กรองกระแส / บทเรียนการเมือง จาก จอมพลถนอม กิตติขจร ถึง สุจินดา คราประยูร

กรองกระแส

บทเรียนการเมือง
จาก จอมพลถนอม กิตติขจร
ถึง สุจินดา คราประยูร

หากมองจากบทเรียนทางการเมืองในอดีต พลันที่มีการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 นั่นหมายถึง “ยุทธศาสตร์” ทางการเมืองที่จะต้องมีการแปรเปลี่ยน
ไม่ว่า จอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อปี 2511
ไม่ว่า นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เมื่อปี 2518 ไม่ว่า พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เมื่อปี 2522 ไม่ว่า พล.อ.สุจินดา คราประยูร เมื่อปี 2534 และไม่ว่า พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อปี 2550
ในจำนวน 5 คนนี้มีนายกรัฐมนตรีเพียง 2 คนที่ยอมรับ
1 คือ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ และ 1 คือ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อาจเพราะตระหนักว่าเสมอเป็นเพียงนายกรัฐมนตรี “ชั่วคราว”
แล้วอีก 3 คนที่ไม่ยอมรับเป็นอย่างไร
จอมพลถนอม กิตติขจร ถูกประชาชนขับไล่อย่างอัปยศอดสูในเดือนตุลาคม 2516 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ปรับตัวและยอมรับด้วยการลาออกในเดือนกุมภาพันธ์ 2523 พล.อ.สุจินดา คราประยูร มีชะตากรรมเช่นเดียวกับจอมพลถนอม กิตติขจร นั่นก็คือถูกต่อต้านในเดือนพฤษภาคม 2535
บทเรียนจาก “อดีต” กำลังเข้ามาย้ำเตือนให้กับนายกรัฐมนตรีที่มาจากรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 เมื่อ 3 ปีก่อน

สัญญาณการเมือง
จาก “รัฐธรรมนูญ”

รัฐบาลที่มาจากสถานการณ์ไม่ปรกติ ไม่ว่าจะเป็น นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เมื่อเดือนตุลาคม 2516 ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อเดือนตุลาคม 2549
พลันที่เห็น “รัฐธรรมนูญ” ประกาศและบังคับใช้ก็รู้อยู่แล้ว
การประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญให้ความหมายว่าประเทศจะเข้าสู่ความเป็นปรกติในทางการเมือง อำนาจที่เคยมีจากกระบวนการรัฐประหาร ไม่ว่าประกาศหรือคำสั่งจะต้องค่อยๆ ผ่อนคลาย นั่นหมายถึงสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายจักต้องเปิดกว้าง
ความหมายย่อมหมายความถึงการตระเตรียมเพื่อนำไปสู่ “การเลือกตั้ง”
ความหมายอย่างเป็นรูปธรรมก็คือ การยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่สำคัญๆ อย่างเช่น ว่าด้วย กกต. ว่าด้วยพรรคการเมือง ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หมายความว่าเป็นการปูพื้นเพื่อให้ “การเลือกตั้ง” เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ เที่ยงธรรม
แท้จริงแล้ว คสช. น่าจะตระหนักในเรื่องนี้และอาศัยบทเรียนจากรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารก่อนหน้านี้มาเป็นเครื่องเตือนว่าสมควรจะทำอย่างไร ปรับตัวอย่างไรจึงจะเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสถานการณ์
เพียงแต่ คสช. ไม่ได้คิดเหมือนนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ไม่ได้คิดเหมือน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เท่านั้นเอง

ทิศทางของ คสช.
การสืบทอดอำนาจ

หากมองจากเนื้อหาอันปรากฏผ่านรัฐธรรมนูญ หากมองจากการเคลื่อนไหวภายหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศและบังคับใช้
เด่นชัดยิ่งว่า ทิศทางของ คสช. ต้องการอยู่ในอำนาจ
เหมือนกับที่ จอมพลถนอม กิตติขจร ต้องการอยู่ในอำนาจหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2514 เหมือนกับที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ต้องการอยู่ในอำนาจหลังรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2520 เหมือนกับที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ต้องการอยู่ในอำนาจหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534
ยุทธศาสตร์ของ คสช. จึงเป็นยุทธศาสตร์อันแตกต่างไปจากของนายสัญญา ธรรมศักดิ์ แตกต่างไปจากของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์
หากดำเนินไปเหมือนกับที่จอมพลถนอม กิตติขจร กำหนด
หากดำเนินไปเหมือนกับที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ กำหนด
หากดำเนินไปเหมือนกับที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร กำหนด
แม้จะรู้อยู่เป็นอย่างดีว่าทั้ง 3 คนนี้มีชะตากรรมเป็นอย่างไร

การสืบทอดอำนาจ
มิใช่ “อาชญากรรม”

ในความเป็นจริง การสืบทอดอำนาจมิได้เป็นความผิด เพราะมีรัฐบาลที่ดีจำนวนไม่น้อยมีพื้นฐานมาจากกระบวนการรัฐประหาร
แต่ที่กลายเป็นปัญหาในเวลาต่อมาคือ วิธีการ
นั่นก็คือ วิธีการในการจัดทำรัฐธรรมนูญ วิธีการในการบริหารบ้านเมือง ที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือ สามารถสร้างผลงานและสร้างความพอใจให้กับประชาชนหรือไม่
หากเป็นที่พอใจ ประชาชนก็ไว้วางใจและเลือกให้ดำรงอยู่ในอำนาจต่อไป
นั่นหมายความว่าการบริหารภายหลังรัฐประหารสามารถสร้างผลและความสำเร็จ ส่งผลให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ ดำรงอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข มีความหวัง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศดำเนินไปอย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี
ความสำเร็จจากบริหารจึงเป็นคำตอบขั้นสุดท้าย ความสำเร็จของจอมพลถนอม กิตติขจร และ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ตลอดจน พล.อ.สุจินดา คราประยูร จึงคือคำตอบ
เป็นคำตอบต่อ คสช. ว่าในอนาคตอันใกล้จะเป็นอย่างไร