จรัญ มะลูลีม : ความขัดแย้งสหรัฐ-อิหร่านว่าด้วยนิวเคลียร์ (จบ)

จรัญ มะลูลีม

ท้ายที่สุดหากว่าสหรัฐปฏิเสธข้อตกลงนิวเคลียร์ ประชาคมระหว่างประเทศก็มีสิทธิที่จะกล่าวว่าสหรัฐเป็นผู้รับผิดชอบในการทำให้ข้อตกลงดังกล่าวต้องล่มลง

รัฐบาลอิหร่านกล่าวว่า หากสหรัฐนำเอาการแซงก์ชั่นอิหร่านมาใช้อีก สหรัฐก็ต้องรับผิดชอบในการละเมิดแผนปฏิบัติการที่ตกลงกับอิหร่านว่าด้วยการยุติโครงการนิวเคลียร์ (JCPOA) ซึ่งเวลานี้สหรัฐก็อยู่อย่างโดดเดี่ยวแต่ฝ่ายเดียว

เวลานี้พันธมิตรสำคัญของสหรัฐได้เริ่มทำธุรกิจกับอิหร่านโดยพร้อมหน้าแล้ว และมีความเชื่อกันโดยทั่วไปว่า ถ้าสหรัฐนำเอาการแซงก์ชั่นอิหร่านมาใช้อีก การแซงก์ชั่นจะส่งผลจำกัดในเวลานี้เป็นอย่างมาก

มุฮัมมัด ญาวาด ชารีฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่านบอกว่าอิหร่านจะคงยึดมั่นกับข้อตกลงหากว่าสหภาพยุโรปหรือผู้ลงนามอื่นๆ ยึดมั่นกับข้อตกลงที่ทำไว้

เขากล่าวว่า เขาได้รับการยืนยันจากรัฐบาลต่างๆ ของสหภาพยุโรปว่าพวกเขาจะปฏิบัติตามข้อตกลง

เขากล่าวต่อไปอีกว่า ประเทศยุโรปทั้งหลายได้บอกฝ่ายบริหารของทรัมป์ว่าอย่าทำให้ข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ทำกับอิหร่านต้องมาหยุดชะงักลง

ประเทศยุโรปมีความโกรธเคืองฝ่ายบริหารของทรัมป์มาก่อนหน้านี้แล้วในประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะการตัดสินใจออกมาจากข้อตกลงเรื่องภูมิอากาศตามข้อตกลงปารีส (Paris climate accord)

 

หลังจากลงนามเรื่องนิวเคลียร์แล้วสหภาพยุโรปต่างก็แสดงตนเองว่าต้องการเป็นคู่ค้าขนาดใหญ่กับอิหร่านเกือบทั้งสิ้น

สหภาพยุโรปมีความสนใจที่จะทำธุรกิจกับอิหร่านเนื่องจากเศรษฐกิจของอิหร่านเป็นเศรษฐกิจผสมและเป็นเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนผ่าน โดยมีเศรษฐกิจภาคสาธารณะขนาดใหญ่ ทั้งนี้ ร้อยละ 60 ของเศรษฐกิจได้รับการวางแผนมาจากส่วนกลาง โดยการผลิตน้ำมันและก๊าซ จะเป็นเศรษฐกิจหลักของประเทศ ทั้งนี้ โรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า 40 แห่งจะเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่กับตลาดหุ้นเตหะราน ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดแลกเปลี่ยนที่ดีที่สุดของโลก เมื่อหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยจำนวนร้อยละ 10 ของน้ำมันสำรองที่ได้รับการยอมรับและร้อยละ 15 ของก๊าซ อิหร่านได้รับการพิจารณาว่าเป็นหนึ่งในมหาอำนาจด้านพลังงาน (energy superpower) ของโลก

อิหร่านเป็นประเทศที่มีพลังซื้อเพลิงที่ใหญ่ที่สุดอันดับที่ 18 ของโลก และมีผลิตภัณฑ์รวมอยู่ในอันดับที่ 29 ของโลก เป็นสมาชิกของกลุ่ม 11 ประเทศที่รวมตัวกันทางเศรษฐกิจที่รู้จักกันในชื่อ Nex Eleven อันเนื่องมาจากศักยภาพ และการพัฒนาที่ก้าวหน้า ลักษณะเด่นของเศรษฐกิจของอิหร่านก็คือการมีอยู่ของมูลนิธิทางศาสนาต่างๆ ที่มีขนาดใหญ่มีชื่อว่าบอนยาด (Bonyad) โดยมีงบประมาณร่วมกันมากกว่าการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางถึงร้อยละ 30

