เพ็ญสุภา สุขคตะ / “ล้านนาศึกษา” ใน “ไทศึกษา” ครั้งที่ 13 (18) มูลสาสนาสำนวนล้านนา : จดหมายเหตุการพระศาสนาฝ่ายบุปผวาสีแห่งโยนกโลก (จบ)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ฉบับก่อน อาจารย์เกริก อัคชิโนเรศ วิจารณ์ “ตำนานมูลศาสนา” เวอร์ชั่นแปล(ง)โดยกรมศิลปากรเสียพอแรง

ฉบับนี้จักได้กล่าวถึง “เนื้อหา” ที่ปรากฏทั้งใน “มูลสาสนาสำนวนล้านนา” และใน “ตำนานมูลศาสนา” ของกรมศิลปากรเสียที

ซึ่งเนื้อหามีทั้งหมด 10 ผูก

 

พุทธวังสะ และพุทธการกะ

เนื้อความของมูลสาสนา เดินเรื่องตาม “พุทธวังสะ” (พุทธวงศ์) ตามอย่างพระไตรปิฎก หมวดขุททกนิกาย อปทานภาคที่ 2 สุตตันตปิฎก ซึ่งจะมีตอนหนึ่งกล่าวถึง “พุทธวังสะ” หรือวงศ์ของอดีตพระพุทธเจ้าหลายพระองค์โดยลำดับ

ตามที่เราทราบกันดีว่า พระอดีตพุทธเจ้ามีจำนวน 28 พระองค์ ทว่า ในมูลสาสนามิได้กล่าวถึงหมดทุกพระองค์ หากเลือกมาเฉพาะบางพระองค์ที่มีประเด็นเกี่ยวข้องกับ “พุทธการกะ” เท่านั้น

“พุทธการกะ” คืออะไร หมายถึงการปรารถนาพุทธภูมิของพระโพธิสัตว์ก่อนจะมาตรัสรู้เป็นพระโคตมพุทธเจ้า จักต้องค่อยๆ พัฒนาคุณสมบัติประการสำคัญอย่างไรบ้าง โดยไล่เรียงพระชาติไปตามลำดับของกัปต่างๆ

ตัวอย่างของคุณลักษณะพื้นฐาน 10 ประการของผู้ที่ปรารถนาพุทธภูมิ อาทิ ต้องเกิดมาเป็นเพศชาย ต้องได้บวช เมื่อบวชแล้วต้องได้พบพระพุทธเจ้า ต้องได้รับคำทำนายจากพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ มาแล้ว

อาจารย์เกริกกล่าวเสริมว่า ในล้านนาเคยมีการพบจารึก “พุทธการกธัมม์” มาแล้วหลักหนึ่ง เคยอยู่ที่ริมฝั่งแม่สาย แต่ต่อมาถูกย้ายไปอยู่ฝั่งลาวโดยนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส และสุดท้ายนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แห่งหนึ่งในเวียดนาม

ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร ได้ตามไปอ่าน เนื้อหากล่าวถึงเจ้าหมื่นได้สร้างพระพุทธรูป และนางหมื่น (ภรรยาเจ้าหมื่น) ได้ตั้งปรารถนาว่าชาติหน้าขอให้ได้เกิดเป็นผู้ชาย ข้อความลักษณะเช่นนี้เป็นที่เข้าใจกันได้ว่า แสดงว่านางปรารถนาพุทธภูมิ

เนื้อหาในผูกต้นๆ ต่อจากพุทธวังสะและพุทธการกะ จะเป็นการกล่าวถึง “เค้าเหง้า” ของพระพุทธศาสนา สมกับชื่อ “มูละ” ว่าพระพุทธศาสนากำเนิดขึ้นได้อย่างไร กว่าจะถึงพระชาติของสิทธัตถะกุมาร จนถึงการออกมหาภิเนษกรมณ์ การตรัสรู้ธรรม การแสดงธรรม และการปรินิพพาน

