รัฐประหาร 2557 ปฏิบัติการ One Man Show ของพล.อ.ประยุทธ์ “ผมจะรับผิดชอบเพียงคนเดียว”

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

หลัง 16.30 น. วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้กลายเป็นนายทหารที่มีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศไทยในเวลานี้ หลังจากที่เขาเป็นผู้นำการตัดสินใจก่อการรัฐaประหาร ในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

โดยเขาเป็นหัวหน้า คสช. หรือหัวหน้าคณะรัฐประหารด้วยตนเอง อันเป็นปฏิบัติการที่ลับ ลึก และรวดเร็ว แบบที่ไม่มีใครคาดฝัน ด้วยการใช้การประกาศกฎอัยการศึก เป็นการกรุยทาง

ด้วยเพราะเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจ ผบ.ทบ. ประกาศใช้กฎอัยการศึก เมื่อ 03.00 น.วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 นั้น ก็ทำแบบเงียบๆ แต่ทว่าบรรดา ผบ.หน่วย ต่างรู้แล้วว่าก้าวต่อไปคือ การรัฐประหาร

แต่ทว่า การรัฐประหารครั้งนี้ ถือเป็นปฏิบัติการ One Man Show เป็นการคิดและวางแผนเพียงลำพัง ของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยไม่ได้ปรึกษาหารือกับบิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส., พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร., พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ก่อนเลย เพราะจะต้องเป็นความลับที่สุด

แต่ทว่า ก่อนหน้านั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้เคยหารือกับ ผบ.สส. และ ผบ.เหล่าทัพ เรื่อง การประกาศใช้กฎอัยการศึก เมื่อจำเป็น แต่ทว่าเขาก็ไม่ได้บอกใครก่อนว่าจะดีเดย์วันไหน

จนในวันที่เขาตัดสินใจประกาศกฎอัยการศึก เมื่อตี 3 ของวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 โดยเขามาแจ้งให้ทราบในภายหลัง เมื่อประกาศกฎอัยการศึกแล้ว และตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบ (กอ.รส.) ขึ้น และตั้ง ผบ.สส., ผบ.เหล่าทัพ และ ผบ.ตร. เป็นที่ปรึกษา กอ.รส.

จะเห็นได้ว่า ในเวลานั้น พล.อ.ธนะศักดิ์ ได้ออกเดินทางไปเยือนกองทัพปากีสถาน ตั้งแต่ 19-25 พฤษภาคม เพราะไม่รู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะประกาศใช้กฎอัยการศึก และต่อมาก็ตัดสินใจยึดอำนาจปกครองประเทศ

จน พล.อ.ธนะศักดิ์ ต้องรีบเดินทางกลับมาก่อนกำหนด และมาร่วมเป็นคณะ คสช. ในตำแหน่ง รองหัวหน้า คสช. เช่นเดียวกับ ผบ.ทร., ผบ.ทอ. และ ผบ.ตร.

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

การรัฐประหารครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องวางแผนรัดกุม และต้องทำแบบ need to know ให้มีคนรู้น้อยที่สุด เพื่อป้องกันการรั่วไหล ที่สำคัญคือ ต้องจับแกนนำ เพื่อป้องกันการต่อต้าน

แม้แต่บรรดา ผบ.หน่วยคุมกำลัง ก็รู้ก่อนล่วงหน้า แค่ 15-30 นาทีเท่านั้น ว่าจะรัฐประหาร เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ มีคำสั่งให้นำกำลังเข้ามาที่สโมสร ทบ. ถ.วิภาวดีฯ เพื่อจับกุมแกนนำกลุ่มต่างๆ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เชิญมาประชุมร่วมกันเพื่อหาทางออกเป็นวันที่สอง

โดยการนัดหารือครั้งนี้ ก็ถูกมองว่าเป็นแผนในการจับตัวแกนนำ ของ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ทว่าหลอกให้ตายใจ เพราะไม่ได้จับกุมในวันแรก

เมื่อมีการรัฐประหารขึ้นมาจริงๆ ถ้าจะบอกว่าไม่ได้คิดการล่วงหน้าหรือวางแผนมาก่อนคงไม่ได้ เพราะทหารต้องเตรียมพร้อมสำหรับทุกหนทาง แต่สถานการณ์เป็นตัวกำหนด ว่าในที่สุดต้องรัฐประหาร เพราะไม่มีทางเลือกอื่น

 

(Photo by THAI ARMY / AFP)

ต้องบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีการคิดเตรียมไว้ทั้ง Plan A Plan B หรือแม้แต่ Plan C ว่า หากคุยและตกลงกันได้ และในกรณีที่ตกลงกันไม่ได้ ก็ต้องปฏิวัติ แบบที่เรียกว่า ต้องเตรียมพร้อมทุกอย่างไว้แล้ว รอแค่ดูสถานการณ์ และการตัดสินใจเท่านั้น

