คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : อาหารกับศาสนา “ผีพราหมณ์พุทธ” (1) : พริก

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมเห็นอาจารย์ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ เขียนเรื่อง “หมู” ติดต่อกันหลายตอน ก็ติดตามอ่านด้วยความสนุกสนาน ตัวเองจึงคันไม้คันมืออยากเขียนเรื่อง “อาหาร” ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาบ้าง แม้จะไม่ลึกซึ้งเท่าอาจารย์ท่านก็ตาม

ไหนๆ ใครๆ เค้าก็ยังติดเรียก “เชฟหมี” กันอยู่แม้จะเลิกทำคลิปไปหลายปีแล้ว เขียนเรื่องอาหารสลับกับเรื่องอื่นบ้างคงสนุกดี

อาหารแม้จะเป็นสิ่งที่เรากินกันในชีวิตประจำวัน จนเป็นอะไรสามัญ ทว่า มากกว่าโภชนาการ อาหารมีความหมายหลายระดับ

แฝงเร้นด้วยสุนทรียะ วัฒนธรรม ความเชื่อ สังคมการเมืองและจิตวิญญาณ ในคัมภีร์อุปนิษัทอันศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของชาวฮินดู ถึงกับบอกว่า “อาหารคือพระเจ้า!”

จะศาสนาไหนก็ใช้อาหารเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม และล้วนแต่มีข้อห้ามเกี่ยวกับอาหารทั้งสิ้น

ศาสนาจะสัมพันธ์ยังไงกับอาหารในภาพรวม ไว้ค่อยจาระไนตามวาระโอกาสละกันครับ

 

ขอกล่าวถึง “วัตถุดิบ” อาหารเป็นอย่างๆ ไปก่อน คราวนี้ผมขอเริ่มด้วย “พริก” ความเผ็ดสามัญประจำบ้าน

พี่กฤช เหลือลมัย เชฟใหญ่ของผมท่านว่า ที่ใครต่อใครคิดชอบคิดอาหารไทยเผ็ดร้อนด้วยรสชาติของพริกนั้น จริงๆ แล้วมีหลักฐานที่พูดถึงพริกของเรามีตกในราวพุทธศตวรรษที่ 22 เท่านั้นเอง ไม่น่าจะเก่าไปกว่านั้น

ก่อนหน้านั้นคนไทยเผ็ดร้อนกันด้วย “ดีปลี” และ “พริกไท” ซึ่งเป็นของพื้นบ้าน เมื่อพริก (ที่ต้นกำเนิกจากทวีปอเมริกา) เข้ามาแล้วหลายภูมิภาคยังเอาคำ “ดีปลี” ไปใช้เรียกพริก ที่มีรูปร่างคล้ายๆ กัน เช่นปักษ์ใต้บ้านผม

ย้อนไปดูทางอินเดียบ้าง ผมเพิ่งดูสารคดีเกี่ยวกับอาหารที่ดีมากอันหนึ่งของอินเดีย ท่านก็ว่า พริกก็ไม่ได้เก่าแก่นักในอินเดีย

พริกถูกนำมาจากยุโรปสู่อินเดียโดยชาวโปรตุเกสในราวคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งก็อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21-22 ใกล้เคียงกับหลักฐานเรื่องพริกในสยามเรา จากนั้นพริกก็กลายเป็นเครื่องเทศที่นิยมในอินเดีย

จนคนคิดไปว่าพริกนี่มันไม่แขกก็ไทยละวะ ทั้งๆ ที่มันมาจากฝรั่ง

 

 

หลักฐานอันหนึ่งที่น่าสนใจคือชื่อเรียกพริกครับ ผมไปค้นดูในภาษาสันสกฤต เขาเรียกพริกว่า “รักตะมรีจะ” หรือ “มรีจะ”

คำว่ารักตะ แปลว่า สีแดง แต่เจ้าคำว่า “มรีจะ” ที่จริงแปลว่า “พริกไทย” ครับ

นั่นแสดงว่า สันสกฤต ไม่มีคำว่า “พริก” จริงๆ จึงอนุโลมใช้คำพริกไทยแทนด้วยคุณลักษณะเผ็ดร้อนเหมือนกัน และเติมคำคุณศัพท์ไปเพื่อให้แตกต่าง

ที่น่าสนใจอีกอย่าง มีคำว่า ปีปปลี คำนี้แปลว่า “ดีปลี” หรือพริกไทยยาวที่เรารู้จักกันดี ปีปลีบางครั้งใช้เรียกพริกไทยบ้างก็ได้

