เทศมองไทย : วินาศกรรม 7 จังหวัด กับ “บีอาร์เอ็น”

“ชอว์น ดับเบิลยู. คริสพิน” ผู้สื่อข่าวมือเก๋า ที่เคยทำงานข่าวประจำประเทศไทยให้กับหลายๆ สื่อในอดีตนานนับทศวรรษ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์เจ้าประจำอยู่ที่ “เดอะ ดิพโพลแมต” หยิบเหตุการณ์วินาศกรรม 7 จังหวัดเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมามาร่ายเอาไว้ยาวเหยียดเมื่อวันที่ 1 กันยายน เพื่อควานหาว่า “ใคร” อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าว

ก่อนที่จะตั้งสมมติฐาน หาข้อบ่งชี้และเหตุผล แล้วพิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ในความเป็นจริงเป็นเปลาะๆ ไป คริสพินตั้งข้อสังเกตเอาไว้ก่อนเป็นเบื้องต้นว่า คำอธิบายของ “เจ้าหน้าที่รัฐบาล” ของไทยที่เน้นให้น้ำหนักไปที่กลุ่ม “เสื้อแดง” ซึ่งมีพันธมิตรอย่างกลุ่ม “วาดะห์” เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ครั้งนี้ การสอบสวนสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจกลับแสดงให้เห็นถึงการเกี่ยวพันกับ “บาริซาน เรโวลูซี เนชั่นแนล-บีอาร์เอ็น” กลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ใต้สุดของประเทศ “เป็นด้านหลัก”

ซึ่งนำไปสู่การตั้งคำถามเอาไว้ว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ หน่วยงานด้านความมั่นคง “ต่างๆ” ของไทยแข่งกันสอบสวนในเรื่องนี้ “สวนทาง” กัน ด้วย “แรงจูงใจทางการเมือง” แตกต่างกัน?

คริสพิน บอกไว้อย่างตรงไปตรงมาว่า ความขัดแย้งระหว่างทหาร-ตำรวจ “เข้มข้นมากขึ้น” หลังรัฐประหารเมื่อปี 2557 เมื่อ “ธุรกิจและเครือข่ายอาชญากรรม” ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของตำรวจ ถูกถอนรากถอนโคนโดยทหาร ในนามของการต่อต้าน “การคอร์รัปชั่น” เนื่องเพราะตำรวจถูกมองว่าเป็น “ฐานทางการเมือง” ของอดีตนายกรัฐมนตรี

Investigation officials collect evidence from the crime scene after a small bomb exploded in Hua Hin on August 12, 2016. A string of bomb attacks targeting Thailand's crucial tourism industry have killed four people, officials said on August 12, sending authorities scrambling to identify a motive and find the perpetrators. / AFP PHOTO / APF / MUNIR UZ ZAMAN
APF / MUNIR UZ ZAMAN

ตามข้อมูลของคริสพินนั้น นักการทูตกับนักวิเคราะห์บางส่วน เชื่อว่า “บีอาร์เอ็น” ดำเนินการครั้งนี้โดยลำพัง ซึ่งคริสพินชี้ว่าถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็จะกลายเป็น “จุดเปลี่ยนแสนอันตราย” ที่แสดงให้เห็นถึงการขยายตัวของการต่อสู้นาน 12 ปีเพื่อต่อต้านการปกครองจากเมืองหลวงของกลุ่มนี้ เพราะที่ผ่านมาความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบนั้นไม่เพียง “จำกัดพื้นที่” แต่ยัง “จำกัดเป้าหมาย” หลีกเลี่ยงเป้าหมายที่เป็น “ตะวันตก” เพื่อไม่ให้ความขัดแย้งในท้องถิ่นนี้ถูก “อินเตอร์เนชั่นแนลไลซ์” ทำให้เป็น “ปมสากล” ไป

นักวิเคราะห์ยังไม่แน่ใจว่า การโจมตีครั้งนี้ควรถูกตีความว่าเป็น “คำเตือน” เพียงครั้งเดียว หรือเป็นเพียงแค่ “ครั้งแรก” ของการลงมือที่จะมีอีกหลายครั้งเกิดขึ้นตามมา

ข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คือ ระเบิดทำเองระดับ “โลว์-เกรด” ที่กู้มาได้จากเหตุการณ์ครั้งนี้ จุดระเบิดด้วยโทรศัพท์มือถือที่ใช้ “ซิมการ์ด” จากประเทศมาเลเซีย ซึ่งยากแก่การติดตามสาวหาถึงผู้ซื้่อหาหรือครอบครอง แตกต่างกับ “ซิมการ์ด” ของไทยที่ควบคุมเคร่งครัดกว่า