จึงไม่แปลกที่ ในการประชุม 7 ฝ่ายวันที่สอง พล.อ.ประยุทธ์ จะกล่าวเปิดประชุม ออกตัวว่า “ผมจะรับผิดชอบทั้งหมดเพียงคนเดียว ไม่ว่ามันจะถูกหรือผิด” เพราะผมเป็นหนี้บุญคุณแผ่นดิน ที่จะต้องช่วยแก้ไขปัญหาและหาทางออก”

แต่ทว่า นั่นถือเป็นจังหวะที่ดีที่สุดที่ไม่ควรปล่อยให้พลาดไป เพราะหากไปตามจับแกนนำในภายหลัง ก็คงจะยาก นั่นจึงเป็นปัจจัยเร่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องตัดสินใจ หลังจากที่เริ่มการประชุม 7 ฝ่าย ในเวลา 14.00 น. ในการคุยวงใหญ่ที่ส่อเค้าคุยกันไม่ได้ จน พล.อ.ประยุทธ์ ให้โอกาสฝ่าย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาฯ กปปส. และฝ่าย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. เข้าห้องไปพูดคุยกันเป็นการส่วนตัว

เมื่อออกมาจากการพูดคุยกันแค่ 2 ฝ่าย มาสู่ห้องประชุมใหญ่ และรู้ผลว่าตกลงกันไม่ได้แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ก็พูดว่า

“เมื่อไม่ยอมกันเลย ฝั่งนี้ก็ไม่ยอมเลือกตั้ง นี่ก็ไม่ยอมปฏิรูป รัฐบาลก็ไม่ยอมลาออก งั้นผมขออภัยที่จะต้องยึดอำนาจ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวท่ามกลางความตกใจ

ก่อนที่จะบอกให้ ฝ่ายคณะกรรมการการเลือกตั้ง และวุฒิสภา ที่มาร่วมประชุมด้วยนั้น กลับไป ส่วนที่เหลือผมขอให้ทหารควบคุมตัวไว้

จากนั้นก็ชุลมุน ทหารพร้อมกำลังอาวุธครบมือก็เข้ามาควบคุมตัวแกนนำทั้งหมด พาเดินไปขึ้นรถตู้แล้วพาเข้าไปใน ร.1 รอ. บก.ของ คสช. ก่อนที่จะจับพวกเขาแยกย้ายกันไปควบคุมตัวตามเซฟต์เฮ้าส์ในหน่วยทหาร ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

(Photo by THAI ARMY / AFP)

ยิ่งในเวลานี้ เขาออกคำสั่งคณะรัฐประหาร ในนาม National Council of Peace and Order มอบอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ให้แก่ตนเอง

ก่อนที่จะจัดโครงสร้าง คสช. ที่เปรียบเสมือนเป็นรัฐบาลทหาร โดยแบ่งงานให้ ผบ.สส., ผบ.ทร., ผบ.ทอ., ผบ.ตร. และนายทหารในกองทัพ รับผิดชอบสายงานต่างๆ ประหนึ่งเป็น รองนายกรัฐมนตรี คุมกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ โดยให้ปลัดกระทรวงทุกกระทรวงและข้าราชการประจำ ทำหน้าที่แทนรัฐมนตรี ในแต่ละกระทรวง

ที่สำคัญคือ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ผูกมัดกำหนดเวลาในการหาตัวนายกรัฐมนตรี หรือรัฐบาลพลเรือนชั่วคราว หรือแม้แต่การเลือกตั้งเลย

“ยังไม่ถึงเวลาที่จะพูดเรื่องตั้งนายกฯ แต่มันต้องมีอยู่แล้ว ส่วนการเลือกตั้งเมื่อใดนั้น แล้วแต่สถานการณ์ ไม่ได้กำหนด จนกว่าบ้านเมืองจะเรียบร้อย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุในการประชุมกับปลัดกระทรวงและหัวหน้าส่วนราชการ และบรรดาเอกอัครราชทูต และผู้ช่วยทูตทหารประเทศต่างๆ เมื่อ 23 พฤษภาคม ว่า คสช. จะดูแลประเทศไปในระยะหนึ่งก่อน โดยไม่ได้ระบุว่า นานแค่ไหน

แต่บอกว่าจนกว่าบ้านเมืองจะสงบเรียบร้อย และตั้งสภาปฏิรูป เพื่อทำการปฏิรูปการเมืองและทุกๆ ด้าน และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้เรียบร้อยก่อน แล้วจึงนำไปสู่การเลือกตั้ง

(Photo by MANAN VATSYAYANA / AFP)

มีคำถามมากมายว่า พล.อ.ประยุทธ์ คิดวางแผนที่แยบยลนี้ได้อย่างไร มีใครเป็นที่ปรึกษา เพราะเก็บเงียบ ลับอย่างมาก ตั้งแต่การประกาศใช้กฎอัยการศึก เพราะแม้จะรู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ เตรียมใช้กฎอัยการศึกตั้งแต่เกิดเหตุรุนแรง ยิง กปปส. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ออกแถลงการณ์ 7 ข้อ ที่ขู่จะมีการใช้ปฏิบัติการทางทหารเต็มรูปแบบ

