สุจิตต์ วงษ์เทศ : “ไล่เรือ ไล่น้ำ และฟันน้ำ” นาฏกรรมแห่งรัฐยาม “น้ำท่วม”

ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกอบพิธีไล่น้ำที่ศาลหลักเมือง เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2554

ฤดูน้ำหลาก ถ้ามากเกินต้องการ กระทั่งท่วมข้าวในนา ชาวนาต้องกังวลจนถึงเดือดร้อน

น้ำท่วมข้าวระยะสั้นๆ ไม่กี่วัน ไม่เป็นไร ถ้านานมากกว่านั้น ข้าวจะเน่าตายใต้น้ำท่วม ชาวนาเดือดร้อนหนักมาก บ้านเมืองเกิดข้าวยากหมากแพง

พระเจ้าแผ่นดินไม่เป็นสุขต้องหาหนทางผ่อนปรนแก้ไขด้วยนาฏกรรมแห่งรัฐ คือ ต้องทำพิธีไล่น้ำ

กระทำบำเรอพลีกรรมด้วยความอ่อนน้อมจนถึงที่สุดแล้ว ถ้ายังไม่บังเกิดผลดีตามที่มุ่งหมายและคาดหวังเอาไว้ ก็ต้องใช้ไม้แข็ง คือวิธีการที่แข็งกร้าว เรียกพิธีกรรมนี้ว่า ไล่เรือ / ไล่น้ำ / ฟันน้ำ เพื่อให้น้ำลดลงเร็วที่สุด

กฎมณเฑียรบาลเรียก “ไล่เรือ” ส่วนทวาทศมาสเรียก “ไล่ชล” ที่หมายถึง “ไล่น้ำ” ดังนี้

๏ ชลธีปละปลั่งค้าง   ทางสินธุ์
นาเวศนาวาวาง       วาดน้ำ
ตกบางขดานดิน       สดือแม่
ดลฤดูสั่งล้ำ             ไล่ชล

๏ ไล่ชลนาเวศแล้ว    เมือโรง
อ่อนระทวยนวยกล    กึ่งก้ม
เรียมพายระโงงโหง    หกอยู่
เพราะเพื่อพลพายห้ม ห่มแรง

ไล่น้ำที่บางขดาน

โคลงทวาทศมาส ระบุตำบลย่านที่ทำพิธีไล่น้ำชื่อบางขดาน มีเอกสารระบุว่าอยู่ใต้ขนอนหลวงวัดโปรดสัตว์

บางขดานเมื่อ พ.ศ.2129 สมเด็จพระนเรศวรฯ เคยยกทัพมาตั้งค่าย มีในพระราชพงศาวดาร ว่า

“ครั้งนั้นเสดจ์ออกไปประชุมพลทั้งปวง ณ บางกะดาน เถิง ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 3 เพลาอุษาโยค เสดจ์พยุหยาตราจากบาง กะดานไปตั้งทัพชัย ณ ชายเคือง แล้วเสดจ์ไปละแวก ครั้งนั้นได้ช้างม้าผู้คนมาก”

เป็นร่องรอยว่าบางขดานเป็นย่านสำคัญมีความศักดิ์สิทธิ์

54

ฟันน้ำ

แต่บันทึกของนิโคลาส แชร์แวส ระบุว่าสมเด็จพระนารายณ์ “เสด็จไปประกอบพระราชพิธีฟันน้ำเพื่อมิให้น้ำท่วมมากขึ้น”

พิธีฟันน้ำในบันทึกฝรั่งเศสมีคำบอกเล่าในลักษณะตำนานและนิทานจดเป็นลายลักษณ์อักษรว่า พระนารายณ์ทรงมีบุญญาภินิหารและอิทธิฤทธิ์มาก “วันหนึ่งเสด็จทรงเรือพระที่นั่งเอกชัยในเวลาน้ำขึ้น รับสั่งว่าให้น้ำลดแล้วทรงพระแสงฟันลงไป น้ำก็ลดลงตามพระราชประสงค์” (คำให้การขุนหลวงหาวัด)

