นิ้วกลม : นิตยสารรำลึก

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

มีบางสิ่งในวัยหนุ่มสาวที่หล่อหลอมให้เรากลายเป็นเราอย่างในทุกวันนี้ สำหรับผม สิ่งหนึ่งที่สำคัญ (อาจจะที่สุด) คือนิตยสาร

ผมโตมากับนิตยสาร

ถ้าโลกนี้ไม่มีนิตยสาร ในวันนี้ผมก็คงจะเป็นคนอีกแบบ ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นยังไง แต่ไม่ใช่แบบที่เป็นตอนนี้แน่นอน

สตาร์พิกส์ทำให้ผมสนใจภาพยนตร์ ทำให้ผมดูหนังสนุกขึ้น เมื่อรู้ว่าใครกำกับฯ เขาเคยทำอะไรมาบ้าง หนังเรื่องไหนทำรายได้ทะลุสถิติ รวมถึงบทวิจารณ์ที่ทำให้ดูหนังลึกลงไปกว่าภาพที่เคลื่อนไหวอยู่บนหน้าจอ

นอกจากนั้น สตาร์พิกส์ยังทำให้ผมกลายเป็นคนชอบวาดภาพดารา

ผมเคยส่งภาพ โจดี้ ฟอสเตอร์ สเก๊ตช์ดินสอไปให้สตาร์พิกส์ด้วย น่าจะส่งไปสักสอง-สามภาพ หากจำไม่ผิดภาพของผมได้ลงในนั้นหนึ่งครั้ง

ผมได้ความรู้เรื่องหมาจากนิตยสารสวนจตุจักร

ตอนบ้าหมาผมซื้อทุกเล่ม แต่ละเล่มจะเน้นความรู้เกี่ยวกับสุนัขทีละพันธุ์ ฟาร์มและคอกของสุนัขพันธุ์นั้นๆ แม้ไม่มีสัมภาษณ์หมา แต่การสัมภาษณ์คนเลี้ยงและเจ้าของฟาร์มก็ทำให้เราเข้าใจหมาแต่ละพันธุ์มากขึ้น

ผมค่อยๆ รู้ว่าถ้าเราอยากรู้เรื่องอะไรแล้วตามอ่านนิตยสารเกี่ยวกับสิ่งนั้นอย่างต่อเนื่อง เราจะค่อยๆ รู้จักสิ่งนั้นมากขึ้น

พอฟังเพลง นิตยสาร GT – Generation Terrorist ของพี่ซี้ดเป็นเหมือนประตูเปิดโลกแห่งเสียงดนตรีให้เด็กโลกแคบผู้ฟังแต่เพลงไทยมาตลอดอย่างผม บวกกับร้านที่แขวนหูฟังไว้ให้ฟังเพลงฟรีอย่าง Tower Records และ Imagine ยิ่งทำให้โลกใบนั้นกว้างขวางมาก ร้านป้าโดเรมีมีช่วยให้เราหาเพลงต่างๆ ที่บทวิจารณ์ในนั้นพูดถึงมาฟังได้ ชีวิตช่วงนั้นสนุกสนานกับการไล่ฟังเพลงแล้วนั่งอ่านบทวิจารณ์อันเคว้งคว้างมหากาพย์ซาบซึ้งและอ้อยอิ่งของ คุณอาทิตย์ พรหมประสิทธิ์ เชื่อเหลือเกินว่า GT เป็นแรงบันดาลใจสำคัญของวงดนตรีไทยหลายวงที่เป็นคนรุ่นพี่หรือรุ่นเดียวกับผม

ส่วนหนังที่จริงแล้วติดตามอยู่หลายเล่ม เอ็นเตอร์เทนเป็นนิตยสารหนังราคาไม่แพง อ่านสนุก

Cinemag Filmview Pulp ไล่มาถึง Bioscope ซึ่งเข้มข้นโหดร้ายที่สุด ในโลกใบนั้นเองที่ทำให้ได้อ่านตัวหนังสือของ สิทธิรักษ์ ตุลาพิทักษ์, กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน, ประชา สุวีรานนท์, ประวิทย์ แต่งอักษร, นรา นันทขว้าง สิรสุนทร, ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ฯลฯ

แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาก็ยังเป็นรองการได้รู้จัก วิโนน่า ไรเดอร์, อลิเซีย ซิลเวอร์สโตน, ลิฟ ไทเลอร์, นาตาลี พอร์ตแมน ไล่เลยมาถึง เคียร์ร่า ไนต์ลี่

เมื่อมาถึงช่วงวัยที่ต้องการแรงบันดาลใจและคนต้นแบบ นิตยสารอย่างอะเดย์ โอเพ่น และซัมเมอร์ ก็ออกสู่แผงหนังสือในช่วงไล่เลี่ยกัน ทำให้คนรุ่นผมเพลิดเพลินกับการอ่านนิตยสารอย่างมาก

