หนุ่มเมืองจันท์ : ปรากฏการณ์ “ตูน”

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันที่ “ตูน” และทีมงานเดินทางมาที่ “แม่สาย” ก่อนจะเริ่มโครงการก้าวคนละก้าว

ทุกคนขึ้นไปถ่ายรูปกับป้าย “เหนือสุดยอดแดนสยาม”

จุดหมายปลายทางของโครงการนี้

แต่มีคนเดียวที่ไม่ยอมขึ้นไป

คือ “ตูน บอดี้สแลม”

เขาบอกสั้นๆ

“ผมจะวิ่งมา…”

ผมเชื่อว่าคงมี “เรื่องเล่า” ดีๆ มากมายที่สร้าง “แรงบันดาลใจ” ให้กับผู้คนหลังโครงการก้าวคนละก้าวจบลง

ตอนที่ “ตูน” เริ่มวิ่ง เขาคงไม่คิดว่าสิ่งที่เขาทำจะส่งผลสะเทือนต่อสังคมไทยมากมายขนาดนี้

ต้องขอบคุณโรงพยาบาลบางสะพานที่เป็น “จุดเริ่มต้น” ของ “ก้าวเล็กๆ” ที่กลายเป็น “ก้าวที่ยิ่งใหญ่” ในวันนี้

ช่วงเวลานั้น “ตูน” ค่อนข้างสับสนทางความคิด

การเล่นดนตรีซึ่งเป็นสิ่งเขารัก กลายเป็น “งานประจำ” ที่เป็นวงจรแบบเดิมๆ

ทำอัลบั้ม ออกคอนเสิร์ต เล่นตามสถานบันเทิงต่างๆ

แล้วก็วนกลับมาตั้งต้นที่เดิมอีกครั้ง

“ตูน” เริ่มไม่มีความสุขในการเล่นดนตรีเหมือนเดิม

จนวันหนึ่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางสะพานติดต่อ “ตูน” ไปร่วมวิ่งการกุศลเพื่อระดมทุนซื้ออุปกรณ์การแพทย์

และเรื่องราวก็ดำเนินไปอย่างที่เรารู้กัน

“ตูน” ไปโรงพยาบาล เห็นความขาดแคลน เห็นปัญหา แล้วอยากช่วยมากกว่านั้น

กลายเป็นโครงการวิ่ง 400 กิโลเมตรจาก กทม. ไปบางสะพาน

ระดมทุนได้ 85 ล้านบาท

เป้าหมายของ “ตูน” ตอนนั้นอาจอยู่ที่การระดมทุนและการบอกเล่าปัญหาให้กับสังคมไทยได้ตระหนัก

แต่ใครจะไปนึกว่าการ “ให้” ของ “ตูน” ครั้งนั้น

เขา “ได้” มากกว่า

พลังใจจากชาวบ้านตลอดเส้นทางที่เขาวิ่ง คือ “ความสุข” ที่ “ตูน” ไม่เคยได้รับมาก่อน

เขาได้รู้แล้วว่า “ความสุข” ของชีวิตไม่ได้มีแค่ “เสียงเพลง”

ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่สุขยิ่งกว่า

นั่นคือ “การให้”

การทำอะไรเพื่อผู้อื่น

“ตูน” บอกว่าหลังจากวันนั้นเขาเล่นดนตรีอย่างมีความสุขมาก

เพราะเขารู้แล้วว่าชีวิตไม่ได้มีวงจรเดียว

ยังมีทางเลือกใหม่อีกทางหนึ่ง

ถ้าอัลบั้ม “ดัมมะชาติ” ของ “บอดี้สแลม” ในวันก่อน คือภาพสะท้อนของ “ตูน” ในวันที่สับสนทางความคิด

อัลบั้มใหม่ที่เขากำลังทำอยู่ตอนนี้

จะบอกได้ว่า “ตูน” มีความสุขเพียงใด

ในเชิงการบริหาร ผมเชื่อว่าการได้เริ่มโครงการแรก 400 กิโลเมตร ทำให้ “ตูน” และทีมงานเห็นปัญหามากมาย

ไม่แปลกที่โครงการก้าวคนละก้าว 2,191 กิโลเมตรครั้งนี้

การจัดการทั้งระบบจึงดีมาก

ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทอดสด หรือการเปิดช่องทางการระดมทุนทุกรูปแบบที่ง่ายต่อการเข้าถึง

