15 ก.ย.-124ปี วัน”ศิลป์ พีระศรี” พบกันหน้าห้องทำงาน “อาจารย์ฝรั่ง-โรงหล่อ”

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (Prof.Corrodo Feroci) เกิดวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2435 ที่เมือง Florence ประเทศ Italy ถ้าวันที่ 15 กันยายน 2559 นี้ ท่านยังมีชีวิตอยู่ ก็จะมีอายุถึง 124 ปี

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (โปรเฟสเซอร์ คอร์ราโด เฟโรจี) ซึ่งต่อมาลูกศิษย์รุ่นแรกๆ ของมหาวิทยาลัยศิลปากรเรียกท่านว่า “อาจารย์ฝรั่ง” จนติดปาก ไม่ก็เรียก “อาจารย์ศิลป์” หลังจากที่ท่านเปลี่ยนชื่อจากอิตาเลียนเป็นชื่อไทยเมื่อปี พ.ศ.2487

ท่านเดินทางเข้ามารับราชการในประเทศไทยปี พ.ศ.2466 ขณะมีอายุเพียง 32 ปี และเสียชีวิตที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่ออายุ 69 ปี ขาดไปเพียงไม่กี่เดือนจะครบ 70 ปี

ท่านจึงทำงานในประเทศไทยได้ 38 ปี แต่ได้สร้างผลงานไว้เป็นจำนวนมาก

เป็นผู้วางรากฐานศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย และเป็นผู้สถาปนา “มหาวิทยาลัยศิลปากร” เมื่อปี พ.ศ.2486 หรือเมื่อ 73 ปีก่อน

อาจารย์สร้างศิลปิน อาจารย์ผู้สอนศิลปะ ไว้จำนวนไม่น้อยให้เป็นผู้ได้สอนสั่งลูกหลานไทยสืบต่อมา

จนกระทั่งมหาวิทยาลัยศิลปากรเติบโตยืนยาวมาตราบเท่าทุกวันนี้ เริ่มต้นเปิดคณะประติมากรรมขึ้น ตามมาเป็นคณะจิตรกรรมฯ แล้วก็มาเพิ่มภาพพิมพ์ขึ้น ตามมาด้วย คณะสถาปัตยกรรมไทย คณะโบราณคดี และคณะมัณฑนศิลป์

มหาวิทยาลัยศิลปากร อิงแอบแนบอยู่กับกรมศิลปากร อยู่บนพื้นที่ติดวัง ต่อมาได้รับขยายเข้าไปอยู่วังท่าพระ เรียกว่าอยู่ในพื้นที่ประวัติศาสตร์ ซึ่งจะก่อสร้างต่อเติมอาคารยากลำบาก เพราะเป็นพื้นที่อนุรักษ์ เป็นสมบัติของชาติ

ไม่น่าแปลกใจอะไรที่ชาวศิลปากรจะมีความรู้สึกผูกพันด้วยจิตวิญญาณกับสถานที่ ผูกพันกับท่านอาจารย์ศิลป์มากกว่ายุคต่อๆ มาเป็นอย่างมากมากกว่านักศึกษาของศิลปากรในยุคหลังๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ซึ่งไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าการก่อกำเนิดของคณะอักษรศาสตร์ขึ้นนั้นเป็นความคิดอันบรรเจิดของท่าน หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ก่อนแตกหน่อเพิ่มขึ้นอีกมากมาย และขยายไปหลายจังหวัด

นักศึกษาที่ได้เข้ามาเรียนศิลปะ เรียนประติมากรรม จิตรกรรม รุ่นแรกๆ นั้นรักผูกพันกับท่านอาจารย์ศิลป์ เป็นอย่างมากทั้งจิตวิญญาณ แม้ท่านจะจากไปแล้วก็มีความรู้สึกเหมือนท่านยังอยู่

การถ่ายทอดจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้องเต็มไปด้วยบรรยากาศที่ดี เต็มไปด้วยความศรัทธา และเทิดทูนเป็นอย่างยิ่ง เหมือนกับได้เข้าเรียนกับท่านทีเดียว ถึงแม้จะได้มีโอกาสได้เข้าไปเรียนในคณะจิตรกรรมฯ แต่ไม่ได้เรียนกับท่าน เพราะเมื่อได้เข้าไปเรียน ท่านอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้เสียชีวิตไปแล้ว 3 ปี

แต่ก็มีความรู้สึกผูกพันด้วยได้รับการถ่ายทอดจากอาจารย์ รุ่นพี่ๆ ดังกล่าว

มีความรู้สึกว่าท่านยังอยู่ที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ แห่งนี้ ระยะเวลา 5 ปีเต็มๆ ที่ได้เข้ามาร่วมชายคาคณะจิตรกรรมฯ ทุกครั้งที่เดินผ่านห้องทำงานของท่านก็จะเกิดความรู้สึกเสียดายที่เข้ามาเรียนไม่ทันท่าน ได้แต่แอบคิดว่าน่าจะเข้าไปเร็วกว่านี้อีกสักหน่อยก็จะดี?

