คนมองหนัง : เขียนถึง “ไม่มีสมุยสำหรับเธอ” และ “มะลิลา”

คนมองหนัง

ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน เพิ่งเดินทางไปท่องเที่ยวที่ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งขณะนั้น เขากำลังจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกันอยู่พอดี

จึงมีโอกาสตีตั๋วเข้าชมหนังไทยสองเรื่อง ที่กำลังออกเดินสายตามเทศกาลหลายต่อหลายแห่ง นั่นคือ “ไม่มีสมุยสำหรับเธอ” ของ “เป็นเอก รัตนเรือง” และ “มะลิลา” ของ “อนุชา บุญยวรรธนะ”

ขออนุญาตเริ่มต้นที่หนังของเป็นเอกกันก่อน

ตามความเห็นส่วนตัว “ไม่มีสมุยสำหรับเธอ” ถือเป็นผลงานระดับ “ดี” ของเป็นเอก แต่ไม่ได้ “ดีที่สุด” ถ้าให้เปรียบเทียบกับหนังเรื่องอื่นๆ ของผู้กำกับฯ คนเดียวกัน หนังเรื่องนี้คล้ายจะมีลักษณะร่วมกับ “ฝนตกขึ้นฟ้า” อยู่ไม่น้อย

หากพิจารณาจากแก่นแกนความคิดหลักที่ถูกนำเสนอผ่านหนังทั้งสองเรื่อง ซึ่งว่าด้วยการดิ้นรนหลบหนีและเปลี่ยนแปลงตนเองของ “คนสีเทา” ตัวเล็กๆ กับการแผ่ขยายอิทธิพลอันไพศาลของโครงสร้างอำนาจขนาดใหญ่

หนังเล่าเรื่องของดารานางร้ายละครโทรทัศน์ชื่อดังที่ใช้ชีวิตคู่อย่างไม่ค่อยมีความสุขนักกับสามีเศรษฐีฝรั่ง ผู้อุทิศตนให้แก่ลัทธิความเชื่อประหลาด

ความสัมพันธ์ระหว่างดาราหญิงกับสามีต่างชาติและเจ้าลัทธิค่อยๆ ทวีความตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ เธอตัดสินใจว่าจ้างหนุ่มลูกครึ่งฐานะขัดสน ซึ่งพบเจอกันโดยบังเอิญที่โรงพยาบาล ให้เข้ามาช่วยเคลียร์ปัญหา

ก่อนที่เรื่องราวทั้งหมดจะพัวพันยุ่งเหยิงจนสลับซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก

ถ้าให้สรุปประเด็นอย่างรวบรัด ผมตีความว่า “ไม่มีสมุยสำหรับเธอ” กำลังพูดถึงสายสัมพันธ์/ความขัดแย้งระหว่าง “รูปแบบที่หลากหลายและการพลิกผันของเรื่องเล่า” กับ “โครงสร้างอันแข็งตัวของอำนาจ”

หนังพยายามหาคำตอบให้กับคำถามที่ว่า ถ้าเรา (คนเล็กๆ ผู้ต้องการจะทดลองเล่าเรื่องของตัวเอง) ลองพลิกมุมมอง สลับสับเปลี่ยนตัวละคร หรือเคลื่อนย้ายฉากหลังของเรื่องราว จนก่อเกิดเป็นเรื่องเล่าลื่นไหลหลากชนิดเกี่ยวกับผู้อยู่ใต้อำนาจและผู้มีอำนาจ

การทดลองดังกล่าวจะส่งผลให้โครงสร้างอำนาจที่แลดูแข็งแกร่งตายตัวสั่นคลอนหรืออ่อนแอลงบ้างหรือไม่?