อะเดย์ช่วยจุดไฟในตัวและเพิ่มมุมมองโลกอย่างมีความหวัง

ขณะที่โอเพ่นกระตุกเราให้หันไปมองปัญหาต่างๆ ที่พัวพันนุงนังไปถึงระบบการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

ส่วนซัมเมอร์นั้นบอกกับเราว่า เฮ้ย ความคิดสร้างสรรค์มันทำให้เรื่องเล่าทุกอย่างสนุกสนานและเท่ขึ้นมหาศาล

นิตยสารทั้งสามหัวที่ผมซื้อแทบทุกเล่มเหล่านี้ล้วนผสมผสานอยู่ในวัยหนุ่มและยังคงส่งอิทธิพลวนเวียนอยู่ในตัวผมจนถึงวันนี้

นิตยสารหนึ่งเล่มมีส่วนผสมทรงพลังมากมาย แต่สิ่งหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการขึ้นรูปความคิดของผู้อ่านอย่างผมคือบทสัมภาษณ์ ความคิดที่ถูกล้วงควักอย่างชำนิชำนาญโดยผู้สัมภาษณ์ยอดฝีมือทั้งหลายไม่ต่างอะไรกับการอ่านตำรับตำราดีๆ สักเล่ม รายชื่อนักสัมภาษณ์อย่าง วรพจน์ พันธุ์พงศ์, วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์, ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา, โตมร ศุขปรีชา, วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ, จักรพันธุ์ ขวัญมงคล ทำให้อะดรีนาลีนหลั่งได้เสมอ

รายนามเหล่านั้นปรากฏตัวอยู่ในนิตยสารอย่าง GM a day Open ซึ่งเปิดโลกให้ผมได้รู้จักคอลัมนิสต์ผู้รัวหมัดใส่สมองอย่างสม่ำเสมออีกมากมาย วินทร์ เลียววาริณ, คำ ผกา, ปราบดา หยุ่น, มุกหอม วงษ์เทศ, สฤณี อาชวานันทกุล, ปกป้อง จันวิทย์, บุญชิต ฟักมี ฯลฯ

เมื่อมี a day weekly ซึ่งที่จริงก็ติดตาม อธิคม คุณาวุฒิ (ซึ่งเป็นบรรณาธิการร่วมกับ ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข ใน a day weekly) มาตั้งแต่เสาร์สวัสดี ก็ทำให้ได้อ่านงานของนักวิชาการอีกหลายคน ยากบ้างง่ายบ้างก็อ่านไป ไชยันต์ ไชยพร, พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, ประภาส ปิ่นตบแต่ง ฯลฯ

ถามว่าขมไหม สำหรับตอนนั้น ตอบได้เลยว่าขมมาก แต่ค่อยๆ หัดกินขมจนวันหนึ่งความขมก็อร่อย คล้ายๆ โตขึ้นแล้วชอบกินมะระยังไงยังงั้น

เขียนมาถึงตรงนี้ก็รู้ตัวแล้วว่าไม่น่าจะพูดถึงนิตยสารทุกเล่มที่มีอิทธิพลต่อชีวิตตัวเองได้หมด

อย่างตอนเรียนจุฬาฯ เวลาเข้าห้องสมุดก็จะไปหยิบนิตยสารสารคดี ศิลปวัฒนธรรม มาเปิดอ่านสกู๊ปและบทความอยู่บ่อยๆ บางทีก็ซีร็อกซ์มาเก็บไว้

นี่ถ้าลากไปถึงนิตยสารข่าวรายสัปดาห์อย่างมติชนสุดสัปดาห์ เนชั่นสุดสัปดาห์ หรือสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ก็ต้องบอกว่าหลายคอลัมน์ในนั้นเป็นแฟนแบบหนึบหนับ

บางหัวออกมาไม่กี่เล่ม แต่อ่านสนุกเขย่าสมอง นิตยสารอย่าง Scale คือนิตยสารที่เข้าข่ายนี้ สารกระตุ้น DDT ก็ทำให้ใจเต้น art4d นิตยสารสวยเนื้อหาเยี่ยมในราคาที่อยากกราบคนทำ อิมเมจ mars ขวัญเรือน FHM สุดสัปดาห์ บ้านและสวน room เนชั่นแนล จีโอกราฟิก ฅ คน สีสัน ก็เป็นนิตยสารที่อ่านอย่างสม่ำเสมอ

อย่าได้ย้อนไปถึงยุคปลื้มหรือไปยาลใหญ่ อันนั้นเก็บไว้เป็นหน้าที่ของคนรุ่นพี่ของผมก็แล้วกัน

