ภาพยนตร์ นพมาส แววหงส์ / LOVING VINCENT “บิดาแห่งโมเดิร์นอาร์ต”

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์

LOVING VINCENT “บิดาแห่งโมเดิร์นอาร์ต”

กำกับการแสดง Dorota Kobiela และ Hugh Welchman

นำแสดง Douglas Booth, Jerome Flynn, Saoirse Ronan, Robert Gulaczyk

Loving Vincent นับเป็นประสบการณ์ทางภาพยนตร์ที่แปลกตาน่าชมไม่เหมือนประสบการณ์ครั้งไหนก่อนหน้านี้ สมกับราคาคุย ที่อ้างว่าเป็นหนังแอนิเมชั่นเรื่องแรกของโลกที่สร้างจากภาพเขียนสีน้ำมันล้วนๆ ทั้งเรื่อง

เรื่องราวของ ฟินเซนต์ ฟาน ก็อก (สะกดแบบราชบัณฑิตยสถานที่กำหนดให้อ่านตามเสียงภาษาดั้งเดิมต้นทาง หรือที่หลายคนอาจคุ้นหูมากกว่าในชื่อ วินเซนต์ แวนโก๊ะ) เล่าขานกันจนแทบเจนใจนักศึกษาและผู้สนใจด้านศิลปะทุกคน

นั่นคือ ฟาน ก็อก เป็นศิลปินชาวดัตช์ที่ใช้ชีวิตอย่างยากจนและลำเค็ญ และเสียชีวิตจากบาดแผลกระสุนที่เขายิงตัวเองในทุ่งข้าวสาลี ผู้เขียนยังเคยไปเยี่ยมหลุมศพของเขาในสุสานที่เมืองโอแวร์ในฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสถานที่ที่เขาใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายอยู่ในโรงแรมเล็กๆ แบบที่เรียกได้ว่าโรงเตี๊ยม

ฟาน ก็อก สร้างผลงานไว้มากมายนับร้อยนับพันชิ้น ซึ่งกลายเป็นงานศิลปะราคาสูงลิ่วของนักสะสม ทั้งๆ ที่ในช่วงชีวิตแสนสั้น 37 ปีของเขา เขาขายภาพเขียนได้เพียงแค่ภาพเดียว

ภาพเขียนฝีมือ ฟาน ก็อก ที่คุ้นตา ก็อย่างเช่น ภาพแจกันดอกทานตะวัน ภาพดอกไอริส ภาพเหมือนตัวเอง ภาพราตรีประดับดาว (Starry Night) ภาพทุ่งข้าวสาลี ภาพสวนผลไม้ และภาพคนกินมันฝรั่ง (Potato Eaters) ฯลฯ

หลังจากที่เขาเสียชีวิตไป เขาได้รับยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งโมเดิร์นอาร์ต” ที่มีผลงานอยู่ในคอลเลกชั่นของพิพิธภัณฑ์สำคัญๆ ทั่วโลก รวมทั้งมีพิพิธภัณฑ์ในชื่อตัวเองในกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศบ้านเกิดของเขา

สไตล์ทางศิลปะของเขาได้รับขนานนามว่าแนว “โพสต์-อิมเพรชชั่นนิสม์”

Loving Vincent เป็นหนังที่สร้างด้วยความเพียรจากความรักและชื่นชมอย่างสูงในศิลปะของ ฟาน ก็อก และเป็นหนังที่เรียกว่า “สไตล์เหนือเนื้อหา” เนื่องจากสร้างพล็อตหลวมๆ จากเรื่องราวช่วงชีวิตบั้นปลายของ ฟาน ก็อก ในเมืองโอแวร์

ฟาน ก็อก ยังคงเขียนจดหมายติดต่อกับน้องชายชื่อธีโอ ที่ส่งเงินให้เขาใช้จ่ายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อซื้อหาอุปกรณ์การเขียนภาพ ทั้งสี ผ้าใบและเฟรม ให้ ฟาน ก็อก ได้วาดภาพต่างๆ ที่พบเห็นทั้งวิวทิวทัศน์ ห้องหับ ถนนหนทาง และผู้คน เหมือนจะเป็นหนทางปลดปล่อยความว้าเหว่ทนทุกข์ทรมานในตัวเองอย่างไม่หยุดไม่หย่อน

กว่าที่ ฟาน ก็อก จะค้นพบพรสวรรค์ด้านศิลปะของตัวเอง ก็เมื่อเติบใหญ่แล้ว ก่อนหน้านั้นเขายังค้นหาหนทางไม่เจออยู่นาน ทำงานทุกอย่างที่ขวางหน้า แต่ไม่เคยได้ดี นอกจากนั้น เขายังโหยหาความอบอุ่นของครอบครัวมาตลอดชีวิต

ชื่อหนังตีความได้สองทางอย่างเหมาะเจาะลงตัวกับหนังเรื่องนี้ โดยหมายถึงความรักในตัววินเซนต์ก็ได้ หรือหมายถึงวลีท้ายจดหมายที่ ฟาน ก็อก เขียนถึงธีโออย่างสม่ำเสมอ ที่ลงท้ายว่า “Your loving Vincent”

หนังเปิดเรื่องหลังจาก ฟาน ก็อก เสียชีวิตไปแล้ว และใช้แฟลชแบ็กเป็นช่วงๆ เพื่อเล่าเรื่องราวชีวิตของศิลปินผู้นี้ หนึ่งปีหลังจากความตายของ ฟาน ก็อก นายไปรษณีย์ที่เคยส่งจดหมายให้ ยังมีจดหมายตกค้างที่ส่งไม่ถึงมือผู้รับอยู่หนึ่งฉบับ และมอบหมายให้ลูกชายจอมเกเรของเขา อาร์มองด์ รูแลง (ภาพแอนิเมชั่นใช้นักแสดงคือ ดักลาส บูธ เป็นแบบ) เดินทางไปส่งจดหมายฉบับสุดท้ายของ ฟาน ก็อก ให้แก่ธีโอน้องชาย

