เปลี่ยนผ่าน : “ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว” ปี60 เรื่องเล่าประวัติศาสตร์สังคม จาก “อยุธยา” ถึง “ลพบุรี”

ช่วงต้นปี 2560 ที่ผ่านมา เครือมติชนได้เริ่มผลิตรายการท่องเที่ยวเชิงสารคดีประวัติศาสตร์ “ขรรค์ชัย บุนปาน-สุจิตต์ วงษ์เทศ ทอดน่องท่องเที่ยว” ออกเผยแพร่ทางเพจเฟซบุ๊ก “มติชนออนไลน์” เดือนละ 1 ครั้ง รวมทั้งหมดแล้ว 9 ตอน

จุดเด่นของรายการคือ สามารถทำให้เรื่องประวัติศาสตร์ที่หลายคนคิดว่าน่าเบื่อกลายเป็นเรื่องสนุก เป็นการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์สังคม ประวัติศาสตร์ของคนตัวเล็กตัวน้อย ให้มีแง่มุมที่แตกต่างไป จนถึงขั้นหักล้างกับการเขียนประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย

ในวาระที่มีการเปลี่ยนศักราชใหม่ จึงขอบันทึกสรุปเนื้อหาสาระบางช่วงบางตอนที่รายการเคยนำเสนอตลอดปีที่ผ่านมา เอาไว้ ณ ที่นี้

โดยประมวลจากรายงานที่เคยตีพิมพ์มาแล้วในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน หน้าประชาชื่น เรียบเรียงโดยคุณพันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร

ตอนแรกของรายการ “ขรรค์ชัย-สุจิตต์” พาเราไปที่วัดพุทไธศวรรย์ จ.พระนครศรีอยุธยา ฉายภาพย้อนกลับไปในอดีต ก่อนที่จะเริ่มมีบ้านเมืองริมสองฟากแม่น้ำเจ้าพระยา หลัง พ.ศ.1600

กลุ่มสยามอยู่ฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา มีวัดพุทไธศวรรย์เป็นศูนย์กลาง และกลุ่มละโว้อยู่ภาคตะวันออก มีวัดพนัญเชิงเป็นศูนย์กลาง โดยในขณะนั้นยังไม่มีสุโขทัย

ทั้ง 2 กลุ่ม ซึ่งมีคนหลากหลายชาติพันธุ์ปะปน รวมตัวกันตั้งแต่ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา เพื่อผลประโยชน์ด้านการค้าและการเมืองกับจีน ดังที่มีหลักฐานปรากฏในเอกสารจีน เรียกกลุ่มสยามว่า “เสียน” (หรือ “เสียม”) เรียกกลุ่มละโว้ว่า “หลอฮก” (หรือ “หลอหู”) เมื่อมีการสถาปนากรุงศรีอยุธยา จึงเรียกรวมว่า “เสียนหลอฮก”

เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สังคม ผู้คน ภูมิศาสตร์ ก่อนที่จะมีการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ซึ่งไม่ได้ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย

ความสำคัญอีกประการของวัดพุทไธศวรรย์ คือ เดิมบริเวณนี้เคยถูกเรียกว่าเวียงเหล็ก เป็นที่ประทับของพระเจ้าอู่ทอง ก่อนที่วังหลวงในเกาะเมืองจะสร้างเสร็จ

ถ้าสังเกตที่ตั้งของวังหลวงซึ่งมีวัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดมงคลบพิตรเป็นศูนย์กลาง จะเห็นว่าอยู่แนวแกนเดียวกับเวียงเหล็กพอดี ถือเป็นสัญลักษณ์ความสัมพันธ์ของพื้นที่ทั้งสอง

และเมื่อพระเจ้าอู่ทองย้ายเข้าไปในเกาะเมืองหลังสถาปนากรุงศรีอยุธยา บริเวณนี้ก็ไม่ได้ถูกทิ้งร้าง แต่ได้รับการสถาปนาเป็นวัดพุทไธศวรรย์ เนื่องจากเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือเป็นพื้นที่บรรพชนของพระเจ้าอู่ทองนั่นเอง

เดือนพฤษภาคม “ขรรค์ชัย-สุจิตต์” พาเราไปที่เมืองอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งสุจิตต์ระบุว่าที่นี่ถือเป็นต้นทางประวัติศาสตร์ไทย

“เอกสารโบราณของอินเดียและลังกา เรียกดินแดนอู่ทองว่าสุวรรณภูมิ ต่อมามีรัฐสุพรรณภูมิ ที่ได้ร่วมกับรัฐอโยธยา-ละโว้ สถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชอาณาจักรสยาม แล้วสืบเป็นกรุงธนบุรี เป็นกรุงรัตนโกสินทร์ จนปัจจุบันเป็นประเทศไทย อู่ทองจึงถือเป็นต้นทางประวัติศาสตร์ไทย

