สำรวจตัวเลข เด็กดร็อปเอาต์ งานหิน ที่รอการแก้ไข

ปัญหาเด็กดร็อปเอาต์ หรือเด็กออกกลางคัน เป็นเรื่องใหญ่รอการแก้ไขแบบเบ็ดเสร็จ…

ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา สำรวจพบว่า มีเด็กตกหล่นที่หลุดออกจากระบบการศึกษามากถึง 238,707 คน

กระทรวงศึกษาธิการ ระดมหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัด ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศับ (กศน.) ในขณะนั้น ก่อนยกสถานะมาเป็นสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) เร่งแก้ปัญหาโดยจะออกนโยบายตามน้องกลับมาเรียน และโครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ

ซึ่ง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ออกมาประกาศความสำเร็จช่วงปลายปี 2565 ว่าทั้งสองโครงการสามารถดึงเด็กที่อยู่นอกระบบกลับมาเรียนได้หลายหมื่นคน

พร้อมประกาศตั้งเป้า ตัวเลขเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ต้องเป็น “ศูนย์” ภายในปี 2565!!

 

แต่ดูเหมือนจะไม่เป็นไปตามคาด ล่าสุดจากการตรวจสอบพบปัญหา ตัวเลขเด็กดร็อปเอาต์เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ตลอดปี 2565 พบว่ามีอยู่กว่า 1 แสนคน!!

ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ครอบครัวยากจนอย่างแท้จริง แม้จะกลับเข้าเรียนตามโครงการพาน้องกลับเข้าเรียนแล้ว แต่พอเรียนไปไม่นานก็ออกจากระบบการศึกษาอีก เพราะมีปัญหาเรื่องปากท้อง ต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน

นายอรรถพล สังขวาสี ปลัด ศธ. ระบุที่มาของตัวเลขดังกล่าวว่า ตัวเลขเด็กดร็อปเอาต์ 1 แสนราย เป็นตัวเลขเด็กออกกลางคันตลอดทั้งปี 2565 ส่วนใหญ่เพราะมีปัญหาความยากจน ต้องออกมาช่วยพ่อแม่ทำงาน

แม้โครงการพาน้องกลับมาเรียนเป็นนโยบายที่ดี แต่ต้องปรับวิธีการ เพราะเด็กอาจไม่อยากเรียนรู้ในรูปแบบเดิม วิธีการเรียนอาจไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียน 100%

โดยอาจหาวิธีที่เหมาะสมในรูปแบบต่างๆ เช่น จัดหลักสูตรระยะสั้น เรียนร่วมกับสถานประกอบการ เพื่อให้มีรายได้ระหว่างเรียน เปิดให้มีการเทียบโอนหน่วยกิต เป็นต้น

 

สอดคล้องกับ นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา กล่าวว่า ข้อเท็จจริงตัวเลขเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา มีมากกว่า 1 แสนราย โดยส่วนตัวมองว่าโครงการพาน้องกลับมาเรียนเป็นนโยบายที่ดี แต่ไม่มีระบบการติดตามช่วยเหลืออย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการให้ทุนการศึกษา การหางานให้ทำ เป็นต้น ส่งผลให้เด็กที่มีครอบครัวยากจน ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาอีกครั้ง

คาดว่าปี 2566 นี้ ตัวเลขดร็อปเอาต์จะเพิ่มขึ้นกว่า 80% และจะเป็นเช่นนี้ วนเวียนต่อเนื่อง

โดยกลุ่มเด็กที่ออกกลางคันมากที่สุดคือ กลุ่มที่จบมัธยมศึกษาปีที่ 3 และกำลังจะเรียนต่อชั้น ม.4 และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เพราะค่าใช้จ่ายในการเรียนต่อหัวค่อนข้างสูง

