วรศักดิ์ มหัทธโนบล : จักรวรรดิในกำแพง : โหมโรง (11)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ชนชาติที่มิใช่ฮั่น (ต่อ)

แต่ดังได้กล่าวไปแล้วว่า ชนชาติเหล่านี้มีอยู่หลายชนชาติ อีกทั้งแต่ละชนชาติก็ยังมีชื่อที่เรียกขานกันค่อนข้างซับซ้อน การทำความรู้จักกับชนชาติเหล่านี้จึงควรเริ่มจากความรู้ที่เกิดขึ้นในชั้นหลัง แล้วจึงค่อยย้อนกลับไปหาอดีตก่อนหน้านั้น

เพราะความรู้ที่เกิดขึ้นในชั้นหลังถือเป็นความรู้ที่ผ่านการศึกษาชนชาติเหล่านี้ได้ดีขึ้น ชัดเจนขึ้น และเข้าใจมากขึ้น ว่าท่ามกลางชื่อเรียกที่สับสนซับซ้อนนั้น ถึงที่สุดแล้วก็สามารถแยกให้เห็นว่าชนชาติใดเป็นชนชาติใด และชนชาติใดเป็นอนุชนชาติของชนชาติหลัก

การแยกชนชาติเหล่านี้ได้ชัดเจนขึ้นนี้ นับว่ามีผลต่อการศึกษาบทบาทของแต่ละชนชาติที่มีอยู่ในแต่ละช่วง ที่ว่าบางช่วงชนชาติหนึ่งอาจมีบทบาทสูง และพออีกบางช่วงบทบาทก็จะตกไปเป็นของอีกชนชาติหนึ่ง เป็นต้น โดยบทบาทที่ว่านี้มีแกนกลางของเรื่องราวอยู่ตรงปฏิสัมพันธ์ที่มีกับชนชาติหรือชนชั้นปกครองจีน

แต่กระนั้นก็ตาม ก่อนที่จะนำผลการศึกษาในปัจจุบันมาอธิบาย ในที่นี้ขอย้อนกลับไปยังอดีตระยะใกล้ก่อนว่า ในช่วงที่การศึกษาเรื่องชนชาติของจีนยังไม่ก้าวหน้าและเป็นระบบดังทุกวันนี้นั้น พอเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 ที่การศึกษาเรื่องนี้มีความก้าวหน้ามากขึ้นแล้วนั้น จีนได้กล่าวถึงชนชาติที่อยู่ร่วมแผ่นดินเดียวกันกับตนว่าอย่างไร

เพื่อให้เห็นภาพพัฒนาการของจักรวรรดิจีนที่มิอาจตัดขาดปฏิสัมพันธ์จากชนชาติอื่นไปได้ มิฉะนั้นแล้วจักรวรรดิก็มิอาจเกิดขึ้นได้ หรือไม่ก็เกิดในอีกรูปแบบหนึ่งที่ต่างไปจากที่เห็น

จากเหตุดังกล่าว ชนชาติที่มิใช่ฮั่นที่มีการศึกษากันในยุคสมัยใหม่ระยะใกล้จึงพบว่า จีนมีชนชาติหลักอยู่ไม่กี่ชนชาติ จากนั้นชนชาติเหล่านี้ก็แตกไปเป็นชนชาติอื่นผ่านคำเรียกขานที่แตกต่างกันไป

และชนชาติที่มีคำเรียกขานที่คุ้นชินโดยทั่วไปซึ่งมีอยู่สี่ชนชาติด้วยกันคือ ชนชาติอี๋ หมาน หญง และตี๋ นั้นมีปฏิสัมพันธ์กับชนชาติหลักที่จะได้กล่าวถึงต่อไปอย่างไร ชนชาติหลักนี้มีอยู่หกชนชาติด้วยกันคือ ซวินอี้ว์ ตงหู เหา ตีเชียง เย่ว์ และผู

ต่อไปนี้คือเรื่องราวโดยสังเขปของชนชาติหลักทั้งหกนี้

 

ซวินอี้ว์ จัดเป็นชนชาติแรกๆ ที่ใกล้ชิดสนิทกับชนชาติจีน และจัดเป็นชนชาติที่เก่าแก่ชนชาติหนึ่ง ชนชาตินี้บางที่ก็เรียกว่า เสียนอวิ่น ครั้นสมัยหลังต่อมาก็เรียกว่า ซย์งหนีว์ (1)

แต่พอเป็นตัวเขียนแล้วคำเรียกทั้งสองพยางค์ดังกล่าวกลับเขียนเป็นพยางค์เดียวว่า คุน ฉ้วน ฉ่วน ที่แปลว่า คูน้ำหรือร่องน้ำ กับฉ่วนที่แปลว่า สุนัข (ฉ่วนทั้งสองตัวนี้มีตัวเขียนคนละแบบ แต่ออกเสียงเหมือนกัน) จนเวลาล่วงเลยไปอีกก็เขียนว่า หู

