จรัญ พงษ์จีน : “มติชน” ในก้าวย่างปีที่ 41

จรัญ พงษ์จีน

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เป็นปีวิกฤตของ “วงการสื่อ” โดยแท้ “สื่อกระดาษ” สะบักสะบอมหนัก เพื่อนร่วมอาชีพเดียวกัน ต้องกอดคอกันตกงานกันเป็นว่าเล่น “นิตยสาร” ไม่น้อยกว่า 20 เล่ม ประกาศหยุดกิจการปิดตัวเอง

ที่อยู่ก็ต้องพยุงตัวเอง หาทางลดต้นทุน ปลดพนักงาน ลดจำนวนหน้า ลดความถี่ในการพิมพ์ ประเภทสี่ซ้าห้ากรอบต่อวัน เหลือ 2-3 กรอบ สายส่ง-ม้าเร็ว ยกเลิก วิกฤตครบวงจร “ร้านจัดจำหน่าย” หายออกจากแผง

ที่อยู่ก็พากันโงหัวไม่ขึ้น ไหนเม็ดเงินโฆษณายังลดลง “เค้ก” มีก้อนเดียว แบ่งกันไม่พอ “ยุคไทยแลนด์ 4.0” มีทีวีอะนาล็อก-ดิจิตอล-วิทยุ-โรงภาพยนตร์-เหนือสิ่งอื่นใด คือการถูกคุกคาม แย่งพื้นที่โดย “สื่อออนไลน์” ซึ่งเวลานี้ถือว่าร้อนแรงที่สุด

ยุคทองคำของ “สื่อกระดาษ” อัสดง ล่าสุด นิตยสารชื่อดัง “คู่สร้างคู่สม” แชมป์ตลาดระดับล่าง เมื่อหลายปีก่อน ประกาศอำลายุทธจักร ขณะที่หนังสือพิมพ์รายวัน “บ้านเมือง” ที่ก่อตั้งมา 44 ปี ผู้บริหารตัดสินใจหยุดการผลิตไปตั้งแต่ต้นปี 2560 หันไปนำเสนอข่าวทางออนไลน์อย่างเดียว

ในวาระ “ก้าวสู่ปีที่ 41” หนังสือพิมพ์ “มติชน” เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2561 ยังคงอบอุ่นไปด้วยกัลยาณมิตรจากทุกวงการ ตัวแทนภาครัฐบาล ภาคเอกชน เดินทางมาร่วมแสดงความยินดีกันอย่างคึกคัก

“พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธานสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สละเวลาเดินทางมามอบดอกไม้แสดงความยินดีด้วยตัวเอง ขณะที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ มาเป็นตัวแทน

“พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว” ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หรือไม่เป็น เสมอต้นเสมอปลาย ตามด้วย “วีระศักดิ์ โควสุรัตน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ “วีระ โรจน์พจนรัตน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

“คนการเมือง” เนืองแน่นทุกพรรค เพื่อไทย นำทีมโดย “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” อดีตนายกฯ ตามด้วย “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์-ชัยเกษม นิติสิริ-พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล-พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์-จาตุรนต์ ฉายแสง-พงศ์เทพ เทพกาญจนา-วีระกานต์ มุสิกพงศ์-ชูศักดิ์ ศิรินิล-วัฒนา เมืองสุข-พิชัย นริพทะพันธุ์-ภูมิธรรม เวชยชัย-ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร”

“ประชาธิปัตย์” ก็มากหน้าหลายตา “องอาจ คล้ามไพบูลย์” มาก่อนใครเพื่อน “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” กลับถิ่นเก่าพร้อม “อภิชาต ศักดิเศรษฐ์” “ถาวร เสนเนียม” ยกทีมสงขลามากับ “วิรัตน์ กัลยาศิริ-เจือ ราชสีห์” และ “คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช” กับ “มัลลิกา บุญมีตระกูล”

“ภูมิใจไทย” นำทีมโดย “เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล-สรอรรถ กลิ่นประทุม-ศุภชัย ใจสมุทร” ขณะที่ “ชาติไทย” แม้จะขาดแม่ทัพใหญ่ “บรรหาร ศิลปอาชา” แต่ลูกๆ ทั้ง “กัญจนา-วราวุธ ศิลปอาชา” ทำหน้าที่แทนได้เยี่ยม คุมทีมมาก๊วนใหญ่ เช่น “เสมอกัน เที่ยงธรรม-วัชระ กรรณิการ์”

