ครึ่งศตวรรษ การเป็นนิสิตนิติฯ จุฬาฯ

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง | ธงทอง จันทรางศุ

 

ครึ่งศตวรรษ

การเป็นนิสิตนิติฯ จุฬาฯ

 

ต้นเดือนมิถุนายน พุทธศักราช 2566 นี้ เป็นวาระที่ผมมีอายุครบ 68 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 8 มิถุนายน

จะเรียกว่าเป็นผู้อาวุโสสังคมไทยเต็มภาคภูมิแล้วก็เห็นจะได้

แต่ที่เป็นหมุดหมายสำคัญยิ่งกว่านั้น คือเป็นวาระครบรอบ 50 ปีหรือครึ่งศตวรรษของการที่ผมเข้าเป็นนิสิตในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เวลาผ่านไปเร็วมากจริงๆ ครับ

ยุคสมัยของผมการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมีคำเรียกโดยย่อว่าสอบเอนทรานซ์ ซึ่งมาจากภาษาอังกฤษว่า entrance นั่นเอง เวลานั้นนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายและมีความประสงค์จะเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ มีจำนวนมากเกินกว่าที่นั่งในระบบมหาวิทยาลัยจำกัดจำนวนรับ หรือที่เรียกว่ามหาวิทยาลัยปิดสามารถรับได้เป็นอันมาก

ต้องไม่ลืมว่าเด็กยุคผมนั้น เวลานี้เรียกว่าเป็นเด็กยุคเบบี้บูม Baby boom หมายความว่าเป็นยุคที่มีเด็กเกิดเป็นจำนวนมากหลังจากที่โลกทั้งใบของเรานี้เพิ่งผ่านวิกฤตสงครามโลกครั้งที่สองไปหมาดๆ

เห็นจะเข้าสูตรที่ฝรั่งบอกว่า Make love not make war กระมังครับ อิอิ

 

ผมและเพื่อนร่วมยุคสมัยจึงเติบโตขึ้นมาและต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยในเวลาใกล้เคียงกัน ตามปฏิทินการศึกษาในครั้งนั้น ก่อนสอบเข้ามหาวิทยาลัย เราทุกคนต้องสอบผ่านการวัดผลระดับชาติของกระทรวงศึกษาธิการที่ใช้ข้อสอบเดียวกันทั้งประเทศสำหรับนักเรียนที่จะเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายซึ่งเรียกว่าชั้น ม.ศ.5 เสียก่อน

การสอบด้วยข้อสอบเดียวกันทั้งประเทศนี้เป็นมหกรรมมาก

ไม่ใช่ต่างโรงเรียนต่างออกข้อสอบของตัวเองอย่างสมัยนี้นะครับ

สนามสอบมัธยมปลายนี้ ถ้าผมจำไม่ผิดก็น่าจะอยู่ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ปลายเดือน หรือไม่ก็เป็นต้นเดือนมีนาคม และประกาศผลอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนเมษายน

นักเรียนสายวิทยาศาสตร์ที่ได้คะแนนเฉลี่ยรวมทั้งหมดไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 และนักเรียนสายศิลปะที่ได้คะแนนเฉลี่ยรวมทั้งหมดไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 จะได้รับเกียรติยศพิเศษที่เรียกว่า “สอบติดบอร์ด” ถือเป็นหน้าเป็นตาแก่โรงเรียนและเจ้าตัวเป็นอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ นอกจากการประกาศคะแนนแล้วยังมีการประกาศลำดับที่ที่สอบได้ไล่เรียงตั้งแต่ที่หนึ่งลงไปจนถึงคนสุดท้ายของนักเรียนที่ติดบอร์ดด้วย

 

สําหรับปีการศึกษา 2515 ซึ่งประกาศผลสอบในเดือนเมษายน พุทธศักราช 2516 นักเรียนที่ได้คะแนนอันดับหนึ่งของประเทศในสายศิลปะ คือสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เราได้ประจักษ์ในพระปรีชาสามารถอันเลิศล้ำของพระองค์ท่านอยู่ในบัดนี้แล้ว

ผมเป็นพวกปลายอ้อปลายแขมครับ ได้ชื่อว่าเป็นนักเรียนติดบอร์ดแผนกศิลปะบ้างเหมือนกันโดยได้คะแนนรวมเฉลี่ยร้อยละ 75.4 และเรียงลำดับแล้วเป็นลำดับที่ 200 ของประเทศ

