จัตวา กลิ่นสุนทร : คิดถึง ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช (21)

การเมืองเริ่มมีสีสันเป็นที่น่าจับตามากขึ้นขณะเริ่มต้นปี พ.ศ.2561 เมื่อ “เบอร์ 1” ของ “รัฐบาลทหาร” ซึ่งก้าวเข้ามาสู่การเมืองด้วยการ “ยึดอำนาจ” ฉีก “กฎหมายใหญ่” ของประเทศทิ้ง ทำท่าไม่อยากลงจากอำนาจ

คนที่สนใจติดตามการเมืองอย่างต่อเนื่องได้พิจารณาอ่านเกมแบบถี่ถ้วนรอบด้านต่างลงความเห็นกันว่าไม่แตกต่างจาก “รัฐบาลทหาร” ในอดีตของประเทศนี้ หลังการบริหารประเทศไปสักระยะหนึ่งกลับต้องการอยู่ในอำนาจต่อ ซึ่งจะด้วยเหตุผลอะไร? ก็ดูเหมือนจะพอเดา หรือคาดหมายกันไม่ยาก ในขณะที่บางคนเรียกว่าเสพติด?

หากไม่ย้อนกลับไปคิดถึงเรื่องการเมือง รัฐบาลทหารที่ผ่านมาบ้างจะดูเหมือนว่าไม่เคยมีประสบการณ์กับเหตุการณ์บ้านเมือง ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากได้ผ่านพบสิ่งเหล่านี้ “รัฐบาลทหาร” ซึ่งคล้ายๆ กันกับที่กำลังจะดำเนินอยู่ทุกวันนี้มาโดยตลอด

บังเอิญเคยได้เข้าสู่สภา เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (2534), สมาชิกวุฒิสภา (2535-2539) ในรัฐบาลซึ่งมาจากการ “ยึดอำนาจ” เช่นเดียวกัน ได้เห็นการวางแผนต่อท่ออำนาจโดยรวมเอาอดีตผู้แทนราษฎรมาตั้งพรรค “สามัคคีธรรม” ขึ้นเพื่อสนับสนุนให้ “พล.อ.สุจินดา คราประยูร” ได้เป็นนายกรัฐมนตรี กระทั่งเกิดเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ในปี พ.ศ.2535?

ท่านที่ติดตามเหตุการณ์บ้านเมืองย่อมต้องได้รู้เห็น ที่สุดรัฐบาลทหารอยู่ไม่ได้ ไม่มีโอกาสบริหารประเทศ

 

พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อสภา เกิดการกระทบกระทั่งกับพรรคความหวังใหม่และผู้แทนราษฎร ซึ่งมี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ (บิ๊กจิ๋ว) เป็นหัวหน้าพรรค

พอดีนั่งอยู่ในสภาอยู่ด้วยคนหนึ่ง มีความรู้สึกว่าเป็นการตอบโต้กันระหว่างนายทหารรุ่นพี่ ซึ่งเลือกเดินทางสายประชาธิปไตย กับนายทหารรุ่นน้องซึ่งมาจากการยึดอำนาจ ต่างขุดเอาข้อมูลมาสาดใส่กัน ได้ขบคิดอยู่อย่างเงียบๆ ว่าการแถลงนโยบายครั้งนั้น หากนายกรัฐมนตรีสามารถเก็บอารมณ์ได้ไม่มีการตอบโต้สวนกันในสภาอย่างที่เป็นมาเมื่อกว่า 2 ทศวรรษ ท่านจะไม่ถูกโห่ขับไล่ในสภา รวมทั้งอาจไม่เกิดเหตุการณ์วุ่นวายบนท้องถนน

บังเอิญ “นายกรัฐมนตรี” เป็น “ทหาร” ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง โดยธรรมชาติของรัฐบาลทหารคงไม่มีความอดทนพอ เพียงแค่วันแถลงนโยบาย ท่านก็ไม่สามารถทนฟังอะไรที่ไม่สบายหูอยู่ได้ เนื่องจากท่านไม่ได้เป็นผู้แทนราษฎรที่ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชน ไม่ได้เป็นนักการเมือง ไม่มีวิญญาณนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย?

