ไซเบอร์ วอชช์เมน : ปี 2017 คสช.เปลี่ยนโลกออนไลน์ ให้กลายเป็น “สนามรบ”

ในปี พ.ศ.2560 (ค.ศ.2017) ที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์ของไทยนับว่าก้าวไปอีกขั้น ในการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งในที่นี้จะไม่ใช่ใครที่ไหน นอกจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ชนิดที่เข้มข้นมากขึ้น และรุกหนักมากขึ้น พอๆ กับสถานการณ์บนโลกแห่งความเป็นจริงที่ คสช. ปรารถนาควบคุมความเคลื่อนไหวให้อยู่หมัด

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะความเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์ไม่ว่า การวิพากษ์วิจารณ์นโยบายและการบริหารจากการใช้งบประมาณสร้างคำถามอย่างการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ หรือพฤติกรรมการใช้ของฟุ่มเฟือยของสมาชิกบางคน เช่น นาฬิิการาคาแพง ที่ถูกเพจดังออกมาเปิดเผยจนตอนนี้มีมากกว่า 10 เรือนแล้ว

จึงไม่แปลกใจที่ คสช.จะมองสิ่งที่สร้างความกระทบกระเทือนต่อฐานอำนาจว่าเป็นภัยคุกคาม และมองกลุ่มคนและผู้ใช้งานออนไลน์ที่ออกมาวิจารณ์ว่าเป็นเป้าหมายที่ต้องควบคุม และมองโลกออนไลน์อันไร้ขอบเขตว่าเป็นสนามรบที่ต้องสร้างความได้เปรียบ ด้วยการใช้อำนาจออกกฎหมายต่างๆ ตั้งหน่วยงานและวางกำลังคนเพื่อทำสงครามบนโลกออนไลน์

หากย้อนทบทวนเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกันระหว่างโลกออนไลน์ กับอำนาจรัฐ จะเห็นปรากฏเป็นข่าวและถือว่าเป็นบันทึกหน้าสำคัญที่จะสามารถบอกทิศทางในปี 2561 ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

และควรแนะนำว่า “ต้องจับตามอง” จริงๆ

 

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับแก้ไข พ.ศ.2560

ตัวอย่างที่ชัดที่สุดอย่าง พ.ร.บ.คอมพ์ฯฉบับแก้ไขล่าสุด นับว่าเป็นกฎหมายเจ้าปัญหาที่เรียกเสียงวิจารณ์มาตั้งแต่เริ่มแรกที่ออกมาในปี 2550 ผ่านมา 10 ปี ในยุค คสช. ก็จัดแก้ไขใหม่เพิ่มโทษและรายละเอียดที่กว้างขวางมากขึ้นไปอีก ตั้งแต่มาตรา 11 จนถึงมาตรา 17

และที่เป็นข้อถกเถียงนั้นคือ มาตรา 14 ที่ก่อนแก้ก็มีปัญหาในการนิยามแล้ว ส่วนที่แก้ไขเพิ่มเติมก็ไม่ได้ต่างจากตัวเดิมมาก แค่เพิ่มบางคำ เช่น ในข้อ 1 ของมาตรา 14 เช่น “บิดเบือน” และ “อันมิใช่ ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา” ทำให้การตีความสิ่งที่ปรากฏบนโลกออนไลน์บนดุลพินิจของผู้มีอำนาจใช้กฎหมาย กว้างขวางเพิ่มขึ้นไปอีก

ตลอดปี 2560 เราจะเห็นการใช้มาตรา 14 อันใหม่นี้ ในการกล่าวหาบุคคลใดก็ตามที่คิดว่าต้องเผยแพร่เรื่องราวที่ไม่เป็นความจริง และมุ่งหวังทำลายความน่าเชื่อถือ