พ้นจากการลุ้นผลสอบ ม.ศ.5 มาแล้ว ขยักต่อไปก็ต้องลุ้นผลสอบเอนทรานซ์ ซึ่งประกาศผลตอนปลายเดือนพฤษภาคม คืออีกประมาณหนึ่งเดือนถัดมา

เวลานั้นผู้สมัครสอบสามารถเลือกจัดลำดับคณะที่ตัวเองมีความประสงค์จะเข้าไปเป็นนิสิตนักศึกษาได้หกลำดับ ผมก็เลือกเสียเต็มเหนี่ยวเลยครับ จัดเต็มทั้งหกลำดับ

โดยกรอกแบบฟอร์มยกให้คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นลำดับที่หนึ่ง

ลำดับที่สองก็ยังคงเป็นนิติศาสตร์ จุฬาฯ เหมือนเดิม แต่เป็นนิสิตภาคสมทบ คือเรียนในตอนเย็นตอนค่ำ ของอย่างนี้ต้องเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้ ไม่ได้ลำดับหนึ่ง ได้ลำดับสองก็ยังดี จริงไหมครับ

เมื่อผลการสอบประกาศมาอย่างเป็นทางการ ผมดีใจจนเนื้อเต้นที่ตัวเองสอบติดที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ตามที่ตัวเองปรารถนา

แถมยังรู้คะแนนด้วยนะครับว่า สอบเข้าได้เป็นที่สองของคณะ

 

ก่อนหน้านั้นประมาณหนึ่งปีคือในวันที่ 18 มิถุนายน พุทธศักราช 2515 ได้มีการจัดตั้งหรือยกฐานะของแผนกวิชานิติศาสตร์ซึ่งเป็นแผนกวิชาหนึ่งในคณะรัฐศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นเป็นคณะอย่างเต็มภาคภูมิ

สังเกตเห็นไหมครับว่า วันเกิดของคณะนิติศาสตร์นั้นอยู่ในวันที่ 18 มิถุนายน ซึ่งเลยวันเปิดภาคเรียนภาคแรกของมหาวิทยาลัยที่อยู่ในสัปดาห์ต้นของเดือนมิถุนายนมาแล้ว

เพราะฉะนั้น นิสิตก่อนผมหนึ่งรุ่น จึงได้ลงทะเบียนเป็นนิสิตของแผนกวิชานิติศาสตร์สังกัดคณะรัฐศาสตร์ ใช้อักษรนำหน้าเลขทะเบียนของตัวเองว่า ร. (ซึ่งเป็นอักษรย่อของคณะรัฐศาสตร์) แล้วตามด้วยตัวเลขบอกลำดับการเป็นนิสิตในคณะนั้น

ด้วยเหตุนี้รุ่นพี่ของผมที่ถัดจากผมขึ้นไปเพียงแค่หนึ่งปี เช่น ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ หรือศาสตราจารย์พิเศษเข็มชัย ชุติวงศ์ อดีตอัยการสูงสุด ที่ผมเรียกชื่อของท่านทั้งสองนำหน้าด้วยคำว่า “พี่” อยู่เสมอ ท่านจึงสามารถนับญาติกับนิสิตคณะรัฐศาสตร์คนอื่นได้เต็มที่ เรียกว่าเป็น “สิงห์ดำ” ขนานแท้ๆ ทีเดียว

ส่วนผมและเพื่อนร่วมรุ่นนั้น ลงทะเบียนเป็นนิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยปลายเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช 2516 ซึ่งมีการก่อตั้งคณะนิติศาสตร์ขึ้นเป็นทางการได้เกือบครบหนึ่งปีเต็มแล้ว เราจึงไม่มีเลขทะเบียนเป็นนิสิตคณะรัฐศาสตร์ หากแต่มีอักษรย่อในระบบทะเบียนคณะนิติศาสตร์ของเราเอง โดยใช้ น. นำหน้า แล้วตามด้วยลำดับที่ที่สอบเข้าได้ในปีนั้น

ด้วยเหตุนี้ผมจึงมีรหัสประจำตัวของความเป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า น.0002 ด้วยประการฉะนี้

 

