เพ็ญสุภา สุขคตะ : “ล้านนาศึกษา” ใน “ไทศึกษา” ครั้งที่ 13 (12) 500 ปี โคลงนิราศหริภุญไชย : คุณค่าและความทรงจำ (1)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ศาสตราจารย์อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว ภาคีสมาชิก สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ราชบัณฑิตยสภา เป็นวิทยากรนำเสนอเรื่อง “500 ปี โคลงนิราศหริภุญไชย : คุณค่าและความทรงจำ” ร่วมกับลูกศิษย์ เมธี ใจศรี หัวหน้าสำนักปลัดเทศบาลตำบลแม่ท่าช้าง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่

โดยตั้งใจมอบเป็นของขวัญแด่ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ในวาระที่ท่านมีอายุครบ 99 ปี (21 มีนาคม 2560) เนื่องจากอาจารย์อรุณรัตน์เห็นว่า ศ.ดร.ประเสริฐมีความรักความผูกพันต่อโคลงนิราศหริภุญไชยชิ้นนี้เป็นอย่างมาก

ศ.ดร.ประเสริฐเป็นบุคคลแรกที่ไปได้ต้นฉบับโคลงชิ้นนี้มาจากมหาหมื่น วัดหอธรรม เชียงใหม่ ซึ่งคัดลอกโคลงไว้เมื่อ พ.ศ.2381 ศ.ดร.ประเสริฐเริ่มลงมือปริวรรตอักษรธัมม์ล้านนาเป็นภาษาไทยกลาง พร้อมทั้งทำคำอธิบายไว้อย่างละเอียดตั้งแต่ปี 2487 มีการใช้สำนวนที่เก็บตามวัดฉบับอื่นๆ มาสอบทานอีกจำนวน 6-7 ฉบับ กระทั่งนำตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี 2503

ปัญหาคือผ่านมาแล้วเกือบ 60 ปี จน ศ.ดร.ประเสริฐจะมีอายุครบ 100 ปีในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ปรัศนีข้อที่ว่า ใครเป็นผู้แต่งโคลงนิราศหริภุญไชยก็ยังไม่ได้รับการคลี่คลายแต่อย่างใด

โคลงนิราศเรื่องนี้พรรณนาถึงการเดินทางจากเชียงใหม่ไปลำพูน ระยะทางแค่ 30 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 3 คืน 3 วัน ผู้แต่งเฝ้ารำพึงรำพันตลอดเส้นทาง ถึง “ศรีทิพ” ผู้เป็นที่รัก นางผู้นี้เป็นใคร และผู้รจนาโคลงนิราศหริภุญไชยคือใครกันแน่ …เป็นคำถามที่ไร้ตอบ

ด้วยเหตุนี้อาจารย์อรุณรัตน์จึงได้ตั้งปณิธานว่า จักต้องทำการสืบค้นเรื่องปมปริศนานี้ให้จงได้ ด้วยมุมมองของนักประวัติศาสตร์ จึงขอนำเสนอข้อมูลใหม่ ณ เวทีไทศึกษาครั้งที่ 13 ไว้พอเป็นหลักฐานเท่าที่สืบค้นมาได้ เพื่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถกเถียงกัน จนแตกหน่อออกกอทางปัญญาต่อไป

 

ถอดรหัสศักราชจากพระแก้วมรกต

โคลงนิราศหริภุญไชย นอกจากจะไม่บอกชื่อผู้แต่ง (ไม่ทราบแม้แต่นามแฝง) แล้ว ในด้านระยะเวลาที่แต่ง ก็ไม่ระบุปีศักราชตรงๆ อีกด้วย บอกเพียงอ้อมๆ แค่ว่า แต่งในปี “เมิงเป้า ศกที่สี่”

ปีเมิงเป้าตรงกับปีฉลู (วัว) ศกที่สี่ หมายถึง นพศก เป็นการนับรอบนักษัตรอย่างจีน ซึ่งในหนึ่งรอบจะมีความแตกต่างกันทุกๆ 60 ปี ความเป็นไปได้จึงมีตั้งแต่ พ.ศ.2000, 2060 หรือ 2120?

