เพ็ญสุภา สุขคตะ : “ล้านนาศึกษา” ใน “ไทศึกษา” ครั้งที่ 13 (11) ต้นฉบับชินกาลมาลีปกรณ์และจามเทวีวงส์ : จากล้านนาสู่อยุธยาและรัตนโกสินทร์ (จบ)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

เหลือแต่ตัวขอม-มอญ ไม่มีลาว

ตอนที่แล้วได้กล่าวถึงคัมภีร์ใบลานฉบับต่างๆ ทั้งของชินกาลมาลินี และจามเทวีวงส์ ว่ามีทั้งหมดกี่ฉบับ และจารด้วยตัวอักษรอะไรบ้าง

พบว่า ชินกาลมาลินี จารด้วยตัวอักษรขอม 10 ฉบับ อักษรมอญ 1 ฉบับ (ฉบับมอญนี้เหลือแต่ปก ไม่มีเนื้อใน) แต่กลับไม่พบตัวอักษรลาว

ดร.อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล กล่าวว่า ชาวสยามเรียกตัวอักษรธัมม์ล้านนาว่า ตัวลาว (ไม่มีสร้อยต่อท้าย ว่าลาวล้านนา) และเรียกตัวอักษรธัมม์อีสานว่า ตัวลาวล้านช้าง หรือลาวหลวงพระบาง

การเรียกเช่นนี้ไม่ได้เป็นการดูถูก แต่เรียกแบบเคารพบรรพบรุษ เพราะคำว่าลาวหมายถึงลูกหลานของปู่จ้าวลาวจก ด้วยเหตุนี้ ดินแดนล้านนาจึงมีการใช้คำว่า “ลาว” อยู่หลายสิ่งหลายอย่าง อาทิ เทือกเขาแดนลาว (กั้นพรมแดนระหว่างพม่ากับล้านนา) แม่ลาว นางลาวทอง (ตัวละครในเรื่องขุนช้างขุนแผน) เป็นต้น

ในขณะที่จามเทวีวงส์ พบคัมภีร์ที่จารด้วยตัวอักษรขอม 10 ฉบับ ตัวอักษรมอญ 1 ฉบับ และแถมท้ายด้วยตัวลาวหรืออักษรธัมม์ล้านนา 3 ฉบับ

ทว่าได้กล่าวในตอนที่แล้วแล้วว่าอักษรธัมม์ทั้งหมดนี้ เป็นการคัดลอกมาจากอักษรขอมอีกต่อหนึ่ง หาใช่ต้นฉบับดั้งเดิมไม่

เหตุที่ทราบ ก็เพราะพบจุดที่เขียนผิด (ด้วยการสลับตัวอักษรระหว่าง ค. และ ต.) อยู่หลายจุด ซึ่งเป็นจุดผิดเดียวกันกับต้นฉบับอักษรขอม เนื่องจากอักษรขอมพยัญชนะตัว ค. และ ต. มีความละม้ายคล้ายคลึงกันมาก ง่ายต่อการสับสนหากจารผิดก็จะส่งต่อคำผิดนั้น

ในขณะที่อักษรธัมม์ล้านนา ตัว ค. กับ ต. มีความแตกต่างกันมาก หากเริ่มคิดเริ่มเขียนด้วยตนเองเป็นไปไม่ได้ที่จะเขียน ค. สลับกับ ต. แต่ในกรณีนี้ คัมภีร์จามเทวีวงส์ฉบับวัดสูงเม่น 2 ฉบับ และวัดช้างค้ำอีก 1 ฉบับ กลับเขียน โตมร ที่แปลว่า หอกซัด เป็น โคมร ทำให้ความหมายเปลี่ยน อันเป็นการจารผิดมาตั้งแต่ต้นฉบับอักษรขอม จึงผิดเรื่อยมาจนถึงฉบับอักษรธัมม์ล้านนา

นี่คือสิ่งที่ทำให้เราทราบว่า จามเทวีวงส์ฉบับล้านนา ยุคหลังๆ 3 ฉบับนี้ เป็นการคัดลอกมาจากต้นฉบับอักษรขอมนั่นเอง

ในขณะเดียวกัน ยังมีการค้นพบจามเทวีวงส์ “ฉบับสมุดฝรั่ง” ซึ่งอาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ได้จ้างหนานบุญมี จัณณพรหม คัดลอกคัมภีร์ไว้เมื่อ พ.ศ.2517

อาจารย์สิงฆะได้ยืมใบลานต้นฉบับมาจากวัดสูงเม่น เมืองแพร่ แต่ไม่ระบุว่าเป็นฉบับไหน ระหว่าง พ.ศ.2376 หรือ พ.ศ.2385?