ผมไม่แน่ใจว่าคำ “ดีปลี” ของเรา กับคำ “ปีปปลี” ในสันสกฤตของแขก ใครส่งให้ใคร อาจเป็นไปได้ว่าเราส่งให้แขกด้วยซ้ำ เพราะมีหลายคำที่แขกรับจากอุษาคเนย์ไปเป็นสันสกฤต เช่น พืชเขตร้อนอย่าง “พลู” สันสกฤตก็ใช้ พลู ตรงๆ เลยครับ

ต้องถามนักพฤกษศาสตร์ว่า แหล่งกำเนิดของพืชเหล่านี้มาจากที่ใดและแพร่ขยายไปยังที่ใด

แต่แน่แท้ว่า ทั้งพริกไทยกับดีปลี คือรสเผ็ดเก่าแก่ดั้งเดิมของเราและอินเดีย

 

แม้ว่าพริกจะมาถึงในภายหลัง คนอินเดียก็รับพริกไปเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและความเชื่อหลายอย่าง

เอาแค่ความเชื่อเล็กๆ ในระดับครอบครัว คนอินเดียหลายคนนิยมกินพริกแกล้มข้าว (อาหารอินเดียที่ทำกินกันในครอบครัวนั้น ไม่ได้เผ็ดร้อนไปซะทุกอย่างเหมือนที่จินตนาการกัน) แต่จะไม่ส่งพริกจากมือต่อกัน เพราะถือว่าส่งของร้อนให้กันไม่ดี ถ้าเผลอส่งจะโดนตีมือแก้เคล็ด

ผมเคยโดนพราหมณ์อินเดียท่านตีมือมาแล้วครับ เลยจำเรื่องนี้ได้แม่นยำ

เรื่อง “ของร้อน” ไม่ดีนี่ นับโดยคุณสมบัติของตัวมันเอง พริกมีรสเผ็ดร้อน ท่านจัดเป็นของร้อนโดยธรรมชาติ ในวัฒนธรรมอินเดีย รสเผ็ดร้อนยังให้เกิดความทรมานจึงไม่เป็นรสชาติของความสุข (แม้ว่าคนกินเผ็ดจะบอกว่าสุขก็ตาม)

งานเทศกาลและพิธีกรรม เขาจึงไม่นำอาหารพวก “แกง” ไปเป็นของขวัญของกำนัลกันเลย แต่ให้อาหารจำพวกขนมหวาน ซึ่งให้รสหวานอันหมายถึงความรัก ความรื่นรมย์และความสุขแก่กันและกัน

แม้แต่ของพวก “ไนเวทยมฺ” หรืออาหารถวายเทพก็ไม่นิยมใช้ของคาวหรือรสเผ็ดร้อน (มักนิยมขนม) เว้นแต่พวกเครื่อง “พลี” ซึ่งถวายแด่เทพระดับล่างหรือภูตผีอารักษ์ต่างๆ จึงนิยมใช้กับใช้แกง ใช้เลือดเนื้อ

ความเชื่อเกี่ยวกับพริกอีกอย่างที่ใครไปอินเดียมักจะฉงนงงงวย คือเครื่องรางแขวนหน้าบ้าน หน้ารถ หน้าร้านที่ใครไปอินเดียต้องเห็น คือ พวงพริกเจ็ดเม็ดที่ร้อยกับมะนาวหนึ่งผล และถ่านก้อนหนึ่ง (เรียกในภาษาฮินดีว่านิมพู-มิรจี โฏฏกา เครื่องรางมะนาว (นิมพู) และพริก (มิรจี))

เจ้าพวงพริกที่ว่า หากไปถามแขกเขา เขาจะบอกว่ากันคน “อิจฉา” ทำนองเอาของเผ็ดของร้อนไปสู้มัน เผื่อร้านตรงข้ามมันขายของดีมันจะแช่งเราในใจ

ที่มีความรู้หน่อยท่านก็ว่า ของแบบนี้ไว้กัน “ทฤษฏิโทษ” ทฤษฏิหมายถึงมอง โทษคือโทษภัย เรียกง่ายๆ ว่า “ตาร้อน” คืออาการจ้องมองด้วยความอิจฉาริษยา หรือความมุ่งมาดประสงค์ร้ายอื่นๆ จะทำให้เกิดโทษภัยแก่ผู้ถูกจ้องมองได้

คนอินเดียเชื่อว่าแม้แต่เทพเจ้าก็ยังอาจโดน “ทฤษฏิโทษ” ได้เช่นกัน ฉะนั้น เมื่อเอาเทวรูปไปแห่แล้ว ก่อนกลับเข้าเทวสถานจะต้องอารตี ใช้ประทีปไฟแก้ทฤษฏิโทษเสียก่อน