เดิมเคยเชื่อกันว่าแต่งในปี พ.ศ.2000 ซึ่งตรงกับสมัยของพระเจ้าติโลกราช เนื่องจากเป็นยุคทองในหลายๆ ด้าน แต่ต่อมาเริ่มเปลี่ยนแนวคิดใหม่ว่าควรเป็นปี พ.ศ.2060 มากกว่า เพราะปรากฏตามโคลงบทที่ 16 ว่า พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ที่วัดเจดีย์หลวงเชียงใหม่

หากเป็นปี พ.ศ.2000 พระแก้วมรกตยังคงประดิษฐานอยู่ที่ลำปาง ส่วนปี พ.ศ.2120 พระแก้วมรกตก็ถูกพระไชยเชษฐานำไปไว้ที่หลวงพระบางแล้ว (ตั้งแต่ปี พ.ศ.2098)

ในขณะที่พระเจ้าติโลกราชอัญเชิญพระแก้วมรกตมาจากเมืองลำปาง ประดิษฐานที่วัดเจดีย์หลวง พ.ศ.2024

จากหลักฐานส่วนนี้ ทำให้นักวิชาการมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า โคลงนิราศหริภุญไชย ที่ว่าแต่งในปีฉลูนพศกหรือปีเมิงเป้านี้ มีทางเป็นไปได้เพียงปีเดียวเท่านั้นคือ พ.ศ.2060 ตรงกับรัชสมัยของพระเมืองแก้ว (พ.ศ.2038-2068) กษัตริย์เชียงใหม่ลำดับที่ 11 แห่งราชวงศ์มังราย

อันเป็นที่มาของการร่วมรำลึกวาระสำคัญครบรอบ “500 ปีแห่งโคลงหริภุญไชย”

 

ลักษณะโคลง

โคลงนิราศหริภุญไชย เป็นโคลงโบราณล้านนา (กะโลง) แบบโคลงสี่สุภาพ หรือ โคลงลาว ความยาวจำนวน 180 บท มีทั้งฉบับที่จารลงในใบลาน กับฉบับที่เป็นบันทึกลงในพับสา ด้วยอักษรไทนิเทศ (ฝักขาม) และอักษรธัมม์ล้านนา (ตัวเมือง) ต้นฉบับมีหลายสำนวน แต่ละฉบับมีความเหมือนและแตกต่างกันบ้าง

เนื้อหากล่าวถึง ผู้แต่งได้เดินทางจากเมืองเชียงใหม่ไปนมัสการพระธาตุหริภุญไชย ที่ลำพูนด้วยขบวนเกวียน เพื่อไปเคลียร์สถานที่ล่วงหน้าหนึ่งวัน รอคอยการเสด็จมาของกษัตริย์ในวันรุ่งขึ้น

เริ่มออกจากวัดพระสิงห์ในเมืองเชียงใหม่ และจบลงที่วัดพระยืนลำพูน ผ่านสถานที่สำคัญต่างๆ พักค้างคืนที่ตลาดต้นไร (ต้นไฮ) 1 คืน เมื่อได้ไปนมัสการพระธาตุหริภุญไชยแล้ว พักแรมในเมืองลำพูน 2 คืน แล้วจึงเดินทางกลับเชียงใหม่

 

คุณค่าของโคลงนิราศหริภุญไชย

อาจารย์อรุณรัตน์วิเคราะห์ว่า คุณค่าของวรรณกรรมเรื่องนี้มีอยู่ 5 ด้านหลักๆ คือ

1. คุณค่าด้านภาษา ใช้ภาษาล้านนาโบราณ บางคำได้สูญหายไปแล้ว บางคำยังคงใช้อยู่ ผู้สนใจสามารถนำคำศัพท์ไปศึกษาหารากที่มาของคำในภาษาล้านนาปัจจุบันได้ นอกจากนั้น ยังพบร่องรอยของภาษาอื่นที่นิยมใช้ปะปนด้วยในยุคนั้น ทั้งภาษาบาลี สันสกฤต มอญ ลัวะ และเขมร เป็นต้น

2. คุณค่าด้านประวัติศาสตร์ เป็นการบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อ 500 ปีก่อน ช่วยสะท้อนให้เห็นความเป็นอยู่ของผู้คนในอดีต การคมนาคม วัฒนธรรม ประเพณี คติความเชื่อ ตลอดจนสิ่งแวดล้อม

3. คุณค่าด้านวรรณกรรมท้องถิ่น สะท้อนถึงจารีตในการเขียนวรรณกรรมล้านนาโบราณ ที่ถือเป็นแบบอย่างต่อวรรณกรรมนิราศสมัยต่อๆ มา

4. คุณค่าด้านโบราณคดี ช่วยให้สามารถตรวจสอบเรื่องราว และที่ตั้งของวัดในเมืองเชียงใหม่สมัยโบราณ ตลอดจนสถานที่ต่างๆ ที่ปรากฏในโคลง

5. คุณค่าด้านการผังเมือง สะท้อนให้เห็นถึงการบริหารจัดการน้ำในเมืองเชียงใหม่ไว้อย่างดี เช่น หนองน้ำ คลองระบายน้ำ และคลองที่ใช้คมนาคม ถนน กำแพง สุสาน เป็นต้น

 

วัดพระสิงห์เดิมมีสองวัด?

