นายกฯ-คณะสัญจรใต้ : สุภาพ มีอารยะ เป็นกุญแจดอกแรกสู่การแก้ปัญหา และพัฒนา

ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกคน

ขอทบทวนเหตุการณ์การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรที่ภาคใต้

27-28 พฤศจิกายน 2560 นายกฯ นำคณะประชุม ครม. อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ภาคใต้ ในพื้นที่ จ.ปัตตานีและสงขลา โดยการลงพื้นที่แบบจัดเต็ม ทั้งพบกับผู้นำท้องถิ่นรวมทั้งเปิดโอกาสพบปะประชาชนจังหวัดชายแดนใต้ ประชุมติดตามความมั่นคงและการพัฒนา/เปิดตลาดกลางปศุสัตว์-ตลาดประชารัฐ/เปิดเขตอุตสาหกรรมพิเศษต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

การลงพื้นที่ในครั้งนี้ทำให้หลายภาคส่วนเตรียมงาน เตรียมพบปะ เตรียมรายงาน ถอดบทเรียนและเตรียมข้อเสนอมากมาย อันจะเป็นแนวทางการแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่สู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน

27-28 พฤศจิกายน 2560 นั่นมีสองเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง ขั้นละเมิดสิทธิมนุษยชน กล่าวคือ

หนึ่ง ในระหว่างที่นายกรัฐมนตรีและคณะจะไปเยี่ยมชมนิทรรศการ นายภรัณยู เจริญ อายุ 34 ปี ชาวจังหวัดปัตตานี อาชีพทำการประมง ได้ร้องเรียนนายกรัฐมนตรี โดยอยากให้แก้ไขกฎระเบียบเกี่ยวกับการทำประมงที่กำหนดให้ชาวประมงสามารถออกเรือไปทำประมงได้ 220 วันต่อปี ซึ่งถือว่าน้อยเกินไป ทำให้ผู้ประกอบอาชีพประมงประสบกับภาวะขาดทุน จึงขอให้แก้กฎหมายเพิ่มวันออกเรือ

แต่ระหว่างอธิบาย นายภรัณยูได้ใช้เสียงดัง เพื่อแข่งกับเครื่องขยายเสียง ทำให้นายกฯ ไม่พอใจ พร้อมพูดเสียงดังผ่านไมค์ให้นายภรัณยู กลับ ว่าไม่ควรมาขึ้นเสียงกับตนเอง พูดดีๆ ก็ได้ พร้อมรับฟังปัญหา แต่ต้องดูผลกระทบภาพรวมเรื่องประมงและการส่งออกด้วย จากนั้นเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้ไปทำความเข้าใจกับนายภรัณยู และให้ไปเขียนคำร้องยังศูนย์ดำรงธรรม (โปรดดูคลิป https://www.youtube.com/watch?v=K4eBRZXNZ78)

ในขณะโฆษกรัฐบาล “ไก่อู” พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ออกมาปกป้องหลังจากนั้น 1 วัน นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความเสียใจผ่านสื่อ

สอง การเข้าไปรวบแกนนำและสลายการชุมนุมเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน กล่าวคือ จากกรณี นายดิเรก เหมนคร ผู้ประสานงานเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน และคณะออกแถลงการณ์ “เดิน…เทใจให้เทพา หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน เดิน…หานายกฯ หยุดทำลายชุมชน” โดยระบุว่า สืบเนื่องจากการที่นายกรัฐมนตรีจะมาตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดปัตตานีในวันที่ 27 พฤศจิกายน และประชุม ครม.สัญจรที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย อ.เมืองสงขลา ในวันที่ 28 พฤศจิกายน ชาวเทพาและเครือข่ายมีมติจะเดินเท้าจากพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาไปหานายกรัฐมนตรีในวันประชุม ครม.สัญจร เพื่อสื่อสารต่อสาธารณะถึงความไม่เป็นธรรมที่ชาวบ้านได้รับจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีถึงเหตุผลของชาวบ้านที่ไม่ต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหินและอุตสาหกรรมสกปรก แต่ต้องการการพัฒนาที่ยั่งยืน (27 พฤศจิกายน) ที่บริเวณสี่แยกสำโรง จังหวัดสงขลา

กลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา หรือเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ได้รวมตัวกันบริเวณดังกล่าว โดยทั้งหมดเดินเท้าออกมาจากหมู่บ้านที่ อ.เทพาตั้งแต่วันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยเดินวันละประมาณ 20 กิโลเมตรและมีผู้ร่วมขบวนสมทบมาเรื่อยๆ เพื่อมาดักรอยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เพื่อคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

ทั้งนี้ กลุ่มคัดค้านได้ประสานกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรภาค 9 และทหารจากมณฑลทหารบกที่ 42 โดยได้รับการยืนยันว่า จะมีตัวแทนของรัฐบาลหรือเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมารับหนังสือคัดค้านดังกล่าว

