นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ใครดีใครได้และปัจเจกชนนิยม

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ในท่ามกลางสำนึกที่สูงขึ้นถึงความเหลื่อมล้ำในหมู่คนชั้นกลางไทย และในท่ามกลางการต่อรองเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงาน (ซึ่งผมเห็นว่าเกี่ยวข้องกันโดยตรง) ผมได้พบว่าอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร ได้กล่าวอะไรไว้บางอย่างเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำ ในปาฐกถาของท่านในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งหนึ่งที่จุฬาฯ จัดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2555

ท่านกล่าวว่า “ในสหรัฐอเมริกาและไทยจะพบว่า ฉันทามติที่จะไปสู่สังคมเสมอภาคไม่มี อาจเป็นเพราะสหรัฐอเมริกากับไทยมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่คล้ายกันอยู่อย่างหนึ่งคือว่า เป็นระบบสังคมเศรษฐกิจที่มีอายุไม่ยาวมาก ประมาณ 200 กว่าปีเท่านั้นเอง มีลักษณะเป็นสังคมบุกเบิก ก็คือว่าบุกเบิกที่ดินใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา จึงมีวัฒนธรรมของอุดมการณ์ก่อร่างสร้างตัวเอง และเชื่อในความสามารถของผู้ประกอบการเฉพาะตัวสูง คือ “ใครดีใครได้ ผลของมันคือ เค้าไม่สนับสนุนแนวคิดความเสมอภาค หรืออุดมคติที่ว่า ทุกคนควรจะมีความเท่าเทียมกัน…”

ผมเห็นด้วยกับที่ท่านกล่าว ซึ่งก็ไม่แปลกอะไร เพราะผมเห็นด้วยกับคำกล่าวของท่านอยู่บ่อยๆ แต่ที่ผมยกมาให้อ่านกันเต็มที่ก็เพราะเป็นการพูดถึงมิติอื่นๆ นอกจากมิติทางเศรษฐกิจ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเรื่องเดียวที่เราพูดถึงทุกครั้งที่ยกเรื่องความเหลื่อมล้ำอันร้ายกาจขึ้นเรื่อยๆ ในเมืองไทยขึ้นมา

มิติทางเศรษฐกิจ ก็ทั้งจริงและมีความสำคัญในการมองเรื่องความเหลื่อมล้ำแน่ แต่ไม่ใช่เพียงมิติเดียว และหากย้ำกันแต่เรื่องเศรษฐกิจ ก็อาจแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ได้ เช่น มือหนึ่งแจกเงินให้คนจน แต่อีกมือหนึ่งรื้อทำลายระบบสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าช่วยลดสัดส่วนของคนจนไปได้ไม่น้อย (ในสถิติความเหลื่อมล้ำ)

ผมรู้สึกเสมอด้วยว่า การลดปัญหาต่างๆ ให้เหลือแต่มิติทางเศรษฐกิจ มักบังคับให้ต้องแก้ปัญหาโดย “ผู้รู้” (ทางเศรษฐศาสตร์) เท่านั้น คนอื่นไม่เกี่ยว ได้แต่รอว่าเมื่อไรปัญหาจะถูกแก้เสียที บรรยากาศอย่างนี้แหละครับที่เปิดทางให้กองทัพเข้ายึดอำนาจเพื่อแก้ปัญหา พร้อมด้วย “ผู้รู้” ที่หนีบมาในรถถังด้วยทุกที

ก่อนจะมาถึงเรื่องคนไทยและอเมริกันไม่ใส่ใจกับเรื่องความเท่าเทียมนั้น ท่านอาจารย์ผาสุกได้พูดถึงญี่ปุ่นว่า เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของครัวเรือน ญี่ปุ่นใช้นโยบายภาษี คือเก็บภาษีก้าวหน้ากับทรัพย์สินและรายได้อย่างเต็มที่ พร้อมกันนั้นก็โอนย้ายทรัพยากรภาครัฐไปถึงมือคนจนในรูปสวัสดิการต่างๆ ที่ทำได้อย่างนี้ไม่ใช่เพราะนายทุนญี่ปุ่นล้วนเป็นเทวดาจุติลงมาเกิด หรือนักการเมืองญี่ปุ่นไม่สัมพันธ์อะไรกับนายทุนเลย แต่เพราะสังคมญี่ปุ่นมีฉันทามติอย่างชัดเจนแข็งขันในเรื่องนี้ว่าเขาต้องการสังคมเสมอภาค ซึ่งจะทำให้ทุกคนมีความมั่นคงในชีวิตดีขึ้น รวมทั้งตัวนายทุนเองด้วย ไม่มีพรรคการเมืองหรือนักการเมืองญี่ปุ่นใดๆ จะสามารถฝืนฉันทามติของสังคมนี้ไปได้