จากที่รำลึกความหลังมาให้ฟัง ผมนึกไม่ออกจริงๆ ว่า ถ้าโลกนี้ไม่มีนิตยสาร ผมจะโตมาแบบไหน ไม่ได้หมายความว่ามีนิตยสารดีกว่าไม่มี เพียงแค่นึกไม่ออกจริงๆ เพราะส่วนผสมของความคิดจำนวนมหาศาลที่หมุนวนอยู่ในหัวล้วนประกอบร่างขึ้นมาจากนิตยสารทั้งหมดที่กล่าวมา บรรณาธิการ นักเขียน คอลัมนิสต์ นักสัมภาษณ์ สกู๊ป สารคดี การ์ตูน ฯลฯ ในแต่ละเล่มล้วนส่งอิทธิพลต่อการหล่อหลอมตัวตนของคนอ่านอย่างผม

นิตยสารช่วยเฟรมโลกให้เรามอง พร้อมๆ กับที่มันเป็นประตูเปิดเราไปสู่โลกใบใหม่ ผู้คนใหม่ๆ สิ่งใหม่ๆ หัวข้อใหม่ๆ ที่เราไม่เคยรู้จัก นำเราไปสู่ความสนใจใหม่ๆ ความรู้ใหม่ๆ มุมมองใหม่ๆ รสนิยมใหม่ๆ

นิตยสารคือประตูทุกสถานที่ของโดราเอมอน

มันพาเราย้อนเวลา ไปอนาคต ไปในที่ที่ไม่เคยไป พื้นที่ที่ไม่เคยอยู่ในความสนใจ ทำให้หูตาของเรากว้างขึ้นพร้อมๆ กับขนาดของหัวใจที่กว้างขวางขึ้น

ผมเข้าใจว่าสื่อยุคใหม่ย่อมมีความกว้างขวางมากมายยิ่งไปกว่าสื่อกระดาษอย่างนิตยสารด้วยซ้ำไป แต่ความเป็นเนื้อเป็นหนัง ความเป็นกลุ่มก้อน และศิลปะการจัดเรียงและรวบรวมเนื้อหาให้เป็นปึกกระดาษที่เต็มไปด้วยความหลากหลายอันทรงพลังในแบบนิตยสารนั้นมอบพลังที่แตกต่างไปจากเนื้อหากระจัดกระจายในโลกออนไลน์พอสมควร

มิกล้าตัดสินว่าอะไรดีกว่าอะไร ผมแค่คิดว่ามัน “แตกต่าง” กัน สื่อต่างกันอาจมีพลังคนละแบบ

ผมอาจเป็นคนที่โตมากับนิตยสาร ผมจึงยังคิดถึงและเชื่อมั่นในพลังของนิตยสารว่ามันสามารถสรรค์สร้างและขัดเกลาความคิดและตัวตนของผู้คนให้เป็นไปในทางที่สวยงาม ละเอียดอ่อน และเข้มข้นได้

พี่ต้อ-บินหลา สันกาลาคีรี เคยบอกกับผมว่า “คุณเจอคนอายุสี่สิบปีสองคน ซึ่งมีบุคลิกแตกต่างกันมาก คนหนึ่งคิดถึงคนอื่น ใจกว้าง ละเอียดอ่อน อีกคนไม่เป็นแบบนั้นเลย พอคุณลองถามย้อนกลับไปเรื่อยๆ คุณอาจพบเหตุผลว่าสิ่งที่ทำให้สองคนนี้ต่างกันก็คือ คนหนึ่งโตมากับการอ่าน ส่วนอีกคนนั้นไม่”

นิตยสารอาจมีอิทธิพลต่อผู้คนในลักษณะทำนองนี้เช่นกัน

ผมไม่กล้าตัดสินว่าคนอ่านนิตยสารจะดีงามไปกว่าคนไม่อ่าน แต่ก็เชื่อว่าคนที่อ่านจะมีบุคลิกเฉพาะบางอย่างร่วมกัน เหมือนที่ผมพบในตัวของเพื่อนพี่น้องที่รักการอ่านนิตยสาร

ผมคิดเรื่องนี้ขึ้นมาหลังจากที่เมื่อคืนนั่งกดเครื่องคิดเลขเพื่อคำนวณต้นทุนในการทำนิตยสารเล่มใหม่กับพี่หนุ่ม-โตมร ศุขปรีชา ในวันเวลาที่นิตยสารในเมืองไทย (รวมถึงในโลก) ทยอยปิดตัวลง

ใช่ครับ เรากำลังจะทำนิตยสารเล่มใหม่ขึ้นมาในวันนี้

ฟังดูอาจเป็นความคิดบ้าๆ ซึ่งเราคงพยักหน้ายอมรับ เพราะนิตยสารเล่มนั้นมีชื่อว่า

MAD ABOUT

แล้วจะมาเล่าสู่กันฟังนะครับ

หมายเหตุ : ติดตามข่าวสาร MAD ABOUT ได้ทาง FB : MAD ABOUT