ขนมเข่ง : ร่องรอยพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์ เมื่อ 2,000 ปีก่อน ในเทศกาลตรุษจีน

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

โดยสรุปแล้ว “ตรุษจีน” ก็คือเทศกาลขึ้นปีใหม่ของจีน ซึ่งถือว่าเป็นช่วงวันหยุดยาวที่สำคัญของบรรดาลูกหลานเผ่าพันธุ์มังกรทั้งหลาย

แต่ในสมัยก่อน เทศกาลนี้เป็นช่วงเทศกาลใหญ่ที่ประกอบไปด้วยเทศกาลย่อยต่างๆ ซึ่งเมื่อประกอบร่างเข้าด้วยกันแล้ว ก็กินเวลาเกือบจะถึง 1 เดือนเลยทีเดียวนะครับ

ตามคำให้การของผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนศึกษา ระดับเสาหลักของไทยอย่าง อ.ถาวร สิกขโกศล ในหนังสือดีอย่าง “เทศกาลจีนและการเซ่นไหว้” (ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2557) นั้นระบุว่า หลักใหญ่ใจความสำคัญของเทศกาลที่ว่า สำหรับชาวจีนตั้งแต่ยุคโบราณอันไกลโพ้นนั้น ประกอบไปด้วยคำสำคัญ 3 คำ ซึ่งออกเสียงตามสำเนียงซาวด์แทร็กพากย์ภาษาจีนกลางว่า หยวนตั้น, ชุนเจี๋ย และกั้วเหนียน

“หยวนตั้น” แปลตรงตัวว่า “วันแรกในรอบปี”

โดยในสมัยที่จีนยังแตกแยกเป็นแคว้นต่างๆ แต่ละแคว้นนั้นจะใช้ปฏิทินไม่เหมือนกัน ดังนั้น จึงมีวันขึ้นปีใหม่ที่ไม่ตรงกันด้วย

ต่อมาฉินสื่อหวงตี้ (หรือ จิ๋นซีฮ่องเต้ ในฉบับไทยๆ สถาปนาเป็นจักรพรรดิเมื่อระหว่าง พ.ศ.323-333) ได้รวบรวมแว่นแคว้นเหล่านั้นรวมเข้าด้วยกัน จึงค่อยมีวันขึ้นปีใหม่ตรงกันทั่วทั้งจักรวรรดิ คือวัน 1 ค่ำ เดือนสิบ ตามปฏิทินเซี่ย (ปฏิทินโบราณชนิดหนึ่งของจีน)

แต่จากนั้นก็เปลี่ยนแปลงไปอีกครั้งเมื่อพระเจ้าฮั่นอู่ตี้ แห่งราชวงศ์ฮั่น ประกาศใช้ “ปฏิทินไท่ชู่” เมื่อ พ.ศ.439 ทำให้หยวนตั้น หรือวันขึ้นปีใหม่เปลี่ยนมาเป็น วัน 1 ค่ำ เดือนอ้าย ตามปฏิทินใหม่ดังกล่าว

ซึ่งก็ใช้สืบทอดกันอย่างยาวนานมามากกว่า 2,000 ปีเลยทีเดียว

 

มรดกตกทอดสำคัญที่ชาวไทยเชื้อสายจีนรู้จักกันดีของการสถาปนาอะไรที่เรียกว่า “หยวนตั้น” ในปฏิทินไท่ชู่ ก็คือ “วันชิวอิ๊ด” หรือ “วันเที่ยว” ตามสำเนียงแต้จิ๋วนั่นเอง

ส่วนคำว่า “ซุนเจี๋ย” แปลว่า “เทศกาลตรุษวสันต์” (วันขึ้นฤดูใบไม้ผลิใหม่ของแต่ละปี) ซึ่งก็อยู่ในช่วงใกล้ๆ กันกับช่วงหยวนตั้นนั้น มีความเกี่ยวข้องกับระบบการนับปี และฤดูกาลของจีน

การนับปีของจีนมี 2 ระบบได้แก่ ปีจันทรคติ ซึ่งนับตามรอบ 12 เดือน และปีสุริยคติ ซึ่งนับตามรอบฤดูกาล แบ่งเป็น 24 อุตุปักษ์

เทศกาลซุนเจี๋ย จะตรงกับวันลี่ชุน คือวันเริ่มฤดูใบไม้ผลิ ตามปฏิทินสุริยคติของจีน ที่เชื่อกันว่า โส้วชิง (หรือ ซิ่วแช เทพอายุวัฒนะ หนึ่งในสามเทพ ฮก ลก ซิ่ว) เป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นนี่เอง