แต่คนอเมริกันและคนไทยไม่ได้ต้องการสังคมเสมอภาคอย่างนั้น ดังที่กล่าวแล้ว

ความเป็นนักบุกเบิกของอเมริกันคงไม่มีใครสงสัย เพราะหนังฮอลลีวู้ดนำประวัติศาสตร์การบุกเบิกของคนอเมริกันมาทำเป็นเรื่องราวและขายอยู่เสมอ ข้อดีของความเป็นนักบุกเบิกก็มีนะครับ เช่น ทำให้ใฝ่ฝันกันทั้งชาติที่จะขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์, ดาวอังคาร หรือที่ซึ่งยังไม่มีใครไปถึง รวมทั้งกล้าเสี่ยงกับสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ

แต่คนไทยเป็นนักบุกเบิกเหมือนอเมริกันอาจยังเป็นที่สงสัยแก่บางคน ผมจึงขอสรุปให้ฟังสั้นๆ (ส่วนใหญ่จากงานประวัติศาสตร์ของอาจารย์ผาสุกเองนั่นแหละครับ)

หลังทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่งกับอังกฤษใน พ.ศ.2398 คนไทยผลิตข้าวเพื่อส่งออกจำนวนมากขึ้นทุกที ยิ่งในรัชกาลพระพุทธเจ้าหลวง ซึ่งทรงปลดปล่อยคนจำนวนมากจากพันธะตามประเพณี ไม่ว่าความเป็นทาสหรือไพร่ จำนวนของที่ดินซึ่งถูกก่นสร้างเป็นนายิ่งขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง แต่ในภายหลังเมื่อการคมนาคมแผนใหม่ขยายไปยังส่วนอื่นๆ ก็เปิดที่นาใหม่กันทั่วทั้งประเทศ ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าส่วนใหญ่ของคนไทยปัจจุบันคือลูกหลานของชาวนาบุกเบิกในช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมา รวมทั้งคนจีนที่กระจายกันไปตั้งร้านรวงทำธุรกิจในชุมชนเกิดใหม่เหล่านี้ด้วย

แม้กระนั้นก็ยังมีที่รกร้างว่างเปล่าอีกมากในประเทศไทย นโยบายพัฒนาของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำให้เกิดการอพยพระลอกใหม่ของคนไทยจากชุมชนเดิม ไปบุกเบิกปลูกพืชไร่ตามป่าดงพงไพรจนถึงเชิงเขาและลาดเขา เกิดชุมชนใหม่กระจายอยู่ทั่วไปในประเทศ

ฉะนั้น ในรอบสองร้อยปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ของคนไทยล้วนมีชีวิตอยู่ในชุมชนซึ่งเพิ่งเกิดใหม่ไม่นานมานี้เอง ผมอยากรวมกรุงเทพฯ ด้วย เพราะกรุงเทพฯ เองก็เพิ่งโตจนระเบิดหลังยุคสฤษดิ์มานี่เอง เนื่องจากการอพยพเข้าของประชาชนจากต่างจังหวัด เมื่อรวมกรุงเทพฯ ก็ต้องรวมเมืองใหญ่ทั้งหลายไว้ทั่วประเทศด้วย

มองในแง่นี้ คนไทยคือนักบุกเบิกเหมือนคนอเมริกัน เสียแต่ตำราเรียนประวัติศาสตร์ไม่เล่าเรื่องเหล่านี้ให้นักเรียนฟัง แต่ปรากฏอยู่ไม่น้อยในหนังไทยสมัยหนึ่ง ดังนั้น ถ้าดูหนังแทนไปโรงเรียนก็จะได้ความรู้อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งใกล้ความจริงมากกว่า

นักบุกเบิกมีทัศนคติต่อชีวิตในเชิง “ใครดีใครได้” อย่างที่ท่านอาจารย์ผาสุกกล่าว นั่นก็คือเป็นปัจเจกชนนิยมสุดโต่ง ความเป็นนักปัจเจกชนนิยมของอเมริกันนั้นรู้กันอยู่แล้ว แต่นักบุกเบิกไทยซึ่งมีทัศนคติ “ใครดีใครได้” เหมือนกัน ไม่ได้เป็นนักปัจเจกชนนิยมเท่าหรือเหมือนอเมริกัน