สำหรับถิ่นฐานของชนชาตินี้อยู่ตรงบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือ หรือที่เป็นมณฑลซานซีและส่านซีในปัจจุบัน

จะเห็นได้ว่า ชื่อที่เรียกกันในชั้นหลังชื่อหนึ่งคือ ซย์งหนีว์ นั้น ต่อมาจะกลายเป็นชนชาติที่สามารถลุกขึ้นท้าทายจักรวรรดิจีนจนส่งผลสะเทือนอย่างลึกซึ้ง

ตงหู หากเอกสารโบราณจะทึกทักเอาว่าหญงและตี๋เป็นชนชาติเดียวกัน ก็คงมิอาจโต้แย้งได้ แต่หากจะสรุปว่าตงหูและซย์งหนีว์ว่าเป็นชนชาติเดียวกันแล้ว ย่อมเป็นเรื่องที่ไม่ถูกนัก ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะภายหลังต่อมาตงหูก็คือ อูหวน และ เซียนเปย

ตอนนี้เองที่อูหวนกับเซียนเปยถูกทำให้เข้าใจว่าเป็นชนชาติเดียวกับซย์งหนีว์

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะก่อนที่ตงหูจะวิวัฒน์มาเป็นอูหวนกับเซียนเปยนั้น ตงหูได้ถูกซย์งหนีว์บุกเข้าตีจนแตก จากนั้นตงหูที่ยังรอดชีวิตก็ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่เป็นเชิงเขาติดกันสองลูกเรียกว่า เอียน ชนรุ่นหลังจึงเรียกตงหูที่แยกตั้งถิ่นฐานเป็นสองที่ว่าอูหวนกับเซียนเปย

ด้วยเหตุที่มีพัฒนาการดังกล่าวจึงทำให้ในชั้นหลังต่อมา ถิ่นฐานของตงหูจึงกระจายอยู่ในบริเวณซ่างกู่ อี๋ว์หยาง โย่วเป่ยจิง เหลียวซี และเหลียวตง อันเป็นอาณาบริเวณที่กว้างใหญ่ไพศาล แต่ก็เข้าใจได้ว่าที่เป็นเช่นนี้ก็เป็นเพราะอิทธิพลที่เกิดขึ้นในชั้นหลังต่อมาด้วย

 

เหา ไกลออกไปจากถิ่นฐานของเซียนเปยยังมีอีกชนชาติหนึ่งคือ เหา ชนชาตินี้บางที่ก็ว่าเป็นชนชาติเดียวกับตงอี๋หรืออี๋ตะวันออก บางที่ก็ว่าเป็นเป่ยตี๋หรือตี๋เหนือ ขณะที่ปกรณ์เรื่อง เมิ่งจื่อ ระบุว่า เหามีถิ่นฐานทางภาคเหนือ เป็นต้น

อันที่จริงแล้วถิ่นฐานแรกของชนชาติเหาคือภาคเหนือ ต่อมาถูกชนชาติอื่นรุกรานจึงได้อพยพไปอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ โดยอยู่พ้นออกไปทางเหนือจากกำแพงเมืองจีน ชนชาตินี้บางทีก็เรียกว่า ฟูอี๋ว์ จนชั้นหลังต่อมาจึงเรียกว่าโกวลี่ และไป๋จี่

ในอดีตเหาเป็นชนชาติที่เปิดการเจรจากับชนชาติฮั่นอยู่เสมอ จนทำให้ชนชาติทั้งสองมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง ทั้งๆ ที่เหาเป็นชนชาติที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกับจีนอย่างมาก เช่น ไม่บริโภคธัญพืชทั้งห้า บริโภคแต่ลูกเดือย ไม่มีรั้วกำแพงเวียงวัง ศาลบรรพชน จารีตประเพณี ผู้นำ เงินตรา ผ้าไหม งานเลี้ยงรับรอง กรมกอง และหน่วยบริหาร เป็นต้น

 

ตีเชียง ชื่อสองพยางค์นี้มิใช่ชื่อของชนชาติเดียว หากเป็นชื่อของสองชนชาติ ตีเชียงมีถิ่นฐานและทำมาหากินอยู่ตรงบริเวณที่ราบสูง และเป็นชนชาติที่มีการแยกเป็นอนุชนชาติออกไปมากมายในชั้นหลัง

ทั้งนี้ ในสมัยราชวงศ์ฮั่นได้เรียกตีเชียงด้วยชื่อที่ต่างกันไป แล้วแต่ว่าชนชาตินี้จะอาศัยอยู่ในดินแดนใด โดยกลุ่มที่อาศัยอยู่ตามแนวแม่น้ำหวงที่ไหลผ่านมณฑลชิงไห่และตลอดสองฝั่งแม่น้ำเหลืองนั้น (2) จะเรียกว่า เชียงเหญิน (คนเชียงหรือชาวเชียง)

ส่วนกลุ่มที่สร้างรัฐของตนขึ้นในดินแดนทางตะวันตกบริเวณภูเขาเทียน (เทียนซาน) หรือเขตปกครองตนเองชนชาติซินเจียงอุยกูร์ในปัจจุบันจะเรียกว่า ตีเชียง

