คงกฤช ไตรยวงค์ : “อยู่เป็นเย็นสุข” ในยุคอำนาจนิยม

ข้อเขียนต่อไปนี้เกิดจากการที่ผู้เขียนงุนงงสับสนกับปรากฏการณ์สังคม และข้อถกเถียงต่างๆ ในสังคมไทย

ตั้งแต่กรณีกับพิธีถวายบังคมพระบรมรูปฯ เราจะพบว่าฝ่ายประชาธิปไตยใช้เหตุผลแบบอนุรักษนิยม โดยอ้างพระบรมราชการโองการของ ร.5 เพื่อสนับสนุนข้อเสนอของตน

ขณะที่ฝ่ายที่ดูจะเป็นอนุรักษนิยมกลับใช้วาทศิลป์ของเสรีนิยมประชาธิไตยในเรื่องการเคารพความแตกต่าง

ระเรื่อยมาถึงกรณีถอดถอนศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ที่เขียนกลอนคำผวนล้ออดีตนายกรัฐมนตรีหญิงโดยสื่อนัยออกไปทางเหยียดเพศ ขณะที่นักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตยที่อยู่ต่างแดนกลับใช้คำที่ไม่เป็นประชาธิปไตยกล่าวในทำนองว่า อย่าให้ศิลปินแห่งชาติคนนี้มีที่จะอยู่ จนมาถึงเดือนตุลาคม อันเป็นเดือนแห่งความสูญเสีย เพราะน้ำท่วมอย่างกว้างขวาง มนุษย์กรุงเทพฯ ก็ยังใช้ชีวิตตามปกติ ไปซื้อหนังสือในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่เราอาจจะเห็นหนังสือเล่าเรื่องราวผู้ต้องหาคดี 112 กับการงานอันเป็นที่รักในที่เดียวกัน ตลอดจนเรื่อง ตูน บอดี้สแลม ที่แสดงให้เห็นว่าคนที่สนับสนุนประชาธิปไตยไม่ได้เห็นพ้องกันไปทุกเรื่อง

Processed with VSCO with f2 preset

ลักษณะย้อนแย้งที่กล่าวมาข้างต้นเหล่านี้ดูเหมือนจะชวนงุนงงสับสนว่าใครมีจุดยืนที่ชัดเจนเช่นใดกันแน่

หรืออันที่จริงแล้ว หาได้มีการแบ่งฝักฝ่ายอย่างชัดเจนอย่างที่เราเข้าใจมาแต่ต้น

หรืออีกทีก็หมายความว่า คนไทยเรายอมรับความต่าง และอยู่ท่ามกลางความต่างมาได้แต่ไหนแต่ไร

กระนั้นก็ตาม สภาวะบีบคั้นที่ชวนให้เกิดอาการทางจิตอย่างที่เราต้องเผชิญ เราอาจจำเป็นต้องการการเยียวยาหรือรักษาจิตใจให้เป็นปกติมากกว่าที่เราคิด

หากจะกล่าวถึงท่าทีที่พอจะประโลมใจในห้วงยามแบบนี้ ผู้เขียนเห็นว่าการมองไปยังปรัชญาตะวันตกก็คงพอทำให้ตัวเองพอจะถอยห่างจากความอิหลักอิเหลื่อเหลือแสนได้บ้าง

นักปรัชญาอย่าง เบเนดิกต์ สปิโนซา (Benedict Spinoza) อาจจะพอให้คำแนะนำในการเยียวยารักษาใจและวางท่าทีในยุคสมัยแห่งอำนาจนิยมนี้ได้พอสมควร

แต่ผู้เขียนใคร่ขอบอกแต่แรกว่ามุ่งพิจารณาประเด็นทางจริยศาสตร์ของสปิโนซาเพื่อหาทางอยู่ในสังคมที่ปั่นป่วน มิใช่แนวคิดทางการเมืองของเขา

สปิโนซาเป็นนักปรัชญาเชื้อสายยิวจากครอบครัวชาวโปรตุเกสที่อพยพไปอยู่อัมสเตอร์ดัม เรียกได้ว่าเขาเป็นผู้ลี้ภัยของผู้ลี้ภัย ดีแต่ว่าอัมสเตอร์ดัมตอนนั้นเปิดกว้างทางศาสนาพอสมควร ชาวยิวสามารถทำธุรกิจต่างๆ ได้ โดยมีข้อห้ามบางประการ เช่น ห้ามแต่งงานกับชาวคริสต์