โจทย์ใหญ่ของ “ไม่มีสมุยสำหรับเธอ” ถูกขับเคลื่อนด้วยระลอกสถานการณ์พลิกผันจำนวนมาก

หนังมีอะไรหลายจุดที่ชี้ชวนให้คนดูนึกถึงผลงานเรื่องก่อนๆ ของเป็นเอก ตั้งแต่ “กิมมิก” เล็กๆ น้อยๆ จนถึงลักษณะการนำพาเรื่องราวให้เลยเถิดเตลิดเปิดเปิงไปเรื่อยๆ ผ่านความบังเอิญ ความสะเพร่า ความน่าชวนหวัว ตลอดจนความไม่น่าเชื่อถือ (แต่สนุกสนานตามสมควร)

ใครที่ชอบ “ฝัน บ้า คาราโอเกะ” และ “เรื่องตลก 69” คงเพลิดเพลินกับหนังเรื่องนี้ได้ไม่ยาก

ตัวละครที่มีเสน่ห์มากๆ รายหนึ่งใน “ไม่มีสมุยสำหรับเธอ” กลับไม่ใช่เหล่าตัวละครหลัก แต่เป็น “แม่ผู้ป่วยหนัก” ของนักฆ่าลูกครึ่ง ที่ดำรงอยู่คู่เคียงกับอารมณ์ตลกร้าย และ “ปรากฏการณ์มหัศจรรย์” ภายในหนัง

เป็นตัวละครนักฆ่าหนุ่มต่างหากซึ่งถูกประกอบสร้างขึ้นมาจากองค์ประกอบแปลกๆ ไม่น่าเชื่อถือมากมาย แต่พอนำตัวละครรายนี้ไปประกบทาบกับสามีฝรั่งของนางเอก ภาพเปรียบเทียบเช่นนั้น กลับสามารถทำให้เรามองเห็นความหลากหลายของ “ฝรั่ง” ในเมืองไทย ได้อย่างน่าสนใจ

สำหรับตัวละครเจ้าลัทธิประหลาด หรือ “เดอะ โฮลี่ วัน” เท่าที่จับได้จากบทสนทนาช่วงต้นเรื่อง ดูเหมือนว่าทีแรกสุด ผู้กำกับฯ คงอยากจะใช้เขาเป็น “ภาพแทนของพระสงฆ์จริงๆ” เลยด้วยซ้ำ

แต่หนังก็ค่อยๆ คลี่คลายสถานการณ์ให้ตัวละครรายนี้เป็นเพียงเจ้าลัทธิฆราวาส โดยมีรายละเอียดหนักแน่นบางประการมาช่วยรองรับสถานะดังกล่าวในตอนจบ

อีกจุดเด่นหนึ่งที่มักปรากฏในภาพยนตร์ของเป็นเอกเสมอมา คือ การเลือกใช้นักแสดงหญิงได้อย่างเก่งกาจ

“ไม่มีสมุยสำหรับเธอ” มิได้มีแค่ดาวร้ายละครทีวีที่รับบทโดย “พลอย เฌอมาลย์” เป็นตัวละครหญิงผู้โดดเด่นรายเดียว เพราะยังมีตัวละคร/นักแสดงหญิงลึกลับอีกหนึ่งราย ซึ่งจะปรากฏกายขึ้นมาพร้อมบทบาทสำคัญมากในช่วงท้าย

ตัวละครหญิงคนนี้ทำให้ผมคิดถึงบทบาทของ “พรทิพย์ ปาปะนัย” ใน “มนต์รักทรานซิสเตอร์” และ “พลอย” เพราะพวกเธอต่างเป็นตัวละครระดับรองๆ ที่มีโอกาสออกจอในเวลาไม่มากนัก

ทว่า บุคลิกลักษณะและฝีมือการแสดงของตัวละคร/นักแสดงหญิงเหล่านี้กลับน่าจดจำเป็นอย่างยิ่ง

องค์ประกอบที่น่าเสียดายใน “ไม่มีสมุยสำหรับเธอ” คือ บรรดาตัวละครสมทบเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งไม่ได้มีเสน่ห์เฉพาะตนหรือไม่มีอารมณ์ตลกหน้าตายซื่อๆ ใสๆ เหมือนนักแสดงสมทบที่น่าประทับใจในผลงานชิ้นแรกๆ ของเป็นเอก แม้ผู้กำกับฯ จะพยายามสร้างตัวละครประเภทนี้ขึ้นมาอีกครั้งในหนังเรื่องล่าสุดก็ตาม