และที่เห็นใช้กันส่วนมากคือ ฝ่ายรัฐหรือ คสช. ใช้มาตรา 14 นี้ จัดการกับบุคคลหรือกลุ่มตรงข้ามทางการเมือง ตั้งแต่ นักการเมือง สื่อ นักกิจกรรม และทนายความ ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายหรือการบริหารของรัฐบาล คสช. ไปจนถึงกลไกอำนาจรัฐในเวลานี้

เรียกว่า ตลอดทั้งปี กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) แทบไม่เคยเงียบเหงา เพราะพอมีบุคคลที่เป็นข่าวมารับทราบข้อกล่าวหา ก็จะตามมาด้วยนักข่าวที่มาทำข่าวและเจ้าหน้าที่ของสถานทูตมาร่วมสังเกตการณ์

และไม่ใช่แค่รัฐใช้กฎหมายจัดการความเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์ แม้แต่บริษัทเอกชนก็ใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในการจัดการกับกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม นักวิชาการที่เผยแพร่ข้อมูลที่เชื่อว่าสร้างความเสียหายหรือทำลายโอกาสในการหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่ได้รับสัมปทาน

แม้ว่าฝั่งชาวบ้านและนักเคลื่อนไหวจะออกมาบอกกับสังคมว่าพวกเขาได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมที่ทำลายวิถีชุมชน สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ

แต่บริษัทเอกชนต่างๆ ใช้ พ.ร.บ.คอมพ์พ่วงด้วยกฎหมายอื่นๆ หวังสกัดกั้นแรงกดดันจากชาวบ้าน ซึ่งศัพท์เทคนิคทางกฎหมายจะเรียกว่า SLAPP หรือการใช้กฎหมายปิดปากนั่นเอง เพื่อทำให้ผู้ถูกกล่าวหา เสียเวลา เสียโอกาส และเบี่ยงเบนความเคลื่อนไหวให้ไปสนใจแต่การว่าความในชั้นศาลแทนที่จะออกมาขัดขวางการแสวงหาผลประโยชน์ของบริษัทเอกชน

จริงอยู่ที่มาตราต่างๆ ที่แก้ไขล่าสุด จะมุ่งหวังสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน แต่ดูเหมือนว่า สิ่งที่จะป้องกันชีวิตและคุ้มครองเสรีภาพ กำลังกลายเป็นอาวุธเพื่อจัดการกับเสรีภาพบนโลกออนไลน์ที่ผู้คนพยายามสื่อสาร แสดงความเห็นที่เกิดขึ้นซึ่งสังคมควรได้รับรู้

แต่ผู้กุมอำนาจกลับมองว่าเป็นการลดทอนความน่าเชื่อถือและความนิยม จึงต้องจัดการให้ไม่มีเสียงหรือแม้แต่ตัวตน

 

นายพิเชฐ-ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

“กระทรวงดีอี”
กลไกในระบบ “บิ๊กบราเธอร์”

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอี ที่เปลี่ยนจากกระทรวงไอซีที จุดมุ่งหมายที่เปลี่ยน เพื่อสร้างระบบกลไก เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงในที่ประเทศไทยกำลังก้าวสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิตอลและวิสัยทัศน์ “ไทยแลนด์ 4.0” ที่ประโคมกันมาทั้งปี

แต่นั่นเป็น 1 ในบทบาททั้งหมดของกระทรวงนี้ เพราะอีกด้าน กฎหมายสำคัญที่ออกมาเพื่อกำกับควบคุมการสื่อสารบนโลกออนไลน์ ก็เริ่มได้ยินกันแล้ว

ไม่ว่าจะเป็น ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ที่ยังคงมีการพิจารณาซึ่งช้าหรือเร็ว ยังไงต้องออกมาบังคับใช้

แต่ที่น่าสังเกตคือ ขณะที่กฎหมายยังเป็นเพียงร่างคร่าวๆ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีประกาศจัดตั้งคณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เพื่อวางกรอบยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยไซเบอร์

ซึ่งไม่ทราบแน่ชัดว่าผลลัพธ์จะออกมาหน้าตาเป็นยังไง แต่หากพิจารณาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี ความน่าสนใจหลักคงหนีไม่พ้น “ความมั่นคงของชาติ” ในความคิดของรัฐบาล คสช. ต้องมาก่อน