อย่างไรก็ตาม โดยวิสัยนักปรัชญา สปิโนซาตีความคัมภีร์ศาสนายิวแตกต่างจากขนบมาก

เขาจึงโดนอัปเปหิ หรือบัพพาชนียกรรม (Excommunication) ออกจากชุมชนยิวตอนอายุเพียง 24 ปี ว่ากันว่าคำสาปแช่งนั้นออกจะรุนแรงเกินกว่าเหตุ

สปิโนซาดำรงชีพด้วยการเป็นช่างฝนเลนส์ ใช้ชีวิตเรียบง่าย มีมรดกอยู่ชิ้นเดียวที่ได้รับจากครอบครัวคือผ้าคลุมเตียง

เขาไม่ขอรับค่าตอบแทนหรือตำแหน่งทางสังคม เพราะเกรงว่าตำแหน่งทางวิชาการจะมาจำกัดเสรีภาพทางปัญญา

แม้เพื่อนอย่างไลบ์นิซ นักปรัชญาเยอรมัน เสนอตำแหน่งอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยไฮเดนแบร์กให้เขา แต่เขาก็ไม่ยอมรับ

สปิโนซาเสียชีวิตด้วยโรคทางเดินลมหายใจตอนอายุเพียง 44 ปี เพราะฝุ่นจากการฝนเลนส์

เบอร์ทรัล รัสเซลล์ ยกย่องว่า สปิโนซาเป็นนักปรัชญาที่น่ารักที่สุดเท่าที่เคยมีมา

งานที่ชื่อ Ethics Demonstrated in Geometrical Order หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า Ethics น่าจะแสดงถึงข้อเสนอทางปรัชญาของเขาได้ชัดจากชื่อหนังสือ เพราะเขามุ่งเสนอว่า การที่เราจะเข้าใจว่าจะใช้ชีวิตอย่างไร อันเป็นคำถามทางจริยศาสตร์นั้น มนุษย์จำจะต้องเข้าใจเสียก่อนว่าตนมีสถานะเช่นใดในโลกธรรมชาติ เราจำเป็นต้องเข้าใจตำแหน่งแห่งที่ของเราในธรรมชาติและสาเหตุทำให้เราไม่สมบูรณ์เพื่อเป็นอิสระจากมัน

สปิโนซาเห็นว่า พระเจ้าหรือธรรมชาติมีความหมายเดียวกัน หรือเป็นสิ่งเดียวกันนั่นเอง มีการตีความปรัชญาของเขาไปหลายแนวทาง กวีโรแมนติกอย่างเวิร์ดเวิร์ธ (Wordworth) หรือคอเลอริจ (Coleridge) มองว่า ความข้อนี้หมายความถึงเอกภาพในอุดมคติของธรรมชาติ ซึ่งมีลักษณะรหัสนัย นั่นคือพระเจ้าเผยสารผ่านธรรมชาติ

หรืออาจจะตีความไปอีกทางหนึ่ง อย่างอีเลียต (Eliot) ตีความไปในแนวทางเหตุผลนิยมแบบวิทยาศาสตร์ หรือสสารนิยม ที่เห็นว่าปรัชญาของสปิโนซาคือการพยายามเอาชนะความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติ

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เองก็ได้รับอิทธิพลจากสปิโนซาในการตีความแบบหลังนี้เช่นกัน

ไม่ว่าจะตีความอย่างไร สิ่งที่เป็นข้อเสนอหลักของสปิโนซาก็คือ มนุษย์หาได้มีเสรีภาพในโลกธรรมชาติ ซึ่งมีความหมายเท่ากับพระเจ้า หากแต่ถูกกำหนดไว้แล้วโดยความสัมพันธ์เชิงสาเหตุ

เช่น เวลาเราหิวนั้น ความหิวของเราเกิดจากปฏิกิริยาเคมีในร่างกายและส่งผลให้เราอารมณ์ไม่ดี จนแสดงความฉุนเฉียวออกมา

อย่างไรก็ตาม สปิโนซาเห็นว่าคนเรามักจะตกหลุมมายาภาพที่ว่าตัวเองมีเสรีภาพ เปรียบได้กับก้อนหินล่องลอยอยู่บนอากาศ ราวกับเคลื่อนที่โดยอิสระเสรี โดยหาตระหนักไม่ว่าตนถูกโยนขึ้นไป

สปิโนซาเห็นว่าสิ่งต่างๆ พยายามธำรงปัจเจกลักษณะของตนไว้ แนวคิดนี้เรียกว่า conatus ซึ่งหมายถึงการพยายามธำรงตนให้ดำรงอยู่ ก้อนหินธำรงตนไม่ให้แตกทำลาย สัตว์รักตัวกลัวตาย มนุษย์รักษาชีวิตตน สำหรับมนุษย์นั้น มีส่วนของอารมณ์ความรู้สึกที่ผลักดันให้ดำรงอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดดังกล่าว