เช่นเดียวกับเรื่องเพลงประกอบ ที่หลายครั้ง เป็นเอกมักเลือกสรรบทเพลงของศิลปินผู้ไม่ค่อยโด่งดัง (อาทิ อารักษ์ อาภากาศ และ จ๊อบ บรรจบ พลอินทร์) มาใส่ในหนังของตนเองได้อย่างแพรวพราวเหมาะเจาะ แต่คุณสมบัติข้อที่ว่ากลับมิได้ฉายส่องออกมาในภาพยนตร์เรื่องนี้

ถัดมา ขออนุญาตกล่าวถึงหนัง “มะลิลา” ซึ่งล่าสุด เพิ่งคว้ารางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังนานาชาติสิงคโปร์

ผมค่อนข้างเซอร์ไพรส์ เมื่อพบว่าเส้นเรื่องเกี่ยวกับความรัก-สายสัมพันธ์-ความพลัดพรากระหว่าง “เชน” (เวียร์ ศุกลวัฒน์) กับ “พิช” (โอ อนุชิต) ที่มีสัญลักษณ์สื่อกลาง คือ “การทำบายศรี” มิได้เป็นเส้นเรื่องหลักเส้นเรื่องเดียวของหนัง

“มะลิลา” ถูกแบ่งแยกออกเป็นสองครึ่งอย่างชัดเจน โดยมี “เชน” เป็นตัวละครแกนกลาง เนื้อหาในอีกส่วนหนึ่ง จะเล่าถึงการออกธุดงค์ในป่าของพระบวชใหม่ (เชน) และพระผู้มีอาวุโสกว่า ซึ่งเคยเป็นนายทหารมาก่อน เพื่อฝึกปฏิบัติธรรมและปลดปลงความทุกข์

“มะลิลา” จึงก่อตัวขึ้นจากหลายองค์ประกอบที่ไม่น่าจะนำมาเขย่ารวมกันได้ ทั้งเรื่องเกย์, บายศรี, พุทธศาสนา, ป่า และกองทัพ ทั้งหมดเพื่อส่องสะท้อนถึงพันธะจากอดีต ปัจจุบันของตัวละคร (และอาจรวมถึงอนาคตของพวกเขา)

นอกจากนี้ หนังยังคละเคล้า “ความงดงาม” กับ “ความอัปลักษณ์” ให้ผสมผสานกันได้อย่างลงตัว

คนดูจะได้เห็นฉากเลิฟซีนสวยๆ และเข้าถึงอารมณ์, เห็นกระบวนการทำบายศรีอันประณีตวิจิตรบรรจง หรือได้สัมผัสกับความเขียวขจีของพื้นที่ป่าในฤดูฝน

ขณะเดียวกัน เราก็จะกลายเป็นประจักษ์พยานของความเจ็บป่วย ความสูญเสีย ความเสื่อมโทรม คราบอาเจียน เลือด หนอน ซากศพ (มากกว่าหนึ่ง) ของทั้งมนุษย์และสัตว์ ตลอดจนเรื่องเล่าว่าด้วยงูเหลือมโหดร้ายและคนที่ถูกกล่าวหาเป็นผีปอบ

ถ้าพิจารณาว่า “มะลิลา” เป็นหนัง “พุทธศาสนา” (โดยเฉพาะในครึ่งหลัง) ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถถูกจัดให้อยู่ร่วมกลุ่มกับ “ธุดงควัตร” ของ “บุญส่ง นาคภู่” ทั้งในแง่คุณภาพ, โครงสร้างเรื่องราว (การเรียนรู้ฝึกฝนตนเองของพระบวชใหม่), ความสัมพันธ์ของตัวละคร (พระอาจารย์กับพระใหม่ และมายาที่พวกเขายังติดยึด) และพื้นที่ในหนัง (ป่าเขาลำเนาไพร)