“สุโขทัยจึงไม่ใช่ราชธานีแห่งแรก ซึ่งเป็นเพียงความคิดของคนยุคหนึ่งเท่านั้น ขอยืนยันไว้ตรงนี้เลยว่าเรื่องนี้เป็นความผิดพลาดของประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยที่ควรแก้ไข เพราะไม่จริง ไม่มีหลักฐานสนับสนุน” สุจิตต์กล่าว

ส่วนประเด็นการล่มสลายของเมืองโบราณอู่ทอง ที่ประวัติศาสตร์ไทยระบุว่าเกิดจากความแห้งแล้งและโรคระบาด

สุจิตต์อ้างอิงหลักฐานการศึกษาทางธรณีวิทยา โดยนักธรณีวิทยาประจำสำนักทรัพยากรธรณีเขต 3 ปทุมธานี สรุปได้ว่าการเสื่อมถอยของเมืองอู่ทองเกิดจากปัญหาการคมนาคมทางน้ำตื้นเขิน

เพราะตะกอนจากภูเขาพัดพาลงมาทับถมลงบนพื้นดินเมืองอู่ทองระหว่างที่เป็นบ้านเมืองแล้ว จนเกิดเป็นชั้นดินตะกอนแบบน้ำพารูปพัด ประกอบกับเกิดดินตะกอนที่เกิดจากทางน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก ทำให้แม่น้ำเปลี่ยนเส้นทางเดิน ประชากรจึงเริ่มโยกย้าย

อู่ทองจึงค่อยๆ เสื่อมถอยลงหลัง พ.ศ.1600 เป็นต้นมา

เดือนมิถุนายน “ขรรค์ชัย-สุจิตต์” พาเราไปรู้จักกับสุนทรภู่ ในแง่มุมที่ต่างไปจากตำราเรียน

“เดิมไม่เคยรู้จักหรือสนใจสุนทรภู่ กระทั่งขรรค์ชัยนำเรื่องมาบอก แถมท่องกลอนให้ฟังทุกวันจนจำได้ถึงทุกวันนี้ว่า สุนทรภู่ ครูฉัน เกิดวันจันทร์ ปีม้า 26 มิถุนา เมื่อเวลา 8 น.

“สุนทรภู่อยู่เรือนแพย่านวังหลัง ริมคลองบางกอกน้อย ไม่ใช่คนเมืองแกลงอย่างที่เรียนกันมา ไม่เชื่อให้ไปดูหลักฐานจากผลงานของท่าน ท่านเขียนไว้เองแล้วทั้งนั้น”

ตัวอย่างเช่น ในนิราศเมืองแกลง ที่สุนทรภู่ระบุไว้ชัดเจนว่า “แม้เจ้านายท่านไม่ใช้แล้วไม่มา” แสดงว่าไม่เต็มใจเดินทางมา แต่ที่ต้องมาคือการนำราชการลับไปบอกบิดาซึ่งบวชเป็นภิกษุอยู่เมืองแกลงเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่นที่สุนทรภู่ถูกเข้าใจผิด เช่น ขี้เมา เจ้าชู้ เป็นไพร่ ไร้เคหา ทั้งที่สุนทรภู่เป็นผู้ดี ตลอดชีวิตวนวียนอยู่แต่วัดกับวัง เดินทางไปไหนก็มีบ่าวไพร่พายเรือให้ตลอด การเขียนว่าตัวเองตกทุกข์ได้ยากเป็นเพียงอารมณ์ศิลปิน

ดังที่ ม.จ.จันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี เคยเปรียบเทียบว่าสุนทรภู่เป็นเหมือนชาลี แชปลิน คือหน้าจอยาจก ชีวิตจริงมหาเศรษฐี

เดือนสิงหาคม “ขรรค์ชัย-สุจิตต์” นำทีมทอดน่องที่เมืองพิมาย จ.นครราชสีมา

เมืองพิมายเป็นเมืองใหญ่ระดับรัฐ มีอำนาจเหนือดินแดนลุ่มน้ำมูลตอนบน เป็นรัฐเครือญาติกับอยุธยา กัมพูชา ลาว

ก่อนเป็นเมืองพิมาย บริเวณนี้มีชุมชนเก่าแก่กว่า 3,000 ปีมาแล้ว มีหลักฐานทางโบราณคดี ได้แก่ ภาชนะดินเผาแบบที่เรียกว่า “พิมายดำ”

