ทราย เจริญปุระ : พี่ยูร, ปลอกหมอนข้าง “เน่าๆ”

พี่ยูรเป็นสาวคมขำ ผมดำยาวตรงเป็นมันชวนหลงใหล ชื่อจริงของเธอคงเป็นประยูร หรือเกยูรอะไรแบบนั้น

แต่เราทั้งสามคนก็เรียกเธอว่าพี่ยูน พี่ยูน พี่ยูนครับ พี่ยูนขา ไม่มีลากหางเสียงสะกด ร.เรือตามชื่อของเธอ

พี่ยูรเป็นคนโปรดของน้องชายฉัน กินข้าว กินนม กล่อมนอน น้องชายฉันจะเอนตัวลงตักของพี่ยูร มือหนึ่งถือขวดนม อีกข้างคลำปลายผมของพี่ยูร ซึ่งเธอจะถักเป็นเปียเดี่ยวยาวๆ พาดไพล่อ้อมจากซอกคอลงมาให้น้องชายฉันได้จับเพลินๆ

นมยังไม่ทันจะหมดขวด เขาก็จะหลับไปพร้อมมือที่ยังคาค้างที่ปลายเปียของพี่ยูร

 

พี่ยูรเป็นคนจังหวัดไหนฉันก็ไม่รู้ แต่หน้าตาคมขำกับร่างอวบท้วมของเธอชวนให้นึกถึงสาวใต้ตาคม

พี่ยูรเป็นคนเงียบๆ จะได้ยินเสียงก็ตอนเรียกเราพี่น้องมากินข้าวหรืออาบน้ำ

ฉันไม่ชอบอาบน้ำสระผม เพราะผมหนาๆ ของฉันใช้เวลาเนิ่นนานกว่าจะเปียกทั่วและลงแชมพูจนสะอาด แถมใช้เวลานานยิ่งไปกว่าเมื่อต้องล้างฟองแชมพู

พี่ยูรจะใส่หมวกสระผมให้ฉัน เป็นหมวกพลาสติกสีเหลืองอ่อน ปีกกว้างเอาไว้กันน้ำและฟองแชมพู เจาะช่องข้างบนไว้ให้ผมโผล่ออกมาได้ ชวนฉันคุยเล่นระหว่างสระผมให้ฉันเบาๆ

ฉันจะมองเห็นพี่ยูรผ่านหมวกสระผม หน้าครึ่งบนของพี่ยูรจะเป็นสีเหลือง แต่ครึ่งล่างเป็นผิวเนื้ออย่างปกติ กับฟันขาวๆ เวลาพี่ยูรยิ้มหรือปลอบให้ฉันอยู่นิ่งๆ

 

น้องชายฉันเป็นเด็กเลี้ยงง่าย ง่ายอย่างชนิดเป็นทารกในฝันของคนเป็นพ่อแม่ ง่ายอย่างชนิดที่ใครอยากจะส่งเสริมการมีลูกก็ควรเอาน้องชายฉันไปเป็นตัวอย่างประกอบ

ซึ่งตรงข้ามกับความยากของฉันโดยสิ้นเชิง

ความง่ายนี้ติดมาถึงนิสัยใจคอของเขา อะไรก็ได้ ยังไงก็ได้ เล่นกับพี่สาวก็ได้ หรือจะเล่นคนเดียวก็ยังได้ ยิ้มแย้มอยู่เสมอ

เป็นเหมือนภาพประกอบในทุกฉากชีวิตของฉัน อยู่ตรงนั้นเงียบๆ ยินดีไปกับการตัดสินใจใดๆ ก็ตามของคนรอบตัวเสมอ การได้ตามใจคนอื่นคือความสุขของเขา

แม่ฉันเกลียดมากเวลาที่ต้องพ่ายแพ้แก่อะไรที่แม่ไม่รู้จะรับมือยังไง -มันต้องได้สิ-คือหลักการของแม่

แม่ไม่เข้าใจเอาเสียเลยว่าบางอย่างมันก็เป็นของมันอย่างนั้น เอาชนะไม่ได้ หรือแม้แต่จะพยายามทำความเข้าใจก็ยังไม่ได้

แต่บางทีฉันว่าแม่เข้าใจ, แต่ก็ยังหาทางที่จะบิดเปลี่ยนสิ่งนั้นให้เข้ามาใกล้กับความต้องการของแม่ที่สุด

ตอนเด็กฉันนั้นติดผ้าเน่าอยู่ผืนหนึ่ง เป็นปลอกหมอนข้างสีฟ้า มีรูปช้างตัดปะจากผ้าขนหนูอยู่บนนั้น งวงช้างเป็นขุยฟูๆ พ่นหยดน้ำที่ทำจากผ้าลายอื่นขึ้นมาสองสามหยด