จากนั้นเป็นเรื่องการสังคายนาพระไตรปิฎก 3 ครั้ง แล้วหยุดเรื่องราวของพุทธกาล อินเดีย-ลังกา ไว้แค่นั้น ตัดขึ้นบทใหม่ กลายเป็นรายละเอียดของศาสนาพุทธที่เมืองพัน (ใกล้เมาะตะมะ) ในรามัญเทศ นิกายต้นวงศ์ของสวนดอกบุปผวาสีแห่งล้านนา

 

ปริศนาอัฏฐมหาสังคายนา

ตกลงมีหรือไม่มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ของโลก หรือครั้งแรกบนดินสยาม? อาจารย์เกริกตั้งคำถามถึงมูลสาสนาบทที่ 5 ไว้อย่างน่าสนใจ

ไฉนมูลสาสนาบทนี้กล่าวถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินล้านนา ในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช จ.ศ.839 (พ.ศ.2020) อย่างละเอียด แต่กลับไม่มีการกล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญยิ่ง คือการกระทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 แต่อย่างใดเลย

เอกสารเพียงเล่มเดียวที่กล่าวถึงอาณาจักรล้านนาเคยเป็นเจ้าภาพสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ปรากฏอยู่ใน “สังคีติยวงศ์” นิพนธ์โดยสมเด็จพระวันรัต สมัยรัชกาลที่ 1

หากกลับไม่พบเรื่องราวเดียวกันนี้ในเอกสารสำคัญของล้านนา 3 ฉบับ คือ ชินกาลมาลินี มูลสาสนา และตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ (ไม่นับจามเทวีวงส์ เพราะแต่งขึ้นก่อนสมัยพระเจ้าติโลกราช)

ในมูลสาสนาฝ่ายสวนดอกบุปผวาสีนี้ กล่าวว่าปี พ.ศ.2020 พระสงฆ์นิกายสวนดอกได้กระทำการผูกพัทธสีมาขึ้นใหม่ แต่แล้วกลับเกิดเหตุวิวาททะเลาะกันเอง โดยพระภิกษุรูปหนึ่งบอกว่าการผูกสีมานั้นต้องโมฆะ เนื่องจากตนไม่ได้อยู่ร่วม พระผู้ทรงสมณศักดิ์ที่อยู่ในพิธีมีไม่ครบ 4 รูป

อาจารย์เกริกเห็นว่า เรื่องการผูกพัทธสีมาที่ไม่ลงตัวนั้น เป็นเรื่องหยุมๆ หยิมๆ ทำไมจึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ ถึงขั้นมีการบันทึกในมูลสาสนา แต่กลับละเลยไม่กล่าวถึงการสังคายนาพระไตรปิฎก ทั้งๆ ที่ควรเป็นเหตุการณ์สำคัญยิ่งกว่าหรือไม่?

ชินกาลมาลินี ในศักราชเดียวกันบันทึกเรื่องอะไรล่ะหรือ ระบุเพียงแค่ว่าพระเจ้าติโลกราชได้สร้างวัดมหาโพธาราม (วัดเจ็ดยอด) แต่ไม่ขยายความว่ามีการสังคายนาพระไตรปิฎกที่วัดแห่งนั้นเลย ทั้งๆ ที่ชินกาลมาลินีเป็นงานเขียนของฝ่ายวัดป่าแดง สายที่โปรหรือสนับสนุนพระเจ้าติโลกราชสุดลิ่มทิ่มประตูอยู่แล้ว

ข้างฝ่ายตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ก็ระบุว่าระหว่าง พ.ศ.2019-2023 พระเจ้าติโลกราชกำลังบูรณะมหากุฎาราม แห่งวัดเจดีย์หลวง

เป็นที่น่าสงสัยว่า สมเด็จพระวันรัต ได้ข้อมูลเรื่องการสังคายนาพระไตรปิฎกสมัยพระเจ้าติโลกราชมาจากที่ใดกัน ในเมื่อเอกสารฝ่ายล้านนาทุกฉบับทั้งนิกายสวนดอกและนิกายป่าแดง พากันเพิกเฉยเรื่องสำคัญระดับโลกเช่นนั้น