กลุ่มที่อยู่บริเวณภูเขาฉีเหลียน (ฉีเหลียนซาน) ที่ทอดยาวกางกั้นมณฑลกานซู่กับชิงไห่ในปัจจุบันจะเรียกว่า เย่ว์ซื่อ

และกลุ่มที่อยู่ในบริเวณที่ราบมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) อวิ๋นหนาน (ยูนนาน) และบริเวณใกล้เคียงจะเรียกว่า ซีหนานอี๋ (อี๋ตะวันตกเฉียงใต้)

ชนชาติตีเชียงเป็นชนชาติหนึ่งที่เคยมีการเจรจาต่อรองกับจีนมาแต่โบราณ โดยจีนจะเรียกชนชาติตีว่า ปา และเรียกชนชาติเชียงว่า กุ่ยฟาง โดยคำว่า กุ่ย ในคำหลังนี้เป็นคำที่ชาวจีนใช้ด่าคน มีความหมายประมาณผีสางหรือสิ่งเน่าเหม็น

 

เย่ว์ ชนชาติที่อยู่ทางตอนใต้ของจีนเป็นชนชาติที่เคยเจรจาต่อรองกับจีนมาช้านาน โดยชนชาติในแถบนี้สามารถย้อนกลับไปถึงยุคตำนาน นั่นคือ ชนชาติหลี เรื่องเล่าของชนชาตินี้มีอยู่ในตำนานการศึกระหว่างฮว๋างตี้กับชือโหยว (3)

กล่าวกันว่า ชนชาติหลีมีรัฐเป็นของตนเองคือ ซานเหมียว และมีชือโหยวเป็นผู้นำ จนเมื่อชือโหยวพ่ายแพ้ในการศึกให้กับฮว๋างตี้แล้ว กลุ่มชนของเขาก็ถูกเรียกว่า ชือ ตามพยางค์แรกในชื่อของเขา แต่ชนชาติฮั่นมักจะเรียกต่างออกไปว่า หลี จนในชั้นหลังต่อมาคำว่า หลี มีตัวเขียนสามแบบด้วยกัน

ส่วนรัฐซานเหมียวของชือโหยวนั้น หลังจากล่มสลายแล้วก็ไม่มีการเรียกขานอันใดอีก จนถึงสมัยราชวงศ์หยวน หมิง และชิง คำว่า เหมียว จึงกลายเป็นชื่อของอีกชนชาติไปในที่สุด เหมียวก็คือชนชาติที่ไทยเราเรียกขานว่า แม้ว

จะเห็นได้ว่า ชนชาติหลีก็คือชนชาติเหมียวที่เรียกกันในชั้นหลัง ถิ่นฐานแรกเริ่มตั้งอยู่ที่บริเวณที่ราบสูงของเอเชียกลาง ต่อมาจึงได้เคลื่อนย้ายลงมาตามแนวภูเขาเหิงต้วน (เหิงต้วนซาน) ของมณฑลอวิ๋นหนานและซื่อชวนปัจจุบัน โดยมุ่งลงไปทางใต้เป็นหลัก จากนั้นจึงแยกเป็นสองกลุ่ม

กลุ่มหนึ่ง อาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งของเอเชีย อีกกลุ่มหนึ่ง อาศัยอยู่ในภาคพื้นทวีปในส่วนที่เป็นชายขอบ

—————————————————————————————-
(1) คำว่า ซย์งหนีว์ นี้คำในพยางค์แรกอาจทดลองออกเสียงได้โดยออกว่า ซี-โอง เร็วๆ แล้วจะได้เป็น ซย์ง ซึ่งเป็นเสียงขึ้นจมูกเล็กน้อย การออกเสียงทำนองนี้จึงไม่คุ้นกับคนไทย ด้วยเหตุนี้ ในบางที่จึงออกเสียงง่ายๆ ว่า ซงหนู
(2) การทับศัพท์คำว่า หวง ของชื่อแม่น้ำหวงนี้จริงๆ แล้วเป็นเสียงเดียวกับ ฮว๋าง ที่เป็นชื่อจีนของแม่น้ำเหลือง แต่เป็นแม่น้ำคนละสายและมีตัวเขียนที่ต่างกัน ในที่นี้จึงทับศัพท์ให้ต่างกันเพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิดว่าเป็นแม่น้ำสายเดียวกัน
(3) ฮว๋างตี้คือบุคคลที่ชาวจีนเชื่อว่าเป็นบรรพชนที่ให้กำเนิดชนชาติจีน โดยคู่กับอีกบุคคลหนึ่งคือ เอี๋ยนตี้ ชื่อของทั้งสองจึงมักถูกเรียกคู่กันสั้นๆ ว่า เอี๋ยนฮว๋าง ส่วนชือโหยวเป็นบุคคลในตำนานที่มีชื่อเสียงเพราะทำศึกกับฮว๋างตี้