เดือนมิถุนายนปีนั้น จอมพลถนอม กิตติขจร ยังเป็นนายกรัฐมนตรี และท่านได้อยู่ในตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ปี 2506 แล้วด้วยซ้ำ โดยท่านได้เป็นนายกฯ แบบสืบทอดอำนาจจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ บ้าง เป็นนายกฯ โดยตั้งพรรคทหารเฉพาะกิจลงสนามเลือกตั้งตามกติกาที่พวกท่านเขียนเองบ้าง เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติบ้าง หรือเป็นนายกรัฐมนตรีตามธรรมนูญการปกครองชั่วคราวที่พวกท่านเขียนเอง (อีกแล้ว) บ้าง

ทำไมเขียนย่อหน้านี้แล้วคุ้นเคยเป็นบ้าเป็นหลังก็ไม่รู้ ฮา!

แต่เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว เพียงแค่ไม่ถึงครึ่งปี เมื่อผมสอบปลายภาคภาคแรกของชีวิตความเป็นนิสิตในมหาวิทยาลัยเสร็จในวันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พุทธศักราช 2516 ถัดไปอีกสองวัน เหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 ก็เกิดขึ้น

ค่ำวันนั้นเองก็เป็นอันสิ้นสุดอายุของรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร แต่เพียงแค่นั้น

และจบแบบหนังบู๊นองเลือดเสียด้วย

 

เมื่อเวลาผ่านไปถึงครึ่งศตวรรษเข้าแล้วในเดือนมิถุนายนอย่างนี้ เป็นโอกาสที่ผมควรจะได้ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถ้าจะให้ผมพูดอะไรโดยย่นย่อเกี่ยวกับเมืองไทยในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา จากสายตาของผู้เคยเป็นนิสิตอายุ 18 ปีเพิ่งเริ่มเรียนวิชากฎหมาย มาถึงทุกวันนี้ ผมอายุ 68 ปีและทำงานมาแล้วสารพัดอย่างในชีวิต

ผมอยากจะพูดอะไรบ้าง

มีครับ

ผมอยากบอกกับทุกคนว่า ดูเหมือนว่าโลกของเราจะมีอัตราเร่งของความเปลี่ยนแปลงมิติต่างๆ เร็วขึ้นทุกขณะ เมืองไทยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโลกไม่สามารถหยุดนิ่งอยู่กับที่ได้ เราต้องปรับเปลี่ยนตัวเราไปทุกแง่มุม เพื่อให้สามารถรับมือกับโจทย์หรือคำถามท้าทายใหม่ๆ อยู่เสมอ

การเปิดใจให้กว้าง เปิดสายตาให้มองไกล พูดคุยและรับฟังกันให้มากขึ้น รู้จักปรับตัวและปรับความคิดให้ทันกับกาลสมัย

เป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องท่องไว้ให้ขึ้นใจ มิเช่นนั้นแล้วเราก็จะกลายเป็นคนที่ไร้ความสุขเมื่อต้องพบเผชิญกับโลกปัจจุบัน ที่ไม่เหมือนกับโลกที่เรารู้จักเมื่อสมัยที่เราเป็นเด็ก

หันซ้ายก็ทุกข์ หันขวาก็ทุกข์ อย่างที่หลายคนรู้สึกอยู่ในเวลานี้

ลองเอาคาถาศักดิ์สิทธิ์ที่ผมบอกมาข้างต้นไปอ่านทวนดูหลายๆ ครั้ง บางทีท่านจะพบคำตอบว่าความสุขที่แท้จริงอยู่ตรงไหนนะครับ

ไม่ได้อยู่ตรงที่เราสามารถบงการทุกอย่างได้ตามใจชอบ

แต่อยู่ตรงที่เราเข้าใจความเป็นจริงของโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอต่างหากครับ

ถ้าท่านจอมพลถนอมสามารถทำอะไรได้ใหม่อีกรอบหนึ่ง และถ้าท่านเลือกที่จะปรับตัวท่านเร็วกว่าเรื่องทั้งหลายที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงของท่าน

เราอาจจะได้เขียนหรือได้อ่านประวัติศาสตร์หน้าใหม่อีกหลายเรื่องที่ไม่ต้องนองเลือดอย่างเมื่อห้าสิบปีมาแล้วก็เป็นได้

ผมเบื่อประวัติศาสตร์แบบนั้นเต็มกลืนแล้วครับ