ศัลยา ประชาชาติ : ผ่าอาณาจักร “อิตาเลียนไทย” เส้นทาง “เปรมชัย” เจ้าพ่อรับเหมา 5 แสนล้าน จากรถไฟฟ้าถึงท่าเรือ สนามบิน

ร่วม 60 ปีที่ “อิตาเลียนไทย” สั่งสมประสบการณ์ก่อร่างสร้างตัวจนเติบใหญ่ขึ้นแท่นเป็นผู้รับเหมามหาชนระดับแถวหน้าของประเทศไทย

แต่ต้องมาสั่นสะท้านจากเหตุสลดใจที่ “ทุ่งใหญ่นเรศวร” ในชั่วข้ามคืนของวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

เมื่อนายใหญ่ “เปรมชัย กรรณสูต” สวมบทบาทเป็นนักล่าสัตว์ จนถูกเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จับกุมตัวข้อหาลักลอบตั้งแคมป์ในจุดหวงห้าม ล่าสัตว์ป่าเขตสงวน

ถึงยังต้องตรวจสอบหาข้อเท็จจริงกันต่อไปตามขั้นตอนกฎหมาย

แต่ “บิ๊กอิตาเลียนไทย” ก็จำนนด้วยของกลางทั้งอาวุธปืนและซากสัตว์คุ้มครองที่ถูกชำแหละ วางเกลื่อนกลาด ณ จุดเกิดเหตุ

ข่าวนี้สะเทือนใจต่อคนในสังคมไทยไม่น้อย เพราะเป็นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ผิดหลักวิถีชาวพุทธ

ที่สำคัญไม่มีใครคาดคิด “นักธุรกิจใหญ่แถวหน้า” คุมอาณาจักรก่อสร้างเมกะโปรเจ็กต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศมาร่วม 6 ทศวรรษ จะมีไลฟ์สไตล์ชื่นชอบการไล่ล่าสัตว์

ขัดกับบุคลิกภายนอกเป็นนักธุรกิจดูนอบน้อม ออกตะลุยประมูลงานทุกสนาม

 

สําหรับ “เปรมชัย” ปัจจุบันอายุ 64 ปี จบวิศวกรรมเหมืองแร่จากรัฐโคโรลาโด สหรัฐอเมริกา

และสำเร็จการศึกษาปริญญาโทด้านเอ็มบีเอ จากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย

เขาเป็นลูกชายคนเล็กของ “หมอชัยยุทธ กรรณสูต” ที่รับช่วงธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจากผู้เป็นพ่อตั้งแต่ปี 2522 ด้วยวัยเพียง 20 ต้นๆ

ถึงขณะนี้ก็ร่วม 39 ปีที่เขานั่งคุมบังเหียนและเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท 14.38%

ตลอด 4 ทศวรรษของ “อิตาเลียนไทย” ภายใต้ปีก “เปรมชัย” มีทั้งรุ่ง-ร่วงไปตามสภาวะเศรษฐกิจ-การเมือง ที่ผันแปร

แต่ด้วยประสบการณ์-คอนเน็กชั่นกับนักการเมืองหลายยุคหลายสมัย ที่ “เปรมชัย” เรียนรู้ซึมซับมาจากผู้เป็นพ่อ ก็ช่วยพยุง “อิตาเลียนไทย” ผ่านพ้นวิกฤต

และประทับตรา “ITD” ไว้ในเสาหมุดงานก่อสร้างแทบทุกโครงการมาจนถึงวันนี้

ไม่ว่ารถไฟลอยฟ้า รถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของประเทศไทย สนามบิน ทางด่วน ถนน ท่าเรือ สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา

โดยเฉพาะยุค “ไทยรักไทย” ไหลมา “เพื่อไทย” ที่ว่ากันว่าเป็นยุคทองของอิตาเลียนไทย เพราะกวาดงานใหญ่ไว้ในมือจนล้นหน้าตัก