ด้วยความไม่เต็มใจในทีแรก อาร์มองด์เริ่มสนใจกับสิ่งที่เกิดแก่ ฟาน ก็อก (โรเบิร์ต กูลักซิก) ในวันเวลาสุดท้ายของชีวิตเขา ปรากฏว่าเมื่ออาร์มองด์ไปตามหา ธีโอได้เสียชีวิตไปแล้วหลังจาก ฟาน ก็อก ตายไปหกเดือน อาร์มองด์จึงพากเพียรสืบค้นต่อไป

เรื่องราวจากปากคำผู้คนที่รู้จัก ฟาน ก็อก ขัดแย้งกันจนทำให้อาร์มองด์นึกกังขา จนเดินทางไปถึงเมืองอาร์เลส ซึ่งเป็นสถานที่ที่ ฟาน ก็อก เชิญศิลปินชื่อดังอีกคนมาพำนักและทำงานด้วยกัน ศิลปินคนนั้นคือ พอล โกแกง

ซึ่งต่อมาจะเกิดเรื่องเกิดราวผิดใจกันถึงขั้นที่ ฟาน ก็อก กระทำสิ่งที่คนรุ่นหลังจดจำเขาได้อย่างแม่นยำ นั่นคือ ตัดหูตัวเองข้างหนึ่ง และยังมีพยานหลักฐานในเรื่องนี้หลายชิ้น โดยเฉพาะจากภาพเหมือนตัวเองที่ ฟาน ก็อก วาดไว้มากกว่าหนึ่งภาพ โดยมีผ้าพันศีรษะปิดหูไว้

จากนั้น ฟาน ก็อก ก็เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลประสาท จนกระทั่งได้รับการปล่อยตัวมาด้วยเหตุผลว่าเขาหายดีเป็นปรกติแล้ว

ฟาน ก็อก มาพำนักอยู่ที่เมืองเล็กๆ ชื่อโอแวร์ส-ซูร์-อัวเซ่ หรือโอแวร์สริมแม่น้ำอัวเซ่ ใกล้าบ้านหมอชื่อ ดร.กาเช่ (เจโรม ฟลินน์) ที่มีลูกสาวชื่อ มาร์เกอริต (ซัวช่า โรนัน) ทุกคนเป็นแบบในภาพเขียนของ ฟาน ก็อก ทั้งนั้น ไม่เว้นแม้แต่เจ้าของโรงแรมที่เขาพักอาศัย หรือเจ้าของร้านขายอุปกรณ์วาดรูป

เรื่องราวที่เล่าขัดแย้งกัน จนรูแลงไม่อยากเชื่อว่า ฟาน ก็อก พยายามฆ่าตัวตาย ตามที่เขาบอกคนอื่น ฟาน ก็อก ออกไปวาดภาพที่ทุ่งข้าวสาลี และโซเซกลับมาที่บ้านพักพร้อมบาดแผลถูกยิงที่ท้อง และ ดร.กาเช่มาดูบาดแผลให้ แต่เนื่องจากไม่ใช่หมอผ่าตัด กระสุนจึงถูกทิ้งไว้ในตัวคนไข้ และ ฟาน ก็อก เสียชีวิตในอีกสามวันถัดมาเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ.1890

ไม่เคยมีการพบปืนต้นเหตุ และไม่รู้ว่า ฟาน ก็อก ได้ปืนมาจากไหนอย่างไร รวมทั้งความพยายามฆ่าตัวตายด้วยการยิงเข้าท้อง ก็เป็นสิ่งที่คนเขาไม่ทำกัน

อะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น แต่ก็ไม่มีอะไรที่พิสูจน์ได้ โดยเฉพาะเมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า หลักฐานและเงื่อนงำต่างๆ ก็พลอยสูญหายไปด้วย

โลกจึงบันทึกไว้ว่า ฟินเซนต์ ฟาน ก็อก วิกลจริตและฆ่าตัวตาย โดยไม่สามารถหาคำอธิบายอื่นที่สมเหตุสมผลไปกว่านี้

ภาพเขียนสุดท้ายในช่วงเดือนสุดท้ายในชีวิตเขา-ซึ่งอาจไม่ใช่ภาพเขียนสุดท้ายจริงๆ เพราะยังมีภาพที่เชื่อว่าวาดหลังจากนั้น-เป็นรูป “ทุ่งข้าวสาลีพร้อมฝูงอีกา” (Wheatfield with Crows) เป็นภาพถนนที่เหมือนจะเป็นทางสามแพร่งให้เลือกเดินท่ามกลางทุ่งข้าวสาลี มีฝูงอีกากว่าสิบตัวบินโฉบลงมา ภาพนี้กลายเป็นภาพที่ถูกตีความว่าสะท้อนสภาพจิตใจของฟาน ก็อกในช่วงสุดท้ายของชีวิตเขาได้ดีที่สุด

หนังลงจบอย่างเหมาะเจาะด้วยเพลง Vincent (Starry, Starry Night) ที่โด่งดัง ของ Don Mclean พร้อมด้วยเครดิตท้ายเรื่อง นั่งฟังให้จบนะคะ จะได้อารมณ์มากถึงมากที่สุด

Starry starry night

Paint your palette blue and gray

Look out on a summer”s day

With eyes that know the darkness in my soul…