ต่อมาเกิดเมืองพิมายในช่วงหลัง พ.ศ.1000 แต่ในช่วงนั้นยังไม่มีการสร้างปราสาทหินพิมาย มีเพียงคูน้ำคันดินรูปวงรี มีการรับพระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ผ่านอ่าวไทยและโตนเลสาบในกัมพูชา

“เมืองพิมายไม่ได้ลอยลงมาจากสวรรค์ แต่สร้างด้วยแรงงานมนุษย์ ไม่ได้สร้างเสร็จในคราวเดียว แต่สร้างต่อเนื่องยาวนานนับพันปี เติบโตขึ้นจากการค้า คนพื้นเมืองดั้งเดิมพูดภาษาตระกูลมอญ-เขมร ชวา-มลายู และอื่นๆ นับถือศาสนาผี ยกย่องผู้หญิงเป็นใหญ่ในพิธีกรรม มีหมาเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์” สุจิตต์กล่าว

เมืองพิมายยังเป็นถิ่นเดิมของบรรพชนกษัตริย์กัมพูชาที่สร้างนครวัด นครธม เป็นเมืองบรรพชนต้นตระกูลขอม คือ “ราชวงศ์มหิธร” เป็นส่วนหนึ่งของต้นวัฒนธรรมขอมราวหลัง พ.ศ.1500 ซึ่งแพร่กระจายกว้างขวางต่อไปถึงละโว้และอโยธยา

โดยในยุคที่มีการสร้างปราสาทหินพิมายแล้วนั้น มีคนพูดภาษาตระกูลไต-ไท แต่ยังไม่ได้เรียกตัวเองว่า “คนไทย” สืบลูกหลานถึงช่วงหลัง พ.ศ.2000 จึงเรียกตัวเองว่าคนไทย

เมืองพิมายลดความสำคัญลงในช่วงหลัง พ.ศ.1900 เมื่อรัฐอยุธยาขยายอำนาจควบคุมลุ่มน้ำมูล จากนั้นสถาปนาเมืองนครราชสีมาในช่วงหลัง พ.ศ.2000

สำเนียงหลวงอยุธยาต่อมาเป็น “สำเนียงโคราช” เพลงโคราชก็คือเพลงฉ่อยที่เล่นกันในลุ่มน้ำเจ้าพระยาทางภาคกลาง

นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาสาระอีกหลายตอนที่ไม่ได้นำมาเขียนไว้ ณ ที่นี้ แต่มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน

ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจท้องพระเมรุกลางกรุงศรีอยุธยา และเส้นทางแห่พระบรมศพครั้งกรุงศรีอยุธยา, ความเป็นมาของโกศและพระเมรุ, เยือนเมืองลพบุรี 3,000 ปี ไม่เคยร้าง ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของกรุงศรีอยุธยา และหนุนให้เกิดการสถาปนาสุโขทัย, เปิดตำนานเขาสมอคอน พระร่วงเรียนอักษรขอมที่ละโว้

เรื่องราวของย่านข้าหลวงเก่าในสมัยรัชกาลที่ 3 บริเวณย่านบางขุนเทียนเดิม (เขตจอมทองในปัจจุบัน), เล่าเรื่องคลองด่านในฐานะเส้นทางคลองประวัติศาสตร์, ชมความงามของศาลาการเปรียญจำหลักไม้ทั้งหลัง ณ วัดแก้วไพฑูรย์ ซึ่งขรรค์ชัย บุนปาน ได้เข้าไปบูรณะฟื้นฟูขึ้นใหม่

และเรื่องราวประวัติศาสตร์อื่นๆ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถหาชมคลิปย้อนหลังได้ทุกตอน ทางยูทูบ “มติชนทีวี” โดยค้นด้วยคีย์เวิร์ด “ทอดน่องท่องเที่ยว”

สำหรับใน พ.ศ.2561 รายการของเราจะยังคงเดินหน้าเผยแพร่เรื่องราวประวัติศาสตร์ที่มีความน่าสนใจต่อไป ขณะเดียวกันก็ได้มีการนำความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากผู้ชม ที่นำเสนอสถานที่ รวมถึงประเด็นต่างๆ ที่อยากให้ทีมงานของเราเดินทางไปเยี่ยมเยือนและสืบค้นข้อมูลมาพิจารณาด้วย

ขอถือโอกาสนี้ขอบคุณผู้ชมทุกท่านที่ได้ติดตามรายการ “ขรรค์ชัย บุนปาน-สุจิตต์ วงษ์เทศ ทอดน่องท่องเที่ยว” มาอย่างต่อเนื่อง

และหวังว่าทุกท่านจะยังคงรับชมรายการของเราต่อไปในปี 2561