อาจารย์คึกฤทธิ์เคยกล่าวถึงทหารใหญ่ทั้งหลายที่เข้ามาสู่การเมืองว่า “ประเดี๋ยวก็จะรู้ด้วยตัวเองว่า “นักการเมือง” โดยเฉพาะผู้แทนราษฎรนั้นไม่ใช่ทหารเกณฑ์ จะมาสั่งซ้ายหัน ขวาหัน ไม่ได้?”

 

รัฐบาลทหารชุดปัจจุบันนี้ หลังจากปลุกปล้ำกับนักการเมืองเหมือนกับจงเกลียดจงชังด้วยการเรียกตัวไปปรับทัศนคติ ใช้เรื่องของกฎหมายและวิธีมากมายจากของลูกน้องกองหนุนทั้งหลายซึ่งออกมาในรูปของเผด็จการ ใช้พวกมากบังคับข่มขู่กับฝ่ายการเมืองและผู้ที่ไม่เห็นด้วยมากกว่าอย่างอื่น ได้อยู่บริหารบ้านเมืองมากว่า 3 ปี

นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นทหารจากกองทัพบกไทย ก็ประกาศว่าเป็น “นักการเมือง” หลังจากที่ทำท่าออกเดินสายสู่หลายหัวเมืองทั้งไปประชุม “คณะรัฐมนตรี” นอกทำเนียบ ทำตัวคล้ายนักการเมือง เรียกว่าคุ้นๆ ซึ่งคอการเมือง สื่อมวลชน ทุกคนต่างกล่าวกันว่าไม่แตกต่างจากการหาเสียงเพื่อจะเป็นรัฐบาล เป็น “นายกรัฐมนตรี” ต่อไปอีก

ในขณะที่นักการเมือง พรรคการเมือง ยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าวันเลือกตั้งจะมีขึ้นเมื่อไร รู้เพียงคร่าวๆ ว่าภายในปี พ.ศ.2561 แต่นักวิเคราะห์การเมือง นักกฎหมายจำนวนไม่น้อยต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าอาจมีเหตุที่สามารถเลื่อนการ “เลือกตั้ง” ออกไปได้อีก

พรรคการเมืองจึงมองว่ารัฐบาลกำลังวางแผนเอาเปรียบทางการเมืองในเรื่องของการเลือกตั้ง ในขณะที่ท่านหาเสียงได้ แต่นักการเมืองทั่วไปยังไม่สามารถดำเนินการทางการเมืองได้

 

มีคลิปเผยแพร่ไปในสื่อดิจิตอลมากมายว่า “นักการเมืองใหม่คนหนึ่งกำลังเดินสายไปพบประชาชนทั่วประเทศด้วยงบฯ รัฐ พร้อมออกคำสั่งห้ามนักการเมืองอื่นเคลื่อนไหวใดๆ?”

อันที่จริงหากติดตามความเคลื่อนไหวของบ้านเมือง สังคมสื่อดิจิตอลทั้งหลายย่อมพอจะได้เห็นได้รู้บ้างว่ารัฐบาลกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จนสรุปกันแล้วว่ารัฐบาลอยู่ในช่วงขาลง

ขณะเดียวกันก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่หัวของรัฐบาลนี้ประกาศตัวชัดเจนว่าเป็นนักการเมือง และเดินเข้าสู่การเมืองในระบอบประชาธิปไตย ถึงแม้จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เพราะรัฐธรรมนูญที่ร่างเตรียมกันไว้ไม่ได้กำหนดไว้ ก็ไม่เป็นไร

มองไปไกลถึงขนาดว่าพรรคเล็กพรรคน้อยที่กำลังก่อตั้งกันขึ้นตลอดจนพรรคขนาดกลางเดิมๆ รวมกับฐานอันแน่นหนาจำนวน 250 เสียงของวุฒิสมาชิกแต่งตั้ง และโดยตำแหน่งพอที่จะเสนอชื่อใครเป็น “นายกรัฐมนตรี” ได้ สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยมีพรรคใหญ่ 2 พรรคอย่าง “ประชาธิปัตย์” และ “เพื่อไทย” เป็นฝ่ายค้าน

คำนวณกันให้ละเอียดสักหน่อยก็อาจจะมีเสียงปริ่มๆ ถึงเวลาเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล หรืออภิปรายกฎหมายอะไรสักอย่าง นึกภาพดูเอาเองว่านายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน หากท่านได้ไปเป็นเบอร์ 1 ของรัฐบาลอีกครั้ง จะทนรับไหวหรือ? ทุกวันนี้กับแค่คำถามจากผู้สื่อข่าวการเมืองยังสะบัดสะบิ้งออกอารมณ์หุนหันพลันแล่นวุ่นไปหมด ทำท่าจะทนไม่ได้ อยากเห็นท่านได้เป็นผู้นำในรัฐบาลซึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจาก 2 พรรคดังกล่าวเป็นฝ่ายค้าน