 

ศาสนาจากเมืองพันสู่บุปผวาสี

ดังที่กล่าวแล้วว่า มูลสาสนาแต่งโดยพระพุทธกามและพระพุทธญาณแห่งนิกายสวนดอก เนื้อหาโดยรวมจึงเน้นบทที่ว่าด้วยประวัติวัดสวนดอกและบทบาทของ “พระญากือนา” ในการรับพระพุทธศาสนามาจากสายรามัญวงศ์ ซึ่งมีต้นกำเนิดอยู่ที่เมืองพัน ไม่ไกลจากเมาะตะมะเท่าใดนัก

เมืองพันเป็นที่สถิตของพระอุทุมพรมหาสวามีเจ้าสำนักรามัญนิกาย แต่ปัจจุบันเมืองพันนี้ (เรียกว่า Pa-An ปะอัน) ไม่ใช่เมืองของมอญอีกต่อไป กลายเป็นถิ่นที่อยู่ของประชากรชาวกะเหรี่ยง

เนื้อหาส่วนนี้มีการกล่าวถึงพระอุปละและพระอานันทะจากเชียงใหม่ไปสืบพระศาสนาที่เมืองพัน ในที่สุดพระอุทุมพรมหาสวามีมอบหมายให้พระสุมนเถระ แห่งศรีสัชนาลัยไปวางรากฐานพระพุทธศาสนาให้ชาวเชียงใหม่ ดังที่ปรากฏหลักฐานสอดคล้องกับศิลาจารึกวัดพระยืน จังหวัดลำพูน

พระสุมนเถระขุดได้พระบรมสารีริกธาตุจากกอเข็มที่เมืองปางจา ศรีสัชนาลัย เห็นพระธาตุเสด็จ แต่ครั้นนำให้พระญาไสยฦๅไท กษัตริย์สุโขทัยทอดพระเนตร พระธาตุกลับไม่กระทำปาฏิหาริย์

เป็นเครื่องสะท้อนว่า “พระธาตุมีชีวิต และต้องการเลือกเองว่าสถานที่ใดสมควรได้รับการประดิษฐาน” สุดท้ายพระสุมนเถระต้องอัญเชิญพระธาตุมาไว้ที่วัดพระยืน ลำพูน และวัดสวนดอก เชียงใหม่ ตามลำดับ

สิ่งที่น่าสนใจคือ พระสุมนเถระฝันว่าได้เห็นพระอินทร์มาบอกพระญากือนาว่า หากมาตรแม้นวันใดในอนาคตที่พระญากือนาได้เป็นพระศรีอาริยเมตไตรย พระอินทร์ขออธิษฐานจิตให้ได้เป็นทักขิณะ (ทิศใต้ = ขวา) หมายถึงขอเป็นพระอรหันต์เบื้องขวา ประดุจดั่งพระสารีบุตร

การจงใจสรรเสริญเยินยอพระญากือนาว่าเป็นผู้มีบุญญาธิการสูงเช่นนี้ไม่ปรากฏในเอกสารเล่มอื่น

เหตุการณ์เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในล้านนาได้จบลงใน พ.ศ.2052 ยุคพระเมืองแก้ว อันเป็นปีสุดท้ายของการบันทึกเรื่องราวของคัมภีร์มูลสาสนา

จากนั้นก็เป็นเรื่องของพระนางจามเทวี การก่อเกิดอาณาจักรหริภุญไชย มีนามกษัตริย์องค์ต่างๆ 50 พระองค์ จนถึงการสูญเสียเมืองลำพูนให้แก่พระญามังราย

 