คนอเมริกันอาจไม่แคร์นักต่อสังคมเสมอภาค แต่แคร์อย่างยิ่งต่อความเสมอภาคของตนเอง เพราะเชื่อว่าหากตัวเท่าเทียมกับคนอื่น ก็มีโอกาสจะทัดเทียมเขาได้ นักบุกเบิกไทยไม่แคร์ต่อสังคมเสมอภาคเหมือนกัน และดูจะยอมรับความไม่เท่าเทียมและไม่ทัดเทียมของตนโดยดุษณี

แม้กระนั้นนักบุกเบิกไทยก็มีสำนึกปัจเจกสูงโดยเปรียบเทียบ ขนาดที่นักมานุษยวิทยาโบราณสังเกตเห็นว่าสังคมไทยเป็นสังคมโครงสร้างหลวม (ซึ่งถูกปฏิเสธหรือขยายความว่าต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขบางอย่าง) นักวิชาการชุมชนนิยมคงปฏิเสธเด็ดขาด แต่ผมสงสัยว่าหากมีการศึกษาเปรียบเทียบกับชีวิตในชุมชนชวา, บาหลี, หรือเวียดนามดู ลองวัดกันดูว่า “ชุมชน” เข้าไปมีบทบาทในชีวิตของผู้คนของสังคมเหล่านั้นสักเท่าไร และ “ชุมชน” เข้าไปมีบทบาทในชีวิตไทยสักเท่าไร ก็อาจมองเห็นความเป็นปัจเจกชนนิยมของนักบุกเบิกไทยได้ชัดขึ้น

สำนึกปัจเจกของนักบุกเบิกไทยไม่นำไปสู่ระบบกฎหมายที่เท่าเทียม, โอกาสที่เท่าเทียม, เกียรติยศที่เท่าเทียม ฯลฯ อย่างอเมริกัน เพราะปัจเจกชนนิยมไทยเกิดขึ้นท่ามกลางวัฒนธรรมที่ไม่เอื้อต่อความเสมอภาคของปัจเจกเอาเลย

ผมขอยกเงื่อนไขทางวัฒนธรรมเช่นนั้นให้เห็นเป็นตัวอย่างสักสามสี่อย่าง

แม้มีทัศนคติ “ใครดีใครได้” เหมือนกัน แต่ลึกลงไปนักบุกเบิกไทยยังเชื่อด้วยว่า “ใคร” ที่จะ “ดี” ได้ เป็นเพราะบุญวาสนาแต่หนหลังช่วยหนุนอยู่ด้วย ไม่ใช่การกระทำของเขาเพียงอย่างเดียว พูดให้ฟังดูขลังหน่อยก็คือ รากฐานทางอภิปรัชญาของ “ใครดีใครได้” ของไทย ทำให้ไม่เห็นความสำคัญของการจัดการทางโลกย์ให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน คนเราวาสนาไม่ดีเสียแล้ว แม้เกิดเป็นลูกเศรษฐียังตกอับได้ ประสาอะไรกับการขจัดการรีดไถของเจ้าหน้าที่ มีหรือไม่มีก็ไม่ช่วยให้ใครรวยหรือจนได้หรอก

รากฐานทางอภิปรัชญาดังที่กล่าวนี้ ยังถูกย้ำอยู่เสมอในการศึกษา ทั้งในแบบและนอกแบบ อ่านนวนิยาย, ดูหนัง, ฟังเพลง หรือแม้แต่ชมละครทีวี หรือแม้แต่ตลกคาเฟ่ ก็ถูกกล่อมเกลาให้มองชีวิตผ่านหลักการทางอภิปรัชญาดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา

ในทางปฏิบัติ ชีวิตของคนไทยก็เผชิญกับ “ความจริง” ทางอภิปรัชญาข้อนี้อยู่เป็นปรกติด้วย ความเห็นของผู้มีวาสนาดี คนรับฟังมากกว่าความเห็นของคนทั่วไป ความรู้ของเขาก็ดูจะ “จริง” กว่าความรู้ของคนทั่วไปด้วย

แม้แต่กฎหมายก็ใช้บังคับคนไม่เท่ากัน คนมีวาสนาดีไม่มีทางที่จะตกอยู่ใต้เงื้อมมือของกฎหมายไปได้ มีตัวอย่างให้เห็นอยู่ดาษดื่น