จุดเริ่มต้นการเดินทาง ออกจากวัดพระสิงห์เป็นสถานที่แรก ผู้แต่งพรรณนาว่าวัดพระสิงห์มีผู้คนจำนวนมากดูชุลมุนชุลเก อลหม่านไปหมด เหตุที่มีตลาดและลำคลองหนองน้ำอยู่ด้านหน้าวัด

ซึ่งปัจจุบัน ไม่มีทั้งตลาด ไม่มีทั้งคลอง มีแต่ถนนที่เป็นสามแยกอยู่หน้าวัดด้านทิศตะวันออก

อาจารย์อรุณรัตน์ทำการศึกษาแผนผังที่ตั้งวัดต่างๆ ในคูเมืองเชียงใหม่ ควบคู่ไปกับการดูแผนที่โบราณสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งจัดทำโดยนายแมคคาร์ธี

โคลงระบุว่า วัดพระสิงห์นั้น เคยแบ่งออกเป็นสองวัด วัดแรกคือ วัดพระสิงห์ที่หนึ่ง หรือพระสิงห์เหนือ (อยู่ทางทิศเหนือ) บริเวณนี้เป็นป่าดงเลี้ยงผีอารักษ์เมือง เป็นที่สถิตของดวงวิญญาณ “พระญาคำฟู” พระราชบิดาของพระญาผายู (พ.ศ.1879-1898)

โดยพระญาผายูได้ขอแบ่งผี หรืออัญเชิญกระดูกส่วนหนึ่งของพระญาคำฟูจากเชียงแสน มาไว้ในไหที่วัดพระสิงห์โซนทิศเหนือ ให้อยู่ในสถานะ “ผีเมือง”

อนึ่ง คำว่า “พระสิงห์” คำนี้ อาจารย์อรุณรัตน์เห็นว่า เป็นการเขียนที่ไม่ตรงตามความจริง อันที่จริงควรเขียนว่า “พระสิง” เพราะคำว่า “สิง” ภาษาไทดำหมายถึง “ผีโคตรตระกูล”

ต่อมามีการเขียนแบบปะปนเอา “ห์” มาใส่ ทำให้กลายเป็น “พระสิงห์”

กษัตริย์ล้านนาแห่งราชวงศ์มังราย ผู้ซึ่งภายหลังจากการสวรรคตแล้ว ได้รับการอัญเชิญขึ้นเป็น “ผีเมืองคอยปกปักดูแลชาวเชียงใหม่” นั้น มีเพียงแค่ 2 พระองค์ ได้แก่ พระญามังราย ปฐมกษัตริย์ (ถูกฟ้าผ่าตาย) และพระญาคำฟู (ถูกเงือกหรือจระเข้กัดตาย)

เรียกได้ว่า ผู้ที่จะเป็นผีอารักษ์เมืองได้ ต้องตายแบบไม่ปกติ หรือตายไม่ดี เพื่อจะบ่มเพาะอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์

ไหหรือโกศบรรจุอัฐิของพระญาคำฟู ที่วัดพระสิงห์ ในภาพประกอบนี้เป็นการขุดค้นพบในภายหลัง ราวปี 2469 ช่วงที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยบูรณปฏิสังขรณ์วัด ต่อมาได้มีผู้ขอนำไปฝากเก็บไว้ที่ศาลากลางหลังเก่า ทว่าปัจจุบันเมื่อสืบถามถึงไหกระดูกใบนี้ กลับสูญหายไปจากศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่แล้วอย่างไร้ร่องรอย โดยปราศจากผู้รับผิดชอบ

 

ส่วนวัดพระสิง(ห์) ที่สองอีกวัดหนึ่ง ตั้งอยู่บริเวณทิศใต้ (ปัจจุบันกลายเป็นโรงเรียนเมตตาศึกษา) พบซากฐานวิหารหลังเก่าที่ถูกอาคารโรงเรียนสร้างทับ เหลือเพียงแค่ “กู่ลาย” หรือ “มณฑปโขงพระเจ้า” ที่ครั้งหนึ่งเคยประดิษฐาน “พระสิง(ห์)”

พระสิง(ห์) องค์เดิมของแท้ มีขนาดเล็กมาก หน้าตักยาวแค่คืบกว่าๆ ไม่ใช่องค์ที่ทำด้วยสำริดขนาดใหญ่ที่ประดิษฐานในวิหารลายคำ องค์ที่เราเรียกว่า พระพุทธสิหิงค์ หรือพระสิงห์ กันในปัจจุบันแต่อย่างใด

เหตุที่อาจารย์อรุณรัตน์ทราบว่า พระสิง(ห์) องค์ดั้งเดิมมีขนาดเล็ก ก็เนื่องด้วยมีเหตุผลมารองรับสองข้อ