และยังไม่นับรวมประกาศกระทรวงที่ตามมา เช่น ผู้ให้บริการต้องลบข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงภายใน 24 ชั่วโมง หรือผู้ให้บริการเตรียมมาตรการแจ้งเตือน ไม่ต้องรับโทษฐานร่วมมือกระทำผิด

แต่ได้มีประกาศกระทรวงฉบับหนึ่งที่สร้างความฮือฮามากก็คือ เรื่องการงดเว้นการติดต่อกับบุคคลบนสื่ออินเตอร์เน็ต โดยขอให้ประชาชนโดยทั่วไป งดการติดตาม ติดต่อ เผยแพร่ หรือกระทำการใดๆ ที่มีลักษณะเป็นการเผยแพร่เนื้อหา ข้อมูล บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต สื่อสังคมออนไลน์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อมิให้เป็นการกระทำความผิดว่าด้วย พ.ร.บ. ดังกล่าว ทั้งเจตนาและไม่เจตนาของบุคคล 3 คน

ซึ่ง 1 คน เป็นสื่อมวลชนต่างประเทศที่เคยอยู่ไทยมาหลายปี ส่วนอีก 2 คน เป็นนักวิชาการไทยที่ไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศ แต่เป็นที่รู้จักเรื่องการออกมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่ไม่สามารถพูดในสังคมไทยได้อย่างตรงไปตรงมา

และถึงแม้มีประกาศดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้ส่งผลว่าจำนวนผู้ติดตาม ไลก์หรือแชร์จะลดลง

และถือเป็นตัวอย่างของใช้อำนาจรัฐในการเข้ามามีอิทธิพลบนโลกออนไลน์ แม้จะไม่มีอำนาจบังคับทางกฎหมาย แต่ก็เป็นการใช้อำนาจเพื่อสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชน ว่าหากยังฝ่าฝืนทำเช่นนี้ ก็จะเสี่ยงมีความผิด แต่การทำให้หวาดกลัวต่อการใช้เสรีภาพของตัวเอง เป็นเรื่องเสี่ยงอันตรายมากกว่า

 

หากกล่าวสรุปสถานการณ์บนโลกออนไลน์ของไทยตลอดทั้งปี ถ้าอ้างอิงข้อมูลทั้งจากองค์กรสื่อไร้พรมแดน หรือฟรีด้อม เฮ้าส์มาประกอบการสรุป รวมกับสิ่งที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่ตลอดหลายกรณี มันก็ส่งผลทำให้หลายคนต้องระมัดระวังทุกครั้ง เมื่ออยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟน

เพราะสิ่งที่เราจะแสดงความรู้สึก มันพร้อมกลายเป็นความผิดได้เสมอ ไม่ใช่เพราะว่ากฎหมายบอกว่าเป็นความผิด แต่เป็นเพราะคนที่ได้รับผลกระทบเชื่อว่ามันผิด และใช้กฎหมายไปเกื้อหนุนทำให้ความผิดมีน้ำหนัก

แนวโน้มปีหน้า เมื่อประกอบสถานการณ์การเมืองไทยที่การเลือกตั้งดูอาการว่าจะกลับมาทางแยกอีกแล้วว่าจะเลือก หรือจะ “เลื่อน” สถานการณ์บนโลกออนไลน์ก็จะยิ่งมีการควบคุมชนิดที่เข้มข้นขึ้นไปอีก ทุ่มทรัพยากร กำลังคนมากขึ้นอีก

หลายอย่างจ่อคิวรอมาตั้งแต่ปีนี้แล้วด้วย รอเพียงเวลาว่าจะใช้เมื่อไหร่

แต่ถึงกระนั้น การมีกฎหมายหรืออำนาจมาก ก็ไม่ได้แปลว่าสังคมจะปลอดภัยหรือมั่นคงเสมอไป