ทั้งสนามบินสุวรรณภูมิ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ บ้านเอื้ออาทร รถไฟฟ้าสารพัดสี “น้ำเงิน-ม่วง-แดง” โปรเจ็กต์บริการจัดการน้ำ 5 โมดูล มูลค่างาน 106,846 ล้านบาท

 

เมื่อถึงยุคการเมืองเปลี่ยนผ่านสู่ “รัฐบาลทหาร” งานภาครัฐเริ่มลดน้อยถอยลง “อิตาเลียนไทย” เริ่มหันรับงานอาคารของเอกชนและออกตะลุยประมูลงานต่างประเทศมากขึ้น

แต่มีบางโปรเจ็กต์ที่ไม่เปรี้ยงอย่างที่คิด

เด่นชัดก็ “โครงการทวาย” ที่ออกแรงปลุกปั้นมาหลายปี ถึงวันนี้ยังถูกรัฐบาลเมียนมาแช่แข็ง แต่ “เปรมชัย” ก็กัดฟันสู้รอเพราะได้ลงทุนลงแรงไปแล้ว 7,000-8,000 ล้านบาท

ปัจจุบัน “อิตาเลียนไทย” มีโปรเจ็กต์เล็ก-ใหญ่ในมือทั้งในประเทศและต่างประเทศร่วมๆ 300 โครงการ คิดเป็นมูลค่างานในมือ (แบ็กล็อก) ประมาณ 5 แสนล้านบาท

ทั้งงานก่อสร้างอาคาร อาทิ สำนักงานใหญ่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่เพลินจิต, เซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา, วิสซ์ดอม 101 และงานโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ไม่ว่ารถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ ทางด่วน สนามบิน โรงไฟฟ้า

มีโครงการอยู่ระหว่างก่อสร้าง อาทิ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายเป็นงานอุโมงค์ช่วงต่อเชื่อมกับสถานีหัวลำโพง, สายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต, สายสีเขียวส่วนต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่, สายสีส้มศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี, อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 สนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2

ศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ ท่าเรือแหลมฉบัง, โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงแปลง G, มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช, รถไฟทางคู่ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ และช่วงมาบกะเบา-จิระ, เขื่อนแม่งัด-แม่กวง

ล่าสุดได้เซ็นสัญญาก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีทองเฟสแรก กรุงธนบุรี-คลองสาน พร้อมสร้างบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินสายสีทอง 1,256 ล้านบาท งานนำสายไฟลงใต้ดินช่วงถนนตก-สะพานพระราม 9 วงเงิน 1,942 ล้านบาท

 

แต่ถึงปริมาณงานในมือจะมาก แต่ในแวดวงรับเหมาก่อสร้างต่างรู้ดีว่า “อิตาเลียนไทย” ในช่วงหลายปีที่ผ่านมากลายเป็นเสือไม่อิ่ม ลุยประมูลสารพัดโครงการ

แต่เมื่อพลิกดูไส้ในแต่ละโครงการ ล้วนเป็นงานที่ได้แต่กล่อง ไม่มีกำไรเหลือให้ติดมือ แต่เพื่อเป็นการต่อสายป่านบริษัทในระยะยาว จึงต้องเก็บเกี่ยวงานไว้ในมือให้มากที่สุด

ขณะนี้กำลังเป็นที่จับตา หลัง “นายใหญ่” เป็นผู้ต้องหาคดี “ทุ่งใหญ่นเรศวร” จะมีผลให้อิตาเลียนไทยซวนเซได้มากน้อยขนาดไหน เมื่อข่าวนี้โด่งดังไปทั่วโลก

ยิ่งน่าสนใจว่า เก้าอี้ประธานและกรรมการบริษัทอิตาเลียนไทย จะถูกปรับเปลี่ยนหรือไม่

หรือถึงที่สุดแล้ว คดีนี้จะกลายเป็นจุดพลิกผันชีวิตของ “เปรมชัย” ปิดเส้นทางธุรกิจ แม้หลายฝ่ายจะบอกว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของ “เปรมชัย”