ข้อแรก สมัยที่อาจารย์อรุณรัตน์เรียนที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย อาจารย์ชุ่ม ณ บางช้าง ชาวกรุงเทพ ผู้ซึ่งเกิดในสมัยรัชกาลที่ 6 เดินทางมาเป็นครูสอนประวัติศาสตร์ที่เชียงใหม่โดยขี่ม้าข้ามขุนตานมาตั้งแต่ยังไม่มีรถไฟ

อาจารย์ชุ่ม เป็นผู้ยืนยันว่า “คนเชียงใหม่รุ่นก่อนเขารู้กันทั่วว่าพระสิงห์องค์จริงนั้นมีขนาดเล็กเท่าไม้กระดานแผ่นเดียว เมื่อจะถูกชาวสยามเอาไป ชาวเชียงใหม่ช่วยกันเอาพระสิง(ห์) ซ่อนกลบฝังไว้ที่ใต้ดินภายในวัด ส่วนองค์ที่สยามเอาไปนั้น ไม่ใช่องค์จริง องค์ที่ประดิษฐานอยู่ภายในวัดพระสิงห์ก็ไม่ใช่องค์จริงเช่นกัน

ซึ่งจวบปัจจุบันชาวเชียงใหม่ก็ไม่มีใครทราบจุดที่ฝังซ่อนพระสิงห์อีกเลย ภายหลังจากคนเฒ่าคนแก่ที่รู้ว่าพระสิงห์ฝังอยู่ที่ไหน ได้เสียชีวิตไปหมดแล้ว”

เหตุผลข้อที่สอง ที่ทำให้อาจารย์อรุณรัตน์ปักใจเชื่อว่า พระสิง คือคำที่ถูกต้อง ไม่ต้องใส่ ห์ เนื่องมาจากตำนานไทใหญ่ ฉบับที่ รศ.เรณู วิชาศิลป์ ปริวรรต ได้อธิบายว่า เมื่อชาวไทใหญ่ได้นำพระสิงไปจากเชียงใหม่ ไม่ทราบจะเรียกวัตถุชิ้นนี้ว่าอะไรดี เพราะไม่เคยรู้จักพระพุทธรูป จึงเรียกพระสิงว่า “หุ่นผี”

ตำนานไทใหญ่ระบุว่า หุ่นผี องค์นั้นมีฤทธิ์มาก ขณะเดินทางขึ้นม้า เมื่อจับมาไว้ด้านหน้า ก็หนีไปด้านหลัง เมื่อนำมาไว้ด้านซ้าย ก็ย้ายไปอยู่ด้านขวา เมื่อนำไปแช่จุ่มในน้ำร้อน ก็ทำให้น้ำเย็น

ชาวไทใหญ่จึงบอกว่า “หุ่นผีของชาวเชียงใหม่นี้ดีนัก จำต้องหาของมาเซ่นสรวง แบบเลี้ยงผี”

ต่อมาเชียงใหม่ไปเอาพระสิง(ห์) คืนกลับมาไว้ที่วัดพระสิงห์

 

อาจารย์อรุณรัตน์จึงสรุปว่า วัดพระสิงห์ในปัจจุบันชูประเด็นเรื่องพระพุทธสิหิงค์ก็จริง ทว่าในอดีตเคยแบ่งเป็นสองวัด คือวัดผีกับวัดพุทธ วัดผีอยู่ทิศเหนือ เป็นที่สิงสถิตดวงวิญญาณของพระญาคำฟู ส่วนวัดพุทธ หรือวัดสิงห์แห่งที่สอง คือวัดที่อยู่ติดคลองด้านทิศใต้

เมื่อจารีตฮีตฮอยของคนล้านนาเปลี่ยน ก็เอาพุทธมาครอบผี เอา ห์ มาใส่ใน พระสิง ให้กลายเป็น “พระสิงห์” พระโพธิรังสีจึงผูกตำนานพระพุทธสิหิงค์ขึ้นมาเพื่อสร้างความชอบธรรม

แม้ปัจจุบันวัดพระสิงห์จะเหลือเพียงวัดเดียว แต่เนื้อหาจากโคลงนิราศหริภุญไชยก็ฟ้องชัดว่า วัดแห่งนี้เคยมีสองวัดคู่กันมาก่อน ดังบทกวีสองชิ้นที่ว่า

 

นบพระวรเชษฐช้อย ศรีสิงห์

สาเทพแปงเบงจาจริง จิ่งผ้าย

เชิญวานเทพดลถลิง ถลากระหม่อม บารา

เทาดำเนินเยื้อนย้าย พร่ำพร้อมเดินเดียว

ลาเถิงปราสาทสร้อย สิงห์สอง

โอนอำรุงทิพทอง ที่อ้าง

เบญจาจำเนียรปอง ปดตำ งนรา

จำจากแล้วแล้งร้าง ชาตินั้นฤๅดี