาย ถึงความลามกอนาจาร หรือการอยู่ผิดที่ผิดทาง

ซึ่งธเนศอธิบายภาพนี้ในฐานะที่มันเป็นสัญญะล่องลอย (floating sign) ด้วยความที่มันดำรงตัวอยู่ท่ามกลางความเลื่อนไหลของบริบทและความหมายอันเปลี่ยนไปตามกาลเวลาและความคิดของผู้คนแต่ละยุคสมัย

ถึงแม้ปัจจุบันภาพนี้อาจไม่ได้แสดงถึงความลามกอนาจารอย่างฉาวโฉ่อย่างที่เป็นมา แต่มันก็ยังคงถูกตั้งคําถามในแต่ละยุคสมัยอยู่ดี

ไม่ว่าจะเป็นในประเด็นเกี่ยวกับ นัยยะของการจ้องมองผู้หญิงเพื่อความเพลิดเพลินของเพศชาย (Male Gaze)

พฤติกรรมการถ้ำมอง รวมถึงการเป็นเป้าโจมตีอันโดดเด่นในการต่อสู้ของกลุ่มสตรีนิยม (Feminism)

แต่ในทางกลับกันมันก็ถูกศิลปินหลายคนนำไปต่อยอด เสียดเย้ย ท้าทาย

หรือใช้เป็นเครื่องมือในการแสดงออกทางอุดมการณ์กันอย่างเอิกเกริก ซึ่งรวมถึงศิลปินเฟมินิสต์ด้วย

โดยผลงานชิ้นเด่นในนิทรรศการครั้งนี้คือ ผลงานที่เป็นการจําลองผลงาน L”Origine du monde ในพิพิธภัณฑ์ออร์แซ มาไว้บนผนังหอศิลป์

แต่ไม่ได้มาในรูปแบบของภาพวาดสีน้ำมันเหมือนต้นฉบับ

หากแต่เป็นประติมากรรมนูนต่ำ ที่จำลองภาพวาดกับกรอบสลักเสลาสไตล์หลุยส์มา โดยไม่มีสีสันอะไรเลยนอกจากสีขาวนวลทั่วทั้งตัวภาพและกรอบ

นอกจากนั้น ยังมีป้ายชื่อของภาพซึ่งติดอยู่ในตำแหน่งเดียวกันกับที่ติดในพิพิธภัณฑ์ แต่เป็นในรูปแบบเดียวกันกับภาพที่จำลองมา คือเป็นสีขาวนวลหมดทั้งป้าย โดยไม่มีสีสันอื่นใดเลยนอกจากตัวหนังสือนูนต่ำ ที่ถ้าไม่สังเกตดีๆ ก็แทบจะมองไม่เห็น

ยิ่งไปกว่านั้น สีของผนังหอศิลป์ที่แขวนงาน ก็เป็นสีเดียวกับสีผนังในพิพิธภัณฑ์อีกด้วย

“ผมต้องการเปลี่ยนบริบทของภาพวาดชิ้นนี้ให้กลายเป็นประติมากรรม ซึ่งได้ความช่วยเหลือจาก อ.กฤช งามสม (อาจารย์ภาควิชาประติมากรรม สาขาวิชาศิลปกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง) ในการทำขึ้นมา”

“ส่วนตัวป้ายก็ได้ความช่วยเหลือจาก คุณสันติ ลอรัชวี ส่วนเหตุผลที่มันเป็นสีขาวนั้น ผมได้ไอเดียมาจากผลงานของ อ.สรรเสริญ มิลินทสูต ที่ใช้พาราฟีน (ขี้ฝึ้งสังเคราะห์) ทำเป็นโต๊ะหุ่นนิ่ง มีเชิงเทียน ผลไม้ เวลาวางต้องแสงมันจะสวยมากๆ แสงมันจะเข้าไปได้ส่วนนึง มันโปร่งแสง แต่ไม่โปร่งใส ซึ่งผมชอบ และอยากได้เอฟเฟ็กต์แบบนี้”

“ผมก็เลยขอให้ อ.กฤชช่วยทำให้ แต่เขาก็แนะนำว่า พาราฟินไม่เหมาะกับอากาศบ้านเรา น่าจะเปลี่ยนมาใช้เรซิน แล้วทำให้สีออกมาคล้ายกับพาราฟินดีกว่า ผมก็เลยตกลง”

นอกจากผลงานประติมากรรมนูนต่ำจำลองแล้ว ในนิทรรศการยังมีผลงาน L”Origine du monde (after Courbet) ภาพวาดสีอะครีลิกขนาดใหญ่ที่ธเนศทำขึ้นมาใหม่โดยการตีความภาพวาดของกูร์แบขึ้นมาใหม่ในแบบของตัวเองอีกด้วย

“จริงๆ ผมวาดภาพนี้ขึ้นมาก่อน เป็นรูปผู้หญิงนอนเหมือนกับท่าที่อยู่บนเตียงขาหยั่งสูตินรีเวช หรือผู้หญิงที่นอนอยู่ในห้องตัวเอง ในพื้นที่แห่งความลับ โดยเขานอนอย่างผ่อนคลาย อาจจะเป็นท่าของการคลอดลูกหรืออะไรก็แล้วแต่ ภาพนี้มันเป็นบทสนทนาที่เราวาดโต้ตอบกับภาพ The Origin of the World ของกูร์แบ เพียงแต่ผมขยายบริบทของมัน ในภาษาศิลปะหรือในประวัติศาสตร์ศิลป์ เขาจะใช้คำว่า after หมายถึงเราสามารถนำเอางานศิลปะในประวัติศาสตร์สักชิ้นมาเปลี่ยนให้เป็นบริบทของเราเองได้ ซึ่งเป็นธรรมเนียมตามปกติในโลกศิลปะ”

ข้างๆ ภาพนี้ยังมีประติมากรรมรูปกรอบสี่เหลี่ยมสีขาวนวลสลักเสลาลวดลายวิจิตรบรรจงแบบเดียวกับกรอบของภาพ The Origin of the World

ยิ่งไปกว่านั้นมันยังใช้วัสดุและสีสันแบบเดียวกับประติมากรรมนูนต่ำที่ทำจำลองขึ้นมา แต่ในขณะเดียวกันมันก็ดูคล้ายกับเป็นกรอบของภาพที่ตีความใหม่ ที่ไม่ได้ถูกสวมใส่ลงไปบนภาพ แต่กลับนำมาวางอยู่เคียงข้างกัน

ธเนศทำผลงานทั้งสามชิ้นนี้ให้เป็นโครงข่ายที่เชื่อมโยงสัมพันธ์และสะท้อนถึงกันและกันได้อย่างแนบเนียน

นิทรรศการ L”Origine du monde จัดแสดงที่ 100 ต้นสน แกลลอรี่ ซอยต้นสน, ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าชิดลม โดยเปิดให้เข้าชมได้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 6 พฤษภาคม 2018 ทุกวันพฤหัสบดี-วันอาทิตย์ เวลา 11:00-19:00 น.

ใครสนใจจะไปชมก็สอบถามข้อมูลได้ที่ อีเมล : [email protected], เฟซบุ๊ก @100tonsongallery, โทรศัพท์ 0-2010-5813