แต่ปรากฏว่า จนถึงเวลา 14.40 น. ยังไม่ปรากฏผู้แทนจากฝ่ายรัฐบาลมารับ ทำให้แกนนำและชาวบ้านเกิดความไม่พอใจเนื่องจากยังไม่มีใครได้รับประทานกลางวัน จึงได้เกิดการปะทะกันเล็กน้อยระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่เนื่องจากชาวบ้านต้องการที่จะฝ่าด่านดังกล่าวไปรับประทานอาหารกลางวัน แต่ทางเจ้าหน้าที่ไม่ยินยอม จึงเกิดการผลักดันกันจนทำให้ชาวบ้านได้รับบาดเจ็บประมาณ 4-5 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้รีบนำผู้ได้รับบาดเจ็บส่งโรงพยาบาล

หลังจากนั้นมีการจับกุมแกนนำ 16 คน โดยที่รัฐอ้างว่าเจ้าหน้าที่สลายม็อบต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ตามคำสั่งศาล จ.สงขลาที่ให้เลิกการชุมนุมและออกนอกพื้นที่ (โปรดอ่านรายละเอียดในหมายเหตุและ http://www.tnews.co.th/index.php/contents/383377)

ในขณะที่โฆษกรัฐบาล ใช้ทีวีทุกช่องแก้ต่างผู้ชุมนุมโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โดยพูดถึงแกนนำที่หายตัวไป ฉวยโอกาสป้ายสีหาว่าไปกกผู้หญิง วิจารณ์แซดพฤติกรรมไม่ต่างจากนายกฯ ตวาดใส่คนปัตตานีก่อนหน้านี้

(โปรดดู https://news1live.com/detail.aspx?NewsID=9600000120326)

ทั้งสองเหตุการณ์ ทั้งตัวท่านนายกรัฐมนตรี โฆษกรัฐบาลและฝ่ายมั่นคงหรือลูกน้องท่านไม่นับรวมรองผู้ว่าราชการจังหวัดตรังท่านหนึ่งที่ใช้วาจาไม่สุภาพเช่นกันต่อแกนนำชาวสวนยางที่มายื่นหนังสือเพื่อให้แก้ปัญหาความเดือดร้อนตามที่เป็นข่าวทางโลกโซเชียลก่อนหน้านี้ (โปรดดูคลิป https://www.youtube.com/watch?v=C8n–CbC-Do)

 

ทั้งหมดนั้นถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งเพิ่งประกาศสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ ในไม่กี่วันที่ผ่านมาและกำลังสร้างวัฒนธรรมความก้าวร้าวไร้อารยะให้เป็นแบบอย่างซึ่งยากจะยอมรับได้ของนานาอารยะ

นักวิชาการมองว่า สำหรับการสลายการชุมนุมครั้งนี้ จึงไม่เพียงเป็นการละเมิดสิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ กระบวนการทางกฎหมายเท่านั้น หากยังสะท้อนวิธีคิดแบบ “อำนาจนิยม” ที่เห็นประชาชน-ชาวบ้านเป็นศัตรู ไม่มีมนุษยธรรมและความชอบธรรมใด

ทำให้สังคมไทยอยู่ในบรรยากาศและการกระทำที่พร้อมใช้ความรุนแรงโดยรัฐต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด

สําหรับคำกล่าวของโฆษกรัฐบาล เป็นการเหมารวมว่าเมื่อชายใดหนีออกจากบ้านหรือไม่กลับบ้านจะเป็นการไปพบหญิงอื่นที่ไม่ใช่ภรรยาตนนั้น เป็นทัศนคติที่ฝั่งอยูในจิตใจของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ชายที่อาจมีพฤติกรรมเช่นนั้นอยู่เองในหมู่เพื่อนฝูงและคนใกล้ชิด

การมีสัมพันธ์กับหญิงอื่นที่ไม่ใช่ภรรยาตนเป็นพฤติกรรมทางสังคมที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง เป็นการเอารัดเอาเปรียบเพศหญิง ทั้งหญิงที่เป็นภรรยาตนและหญิงอื่นด้วยอำนาจทางสังคมหรือเงินทอง แต่กลับเป็นที่ยอมรับของสังคมไทย

หากแต่การวิพากษ์วิจารณ์หรือส่อเสียดผู้นำชาวบ้านที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐโดยนำประเด็นนี้มากล่าวถึงในทางสาธารณะ ผ่านรายการโทรทัศน์อย่างเป็นทางการเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง โดยเฉพาะจากผู้ที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของรัฐในฐานะโฆษก

(อ้างคำกล่าวของ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม)

กล่าวโดยสรุป บทเรียนที่ได้จากการลงใต้ครั้งนี้ได้สะท้อนภาวะผู้นำ คนทำงานของรัฐหลายคนทั้งส่วนกลางและพื้นที่

ที่แสดงถึงการใช้อำนาจอย่างมากต่อผู้ด้อยกว่า และเห็นต่างที่อาจจะกล่าวได้ว่าผลักพวกเขาทั้งคนเห็นต่างและอยากร่วมแก้ปัญหา และสะท้อนปัญหาห่างจากรัฐมากขึ้น

เพราะหากใช้วาจาสุภาพ ปฏิบัติตามและรับฟังอย่างมีอารยะ มันจะได้ใจชาวบ้าน อันเป็นกุญแจดอกแรกสู่การแก้ปัญหา และพัฒนา อย่างประชารัฐเพื่อความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนอย่างแท้จริง

ซึ่งรัฐบาลและคนรอบข้างนายกฯ น่าจะถอดบทเรียนปรากฏการณ์ตูนที่วิ่งผ่านแดนใต้