และเมื่อเป็นวันขึ้นฤดูที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกใหม่ อย่างฤดูใบไม้ผลิ ก็จึงทำให้เทศกาลซุนเจี๋ยมีพิธีกรรมที่สำคัญ เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของการเพาะปลูกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพิธีราษฎร์ หรือพิธีหลวง

โดยส่วนของพิธีหลวงนั้น “โอรสสวรรค์” จะต้องกินเจ ก่อนถึงเทศกาลซุนเจี๋ย ในวันลี่ชุน เพื่อชำระร่างกายและจิตใจให้บริสุทธิ์เป็นเวลา 3 วัน ก่อนที่จะเสด็จไปทำพิธีรับวสันต์ ที่ชานเมืองด้านทิศตะวันออก เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า ชาวจีนในยุคโน้นให้ความสำคัญกับเทศกาลซุนเจี๋ย ถึงขนาดที่จักรพรรดิยังต้องเสด็จมาทรงประกอบพิธีด้วยพระองค์เอง

ในขณะเดียวกันก็ดูเหมือนว่าบรรพชนลูกหลานมังกรเหล่านี้ไม่ได้เห็นว่า หยวนตั้น เป็นเทศกาลที่สำคัญจนต้องมีพิธีกรรมให้มากความอะไรนัก (ลองเทียบกับธรรมเนียมปฏิบัติของชาวไทยเชื้อสายจีน ในปัจจุบันดูก็ได้)

แต่ก็เป็นการประดิษฐ์ “ปฏิทินไท่ชู่” นี่แหละครับ ที่ได้ปรับเอาปฏิทินแบบจันทรคติ และสุริยคติของจีนเข้าด้วยกัน จนทำให้กำหนดวันของเทศกาลซุนเจี๋ย และหยวนเจี๋ย วางตัวอยู่ใกล้เคียงกันทุกๆ ปี จนสุดท้ายก็หลvมรวมเข้าเป็น “เทศกาลตรุษจีน” ที่หันมาให้ความสำคัญของวันขึ้นปีใหม่ ควบคู่ไปกับร่องรอยของพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ ในเทศกาลตรุษวสันต์

 

นอกเหนือจากคำว่า ซุนเจี๋ย และหยวนเจี๋ยแล้ว อ.ถาวร ยังพูดถึงคำสำคัญอีกคำหนึ่งคือ “กั้วเหนียน” โดยคำว่า “กั้ว” แปลตรงตัวว่า “ผ่าน” ส่วนคำว่า “เหนียน” ในที่นี้แปลว่า “ปี” จึงรวมความได้ว่า “ผ่านพ้นปีเก่าเข้าสู่ปีใหม่” นั่นเอง

น่าสนใจว่า ในพจนานุกรมซัวเหวินเจี่ยจือ (อธิบายลายสือวิเคราะห์ตัวอักษร) อธิบายคำ “เหนียน” ว่า “ธัญพืชสุก” ซึ่งอาจจะมีฐานคิดตรงกับคำว่า “เข้า” หรือ “ข้าว” ในภาษาไทย ซึ่งหมายถึง “ปี” โดยใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยา

ดังปรากฏมีหลักฐานใช้ในกฎหมายตราดวงว่า “เด็กเจ็ดเข้าเฒ่าเจ็ดสิบ” ซึ่งหมายถึง เด็กเจ็ดขวบเฒ่าเจ็ดสิบปี เพราะหมายถึงรอบในการเพาะปลูกข้าว (หรือ “เข้า”) ในแต่ละปี เป็นต้น

พิธีการต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในเทศกาลตรุษจีน จึงย่อมแสดงให้เห็นถึงร่องรอยของการผสมผสาน วันขึ้นปีใหม่ กับพิธีตรุษวสันต์ หรือการต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ อันเป็นฤดูของการเพาะปลูกเข้าด้วยกัน

(ซึ่งก็แน่นอนว่า ย่อมมีเพิ่มเติมพิธีกรรม หรือการละเล่นต่างๆ ด้วย โดยเฉพาะเมื่อยุครุ่งเรืองในราชวงศ์ถังเป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นการจุดประทัด เปลี่ยนยันต์ไม้ท้อ แจกเงินแต๊ะเอีย ส่งเจ้าขึ้นสวรรค์ ฯลฯ)