อาราธนาพระพุทธเจ้ามาสู่อนุทวีป

บทที่ 3 เป็นอีกบทที่สำคัญยิ่งของมูลสาสนา กล่าวถึงตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปลังกา เนื้อหาตอนนี้ อาจารย์เกริกเห็นว่า “เป็นข้อต่อระหว่าง มหาวงศ์พงศาวดารลังกา กับตำนานพระเจ้าเลียบโลก” ที่ชาวล้านนารู้จักกันดี

เป็นข้อต่ออย่างไร ปฏิเสธไม่ได้ว่า “มหาวงศ์” เป็นคัมภีร์เล่มแรกที่กล่าวถึง พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดสัตว์โลกในกรุงลังกา ทั้งๆ ที่ในคัมภีร์พระไตรปิฎกไม่เคยมีการกล่าวถึง ว่าพระพุทธองค์เสด็จออกนอกชมพูทวีป (อินเดีย) แต่อย่างใด ไปไม่ถึงอินเดียตอนใต้ด้วยซ้ำ

ส่วนมูลสาสนา เป็นเล่มแรกที่เขียนว่าพระพุทธเจ้าเสด็จออกมาจากมัธยมประเทศ (รวมอินเดีย และอนุทวีปลังกา) แล้วมาเยือนยังสมันตรประเทศ (สมัน = กวาง เป็นนามที่ใช้เรียกชุมชนแถบลุ่มแม่ระมิงค์ในยุคบุรพกาล ก่อนมีอาณาจักรหริภุญไชยหรือพิงครัฐ) แถบเวียงท่ากาน (เวียงตระการ) จากนั้นไปนครหริภุญไชย

ต่อมา ตำนานพระเจ้าเลียบโลก เขียนในปี 2066 จึงกล้าหาญชาญชัย กำหนดให้พระพุทธเจ้าตระเวนไปย่ำรอยพระบาทและประทานเกศาธาตุ ทุกด้าวขอกนิคมทั่วล้านนา พม่า จนถึงสิบสองปันนา

จาริกแรมรอนมาจากกรุงพาราณสีพร้อมด้วยผู้ติดตามอีก 2-3 คน ทำราวกับ Lord Buddha & Co. กอปรด้วยพระอินทร์ (อินตา) พระเจ้าอโศกมหาราช (ท่านนี้อันที่จริงไม่ได้เกิดร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า) พระอานนท์ (อานันทะ) และนานๆ ทีมีพระมหากัสสปะ มาร่วมแจมด้วย

การเสด็จไปที่ต่างๆ ของพระพุทธองค์ในตำนานพระเจ้าเลียบโลก มักเดินเรื่องให้พระพุทธองค์เสด็จไปดินแดนป่าเถื่อนทุรกันดาร พบเหล่ายักษ์ จากนั้นพระองค์บันดาลให้ฝนตกอย่างรุนแรง ซึ่งเม็ดฝนเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของคมหอกคมดาบ ที่ขับไล่คนนอกศาสนาให้ต้องหนีไปอยู่ชายขอบจักรวาล

เหตุการณ์ของฉากดังกล่าว ยังส่งอิทธิพลให้แก่การแต่งตำนานพระแก้วดอนเต้า ในยุคถัดมาอีกด้วย

มูลสาสนาจบลงด้วยเรื่อง “พุทธอันตรธาน” ประการต่างๆ อาทิ กิเลสนิพพาน (หรือเรียกว่า “นิพพานดิบ” เมื่อพระพุทธเจ้าพระชนมายุ 35) ขันธนิพพาน (รูปกายดับเมื่อพระชนมายุ 80)

และธาตุนิพพาน เมื่อพระพุทธศาสนาครบ 1,000 ปี ตรงกับปีชวด โทณพราหมณ์ได้ทำการแบ่งพระธาตุไปตามที่ต่างๆ ต่อมาพระธาตุได้เสด็จมาประชุมรวมกัน จากนั้นก็สลายตัวแตกกระจายไปประดิษฐานตามเนื้อนาบุญอันศักดิ์สิทธิ์ที่ต่างๆ