นั่นคือการตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายในโดยไม่แตกสลายไปเสียก่อน ซึ่งเราอาจจะพอนึกถึงสภาวะนี้ได้ตอนเกิดความเครียดทั้งกายและใจ คนที่มีสุขภาพดีกว่ามักจะมีชีวิตอยู่ยืนกว่าคนสุขภาพแย่กว่า

ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีจึงสัมพันธ์กับอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งผูกโยงทั้งมิติทางกายและใจ

ในด้านความหมายทางจิตนั้น อารมณ์หมายถึงความคิด (ideas) ในจิตที่ตอบสนองต่อเหตุการณ์ผ่านร่างกาย ซึ่งร่างกายได้รับผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ประเภทของอารมณ์ความรู้สึกได้แก่ ความเบิกบาน ความเศร้า และความปรารถนา

สปิโนซาเห็นว่าอารมณ์อื่นๆ นอกเหนือจากนี้คือการผสมกันของอารมณ์เหล่านี้กับสภาวะที่เรารู้ตัว ความรักและความเกลียดคือสภาวะที่เรารู้ตัวว่ามีสิ่งภายนอกทำให้เรารู้สึกอย่างนั้น

เช่น นักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตยอาจจะรู้สึกเกลียดนักวิชาการฝ่ายอนุรักษนิยมเวลาเจอกันในงานประชุมวิชาการ หรือในทางกลับกัน คือพวกอนุรักษนิยมรู้สึกเกลียดชังนักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตย

ความหวนหา (longing) เกิดจากความปรารถนาผนวกกับความทรงจำเกี่ยวกับสิ่งที่เราปรารถนาแต่มันไม่มีอยู่แล้ว

ความภูมิใจ (pride) คือความเบิกบานที่เกิดจากการมองภาพตัวเองผิดไปจากความจริง ความเบิกบานจะทำให้พลังชีวิตของเราเพิ่มพูนขึ้น

ในทางตรงข้ามความเศร้ากลับจะทำให้พลังชีวิตลดน้อยถอยลงไป

สปิโนซาเห็นว่าอารมณ์ด้านลบทำให้เราอ่อนแอ อารมณ์ด้านบวกจะยกระดับหรือเติมชีวิตเรา กระนั้น แม้เขาจะยกย่องอารมณ์ด้านบวก แต่ก็ไม่ได้ประณามอารมณ์ด้านลบ หรือเสนอให้เราขจัดอารมณ์ด้านลบออกไป

หากแต่วิธีแก้ปัญหาคือการมุ่งยกระดับอารมณ์ด้านบวก

ในสังคมอำนาจนิยมที่เรามักจะเห็นผู้นำในระดับต่างๆ สำแดงท่าทีราวกับผู้ที่ไร้วุฒิภาวะ คงจะเป็นเรื่องแปลกที่เราจะไปคาดหวังให้คนพูดจาสบถหยาบคายเป็นนิสัยให้พูดจากไพเราะอ่อนหวาน ในยุคที่พวกเราต้องพยายาม “อยู่ให้เป็น” ไปพร้อมๆ กับการยืนยันจุดยืนของตน อาการวิปลาสก็ปรากฏให้เห็นถี่ขึ้น

ข้อคิดของสปิโนซา นักปรัชญาผู้ไม่ยอมจำนนต่อระบบครอบงำ อันจะเห็นได้จากการไม่ขอรับตำแหน่งทางวิชาการในมหาวิทยาเพื่อยืนยันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของตน อาจจะสะท้อนคำคมที่เขายึดถือก็ได้ นั่นคือ “สิ่งประเสริฐและล้ำค่านั้นหาได้ยาก”

การ “อยู่เป็น” อาจจะไม่ได้หมายถึงการเงียบหรือเปลี่ยนสี ตีสองหน้า ปากว่าตาขยิบ หรือพยายามอยู่ให้รอดโดยยอมละจุดยืนบางอย่างไป

หากแต่หมายถึงรักษาจิตใจให้เป็นปกติพอสมควร แล้วพยายามหาทางออก ไม่ว่าจะเป็นการยืนหยัดทัดทาน หรือการพูดคุยกันมากขึ้นเพื่อนำไปสู่ความเข้าใจกันมากขึ้น

ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแนวทางใดก็อาจจะต้องใช้เวลาอีกนาน