และถึงแม้ว่า อ.ถาวรจะไม่ได้บอกเอาไว้ แต่ผมก็อยากจะเพิ่มเติมเอาไว้ด้วยว่า คงจะไม่มีพิธีการอะไรที่เป็นร่องรอยของเทศกาลซุนเจี๋ย ซึ่งเป็นเรื่องของความอุดมสมบูรณ์ และการเพาะปลูก ที่สำคัญมาก่อนการขึ้นปีใหม่ ไปได้มากกว่าการไหว้เจ้าและบรรพชนด้วยอะไรที่เรียกกันโดยทั่วไปในไทยว่า “ขนมเข่ง”

แต่ก็ไม่ใช่ว่าชาวจีนทุกที่ในโลก ไม่ว่าจะเป็นชาวจีนที่ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ฮ่องกง ไต้หวัน หรือแม้กระทั่งชาวจีนโพ้นทะเลตามมุมต่างๆ ของโลก จะทำขนมเซ่นไหว้ในเทศกาลตรุษจีน ด้วย “ขนมเข่ง” เหมือนกับในไทยทุกที่หรอกนะครับ

แต่ละที่ก็ไหว้ด้วยขนมที่มีเสื้อผ้าหน้าผมแตกต่างกันออกไป แล้วแต่ว่าที่ไหนขนมอะไรจะเป็นที่นิยมก็แค่นั้น

และนั่นก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีหลักในการเลือกใช้ของไหว้เสียทีเดียว เพราะขนมที่ใช้ไหว้ในเทศกาลตรุษจีนนั้น จะต้องมีวัตถุดิบสำคัญเป็น “แป้ง” ที่ได้มาจาก “ข้าว” ชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น โดยเรียกด้วยภาษาจีนกลางรวมๆ กันว่า “เหนียนเกา”

คำว่า “เหนียนเกา” แปลได้ความตรงตัวว่า “ขนมเหนียว” แต่คำว่า “เหนียน” ที่แปลว่า “เหนียว” นั้น ยังพ้องเสียงกับคำว่า “เหนียน” ที่แปลว่า “ปี” หรือ “ธัญพืชสุก” อย่างที่กล่าวถึงมาแล้วอีกด้วย

(แน่นอนว่า เป็นการพ้องแค่เสียงเฉยๆ รูปตัวอักษรในภาษาจีนนั้น เขาเขียนออกมาต่างกันอย่างลิบลับ โดยสำหรับคำว่า “เหนียน” ที่แปลว่า “เหนียว” นั้น สามารถออกเสียงอีกอย่างหนึ่งว่า “จัน” ก็ได้)

จึงไม่แปลกอะไรที่ขนมหวานชนิดนี้ จะได้รับความนิยมให้เป็นขนมเซ่นไหว้ประจำช่วงเทศกาลปีใหม่ของบรรดาอาเฮีย อาอึ้ม อาตี๋และญาติๆ กากี่นั้งของพวกเขา แถมในยุคต่อมา ยังมีการเปลี่ยนตัวอักษรในขนมคำนี้ให้มีความหมายว่าเป็น “ขนมประจำปี” โดยที่ยังคงรูปเสียงว่า “เหนียนเกา” เอาไว้

แต่สำหรับชาวจีนที่เชื่อเรื่องมงคล และอวมงคล ที่เล่นอยู่กับคำพ้องเสียงเป็นสำคัญนั้น เรื่องของชื่อขนมที่ใช้ในเทศกาลสำคัญขนาดนี้จึงยังไม่จบง่ายๆ หรอกนะครับ

เพราะชื่อ “เหนียนเกา” ยังทำให้เกิดความหมายโดยนัยได้อีกว่า “สูงส่งยิ่งขึ้นทุกๆ ปี” ตามคำในภาษาจีนว่า “เหนียนเหนียนเกา”

เพียงแต่คำว่า “เกา” ในที่นี้ไม่ได้แปลว่า “ขนม” แต่เป็นคำพ้องเสียงอีกเช่นเคย โดยมีความหมายว่า “สูง” หรือ “สูงส่ง” นั่นเอง

จุดมุ่งหมายสำคัญของการเซ่นสรวงบูชาในช่วงเทศกาลปีใหม่ในสมัยโบราณของพวกพี่จีนเขา ก็ทำเพื่อต้องการให้ได้ผลิตผลทางการเกษตรสูงขึ้นทุกปีนั่นแหละ

