ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : สัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่ : วงศาคณาญาติของมังกร ตัวลวง พญานาค และอีกให้เพียบสปีชี่ส์

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ในวัฒนธรรมล้านนา และล้านช้าง มีคำเรียก “พญานาค” อีกอย่างหนึ่งว่า “ลวง” ซึ่งก็พออนุโลมเรียกได้ว่าหมายถึงงูใหญ่ตัวเดียวกัน แต่จะว่าไปแล้ว การที่พวกลาวทั้งสองกลุ่มนี้มีคำเรียกชื่อเจ้างูใหญ่ที่ว่าถึง 2 ชื่อ ก็มีที่มาที่ไป ซึ่งแตกต่างกันไปอยู่เหมือนกันนะครับ

“นาค” คืองูใหญ่ของ “อินเดีย” ที่พวกล้านนา-ล้านช้าง รับเอามาพร้อมกับคติในศาสนาพุทธ และพราหมณ์-ฮินดู พร้อมกับอะไรอื่นอีกหลายๆ อย่าง แล้วก็เรียกว่า “นาค” (โดยมักจะเพิ่มยศให้เป็น “พญา” นำหน้าอยู่บ่อยๆ) ทับศัพท์กันง่ายๆ ตามคำในภาษาบาลี-สันสกฤต

แต่นาคจากอินเดียนั้นเป็นงูจริงๆ ถึงจะมีอะไรพิเศษจากงูธรรมดา เช่น อาจจะมีหงอน หรืออิทธิฤทธิ์ต่างๆ แต่อย่างน้อยก็ไม่มี “ขา” แน่

อีกหนึ่งอารยธรรมใหญ่ของโลกอย่าง “จีน” ก็มีงูใหญ่ ซึ่งมีชื่อเรียกในสำเนียงจีนแมนดารินว่า “หลง” (หรือ “เล้ง” ในสำเนียงของพวกจีนแต้จิ๋ว) พวกลาวไม่ว่าจะเป็นล้านช้าง หรือล้านนาในสมัยก่อนใกล้ชิดกับจีน ก็เอา “หลง” มาจับใส่ไว้เป็นสัตว์ในปรัมปราคติของตัวเองด้วย แต่เรียกด้วยสำเนียงลาวว่า “ลวง”

แต่ว่า “หลง” หรืองูใหญ่ตามความเชื่อของจีนเขามี “ขา” ไม่เหมือนนาคของพวกแขก แถมอะไรที่ติดอยู่ตรงขางูใหญ่ของพวกเขานี่แหละที่เป็นอวัยวะสำคัญ เพราะใช้ลำดับยศ หรือความสำคัญจากจำนวน “เล็บ”

ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ เครื่องแต่งกายหรืออะไรก็แล้วแต่ ที่ประดับด้วยรูปมังกร 5 เล็บ อันเป็นลำดับชั้นสูงสุดของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า หลง ตามคติจีน จะเป็นสมบัติเฉพาะของพระจักรพรรดิจีนเท่านั้น

ดังนั้น ใครจะนำไปใช้ซี้ซั้วไม่ได้ (แต่ถ้าจะมีใครที่กล้าซี้ซั้วก็คงจะมีต้องหัวกุดกันบ้าง ไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่ง) ส่วนใครที่มีลำดับยศรองลงมาก็อาจจะใช้เสื้อผ้าลวดลายของหลง 4 เล็บ เป็นต้น

เอาเข้าจริงแล้ว ทั้ง “นาค” และ “ลวง” จึงไม่ใช่สัตว์ในปรัมปราคติชนิดเดียวกันเสียทีเดียว มาจากถิ่นที่อยู่ของคนละแหล่งอารยธรรมกันเลยอีกต่างหาก แต่ใครในยุคโน้นกันเล่าครับจะมัวมาสนใจ และทำการลำดับสปีชี่ส์ให้วุ่นวายนัก จะมีขา ไม่มีตีน อย่างไรก็เรียกรวมๆ สลับกันได้หมดไม่ว่าจะพญานาค หรือตัวลวง

 

