E-DUANG : “นัยยะ” แห่ง “กองหนุน” จาก”ป๋าเปรม”

ต้องยอมรับว่า การส่งความสุข(ส.ค.ส.)จากบ้านสี่เสา เทเวศร์ ไปยัง 1 คสช. และ 1 รัฐบาล ว่าด้วย”กองหนุน”

มากด้วย “คม” และ “เขี้ยว”

ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการนำเสนอยอดคำเท่ว่าด้วย “จ๊อกกี้”ก่อน รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

ส.ค.ส.นี้ก่อให้เกิดนัยประหวัดไปยังปี 2531

หลังการเลือกตั้งพรรคชาติไทยได้รับเลือก ส.ส.มาเป็นอันดับ 1 และจะร่วมกับ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคกิจสังคม เพื่อจัดตั้งรัฐบาล

โดยมีเป้าหมายจะเสนอชื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนา ยกรัฐมนตรีเหมือนที่เคยทำมาเมื่อปี 2523 แต่ก็ปะเข้ากับวลีเฉียบ

“ผมพอแล้ว”

 

คำว่า “ผมพอแล้ว” ที่ออกจาก 2 เรียวปาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2531

มิใช่อยู่ๆก็เกิดขึ้น

ตรงกันข้าม ในฐานะ “ทหาร”ที่เข้ามาอยู่ในแวดวง”การเมือง” ได้มีการรวบรวมข้อมูลและประมวลผล

สัมผัสได้จาก”ปฏิกิริยา” ของ “ประชาชน”

8 ปีกว่าเหมาะสมแล้วสำหรับนายกรัฐมนตรี “คนกลาง”ซึ่งมาจาก “คนนอก”และไม่ได้ผ่านกระบวนการ”เลือกตั้ง”

99 ปัญญาชนถึงกับ”ถวายฎีกา”ให้ละ ให้เลิก

คนที่มากด้วย”ความฉลาด”และมากด้วย”ความเฉลียว”ในทางการเมืองระดับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ย่อมมองออก

      จึงได้เปล่ง”ผมพอแล้ว”ออกมา

 

การส่งความสุข(ส.ค.ส.)เมื่อเช้าวันที่ 28 ธันวาคม ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จึงเปี่ยมด้วยความหมาย

เป็นความหมายบนพื้นฐาน “ความพอเพียง”

เท่ากับเป็นการปรับประสานปรัชญาว่าด้วย”ความพอเพียง”เข้ากับความเป็นจริงในทาง “การเมือง”

เพียงแต่เมื่อเดือนสิงหาคม 2531 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นำมาใช้กับตนเอง เพื่อแสดงให้เห็นว่า “ผมพอแล้ว”สำหรับตำแหน่งในทางการเมือง

แต่คราวนี้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ กำลังสรุปและส่งเป็น ส.ค.ส.ให้กับนายทหารรุ่นหลังด้วยความปรารถนาดี

เพียงแต่ว่าท่านเหล่านั้นจะ”สำเหนียก”หรือไม่