ผลงานประติมากรรม ซึ่งมาในรูปของอนุสรณ์สถานต่างๆ อนุสาวรีย์ในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นพระบรมรูปของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราช, สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และ ฯลฯ ส่วนมากจะเป็นฝีมือของท่านกับลูกศิษย์ทั้งสิ้น แต่สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ ท่านเป็นผู้ให้กำเนิด “มหาวิทยาลัยศิลปากร”

ต้องขอบคุณผู้ที่ถ่ายทอดคุณงามความดี ความเสียสละของท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (Prof.Corrodo Feroci) กับคนรุ่นต่อๆ มา ได้อบรมสอนสั่งศิษย์ของศิลปากรรุ่นหลังๆ สืบทอดกันมายาวนานให้รำลึกนึกถึงไม่ลืมผู้มีพระคุณตลอดมานั้นท่านผู้บริหารเหล่านั้นสมควรต้องได้รับคำสดุดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะทุกวันนี้ชาวศิลปากรทั้งหลายยังไม่มีใครที่จะลืมผู้ก่อตั้ง?

การจัดงาน “วันศิลป์ พีระศรี” โดยยึดเอาวันเกิดคือวันที่ 15 กันยายนของทุกปีให้เป็นวันระลึกถึงท่านโดยมีพิธีทางศาสนา วางดอกไม้ จุดเทียน ร้องเพลง Santa Lucia ที่ท่านชอบ ซึ่งก็ใช้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย ซึ่งก็มีเนื้อที่เขียนเป็นภาษาไทยในชื่อ “ศิลปากรนิยม” ด้วย

เป็นวันหยุดพิเศษของชาวศิลปากร และเป็นวันที่ศิษย์เก่าทั้งหลายจะได้ไปพบปะสังสรรค์รำลึกความหลังกันอย่างมีความสุข มีกิจกรรมต่างๆ การจัดนิทรรศการศิลปะ การปาฐกถา และอะไรๆ ที่เกี่ยวข้องกับท่านผู้มีคุณูปการแก่มหาวิทยาลัยศิลปากร ณ ลานอนุสาวรีย์ ศิลป์ พีระศรี ตรงคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ภายในมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพฯ

วันที่ 15 กันยายน 2559 ตรงกับวันพฤหัสบดี ก็มีการจัดงาน “วันศิลป์ พีระศรี” ขึ้นเช่นเดิม มีกิจกรรมต่างๆ เช่นเดิม

ท่านประธานในงานก็เป็นท่าน “ชวน หลีกภัย” ไม่เปลี่ยนแปลง และมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ “บัณฑิต ผดุงวิเชียร” เป็นผู้แสดงปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 21 หัวข้อ “บนพื้นฐานการศึกษาที่ได้จากอาจารย์ศิลป์ พีระศรี”

แต่น่าเสียดายสำหรับปีนี้ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ได้ย้ายการจัดงานสำคัญ ซึ่งสำคัญกับสถานที่แห่งนี้ด้วย ไปยัง “มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม” โดยให้เหตุผลว่า มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพฯ กำลังทำการซ่อมแซม ปฏิสังขรณ์ (Renovate) ไม่สะดวกในการมีงาน

เมื่อข่าวนี้ถูกเผยแพร่ออกมาก็สร้างความแปลกใจเป็นอย่างมากกับชาวศิลปากรทั้งหลาย โดยเฉพาะศิษย์เก่าศิษย์แก่ แม้แต่ศิษย์เก่ารุ่นลูกหลานต่างบ่นกันพึมว่า จะเดินทางไปยังไงกัน ขณะเดียวกันก็มีความรู้สึกว่าที่วิทยาเขตแห่งนั้นไม่น่าจะใช่? เพราะจิตวิญญาณ ความรู้สึก บรรยากาศทั้งหลายทั้งปวง “มันอยู่ที่นี่ อาจารย์ศิลป์ท่านอยู่ที่นี่?”