โดยเฉลี่ยทุกระดับ รายละ 18,732 บาทต่อคนต่อปี แต่ถ้าเฉพาะกลุ่ม ม.3 ขึ้น ม.4 หรือระดับ ปวช. จะสูงขึ้นอยู่ที่ 40,000-70,000 บาทต่อคนต่อปี ขณะที่ผู้ปกครองมีรายได้ลดลง สำหรับครอบครัวที่มีรายได้น้อยเฉลี่ยเดือนละ 3,000-6,000 บาทต่อเดือน และในจำนวนนี้กว่า 25% มีภาระหนี้สินจากการกู้ยืมเฉลี่ยรายละ 147,000 บาท และยังไม่มีแนวโน้มที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะสภาพเศรษฐกิจ การค้าขายและการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้สำคัญของประเทศยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ดีเท่าที่ควร

“จากสาเหตุทั้งหมดในข้างต้น เป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่ปีนี้จะมีตัวเลขเด็กออกกลางคันเพิ่มขึ้นถึง 82% แม้ ศธ.จะมีการติดตามเด็กกลับเข้ามาเรียนต่อเนื่อง แต่ถ้าไม่มีระบบติดตามช่วยเหลือ ก็เป็นเรื่องยากที่จะให้เด็กอยู่ในระบบการศึกษาได้จนจบการศึกษา เพราะปัจจัยเรื่องปากท้องเป็นสิ่งสำคัญ”

“ดังนั้น ควรวางแผนแก้ปัญหา นอกจากจะพาน้องกลับเข้าเรียนแล้ว ควรหาทุนการศึกษา หรือวางแผนให้เด็กมีอาชีพระหว่างเรียน เพื่อให้สามารถทำงานเลี้ยงตัวเอง และช่วยเหลือครอบครัวได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ที่หากมีรัฐบาลใหม่เข้ามาจะต้องเร่งดำเนินการ เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพิ่มคุณภาพการศึกษา” นายสมพงษ์กล่าว

 

ด้าน นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ระบุว่า สพฐ.ยังไม่มั่นใจตัวเลขดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และยังเดินหน้าดึงเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาตามโครงการพาน้องกลับมาเรียนอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้ยังไม่มีการสำรวจตัวเลขว่ามีเด็กที่กลับเข้ามาเรียนตามโครงการดังกล่าว และหลุดออกจากระบบการศึกษาเพิ่มขึ้นจำนวนเท่าไร เพราะยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน ซึ่งจะต้องรอข้อมูลจำนวนผู้เรียนทั่วประเทศ ที่จะมีรายงานเข้ามายัง สพฐ. ทุกวันที่ 10 มิถุนายนของทุกปี จึงจะสามารถประเมินสถานการณ์เพื่อแก้ไขปัญหาในภาพรวมต่อไปได้

ขณะที่ ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ยอมรับว่า จากการตรวจสอบข้อมูลในส่วนของอาชีวะ มีนักเรียน นักศึกษาที่ออกกลางคัน ประมาณ 17,000 ราย สาเหตุจากสภาพเศรษฐกิจ ความยากจน โดยได้สั่งการให้วิทยาลัยอาชีวทั่วประเทศ ที่มีเด็กออกกลางคันลงไปดูแล ออกติดตาม เพื่อให้กลับเข้ามาเรียน ซึ่งในส่วนของอาชีวะ จะมีความแตกต่างกับเด็กในสังกัด สพฐ. อยู่ตรงที่ไม่ใช่เด็กการศึกษาภาคบังคับ

ดังนั้น การติดตามกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาจึงต้องใช้วิธีการเชิญชวนให้กลับเข้ามาเรียน มีการให้ทุนการศึกษา มีที่พัก มีงานทำ ตามโครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ ซึ่งมีสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการกว่า 88 แห่งทั่วประเทศ

ถือเป็นงานหินอีกเรื่องที่คงต้องรอรัฐบาลใหม่ เข้ามาพิสูจน์ฝีมือ เพราะการแก้ไขคงไม่ได้จบแค่พาเด็กกลับเข้ามานั่งเรียน แต่อยู่ที่จะทำอย่างไรให้เด็กเหล่านั้น สามารถเรียนได้จนจบการศึกษา หรือกระทั่งการจัดหารูปแบบการศึกษาที่เหมาะสม มีงานทำแน่นอน มาเป็นตัวเลือกสำคัญให้กับกลุ่มคมที่ยังต้องดิ้นรนเพื่อปากท้องมาก่อน… •

 

 

| การศึกษา