แต่เพื่อส่วนรวม และเป็นการกู้วิกฤตศรัทธาบริษัท ทางคณะกรรมการบริษัทคงต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อรักษาภาพลักษณ์องค์กรที่สั่งสมกันมาอย่างยาวนานไว้

 

แหล่งข่าวจาก บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ กล่าวว่า ข่าวที่ออกมา ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์และตำแหน่งซีอีโอของบริษัทแน่นอน เนื่องจากเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หากมีการดำเนินคดี อาจจะต้องมีการเปลี่ยนตัวผู้มารับตำแหน่งแทนนายเปรมชัย

“ในแง่ธุรกิจของบริษัท คงไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากเรื่องที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องส่วนตัวของคุณเปรมชัย”

ขณะที่เส้นทางของอิตาเลียนไทย “เปรมชัย” เคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อธันวาคมที่ผ่านมาว่า ปี 2560 บริษัทได้งานใหม่ในมือประมาณ 1.3 แสนล้านบาท (รวมโรงไฟฟ้าแม่เมาะ 35,000 ล้านบาท) สูงสุดในรอบ 60 ปีที่ก่อตั้งบริษัทมา ทำให้มีงานในมือปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 5 แสนล้านบาท

เป็นงานในประเทศและต่างประเทศ 50 : 50 ทยอยรับรู้รายได้ 4 ปี เฉลี่ยปีละ 1.25 แสนล้านบาท

โดยปี 2560 สามารถรับรู้รายได้ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 มีรายได้รวม 48,389 ล้านบาท

คาดว่าปี 2561 จะมีรายได้รวมแตะ 1 แสนล้านบาท

ผลพวงมาจากปีนี้รัฐบาลผลักดันการลงทุนโครงการขนาดใหญ่เปิดประมูลออกมามากกว่าปี 2560 ถึงเท่าตัว คิดเป็นมูลค่างานกว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งบริษัทประเมินไว้จะเข้าร่วมประมูลหลายโครงการ ทั้งเป็นงานก่อสร้างและลงทุน PPP

เช่น รถไฟทางคู่เฟส 2 จำนวน 9 โครงการ มูลค่า 4 แสนล้านบาท รถไฟไทย-จีน รถไฟฟ้าสายสีม่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ และสีส้มศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ยังมีงานอื่นๆ อีก เช่น โครงการบริหารจัดการน้ำ

ยังสนใจเข้าร่วมลงทุน PPP Gross Cost 30 ปี งานระบบและบริหารโครงการเก็บค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา และบางใหญ่-กาญจนบุรี มูลค่ากว่า 6.1 หมื่นล้านบาท โดยจะร่วมกับพันธมิตรจีน ญี่ปุ่นและยุโรปเข้าประมูล

โดย “เปรมชัย” คาดว่าอิตาเลียนไทยจะได้งานใหม่ในมืออย่างน้อย 3 แสนล้านบาท หรือ 1 ใน 3 ของโครงการที่ออกประมูล

 

ขณะที่งานต่างประเทศ “เปรมชัย” กล่าวว่า ส่วนใหญ่เป็นโครงการก่อสร้างในประเทศบังกลาเทศ ที่เริ่มแล้วมีทางด่วน 5 หมื่นล้านบาท กับรถไฟฟ้า 3 หมื่นล้านบาท ที่เมืองดักการ์

และในไตรมาส 1 นี้ เตรียมร่วมประมูลงานก่อสร้างสนามบิน 3 หมื่นล้านบาท มอเตอร์เวย์ 1 แสนล้านบาท รถไฟใต้ดิน 3 หมื่นล้านบาท โรงบำบัดน้ำเสีย

ส่วน “โครงการทวาย” รอรัฐบาลเมียนมาออกใบอนุญาตการเช่าใช้ที่ดิน อนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และแผนการก่อสร้าง หลังส่งแบบโครงการไปเมื่อปี 2559

วันนี้คงตอบยากถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จากแรงกระเพื่อมปมชีวิตด้านมืดของแม่ทัพใหญ่ที่ถูกตีแผ่ไปทั่วโลก

แต่กาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ “เวรกรรม” นั้นมีอยู่จริง!