ฉันชอบตรงขุยฟูๆ นี่มาก การได้นอนดึงทึ้งให้มันฟูฟ่องกว่าเดิมเป็นความสุขยามกินนม ทำให้การกินนมมีอะไรให้รอคอย

เหมือนกับที่น้องชายฉันชอบจับเปียพี่ยูรมากๆ เขาจะเงียบกริบและหลับไปคาขวดนมจนพี่ยูรอุ้มไปนอน

มันก็สงบสุขแบบนั้น จนแม่เริ่มรู้สึกว่านี่ไม่ใช่วิถีทางที่แม่ต้องการ

 

เริ่มจากการเอาปลอกหมอนข้างไปจากฉัน

ฉันรอเวลากินนม–นมถูกชงใส่ขวดมาแล้ว แต่ไม่มีปลอกหมอน

“กินซะ” แม่บอก

ฉันอยากได้ปลอกหมอน

อยากได้ปลอกหมอน

ปลอกหมอนรูปพี่ช้างสีฟ้า

ตอนฉันกินนมต้องมีพี่ช้างสิ

“กินซะ โตแล้ว อย่ามาติดอะไรเป็นเด็กๆ”

แล้วปลอกหมอนล่ะ

“แม่เอาไปซักแล้ว สกปรก”

ฉันนั่งเงื่องหงอยรอพี่ช้างอยู่อย่างนั้นจนเวลากินนมผ่านไป แม่เก็บนมไปเททิ้ง แล้วบอกว่าฉันจะได้กินอีกทีพรุ่งนี้มื้อเช้า

“พี่ทรายเอาชนะแม่ไม่ได้หรอก เดี๋ยวหิวก็ต้องกินเอง”

แต่น้องชายไม่ได้เงียบอย่างฉัน

นั่นเป็นไม่กี่ครั้งในชีวิตของฉัน ที่เห็นเขาไม่ยอมใครง่ายๆ อย่างเคย

ฉันยังแทบไม่เชื่อหูเลย ตอนได้ยินคำสั่งของแม่ พี่ยูรก็คงตกใจไม่แพ้ฉันเหมือนกัน แต่แม่ก็ยังพูดซ้ำคำเดิม

“ตัดผมซะยูร”

น้องชายฉันยึดเปียพี่ยูรแน่น ท่าของพวกเราเลยออกจะดูประหลาดๆ เหมือนตุ๊กตาที่ถูกโยนส่งๆ มาวางกองในห้อง พี่ยูรนั่งขัดสมาธิคอเอียงไปข้างหนึ่ง น้องชายฉันนอนอยู่ในตักพี่ยูร ปล่อยขวดนมและยึดเอาหางเปียพี่ยูรไว้แน่นทั้งสองมือ ฉันนั่งอยู่ใกล้ๆ แหงนมองแม่ที่ยืนอยู่หน้าประตู และแม่, ที่ไม่แม้แต่จะย่อตัวลง แค่ก้มหน้ามาพูดเรียบๆ

“ตัดผมซะ ไม่งั้นน้องก็ไม่โตซักที”

น้องชายฉันแผดเสียงร้องไห้จ้า ทั้งกอดทั้งรั้งตัวพี่ยูร มือหนึ่งก็จับเปีย อีกมือก็เหนี่ยวคอเหมือนกลัวพี่ยูรจะปลิวหายไปต่อหน้า ปากร้องซ้ำๆ ว่าไม่เอา ไม่ยอม ฟี่รักพี่ยูร แม่อย่าทำพี่ยูร

“ฉันไม่ได้ทำอะไรซักหน่อย ยูร รักน้องก็ไปตัดผมซะ ไม่งั้นจะให้น้อยมาป้อนนมแทน”

พี่ยูรกอดฟี่แน่นๆ มองฉัน แล้วส่งน้องให้แม่อุ้ม

ถึงทุกวันนี้ฉันก็ยังจำหน้าพี่ยูรได้

แต่ไม่มีรอยน้ำตาเหลืออยู่ในความทรงจำของฉัน

มีแต่เสียงน้องชายที่ร้องซ้ำๆ ว่าแม่อย่า แม่ครับ ฟี่รักพี่ยูร อย่าตัดผมพี่ยูรเลย

 

จริงๆ เรื่องนี้ก็ผ่านมานานแสนนานแล้ว ป่านนี้พี่ยูรจะเป็นยังไงบ้างฉันก็ไม่รู้

แต่ฉันไม่เคยลืมสายตาแบบนั้น

สายตาของคนที่รับคำสั่ง

สายตาของคนที่ไม่ได้มีหนทางให้เลือกได้ในชีวิต

————————————————————

“เรื่องเล่าของสาวรับใช้” (The Handmaid”s Tale) เขียนโดย Margaret Atwood แปลโดย จุฑามาศ แอนเนียน ฉบับพิมพ์ครั้งแรก โดยสำนักพิมพ์ไลบรารี่ เฮ้าส์, มกราคม 2561