อยากเห็นภาพนั้นจริงๆ ท่านจะได้รู้สึกว่ามันไม่เหมือนกับเวลาที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลที่ไม่มีฝ่ายค้าน ไม่มีใครค้าน ไม่มีการตรวจสอบ

 

ในปี พ.ศ.2524 ซึ่ง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีพรรคการเมืองหลายพรรคให้การสนับสนุน แต่สมาชิกจากพรรคฝ่ายค้านยังพอที่จะยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของท่านได้ หลังจากที่ได้บริหารประเทศมาระยะเวลาหนึ่ง

นายทหารระดับสูงในกองทัพที่สนับสนุนท่าน ลูกป๋าทั้งหลายต้องทำงานกันอย่างหนักเพื่อสกัดกั้นการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยทำให้ญัตตินั้นตกไป ไม่อย่างนั้นป๋าท่านจะลาออก ไม่อยู่บนเก้าอี้นายกรัฐมนตรีถึง 8 ปีเศษ ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งสำหรับนายกรัฐมนตรีที่เป็นทหารมาจากกองทัพ ทั้งๆ ที่ท่านไม่มีพรรคการเมือง พรรคพวกพี่น้องเป็นเป้า เป็นจุดอ่อนให้ฝ่ายค้านเล่นงานด้วยซ้ำ

“หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช” ซึ่งเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่าท่านรอบรู้ เป็นปราชญ์ เรื่องฝีปากไม่เคยเป็นสองรองใคร เป็นนักการเมืองที่รักประชาธิปไตย จนกระทั่งได้รับสมญานามว่าเป็น “เสาหลักประชาธิปไตย”

เมื่อท่านเป็น “นายกรัฐมนตรี” (คนที่ 13) ที่มาจากการเลือกตั้งของรัฐบาลผสมเมื่อปี พ.ศ.2518 ก่อนที่จะต้องยุบสภาเพื่อรักษาประชาธิปไตยเอาไว้ และกลับ “สอบตก” เมื่อลงไปสมัครรับเลือกตั้งในปี พ.ศ.2519 ทั้งๆ ที่เป็นนายกรัฐมนตรี รักษาการ

ท่านเคยกล่าวไว้ว่า “ขอเรียนว่า ได้อดทนมาเป็นเวลา 1 ปี 1 เดือน กับ 4 วัน อดทนให้คนเหยียบย่ำดูถูก ทำทุกอย่างโดยที่ตนเองไม่ใช่คนเช่นนั้นเลย พูดไปจริงๆ ก็เกิดมาเป็นลูกเจ้าลูกนาย การศึกษาก็สูง พ่อแม่ก็เลี้ยงมาดี ไม่เคยให้ใครมากระทืบเช้ากระทืบเย็น วันละ 3 เวลาหลังอาหารอย่างเมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

“การเป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลผสมนั้นต้องทำงานหนักที่สุด เพราะนอกจากงานบริหารราชการแผ่นดินซึ่งเป็นเรื่องสำคัญแล้ว ก็ยังมีการประสานประโยชน์ของพรรค หรือฝ่ายค้านต่างๆ ที่เข้ามาเป็นรัฐบาลด้วย—“

 

หยิบเรื่องเล็กๆ น้อยๆ หลายช่วงตอนจากอดีตมาเล่าให้ฟัง เพื่อให้คนที่กำลังจะเข้าสู่การเมืองตามระบอบประชาธิปไตย และคิดว่าเส้นทางสายนี้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

การเป็น “นายกรัฐมนตรี” ในระบอบประชาธิปไตย ทุกอย่างต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีการตรวจสอบ และยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ ย่อม “แตกต่าง” กับนายกรัฐมนตรี ซึ่งมาจากการ “ยึดอำนาจ” สวมหมวกหลายใบ มี “กฎหมายพิเศษ” สำหรับจัดการเรื่องต่างๆ หรือฝ่ายตรงข้ามได้ตามใจชอบ

ยินดีต้อนรับสู่ “นักการเมือง” อาชีพ?