นอกจากนี้แล้ว ที่วัดบ้านหลุก ตำบลเหมืองง่า อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ได้พบหนังสือ “หมายชื่อใบลาน” เป็นเสมือนรายการบัตรค้นคำ หรือดรรชนี ในห้องสมุดสำหรับค้นคว้าชื่อคัมภีร์ต่างๆ ภายในวัดบ้านหลุกเอง

หนึ่งในนั้นมีการระบุชื่อหนังสือ “บาลีจามเทวีวงส์” จำนวน 5 ผูก แต่พบแค่ชื่อบัตรรายการ ทว่าตัวคัมภีร์สูญหายไปแล้ว

อาจารย์สมฤทธิ์ ลือชัย ผู้ดำเนินรายการอภิปราย กล่าวเสริมว่า ชินกาลมาลินียังมีฉบับภาษาสิงหฬ อยู่ที่ลังกา อันเป็นการแปลจากอักษรขอม ฉบับหอสมุดแห่งชาติท่าวาสุกรี ต่อมาฉบับภาษาสิงหฬนี้ ยังได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ และฝรั่งเศสอีกด้วย

 

คนแต่งเป็นชาวล้านนา
แม้ไม่พบฉบับอักษรธัมม์ล้านนา

เนื้อหาในชินกาลมาลินี แม้ว่าครึ่งแรกจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา แต่ครึ่งหลังในตอนท้ายก็ว่าด้วยประวัติศาสตร์ของล้านนาอย่างเข้มข้น

มีศัพท์แสงชื่อบ้านนามเมืองเป็นภาษาล้านนาล้วนๆ ซึ่งพยายามนำชื่อภาษาล้านนานั้นๆ มาทำการย้อมหรือแปลงให้เป็นภาษาบาลี เช่น แม่น้ำกก กลายเป็น กุกนที แม่น้ำวัง กลายเป็น วังกนที เป็นต้น

ถ้าไม่ใช่คนล้านนาเป็นผู้แต่ง ก็คงเกินกำลังของคนอยุธยาหรือรัตนโกสินทร์ที่จะแต่งด้วยภาษาล้านนาได้ ดังนั้นควรมีชินกาลมาลินีฉบับเก่าสุดที่ต้องเขียนด้วยอักษรล้านนามาก่อน แต่ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น ต้นฉบับภาษาล้านนาทั้งของชินกาลมาลินี และจามเทวีวงส์กลับไม่พบในดินแดนภาคเหนือเลย

ดร.บาลี พุทธรักษา กล่าวเสริมว่า อักษรธัมม์ล้านนาเป็นอักษรที่นิยมใช้สำหรับจารคัมภีร์ใบลาน มากกว่าที่จะใช้จารลงหลักศิลา ใบลานเป็นวัสดุที่อายุสั้นมาก หากมีการเก็บรักษาที่ไม่ดีย่อมเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็ว

บางครั้งใบลานอาจสูญหายไปเพราะถูกขนย้ายในการสงคราม อย่าลืมว่าคัมภีร์ใบลานถือเป็นสมบัติล้ำค่าทางภูมิปัญญาประเภทหนึ่ง ไม่ต่างอะไรไปจากโบราณวัตถุจำพวกพระพุทธรูป

บทเรียนจากประวัติศาสตร์หลายตอน พบว่ากองทัพของฝ่ายที่ชนะมักขนเอาคัมภีร์ใบลานของอีกฝ่ายหนึ่งไปไว้ที่เมืองของตน ดร.บาลี เชื่อว่าต้นฉบับคัมภีร์ใบลานอักษรธัมม์ล้านนาเรื่องชินกาลมาลินี และจามเทวีวงส์ คงถูกพม่าขนไป ท่ามกลางคัมภีร์ใบลานจำนวนมหาศาล

กล่าวคือ หากถามว่าต้นฉบับชินกาลมาลินี และจามเทวีวงส์ อยู่ที่ไหน คงตอบได้ว่า ส่วนหนึ่งอยู่ในพม่า อีกส่วนสูญหาย หรือไม่ก็ชำรุดไปแล้ว

ครั้นเมื่อคัมภีร์เหล่านี้มาอยู่ในราชสำนักอยุธยา (โดยการนำมาจากชัยชนะทางการสงครามเช่นเดียวกัน) โอกาสที่จะรอดปลอดภัยย่อมมีสูงกว่าปล่อยให้อยู่ดินแดนล้านนา เนื่องจากอยุธยาเสียเมืองให้พม่าแค่เพียงช่วงสั้นๆ จากนั้นก็ส่งผ่านมายังธนบุรี และรัตนโกสินทร์

ในขณะที่ล้านนาเสียเมืองให้พม่ายาวนานถึง 217 ปี

 

ชินกาลมาลินี ไม่มีการเทศนา
แต่ปุจฉาธรรมใช้จามเทวีวงส์

การแปลชินกาลมาลินีที่เขียนด้วยภาษาบาลีปนล้านนา จากอักษรขอมมาเป็นภาษาไทยกลาง ในสมัยรัชกาลที่ 1 ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากพระรัตนปัญญาเถระ ผู้ประพันธ์ได้ผูกภาษาล้านนาเป็นบาลีไว้แล้วชั้นหนึ่ง เช่น พระญาแสนเมืองมา กลายเป็นลักษณบุราคม