แต่คนลุ่มน้ำเจ้าพระยาและปริมณฑล ที่อยู่ทางใต้ของล้านนา และล้านช้าง ไม่ได้คิดอย่างนั้น พวกเขารู้จักทั้งพญานาคจากอินเดีย พอๆ กับที่รู้ว่าเจ้าตัวหลงนั้นมาจากจีน จึงไม่เหมือนกับพญานาคเสียทีเดียว พวกเขาจึงพยายามเรียกสัตว์มหัศจรรย์ทั้งสองชนิดดังกล่าว ให้แตกต่างไปจากกัน ซึ่งก็ทำได้เกือบจะดีนะครับ แต่ก็กลับมีข้อผิดพลาดอยู่นั่นเอง เพราะว่าไปอธิบายโดยใช้ความรู้จากจักรวาลในปรัมปราคติของอินเดียไปเรียกเจ้าหลง ที่มาจากจีนมันเสียอย่างนั้น

ว่าแล้วบรรดาต้นตระกูลไทยสยามของเรา ก็ไปเอาสัตว์ผสมของอินเดียอีกชนิดหนึ่ง ที่ก็มีเกล็ดคล้ายๆ งูเหมือนกันมาคือ “มกร” (ในสำเนียงซาวด์แทร็กของชมพูทวีปออกเสียงว่า มะ-กะ-ระ) มาใช้เรียก “หลง” หรืองูใหญ่ตามจักรวาลในปรัมปราคติของจีน โดย (ทั้งๆ ที่เรียกทับศัพท์ว่า หลง ตามอย่างจีนไปเสียก็จบ) จนทำให้เกิดความสับสนตามมาอีกหลายเรื่องเลยทีเดียว

คำว่า “มกร” ในภาษาสันสกฤต แปลตรงตัวได้ว่า “ผู้สำรอก” ตามจักรวาลของสัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่จากอินเดีย จึงเป็นสัตว์ในปรัมปราคติที่มีลักษณะพิเศษอยู่ประการหนึ่งก็คือ จะอ้าปากจนขากรรไกรค้างอยู่เสมอ เพื่อจะคอยสำรอก “ความอุดมสมบูรณ์” ต่างๆ ออกมานั่นเอง

 

ตามระบบสัญลักษณ์โบราณโดยทั่วไปนั้น “ความอุดมสมบูรณ์” มักจะแสดงแทนด้วย อะไรๆ ที่เกี่ยวกับ “น้ำ” ดังนั้น ไอ้เจ้า “มกร” ที่จริงแล้วจึงมีรูปร่างหน้าตาไม่ต่างไปจากการเอาตัวอะไรที่อยู่ในน้ำมาโขลกๆ ให้ผสมเป็นตัวเดียวกัน จะเป็นจระเข้ ปลา งู พันธุ์ไม้น้ำ หรือแม้กระทั่งช้าง ก็ไม่ผิด

ที่จริงแล้วในจักรวาลของอินเดีย ช้างเป็นสัตว์ที่ให้ “น้ำ” หรือ “ความอุดมสมบูรณ์” มาก่อนงูใหญ่เสียอีกนะครับ

ในคัมภีร์ที่เก่าที่สุดของพวกพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งก็เป็นคัมภีร์ของศาสนาบรรพบุรุษของพราหมณ์-ฮินดู ด้วยคือ คัมภีร์ฤคเวท อันเป็นคัมภีร์เล่มแรก และเก่าที่สุดในชุดคัมภีร์พระเวททั้ง 4 เล่ม ที่แต่งขึ้นเมื่อ 3,500 ปีที่แล้ว คำว่า “นาค” หมายถึง “ช้าง” เสมอ ส่วน “งูใหญ่” นั้น ฤคเวทจะเรียกว่า “อหิ” มาก่อน โดยปราชญ์ทางด้านภาษาสันสกฤตโบราณอธิบายว่า คนที่แต่งคัมภีร์พวกนี้เปรียบเทียบสีของ “ช้าง” ว่าเหมือนกับสีของ “เมฆ” ที่ตั้งเค้าฝน

คำว่า “นาค” เพิ่งจะหมายถึง “งูใหญ่” อย่างที่เราเข้าใจกันก็ได้ด้วยในคัมภีร์อื่นในชุดคัมภีร์พระเวท ซึ่งแต่งขึ้นทีหลังไม่ว่าจะเป็น ยชุรเวท สามเวท หรืออาถรรพเวท ในปัจจุบันเรายังใช้คำว่า นาค ในความหมายที่หมายถึงได้ทั้งที่แปลว่า งูใหญ่ และช้างนั่นเอง