แต่ภายหลังก็ถือเอาซะว่า จะช่วยให้ชีวิตก้าวหน้าสูงส่งขึ้นด้วย

และก็เป็นด้วยเหตุผลนี้เองที่ทำให้ เจ้าขนมเหนียนเกา (หรือขนมเข่งบ้านเรา) กลายเป็นขนมสำคัญที่ขาดไม่ได้ในช่วงเทศกาลตรุษจีน

แน่นอนว่าทั้งหมดที่ผมเล่ามานั้นเป็นเรื่องที่ว่ากันด้วย โชคลาง และความเชื่อของชาวจีนเป็นหลัก

แต่อันที่จริงแล้ว ในแง่ง่ามทางประวัติศาสตร์ และหลักฐานทางโบราณคดีนั้น “เหนียนเกา” เป็นชื่อของขนมที่ได้มาจาก “ข้าวฟ่าง” มาก่อนที่จะถูกใช้เรียกเหมารวมไปถึงขนมที่ใช้เซ่นไหว้ในเทศกาลตรุษจีนประเภทอื่นๆ ทั้งหมดนะครับ

โดยตัวเจ้าขนมเหนียนเกา ออริจินอลเวอร์ชั่นนั้นจะมีสีออกเหลือง และมีรสหวานน้อยๆ สไตล์มินิมอลอยู่ในตัว

และก็แน่นอนด้วยนะครับว่า เจ้าขนมเหนียนเกาซึ่งทำจากข้าวฟ่างที่ว่านี่ เขาทำกินกันอยู่ในหมู่ชาวจีนแถบแม่น้ำฮวงโห ซึ่งถือเป็นแหล่งศูนย์กลางอารยธรรมของจีน ซึ่งเพาะปลูกข้าวฟ่าง และข้าวสาลีมากกว่าที่จะปลูกข้าวเจ้า (ที่มีต้นกำเนิดอยู่ในอินเดีย) กับข้าวเหนียว (ที่นิยมอยู่แถบใต้แม่น้ำแยงซีเกียง คือแถบทางตอนใต้ของจีน เรื่อยมาจนถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออุษาคเนย์ของเรานี่เอง)

นอกเหนือจากไหว้เจ้าแล้ว ในช่วงตรุษจีนเขายังเซ่นไหว้บรรพชนกันด้วย ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจด้วยว่าทำไม ขนมเข่งบ้านเราจึงไม่เปลี่ยนไปทำจากข้าวฟ่างตามอย่างพวกจีนฮั่นเขา?

ก็เพราะบรรพชนคนจีนใต้ (ซึ่งหมายรวมชาวจีนแต้จิ๋ว ที่มีอยู่มากในไทย) เขาเปิบข้าวเหนียวกันมาแต่โบราณ ก่อนที่จะถูกนับรวมให้เป็นจีนเสียอีก

ไม่ได้กินซาลาเปา หมั่นโถว ที่ทำจากข้าวสาลี หรือข้าวฟ่าง มาแต่เดิม

 

เฉพาะในประเทศไทยนั้น ขนมเข่งเป็นที่รู้จัก มีให้หยิบกิน และแจกจ่ายกันในช่วงเทศกาลตรุษจีนมาตั้งแต่ยุคต้นกรุงเทพฯ เมื่อสองร้อยกว่าปีก่อนนู่นมาแล้วนะครับ

ดังปรากฏอยู่ในพระราชนิพนธ์เรื่อง “สังข์ทอง” ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ตอนที่พวกขุนนางของท้าวสามล ไปถามหาเจ้าเงาะจากพวกเด็กท้องนานั้น ก็ได้เอา “ขนมเข่ง” นี่แหละ ที่ใช้ในการล่อหลอกพวกเด็กๆ ให้บอกถึงที่อยู่ของเจ้าเงาะ ดังความที่ว่า

“กูจะให้ขนมเข่งของทยา กินอร่อยนักหนาประสาจน”

ขนมเข่ง จึงเป็นร่องรอยสำคัญของการเทศกาลเพื่อความอุดมสมบูรณ์ ในช่วงเข้าสู่ฤดูเพาะปลูก หรือฤดูใบไม้ผลิ อย่างเทศกาลซุนเจี๋ย เมื่อก่อนมีการประดิษฐ์ปฏิทินไท่ชู่ เมื่อ 2,000 ปีเศษมาแล้ว และค่อยๆ กลายเป็นขนมมงคล ที่ใช้ทั้งเซ่นไหว้ แจกจ่าย และกินเล่นกันในช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งก็มีปรากฏในไทยมาแล้วอย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

แต่ก็เชื่อขนมกินได้เลยด้วยว่า น่าจะมีมาตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยาโน่นแล้วเถอะ