จุดต่างสำคัญอาจอยู่ที่ “มะลิลา” พยายามจะเปิดเปลือยให้คนดูได้ตระหนักถึงสภาพความเป็นมนุษย์ (ผู้ยังหลุดไม่พ้นบ่วงทุกข์) ของตัวละคร “พระอาจารย์” อย่างชัดเจนมากกว่า

เพราะใน “ธุดงควัตร” คนดูจะได้ยินเพียงเสียงร้องไห้ ที่สามารถอนุมานว่าน่าจะเป็นเสียงของพระอาจารย์ แต่ใน “มะลิลา” คนดูจะได้เห็นรายละเอียดซึ่งพูดถึงประเด็นเดียวกัน หากซับซ้อนและคมชัดยิ่งขึ้น

อีกจุดที่ส่งผลให้เนื้อหาส่วน “พุทธศาสนา” ของ “มะลิลา” ดูมีอะไรมากขึ้น ก็คือ การใส่รายละเอียดเกี่ยวกับ “ทหาร” ลงไป

ไล่ตั้งแต่ตัวละครพระอาจารย์ที่มีภูมิหลังเป็นทหาร จนถูกคนอื่นๆ เรียกขานว่า “หลวงพี่นายพัน” (หนังแสดงให้เห็นด้วยว่าหลวงพี่ท่านนี้ยังมีความรู้สึกผิดบาปบางประการหลงเหลืออยู่ในจิตใจ แต่มิได้ระบุชัดถึงปูมหลังดังกล่าว)

และการอธิบายว่า “ป่า” ที่พระสองรูปออกธุดงค์นั้นอยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่สู้รบ จนมีรถทหารวิ่งผ่าน มีซากศพคนตายถูกนำมาทิ้งขว้างตลอดเวลา

“พื้นที่สู้รบ/พื้นที่ทหาร” ในหนัง อาจมิใช่ “ภาพสะท้อนแท้จริง” ของพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งบนแผนที่ประเทศไทย แต่ผมมองว่าหนังพยายามสร้างฉากหลังตรงส่วนนี้ขึ้นมา เพื่อใช้เป็น “นิทานเปรียบเทียบ” ของสังคมไทยทั้งสังคม

สังคมที่ทหารหรือกองทัพยังมีอำนาจอิทธิพลยิ่งใหญ่อยู่ทุกแห่งหน และสังคมที่ความรุนแรงสูญเสียมีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ

แม้ยังรู้สึกเสียดายนิดๆ ที่ “มะลิลา” ดูจะมุ่งให้ความสำคัญกับการคลี่คลายความทุกข์/ความผิดบาป/บาดแผลส่วนบุคคลของปัจเจกชน มากกว่าจะทดลองขยับหรือเขย่าประเด็นเชิงโครงสร้างที่ใหญ่กว่านั้น (ซึ่งมีปรากฏให้เห็นรางๆ เป็นฉากหลังในหนัง)

แต่นี่ก็ถือเป็นภาพยนตร์ไทยที่น่าพึงพอใจมากๆ เรื่องหนึ่งของปีนี้ (หนังจะเข้าฉายเชิงพาณิชย์ในเมืองไทยต้นปี 2561)

โดยส่วนตัว ถ้าให้เปรียบเทียบข้อดี-ข้อด้อยระหว่าง “ไม่มีสมุยสำหรับเธอ” กับ “มะลิลา”

ผมคิดว่า หนังเรื่องแรกเดินทางไปไกลกว่าในแง่การพยายามแตะต้องประเด็นว่าด้วยโครงสร้างอำนาจ

ขณะที่หนังเรื่องหลังมีความละเอียดลออ เบามือ และเป็นผู้ใหญ่มากกว่า (แม้อนุชาจะอายุน้อยกว่าเป็นเอก) ในกระบวนการเล่าเรื่องซึ่งเพ่งพินิจพิจารณาถึงชีวิตของปัจเจกบุคคล