มูลเหตุที่เป็นแรงจูงใจ? คริสพินแสดงเอาไว้เลา-เลา ว่า อาจมีที่มาจากความในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในมาตราส่วนที่พูดถึงการให้ความคุ้มครองต่อพุทธศาสนาเหนือศาสนาอื่น ซึ่งว่ากันว่าเป็นที่มาของเสียงโหวต “โน” จำนวนมากในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

000_e00h7-2

ในขณะที่บอกเอาไว้ด้วยว่า นักวิเคราะห์บางส่วน เชื่อว่าการ “ขาดความคืบหน้า” ในการเจรจาเพื่อสันติภาพ “อาจเป็นปัจจัยส่วนหนึ่ง” ของการก่อเหตุครั้งนี้ แต่ในขณะเดียวกันก็ตั้งข้อสังเกตตามมาไว้ด้วยว่า เมื่อ 23 สิงหาคมที่ผ่านมาก็เกิดระเบิดครั้งใหญ่ขึ้นในปัตตานี-ใหญ่กว่าทุกจุดที่เกิดขึ้น 7 จุดก่อนหน้านี้ ระเบิดรถยนต์ที่ว่านี้เกิดขึ้นควบคู่กันไปกับแผนฟื้นฟูการเจรจา “กัวลาลัมเปอร์ทอล์ก” กับกลุ่มที่เรียกว่า “มาราปาตานี” ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง พร้อมกับชี้ให้เห็นไว้ด้วยว่า บีอาร์เอ็นเองแทบไม่มีส่วนร่วมใดกับการเจรจาดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้การเจรจาไม่ได้ทำให้ความรุนแรงในพื้นที่ลดลงแต่อย่างใด

นอกจากนั้น คริสพินตั้งข้อสังเกตต่อว่า ในวันที่ 29 สิงหาคม ไทยกับมาเลเซียประกาศเตรียมลงนามในความตกลงทวิภาคีเพื่อสร้าง “กำแพงความมั่นคง” ขึ้นตามแนวชายแดนระหว่างประเทศทั้งสอง พร้อมๆ กับการขยายความร่วมมือระหว่างกันในการต่อต้านอาชญากรรมข้ามแดน และประเด็นของการถือสองสัญชาติของพลเรือนตามแนวชายแดน อันเป็นความตกลงที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีกลาโหมกับ อาหมัด ซาฮิด ฮามาดี รองนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย

A Thai soldier searches parked motorcycles at the site of a bombing from the night before outside of a hotel, in the southern province of Pattani on August 24, 2016. A large car bomb blew up outside a hotel in Thailand's insurgency-plagued southern region late, killing one and wounding more than 30 people, some of them critically, police said. Although the area is not popular with tourists, the country has been on edge since a string of small but coordinated explosions earlier this month struck resort towns further north. / AFP PHOTO / TUWAEDANIYA MERINGING
AFP PHOTO / TUWAEDANIYA MERINGING

ชอว์น คริสพิน ยอมรับว่า เนื่องจากบีอาร์เอ็นไม่เคยแสดงตัวตน ทำงานอยู่ในเงามืดตลอดเวลา มูลเหตุจูงใจในการก่อเหตุครั้งนี้จึงยังคงเป็นเรื่องที่สามารถ “ตีความ” กันได้อย่างกว้างขวางอยู่ต่อไป

เขาสรุปเอาไว้อย่างคลุมเครือแต่คมคายทีเดียวว่า

“แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ทั้งสองฟากที่แตกแยกกันหนักในการเมืองไทยและรวมไปถึงกลุ่มทหารที่แก่งแย่งแข่งขันกัน ต่างเป็นที่รู้กันดีว่ามีสายสัมพันธ์อยู่กับกลุ่มก่อความไม่สงบและเครือข่ายอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องด้วยกันทั้งนั้น และทั้งสองฝ่ายต่างก็เคยใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงใต้ดินดังกล่าวมาแล้วในความขัดแย้งทางการเมืองยืดเยื้อนับสิบปีที่ผ่านมาเพื่อบ่อนเซาะคู่แข่งในกรุงเทพฯ และในภูมิภาค”

วินาศกรรม 7 จังหวัดจึงไม่น่าจะเป็นครั้งสุดท้ายในทัศนะของหลายๆ คน

นั่นคือข้อสรุปของ คริสพิน ครับ!