“พรรคพวก” ซะมากกว่า 3 อดีตรองนายกฯ มาทุกๆ วันที่ 9 มกราคม “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ-พินิจ จารุสมบัติ-ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย” และ “เทวัญ ลิปตพัลลภ-สุรวุฒิ เชิดชัย” พร้อมด้วยอดีตข้าราชการระดับปลัด อดีตปลัดกระทรวง อธิบดี-อดีตอธิบดี-ระนาบอธิบดีอีกจำนวนมาก กราบขออภัยที่เอ่ยนามได้ไม่หมด

 

“มติชน” ฉบับวันครบรอบ 40 ปี ประจำวันที่ 9 มกราคม 2561 พิเศษเหนือสิ่งอื่นใด คือบทสัมภาษณ์ “ขรรค์ชัย บุนปาน” ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) หัวเรือใหญ่ของชาวเรา เปิดใจด้วยมุมมอง “สื่อกระดาษ” ใกล้จะหายไป

นำมาจับกระแส ดูทิศทางของ “มติชน” และหนังสือพิมพ์ในเครือกับก้าวถัดไป ว่าจะรับมือกับสถานการณ์อันไม่จีรังอย่างไร บรรยายสรุปโดยสังเขป

“ธงใหญ่” เราทำสื่อ ต้องเป็นไปเพื่อคนส่วนใหญ่ อันนี้ไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยน แม้กระทั่งการปกครองทุกอย่าง ต้องเอาคนส่วนใหญ่เป็นตัวตั้ง อย่างอื่นรายละเอียดปลีกย่อยก็ค่อยๆ คิด ค่อยๆ แก้ สำคัญที่สุดคือ “ต้องคนส่วนใหญ่มาก่อน”

“มติชน” เป็นสื่อที่เพื่อนร่วมงานแทบจะไม่ต้องประชุมอะไรกันแบบที่คนอื่นเขาทำ คนที่มารวมตัวทำงานต่างมีความคิดเห็นที่เข้าใจกับความเป็นจริงตลอด มีความร่วมมือร่วมใจที่จะรู้ทันกับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจจะตามทันบ้าง ไม่ทันบ้างก็ได้…แต่ก็ยังโอเค

“คุณขรรค์ชัย” เชื่อว่า แม้โลกจะเปลี่ยนแปลงไปในระดับหนึ่ง แต่คนอ่านหนังสือก็น่าจะมีอยู่ เพราะว่าหนังสือมันจับต้องได้ มีจินตนาการในเนื้อหาสาระได้ “ดิจิตอล” ผ่านมาแล้วผ่านไป พื้นฐานทางความรู้ต้องกลับไปอ่านหนังสือ เพื่อจะได้รู้ว่าสิ่งที่ดีงามผ่านมาอย่างไร คำคม ความลึกซึ้ง อยู่ในตัวหนังสือ

กรณี “สื่อกระดาษหายไป” ถ้าจะเลิกก็ต้องเลิก โลกนี้พระอาทิตย์ยังดับได้เลย จะไปหวังอะไร แม่น้ำเปลี่ยนทางได้ อะไรก็มีความเปลี่ยนแปลงไปได้ ไม่ว่าทั้งบวกและลบ “ทุกสรรพสิ่งในโลกมันมีความเปลี่ยนแปลง” ….ความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ ไม่เปลี่ยนสิประหลาด เกิด เสื่อม ดับ ต้องอยู่กับมันให้ได้ ผจญกับมันให้ได้ เป็นเรื่องปกติ ถ้าเราไม่ปกติกับมัน มันก็จะปกติกับเรา

“ความอนิจจังไม่เที่ยง…เมื่อสภาพการณ์เศรษฐกิจของโลก ของสังคมบีบบังคับ ก็ต้องเป็นไปตามนั้น ทุกอย่าง ทั้งหมดเลย มีพัฒนาการของมันไปเรื่อยๆ ความเปลี่ยนแปลงเฉพาะสื่อ เราเห็นว่ามันจะมาจากหลายทางของโลกที่เปลี่ยนไป จากเศรษฐกิจของโลก จากเทคโนโลยี จากอะไรต่างๆ ในแง่สื่อ

“ครั้งนี้มันหมุนกลับ 360 องศา หรือหักกลางเลย จากจุดเริ่มต้น เจริญขึ้น แล้ววกกลับมาที่เก่า อาจจะต่ำกว่าเก่าก็ได้ ใครมีอาชีพนี้ต้องตกใจพอสมควร”