นักบุกเบิกไทยจึงไม่ได้ฟันฝ่าเข้าไปสู่ป่าดงพงไพร ที่โหดร้ายต่อทุกคน หรือเอื้ออาทรต่อทุกคน เท่าเทียมกัน และในความเป็นจริงแล้วก็ขึ้นอยู่กับโชคชะตาของแต่ละคนมากทีเดียว

นักบุกเบิกที่ไปเปิดนาแถบป่าละเมาะในแถวปทุมธานี-นครนายกมีวาสนาน้อยนัก เพราะเมื่อเริ่มผลิตข้าวได้ไม่นานนัก หลวงท่านก็ยกที่ดินแถบนั้นให้แก่บริษัทคลองคูนาสยาม ขุดคลองและเปิดที่นากว้างใหญ่ไพศาล บริษัทอาศัยอำนาจที่ได้จากรัฐขับไล่ผู้ที่ตั้งภูมิลำเนามาก่อนออกไป มีเรื่องขัดแย้งกันถึงกับเผาบ้านเรือนของนักบุกเบิกรุ่นแรก โดยไม่สามารถพึ่งพาตำรวจหรือฝ่ายปกครองได้

นักบุกเบิกรุ่นสฤษดิ์เป็นต้นมา ยิ่งต้องพึ่งพาอาศัยวาสนาของคนอื่นมากขึ้นไปใหญ่ เพราะที่ดินซึ่งเขาเข้าไปจับจองใช้ประโยชน์มิได้มีเอกสารสิทธิแต่อย่างไร ซื้อต่อมาจากเจ้าพ่อซึ่งอาจเคยเป็นพนักงานของบริษัททำไม้ ซึ่งยึดพื้นที่ป่าซึ่งถูกตัดไม้แล้วไว้ขายต่อให้นักบุกเบิก หรืออาจเป็นเจ้าพ่อที่เป็นพ่อค้าพืชไร่หรือเครื่องมือการเกษตรอื่นๆ ซึ่งมีความสนิทสนมกับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองในท้องถิ่น ความมั่นคงในกรรมสิทธิ์ที่ดินของนักบุกเบิกอยู่ที่การอุปถัมภ์ของเจ้าพ่อเหล่านี้ ยังไม่พูดถึงการประกอบการเกษตรของเขาในเกือบทุกด้าน ก็ต้องพึ่งพาเจ้าพ่อซึ่งแบ่งส่วนรายได้ของเขาเข้ากระเป๋าไปพร้อมกัน

ผมไม่ปฏิเสธว่า นักบุกเบิกอเมริกันก็ต้องเผชิญกับอำนาจเถื่อนที่คอยเอารัดเอาเปรียบเหมือนกัน อีกทั้งเจ้าพ่ออเมริกันยังเข้าไปถึออำนาจรัฐได้ง่าย ผ่านระบบเลือกตั้งและระบบเส้นสาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ด้วยว่า ระบบรัฐอเมริกันถูกปรับปรุงแก้ไขตลอดมา จนกระทั่งการเอารัดเอาเปรียบคนอื่นนอกกฎหมายทำได้ยาก หรือทำไม่ได้ ถ้าจะเอาเปรียบคนอื่นก็ต้องใช้วิธีแนบเนียนในกฎหมาย เป็นระบบคณาธิปไตยที่ซ่อนรูปไว้ในประชาธิปไตย ไม่โจ่งแจ้งและป่าเถื่อนอย่างรัฐที่นักบุกเบิกไทยต้องเผชิญ

ประสบการณ์การบุกเบิกก็ต่างกันระหว่างนักบุกเบิกอเมริกันและไทย แนวคิดเกี่ยวกับชีวิตที่อยู่เบื้องหลังก็ต่างกัน ดังนั้น ทัศนคติ “ใครดีใครได้” ระหว่างคนในสองสังคมจึงต่างกันด้วย

กปปส.อเมริกันที่เลือกทรัมป์ขึ้นเป็นประธานาธิบดีรู้สึกตนว่าไม่เสมอภาคกับนายทุนใหญ่ และถูกระบบทอดทิ้ง ส่วน กปปส.ไทยรู้สึกไม่พอใจที่คนอื่นทำตัวเสมอภาคกับตน จึงผลักดันเรียกร้องให้กองทัพยึดอำนาจเสีย ปัจเจกชนนิยมที่ต่างกันจึงให้ผลที่ต่างกันดังนี้