ครั้นเมื่อพระภิกษุยุคต้นรัตนโกสินทร์แปลลักษณบุราคม เป็นภาษาไทยกลาง กลับไม่ทราบว่า ควรแปลเป็นแสนเมืองมา แต่ไปแปลเป็นคำอื่น เนื่องจากไม่เข้าใจบริบทท้องถิ่น ภาษาจึงข้ามกัน

สิ่งที่น่าสนใจคือ ทำไมรัชกาลที่ 1 จึงโปรดให้แปล ทั้งๆ ที่ในราชสำนักสยามไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการใช้คัมภีร์ชินกาลมาลินีเลย

ตรงข้ามกับจามเทวีวงส์ มีหลักฐานชัดเจนว่ามีการเทศนาเรื่องนี้ในราชสำนัก มีการเอ่ยถึงในพระราชปุจฉาในรัชกาลที่ 1 กล่าวคือ มีพระเถระผู้ใหญ่รูปหนึ่ง ถามประเด็นบางประเด็น ก็มีพระเถระอีกรูปวิสัชชนาโดยยกข้อความจากจามเทวีวงส์มาตอบ

โดยยกเรื่องราวที่ว่าด้วยมนุษย์รู้ภาษาของอีกา ใช้เป็นอุทาหรณ์ว่ามนุษย์สามารถรู้ภาษาสัตว์ สัตว์ก็รู้ภาษามนุษย์ได้

และยังได้มีการเอ่ยว่า เมื่อเทศน์เรื่องจามเทวีวงส์แล้ว จักได้เทศน์เรื่องอื่นต่อไป ดร.อนันต์วิเคราะห์ว่า จามเทวีวงส์เคยถูกนำมาเทศน์ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายแล้ว และมีบทบาทมาจนถึงช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ดังที่เห็นได้ว่ามีการคัดลอกจามเทวีวงส์สืบต่อกันมาหลายฉบับ คือฉบับกรุงธนบุรี ฉบับรัชกาลที่ 1 ฉบับรัชกาลที่ 2

ทำไมจึงมีการเอาจามเทวีวงส์ไปใช้เทศน์

ดร.อนันต์ไม่คิดว่าเพราะเป็นคัมภีร์ที่มีสถานะความศักดิ์สิทธิ์เหนือกว่าชินกาลมาลินี แต่น่าจะเป็นเพราะจามเทวีวงส์มีลักษณะเป็นหนึ่งใน Collection ของตำนาน หรือนิทาน มีเรื่องเล่าต่างๆ มากมาย มีคำสอนแทรกเป็นระยะๆ วรรณกรรมเรื่องนี้มีคุณค่าในเชิงวรรณกรรมคำสอน จึงถูกนำไปใช้เทศนา

ในขณะที่ชินกาลมาลินี เป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ไม่เน้นการเทศนา เห็นได้ว่า หากชินกาลมาลินีเน้นการสั่งสอนจริงแล้ว ตอนที่พระเจ้าติโลกราชจับพระญาสามฝังแกน พระราชบิดาไปกุมขังเพื่อปราบดาภิเษกพระองค์เองขึ้นเป็นกษัตริย์ หากผู้แต่งมีจุดประสงค์เพื่อต้องการเทศนาธรรมอย่างแท้จริง

ข้อความตอนนี้ก็น่าจะต้องประณามพฤติกรรมดังกล่าวว่าเป็นบาปร้ายแรงถึงขั้นอนันตริยกรรม แต่นี่ไม่มี เหตุที่ชินกาลมาลินีเขียนเพื่อเชิดชูพระเจ้าติโลกราช

 

สรุป

ดร.อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล เห็นว่าอาณาจักรอยุธยามีความสำคัญยิ่ง ในฐานะที่ช่วยเก็บรักษาวรรณกรรมภาษาบาลีสองชิ้นนี้ไว้อย่างดีคือ ชินกาลมาลินี และจามเทวีวงส์ ทั้งๆ ที่ได้สูญหายไปแล้วจากล้านนา (ไม่ว่าจะมีการนำคัมภีร์สองเล่มนี้มาสู่ราชสำนักอยุธยาในสมัยใด โดยใคร ด้วยสาเหตุไรก็ตาม ซึ่งทั้งหมดนี้ยากแก่การสืบค้น)

แต่อยุธยาได้ถ่ายทอดวรรณคดีสองเรื่องนี้ ส่งต่อมายังกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ ทำให้ชาวล้านนาสามารถเรียนรู้เรื่องราวจากเอกสารทั้งสอง ผ่านงานแปลภาษาไทยกลาง

แม้ในสมัยกรุงธนบุรี จะเป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่ก็มีหลักฐานในพงศาวดารชัดเจนว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีพระบรมราชโองการให้ปราชญ์และพระภิกษุช่วยกันรวบรวมคัมภีร์ คัดลอกคัมภีร์ ให้จำลองพระไตรปิฎกจากทั่วทุกสารทิศ ด้วยตัวอักษรขอม

ในที่สุด คัมภีร์อักษรขอม (เรื่องจามเทวีวงส์) ก็ได้กลับคืน กลายมาเป็นต้นฉบับให้แก่ตัวอักษรธัมม์ล้านนา

ณ แผ่นดินมารดรอีกครั้งหนึ่ง