การส่งออกน้ำมันและก๊าซถือเป็นการส่งออกที่ใหญ่ที่สุด และเป็นรายได้หลักของรัฐบาล ใน ค.ศ.2010 รายได้จากการส่งออกน้ำมันทำให้อิหร่านมีเงินสำรองต่างประเทศกว่าแสนล้านเหรียญสหรัฐใน ค.ศ.2010 อิหร่านเติบโตด้านวิทยาศาสตร์เป็นอันดับหนึ่งของโลกใน ค.ศ.2011 และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการพัฒนารวดเร็วที่สุดของโลกในด้านการติดต่อสื่อสาร

การค้าของสหภาพยุโรปกับอิหร่านพุ่งสูงขึ้นไปร้อยละ 58 ในปี 2016 และพุ่งสูงขึ้นเป็นร้อยละ 94 ในครึ่งปีแรกของปี 2017 หลังการยกเลิกการแซงก์ชั่น การค้าทวิภาคีระหว่างสหภาพยุโรปกับอิหร่านมีจำนวนเพิ่มขึ้น

ด้วยเหตุนี้ หากทรัมป์ปฏิเสธที่จะให้การยอมรับข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่าน มันก็จะส่งผลกระทบไม่มากนัก

 

ในความเป็นจริง ทบวงปรมาณูสากล (IAEA) ต่างหากที่จะเป็นผู้รับผิดชอบและให้การยอมรับและติดตามดูว่าอิหร่านปฏิบัติตามข้อตกลงหรือไม่

ประเทศต่างๆ ที่อยู่ในตะวันตกและที่อยู่นอกตะวันตกต่างก็หวาดกลัวว่าปฏิบัติการของทรัมป์จะเป็นบทนำไปสู่การพัฒนาความขัดแย้งกับอิหร่านให้ขยายกว้างออกไป

ซาอุดีอาระเบียและอิสราเอลได้กระตุ้นสหรัฐมาเป็นเวลายาวนานให้เปลี่ยนรัฐบาลของอิหร่านเสียด้วยการใช้กำลัง แต่เหตุการณ์เช่นนี้ก็ยังไม่เคยเกิดขึ้น

กลุ่มผู้สนับสนุนอิสราเอลในสหรัฐเคยประสบความสำเร็จมาแล้วในการผลักดันให้สหรัฐเข้าไปรุกรานอิรัก แต่ไม่สำเร็จในการเข้าไปเปลี่ยนแปลงรัฐบาลซีเรีย

ซีเรีย อิรักและอิหร่านเป็นสามประเทศที่ยืนหยัดสนับสนุนการปลดปล่อยปาเลสไตน์จากอิสราเอลผู้เข้ายึดครองดินแดนของพวกเขามามากกว่าครึ่งศตวรรษ และเรียกร้องให้มีการสถาปนารัฐปาเลสไตน์ที่ชอบธรรมขึ้นมา

สมาชิกสภาของสหรัฐบางคนได้วิพากษ์ฝ่ายบริหารของทรัมป์ว่าสร้างข้อมูลไม่น่าเชื่อถือขึ้นมา เพื่อปรักปรำอิหร่านพร้อมกับกล่าวว่าสหรัฐกำลังละเมิดข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านด้วยความคิดที่จะทำสงครามกับประเทศนี้ในอนาคต

การเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญในทางเศรษฐกิจของอิหร่านได้แก่การยุติการแซงก์ชั่นจากนานาประเทศ ทั้งนี้ การแซงก์ชั่นโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านจากนานาประเทศได้ยุติลงเมื่อวันที่ 17 มกราคม ปี 2016 หลังจากทบวงปรมาณูสากล (International Atomic Energy Agency) หรือ IAEA ประกาศว่าอิหร่านได้ทำตามข้อตกลงทุกข้อที่มีขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2015 กับสมาชิกถาวร 5 ชาติของสหประชาชาติ (P5) กับอีกหนึ่งประเทศ หรือที่เรียกว่า P5+1 ซึ่งก็ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซียจีนและเยอรมนี

การยกเลิกการแซงก์ชั่นโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านดังกล่าวทำให้อิหร่านสามารถส่งออกน้ำมันได้อย่างครอบคลุมอีกครั้งในปี 2016 ที่ผ่านมา