ตอนที่ “ตูน” บอกว่าจะใช้เวลาการวิ่งถึง 55 วัน

นอกเหนือจากความเป็นห่วงว่าร่างกายของเขาจะไหวหรือไม่

ในฐานะนักข่าวเก่า ผมห่วงมากกว่ากระแสข่าวของโครงการนี้จะลากยาวไหวไหม

วันแรกๆ กระแสคงแรง แต่ยิ่งนานวันกลัวกราฟจะ “ตกท้องช้าง”

เพราะทุกวันคือการวิ่งไปเรื่อยๆ

มีโอกาสที่คนจะเบื่อสูงมาก

ถ้าคนติดตามน้อยลง โอกาสที่ยอดบริจาคก็จะไม่ได้ตามเป้า

แต่ผมคาดการณ์ผิดจริงๆ ครับ

การวิ่งเหมือนเดิม แต่การต้อนรับของชาวบ้านทุกจังหวัดเปลี่ยนไปทุกวัน

มีภาพประทับใจเกิดขึ้นมากมาย

ยิ่งดูยิ่งมีความสุข

ไม่ว่าจะเป็นภาพเด็กวิ่งตาม “พี่ตูน” อย่างมีความสุข

เด็กน้อยถือป้าย “พี่อูนสู้ๆ”

คนแก่ที่นอนรอ “ตูน” อยู่ในบ้าน

ชาวบ้านที่เอาของต่างๆ ให้ทีมงาน

และอื่นๆ อีกมากมาย

55 วันของการวิ่ง กระแสเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ไม่มีตกลงเลย

ในบรรดา “แรงกระเพื่อม” ที่เกิดขึ้นจากการวิ่งครั้งนี้

เรื่องที่ผมชอบที่สุด คือ การที่ “ตูน” ได้สร้างภาพใหม่ของ “ไอดอล” ในใจคนมากมาย

โดยเฉพาะ “เด็กรุ่นใหม่”

“ไอดอล” ในอดีตมักเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในทางใดทางหนึ่ง

เป็นนักธุรกิจ

เป็นศิลปิน

เป็นนักกีฬา

ฟันฝ่าชีวิตมาอย่างลำบากก่อนที่จะประสบความสำเร็จ

น่าชื่นชม และน่าเลียนแบบ

จนถึงวันนี้ “ไอดอล” เริ่มเกลื่อน “เน็ต”

คนที่ได้ชื่อว่า “เน็ตไอดอล” คือคนที่มีคนติดตามจำนวนมากทางโซเชียลมีเดีย

ใครสามารถสร้าง “สีสัน” ไม่ว่าทางใดก็สามารถเป็น “เน็ตไอดอล” ได้

ท่ามกลางกระแส “เน็ตไอดอล” ที่น่ากลัวเช่นนี้

“ตูน” ได้สร้างภาพใหม่ของ “ไอดอล” โดยที่เขาไม่ได้ตั้งใจ

ผมเชื่อว่ามีเด็กจำนวนมากเคยชื่นชม “ตูน” ในฐานะศิลปิน

ชื่นชมเพลง

ชื่นชมความเท่

ชื่นชมนิสัยใจคอที่อ่อนน้อมถ่อมตน

แต่วันนี้เขากำลังชื่นชม “ตูน” ในอีกภาพหนึ่ง

ภาพของคนคนหนึ่งที่ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง

แต่ทำเพื่อคนอื่น

เขาได้รู้แล้วว่ามี “ไอดอล” อีกแบบหนึ่งในโลกนี้ที่ดีงาม

และน่าทำตาม

“ตูน” ได้ฝัง “เมล็ดพันธุ์” ของ “การให้” ลงในจิตใจ “เด็กรุ่นใหม่” จำนวนมาก

ขอบคุณมากครับ…ตูน

ยิ่งใกล้ปลายทางที่ “แม่สาย” คนไทยยิ่งลุ้นว่า “ตูน” จะไปถึงหรือไม่

เป้าการบริจาค 700 ล้านทะลุไปนานแล้ว

แต่ทุกคนห่วงร่างกายของ “ตูน”

จนเมื่อถึง “แม่สาย”

ณ ป้าย “เหนือสุดยอดแดนสยาม”

“ตูน” ขึ้นไปถ่ายรูปเหมือนทีมงานในวันนั้น

จะแตกต่างกันที่เขาไม่ได้นั่งรถมา

ครับ…เขาวิ่งมา