สมาคมนักศึกษาเก่าคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์, คณะโบราณคดี, คณะมัณฑนศิลป์, คณะดุริยางคศาสตร์ 5 คณะ รวมทั้งสโมสรนักศึกษาเก่า มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงร่วมมือกันจัดงาน “วันศิลป์ พีระศรี” ขึ้นที่ “วังท่าพระ กรุงเทพฯ” เหมือนเดิม โดยทุกสมาคมเสียสละเงินเอามาลงขันกันคณะละ 20,000 บาท รวมทั้งได้รับความอนุเคราะห์ อาหาร เครื่องดื่ม จาก ปตท. (Amazon) มาช่วยด้วย

ยังจำ “ประสพชัย แสงประภา” (พี่แก่) กันได้ไหมครับ? เพราะดูเหมือนใครๆ หลายๆ รุ่นก็รู้จักกันทั้งนั้น เพราะพี่แก่แกเรียนจบที่คณะมัณฑนศิลป์ แต่ดูเหมือนแกไม่เคยจากไปไหนเลย ทุกวันนี้ก็ยังมีส่วนผูกพันอยู่กับศิลปากร

และท่านพี่ประสพชัยคนนี้แหละที่มีส่วนร่วมเป็นอย่างมาก โดยร่วมมือกับคณะจิตรกรรมฯ สมาคมนักศึกษาเก่าทุกคณะดังที่กล่าวมาแล้ว จัดงานขึ้นที่วังท่าพระ ดังเดิม

โดยคงรูปแบบของงานไว้เกือบครบครัน เพียงแต่เน้นบรรยากาศการรำลึกนึกถึงท่านอาจารย์ฝรั่งเป็นหลัก รวมทั้งการพบปะพูดคุยสอบถามสารทุกข์ นึกถึงวันเก่าๆ ของศิษย์เก่าทั้งหลาย

เริ่มงานตอนเช้าด้วยการขับร้องของเพลงประสานเสียง Santa Lucia ของนักศึกษาคณะดุริยางคศาสตร์ และวางช่อดอกไม้ ณ อนุสาวรีย์ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี, มีพิธีทางศาสนาที่หอประติมากรรมต้นแบบ (โรงหล่อ) รับประทานอาหารกลางวัน ร่วมสนทนาเรื่อง “ธรรมะกับศิลปะ” โดย อิทธิฤทธิ์ วิทยา (ศิษย์เก่าสถาปัตย์ และนักศึกษาเก่าศิลปากร)

นิทรรศการของคณาจารย์คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ “ใต้ร่มพระบารมี” เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี ณ หอศิลป์คณะจิตรกรรมฯ โดย ช่วง มูลพินิจ ศิลปินแห่งชาติ (สาขาทัศนศิลป์) จรูญ อังศวานนท์ ศิลปินแห่งชาติ (สาขาออกแบบ-มัณฑนศิลป์) และ เมธา บุนนาค ศิลปินแห่งชาติ (สาขาสถาปัตยกรรม) ร่วมกันเป็นประธานเปิดนิทรรศการ และ ฯลฯ

ทุ่มตรง จุดเทียนร้องเพลง Santa Lucia พร้อมกันหน้าห้องทำงานเก่าของอาจารย์ “ศิลป์ พีระศรี” สังสรรค์สนทนากันตามอัธยาศัย ฟังดนตรีตามแบบฉบับของชาวศิลปากร

งานวันที่ 15 กันยายนปีนี้คงต้องจำกัดเวลาพอสมควร เพราะใช้บริเวณหน้าห้องทำงานเก่าอาจารย์ศิลป์ ยาวไปยังโรงหล่อเท่านั้น เนื่องจากมหาวิทยาลัยปิด ไม่ให้เข้าไปข้างใน

งานวันศิลป์ พีระศรี ปี 2559 นี้–จึงจัดให้มีขึ้นพร้อมกัน ทั้งที่ “วังท่าพระ” ซึ่งเป็นการร่วมมือกันของสมาคมศิษย์เก่าดังกล่าว โดย มหาวิทยาลัยไปจัดงานที่ “จังหวัดนครปฐม”

ศิษย์เก่า ศิษย์แก่ทั้งหลายเชิญไปพบกันที่เก่าเวลาเดิมๆ ที่ซึ่งอุดมไปด้วยบรรยากาศ และจิตวิญญาณ