ดังนั้น ถ้าคนโบราณ โดยเฉพาะในอินเดีย ท่านจะทำรูปเจ้าสัตว์ผสมที่เรียกว่า “มกร” ให้มีหัวเป็นช้างอยู่บ่อยๆ ก็ไม่แปลกหรอกนะครับ เพราะก็เป็นสัตว์ที่ให้น้ำหรือความอุดมสมบูรณ์เหมือนกัน แต่การที่เจ้ามกรนั้นก็คือ การนำเอาตัวอะไรก็ได้ ที่เกี่ยวข้องอยู่กับน้ำ มามิกซ์แอนด์แมตซ์กันอย่างนี้ ก็ทำให้ภายหลังหน้าตาของมกร มักมีปากยื่นออกมาอย่างเดียวกับจระเข้ และก็มีขาน้อยๆ โผล่ออกมา จนดูคลับคล้ายกับตัวหลงด้วย

คนลุ่มน้ำเจ้าพระยาก็เลยพากันเรียก “หลง” ของจีน ด้วยอารมณ์ราวกับพลัดหลงเข้าไปในจักรวาลของสัตว์มหัศจรรย์ และถิ่นที่อยู่แบบอินเดียมันเสียอย่างนั้น แถมยังเรียกด้วยสำเนียงไทยๆ ว่า “มังกร” ไม่ใช่ “มะ-กะ-ระ” อย่างสำเนียงซาวด์แทร็ก ให้ยิ่งหลงทางหนักกันเข้าไปใหญ่

 

แต่ก็ไม่ใช่ว่า ไทยสยามที่มีศูนย์กลางอยู่แถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา หรือจะกล่าวให้เฉพาะเจาะจงไปกว่านั้น ก็คือ “อยุธยา” นี่แหละ จะสับสนกับเจ้าสัตว์ที่ไม่มีอยู่จริงพวกนี้ แล้วจับยัดมันเข้าไปอย่างนั้นเฉยๆ แต่มีหลักฐานที่แสดงถึงความพยายามลำดับความสัมพันธ์ของพวกมันด้วย

ในบทมโหรีสมัยอยุธยา มีเพลงที่ชื่อ “เหรา” (อ่านว่า เห-รา และนี่ก็คือสัตว์มหัศจรรย์ ที่มีถิ่นที่อยู่ค่อนข้างคลุมเครือว่ามาจากจักรวาลอินเดีย หรือเป็นสปีชี่ส์ใหม่ที่พี่ไทยจับทำ GMO ขึ้นแถวๆ แม่น้ำเจ้าพระยา) ซึ่งมีเนื้อร้องลำดับแสดงถึงความเกี่ยวข้องของสัตว์ในปรัมปราคติ จากคนละอารยธรรมกันเลยเหล่านี้ว่า

“เจ้าเหราเอย รักแก้วข้าเอยเหรา บิดานั้นนาคา มารดานั้นเปนมังกร มีตีนทั้งสี่ หน้ามีทั้งครีบทั้งหงอน เปนทั้งนาคทั้งมังกร เรียกชื่อว่าเหราเอย”

ว่ากันว่า ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล (ล่วงลับ) ผู้บุตรคนสุดท้องของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็เรียก มกร โดยใช้คำว่า เหรา สลับไขว้แทนกันอยู่หลายครั้ง

ม.จ.สุภัทรดิศ หรือที่ใครหลายคนมักจะเรียกกันว่า “ท่านสุภัทรฯ” นั้นแทบจะนับได้ว่าเป็น “บิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะไทย” สำหรับใครหลายคนเลยนะครับ และวิชาที่ว่านี่ก็ต้องศึกษาถึงรายละเอียดของลวดลายต่างๆ ซึ่งต้องจำแนกอย่างละเอียดลออว่า นี่มกร โน่นนาค ไอ้นั่นมังกร เพื่อสืบสาวถึงอิทธิพลต่างๆ ที่โผล่เข้ามาในชิ้นงานศิลปะอยู่เสมอ แต่ในขณะเดียวก็ท่านก็มีเชื้อ มีสายตระกูล จนนับได้ว่าเป็น “เจ้า” ที่มักจะมีชุดความรู้แบบโบราณสืบเนื่องต่อมาอีกด้วย

ดังนั้น การที่ท่านสุภัทรฯ เรียกตัวเหรา สลับกับมกร อยู่เนืองๆ ก็แสดงให้เห็นถึงร่องรอยเชื่อมต่อระหว่าง “มกร” กับ “หลง” ด้วยสิ่งมีชีวิตในปรัมปราคติอีกตัวหนึ่งที่ชื่อว่า “เหรา” อีกด้วย