พิธีกรรมฟันน้ำก็คือพระเจ้าแผ่นดินเสด็จลงประทับเรือพระที่นั่งไปกลางน้ำแล้วทรงใช้พระแสงฟันลงไปในน้ำเพื่อให้น้ำลดโดยเร็ว

พิธีกรรมนี้มิได้แสดงความอ่อนน้อมอ้อนวอนร้องขอแต่เพียงด้านเดียวเท่านั้น แต่ยังแฝงไว้ด้วยลักษณะ “แกมบังคับ” หรือ “บงการ” อย่างแข็งกร้าว

นาฏกรรม

ความแข็งกร้าวของพิธีกรรมไล่เรือ ไล่น้ำ และฟันน้ำ จะได้ผลหรือไม่? น้ำจะลดลงไปจริงหรือไม่จริง?

นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญทั้งหมดของการทำพิธีกรรม เพราะสาระที่สำคัญกว่าอย่างหนึ่งจะอยู่ที่การผ่อนคลาย เมื่อผ่านพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์แล้วก็สบายใจแล้ว

ถ้าน้ำลดลงไปจริงๆ (เพราะถึงเวลาที่น้ำจะต้องลดไปเองตามธรรมชาติ) ก็ถือว่าเป็นบุญกุศลของบ้านเมือง เป็นอิทธิฤทธิ์ของพระนารายณ์ แต่ถ้าน้ำไม่ลดลงแต่สักนิดเดียว (เพราะยังไม่ถึงเวลาที่ธรรมชาติจะอำนวยให้ลด เช่น น้ำทะเลยังหนุนอยู่ หรือน้ำเหนือยังมากอยู่ เป็นต้น) ก็ถือเสียว่าเป็นเวรเป็นกรรมของตัวเองที่สร้างสมบุญกุศลมาน้อย

แต่พิธีไล่เรือ ไล่น้ำ ฟันน้ำ ไม่ทำทุกปี และว่าไปแล้วก็ไม่มีกำหนดเวลาแน่นอน ขึ้นอยู่กับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ถ้าปีไหนน้ำไม่ท่วมก็ไม่ต้องทำพิธี ต่อปีไหนมีน้ำมากเกินไปจึงทำ เรียกได้ว่าเป็นพิธีจร เพราะไม่ทำประจำ

พิธีประจำคือแข่งเรือและชักโคมแขวนโคมลอยโคมพระประทีปที่เรียกกันภายหลังว่าลอยกระทง เพื่อขอขมาดินและน้ำ ทั้งเพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ธัญญาหารให้เกิดแก่ชุมชนบ้านเมืองและอาณาจักรด้วย

เห่เรือ ทำที่บางขดาน

เห่เรือ ถ้าจะมีก็มีที่บางขดาน ในพิธีไล่น้ำ

ย่านที่ทำพิธีไล่น้ำ ชื่อบางขดาน มีเอกสารระบุว่าอยู่ใต้ขนอนหลวงวัดโปรดสัตว์

ในกำสรวลสมุทรเขียนว่า

“จากมามาแกล่ใกล้       บางขดาน
ขดานราบคือขดานดือ   ดอกไม้”

เพราะบริเวณนี้เป็น “ดินสะดือ” หมายถึงมีน้ำวนเป็นเกลียวลึกลงไป ถือเป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ของแม่น้ำ เป็นทางลงบาดาลของนาค ต้องทำพิธีเห่กล่อมวิงวอนร้องขอต่อ “ผี” คือนาคที่บันดาลให้เกิดน้ำ

นี่เองเป็นที่มาของ “เห่เรือ” เพื่อไล่น้ำ หรือวิงวอนร้องขอให้น้ำลดลงเร็วๆ

เห่กล่อมขณะเรือจอดอยู่กลางน้ำ ตรงบริเวณที่เรียก “ดินสะดือ” ไม่ใช่พายเรือแล้วเห่เรือ

ไพร่ฝีพายยุคอยุธยา (ลายเส้นจากบันทึกลาลูแบร์)

แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณหน้าวัดโปรดสัตว์ อยุธยา มองไปทางทิศใต้ คือบางขดาน ย่านทำพิธีกรรม ที่มีบอกในโคลงทวาทศมาส