​​​ความไม่ไว้วางใจ ความไม่เชื่อมั่น ​​​ก่อรูป”ความรู้สึก”เป็น “ความคิด”

ความรู้สึก 1 ที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติหลังเห็นพาดหัวตัวไม้ ไม่ว่า
“โหวตคว่ำ 7 กกต.” ไม่ว่า “ล้ม 7 กกต.”
​คือ “หวั่นเลือกตั้งเลื่อน”
​นับวันความรู้สึกในลักษณาการนี้จะดำเนินไปในแบบที่เรียกได้ว่า เป็นความรู้สึก “ร่วม” ในทางสังคม
​เพราะผลก็คือ ต้องนับ 1 ใหม่
​แม้ว่าตามกฎหมายคณะกรรมการสรรหาจะต้องดำเนินการภายในกรอบ 90 วัน แต่ความรู้สึกในลักษณะ”ร่วม”ก็คือ ไม่เป็นไป ตามแผน ไม่เป็นไปตามเป้า
​ทุกอย่างก็”โยง”ไปยังโรดแมป เกี่ยวเนื่องกับกำหนด”วันเลือกตั้ง”
​หรือว่านี่จะเป็นอีก”อภินิหาร” 1 จาก”คสช.”

มิใช่ว่าความรู้สึกนี้จะเกิดขึ้นโดยไร้รากฐาน ไม่มีความเป็นมาในทางความคิดรองรับ
​ตรงกันข้าม มันมาจาก “คสช.”นั่นเอง
​ปรากฏการณ์”เลื่อน”โรดแมปครั้งแล้วครั้งเล่าตั้งแต่ปี 2558 เรื่อยมาจนถึงปี 2561 คือ ตัวอย่างอันเด่นชัด
​ไม่ว่าจะมองผ่าน “ปฏิญญา โตเกียว”
​ ไม่ว่าจะมองผ่าน “ปฎิญญา นิวยอร์ค” ไม่ว่าจะมองผ่าน
“ปฏิญญา ทำเนียบขาว”
​ทุกอย่างยังดำเนินไปตามบทสรุป “เขาอยากอยู่ยาว”
​เป็นปฏิบัติการอันต่อเนื่องจากการคว่ำ”ร่างรัฐธรรมนูญ”เมื่อเดือนกันยายน 2558 กระทั่งคว่ำ”7 กกต.”ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561
​ล้วนสัมพันธ์กับ”การเลือกตั้ง” ล้วนสัมพันธ์กับ “อำนาจ”

ความรู้สึกในลักษณะ “ร่วม” เช่นนี้สะท้อนให้เห็นพฤติกรรมในเชิงสะสมอันมาจาก “คสช.”
​แรกที่เกิดปรากฏการณ์ยังเป็นเพียง “ความสงสัย”
​แต่เมื่อเกิดขึ้นหลายครั้งหลายหน ต่อเนื่องกันครั้งแล้วครั้งเล่าจึงหนักแน่นยิ่งกว่านิทานอิสปว่าด้วย “เด็กเลี้ยงแกะ”
​จึงก่อตัวขึ้นเป็นความรู้สึก “ร่วม” เมื่อหลายๆความรู้สึกถูกนำมากองสุมมากเข้าๆในที่สุดก็ก่อรูปเป็น “ความคิด”
​ไม่ไว้วางใจ ไม่เชื่อมั่น