ก็ใครต่อใครอาจไม่ได้มองด้วยความเคารพ แต่เห็นเครื่องประดับท่านอาจอยากได้อยู่ลึกๆ ในใจ

ของแก้ทฤษฏิโทษนี้จะต้องเป็นของร้อนๆ เหมือนกัน หรือไม่ก็น่าเกลียดน่ากลัว เช่น พวกหน้ากากยักษ์ต่างๆ ผมไปเห็นที่เจนไนยังมีอีกหลายแบบ เช่น พวงผมเปีย หอยบางชนิด หน้าตัววยาล (สัตว์ผสมประเภทหนึ่ง) แต่อะไรก็ไม่นิยมเท่าพริกมะนาวถ่านที่ว่า

บางท่านให้ความรู้อีกว่า หากตีความทางโหราศาสตร์ เจ้าพริก มะนาวและถ่าน เป็นสัญลักษณ์แทนพระเคราะห์บาปโทษสามพระเคราะห์ คือถ่านแทนพระเสาร์ซึ่งเป็นดาวร้ายสุด (พระเสาร์สีตามโหราศาสตร์ออกดำๆ งี้แหละครับ) มะนาวหมายถึงศีรษะ แทนราหู ซึ่งมีแต่ศีรษะ

ส่วน “พริก” แทน “เกตุ” ซึ่งมีแต่ตัวและ “หาง” (คือตัวและหางของราหู) เลขเจ็ดของจำนวนพริกคือเลขร้าย เพราะเป็นเลขดาวเสาร์ว่างั้น

ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับคำอธิบายนี้มากนักเพราะอาจเป็นการตีความเพิ่มเติมเข้าไป ผมคิดว่า น่าจะเป็นหลักความเชื่อแบบชาวบ้าน ทำนองเอาพิษไปสู้พิษ เอาของร้ายไปสู้ร้าย

บางท่านก็ว่า ที่ใช้ของแปลกๆ ก็เพื่อเป็นการเบี่ยงสายตา ไม่ให้มาจ้องมองเราตรงๆ อันนี้ผมก็ว่าฟังไม่ขึ้น ถ้าจะมองมันก็มองได้

 

นอกจากเครื่องแขวนจากพริกยอดนิยมนี่แล้ว ผมเพิ่งพบว่า อินเดียมีพิธีอย่างสำนวนเราที่ว่า “เผาพริกเผาเกลือ”

สำนวนเผาพริกเผาเกลือแช่งชักหักกระดูกกันนี่ ของจริงเป็นอย่างไรในเมืองไทยก็ไม่เคยเห็น หรือจะเป็นเพียงสำนวนเท่านั้น ใครมีข้อมูลโปรดบอกจะเป็นพระคุณอย่างสูง

แต่ในอินเดีย โดยเฉพาะทางภาคใต้ มีกลุ่มความเชื่อเล็กๆ ที่มีการนำ “พริกแห้ง” ไปเผาบูชาไฟ แด่เจ้าแม่องค์หนึ่ง คือเจ้าแม่ปรัตยังคิระ ท่านว่าเจ้าแม่องค์นี้ดุร้ายนัก เป็นภาคดุร้ายของอธิปราศักติหรือเจ้าแม่สูงสุด มีพระพักตร์สิงห์อย่างนรสิงห์

เจ้าแม่องค์นี้มีผู้นับถือไม่แพร่หลาย จะกระทำบูชาต้องเอาของร้อนอย่างพริกไปกระทำโหมะบูชา ท่านว่า พลังร้อนแรงช่วยขับแก้คุณไสยของผู้บูชาทั้งหมด แต่ผมไม่ทราบว่ามีนัยยะเรื่องการสาปแช่งหรือไม่ และน่าจะไม่เกี่ยวกับสำนวนเผาพริกเผาเกลือของเรา เพียงแต่เล่าให้เห็นว่ามีพิธีที่ใช้พริกในทางศาสนา ซึ่งคงไม่เก่าแก่อะไรนัก

พูดเรื่องเอาพวงพริกพวงมะนาวไปแก้ตาร้อนตาอิจฉานี่ ก็นึกไปถึงคุณประวิตร เจ้าของฉายาแหวนมารดา นาฬิกายืมเพื่อน (ยี่สิบกว่าเรือน เพื่อนตายสิ้น)

สงสัยว่า ถึงจะใช้พวงพริกมะนาวสักร้อยสักพันพวงคงเอาไม่อยู่แล้วกระมัง

เพราะตาทุกตามันจ้องไปยังท่านเสียขนาดนี้ อิอิ