 

แต่ก็ไม่ได้มีเฉพาะพี่ไทยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาหรอกนะครับ ที่ดูจะมึนๆ งงๆ กับเจ้าพวกสัตว์ที่ไม่มีอยู่จริงเหล่านี้ ในอารยธรรมของพี่เบิ้มอย่าง “จีน” เอง ก็มีความพยายามในการลำดับเครือญาติของสัตว์จำพวกที่พวกเขาเรียกกันว่า “หลง” มาก่อนอยุธยาเสียอีก

ตำรับตำราเก่าแก่ทั้งหลายที่ว่าด้วยเรื่องของมังกร หรือตัวหลงของจีน บางเล่มซึ่งว่ากันว่าเก่าแก่ไปถึงสมัยราชวงศ์หมิง ก็อ้างว่า มีมังกรตัวหนึ่ง ที่มีลูกเป็นมังกร 9 ชนิด (ชนิดหนึ่งที่รู้จักกันก็คือ ปี่เซียะ ที่มองอย่างไรก็ไม่ค่อยเหมือนมังกรจีนโดยมาตรฐานทั่วไป แต่นิยมชมเชื่อกันว่า สามารถดูดทรัพย์สินเข้ามาแก่เจ้าของได้ จนเป็นที่ติดใจชนชั้นกลาง โดยเฉพาะเชื้อสายจีนบ้านเรากันอยู่พักใหญ่)

ซึ่งก็เป็นความพยายามจำแนกประเภทของสัตว์ในจินตนิยายพวกนี้ ให้เป็นหมวดหมู่ของชาวจีนในยุคสมัยหนึ่งนั่นแหละ

 

ฝรั่งเองก็ไม่ได้ดีไปกว่ากันเท่าไหร่นัก ในพงศาวดารอยุธยาฉบับวันวลิต ซึ่งบันทึกและเรียบเรียงขึ้นโดย เยเรเมียส ฟาน ฟลีต (แต่พี่ไทยออกเสียง “ฟาน ฟลีต” ว่า “วันวลิต” พอๆ กันกับที่ลาวออกเสียง “หลง” ว่า “ลวง”) ชาวฮอลันดาที่เข้ามาในอยุธยาสมัยพระเจ้าปราสาททอง เมื่อก่อน พ.ศ.2200 ก็ได้พูดถึงตำนานเรื่อง “พระเจ้าอู่ทองปราบมังกร” แล้วสถาปนากรุงศรีอยุธยาเอาไว้ด้วย

แน่นอนว่า ผมใช้คำว่า “มังกร” ตามคำพากย์ฉบับที่แปลมาเป็นภาษาไทย อีกทอดหนึ่งแล้ว ในต้นฉบับของวันวลิต ซึ่งเขียนขึ้นด้วยภาษาดัตช์ บันทึกความตอนนี้ไว้ว่า คืออะไรที่ฝรั่งเรียกกันในภาษาอังกฤษว่า “dragon” ที่เอาเข้าจริงแล้วก็ดูเหมือนกิ้งก่ามีปีก ที่บิน แถมยังพ่นไฟได้มากกว่าที่จะเป็นงูใหญ่ อย่างพญานาค หรือมังกรในจินตนาการของคนอยุธยาที่เล่าให้วันวลิตฟังนะครับ (แน่นอนว่า ชาวอยุธยาคนนั้นต้องไม่เคยดูซีรี่ส์ยอดนิยมอย่าง Game of Thrones แน่)

ในแง่หนึ่ง ความเข้าใจผิด และจำนวนสปีชี่ส์ที่เพิ่มขึ้นของสัตว์มหัศจรรย์ และเรื่องเล่าเกี่ยวกับถิ่นที่อยู่ หรือลำดับวงศาคณาญาติของพวกมันอย่างนี้ จึงสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมของสังคมที่เข้าใจผิด และลำดับความสัมพันธ์ของพวกมันด้วย

เพราะพวกเขาต่างก็พยายามที่จะเข้าใจสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีอยู่จริงเหล่านี้ ผ่านประสบการณ์ และชุดความรู้ที่มีสั่งสมอยู่ในสังคมและวัฒนธรรมของตนเองนั่นเอง