แต่ไม่มีใครคาดคิด ว่าเขาจะประกาศใช้กฎอัยการศึกในตี 3 ของวันที่ 20 พฤษภาคม นั้นเลย เพราะยังไม่ได้มีเหตุการณ์รุนแรง หรือที่จะเรียกว่า จลาจลเกิดขึ้น แต่ทว่า ผบ.หน่วยทหาร ที่คุมกำลัง รู้ดีว่า เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศกฎอัยการศึกแล้ว ก็มีโอกาสที่จะรัฐประหาร พวกเขาจึงเตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อนแล้ว

อีกทั้งในการแถลงข่าวเมื่อใช้กฎอัยการศึก พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ยอมตอบคำถามที่ว่า ก้าวต่อไปจะนำไปสู่การรัฐประหารหรือไม่ กล่าวแค่ว่า “คำถามแบบนี้ใครเขาจะตอบกัน”

ท่ามกลางข่าวสะพัดว่า กุนซือของ พล.อ.ประยุทธ์ นั้น ในด้านกฎหมาย การร่างคำสั่งต่างๆ นั้น ก็คือมือกฎหมายชั้นสุดยอดของไทย อย่าง ดร.วิษณุ เครืองาม และ นายบวรศักดิ์ อุวรรโณ นั่นเอง

ส่วนในด้านการทหารนั้น คือ บิ๊กหนุ่ย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ อดีตรอง ผบ.ทบ. เพื่อน ตท.12 ของเขา ที่เกษียณไปเมื่อกันยายนปีที่แล้ว ซึ่งเป็นคนมีบทบาทสำคัญในการรัฐประหาร เคียงข้าง พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อ 19 กันยายน 2549 และการกระชับพื้นที่คนเสื้อแดงปี 2553

และ บิ๊กต๊อก พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผช.ผบ.ทบ. นายทหารน้องรักของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นมือทำงานลับให้มาตลอด ที่ถูกจับตามองว่ามีโอกาสสูงที่จะเป็น ผบ.ทบ.คนใหม่ เบียดแซงบิ๊กโด่ง พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รอง ผบ.ทบ. ที่ได้เป็น เลขาฯ คสช.

นั่นย่อมหมายถึงว่า ต่อเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ยอมเกษียณราชการ และแต่งตั้ง ผบ.สส. และ ผบ.เหล่าทัพใหม่ ไม่ต่ออายุราชการ

 

Thai anti-government protesters celebrate at their camp outside Government House after Thailand’s army chief announced that the armed forces were seizing power, in Bangkok on May 22, 2014. (Photo by CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP)

แต่หาก พล.อ.ประยุทธ์ และ ผบ.เหล่าทัพ ชุดนี้ ต้องทำหน้าที่ คสช. ต่อไป โดยไม่ได้คุมกำลัง ก็ถือว่า “ขาลอย” อาจเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาในเรื่องการสั่งการ ผบ.เหล่าทัพชุดใหม่ นั่นย่อมหมายถึงว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องเลือกคนที่เขาไว้วางใจที่สุด

นั่นทำให้ พล.อ.ไพบูลย์ มีโอกาสสูงไม่น้อย แถมทั้งได้รับการแต่งตั้งให้ดูแลฝ่ายกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม ของ คสช. ด้วย และอาจมีชื่อในคณะรัฐมนตรีด้วย จนคาดกันว่าการเมืองหลังปฏิวัติ นอกจากจะยุ่งในช่วงแรกๆ ที่มีการต่อต้านปฏิวัติไม่หยุดหย่อนแล้ว จะยุ่งอีกครั้งในช่วงการโยกย้ายทหารกันยายนนี้

แม้ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะเคยบอกว่า “รัฐประหารไปก็ไม่จบ” แต่เขาก็ชี้แจงว่า มันเป็นความจำเป็นที่ต้องยึดอำนาจการปกครองประเทศ เพราะมีปัญหาที่ไม่มีทางออก และเกิดความขัดแย้ง ความวุ่นวาย ประชาชนเดือดร้อน และเพื่อป้องกันเหตุรุนแรง เนื่องจากมีการข่าวที่มีการนำอาวุธสงครามจำนวนมาก มาก่อเหตุอีก

ที่สำคัญ คือ บทเรียนจากการรัฐประหารหลายครั้งในอดีต จนมาครั้งล่าสุด 19 กันยายน ได้กลายเป็นบทเรียนที่ พล.อ.ประยุทธ์ นำมาปรับเปลี่ยน การรัฐประหารของเขา จนมีการใช้ “ยาแรง” มากขึ้น

โดยเฉพะการใช้อำนาจในการเรียกตัว และควบคุมตัว แกนนำกลุ่มต่างๆ พรรคการเมือง อดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีต รมต. และแกนนำพรรคเพื่อไทย คนใกล้ชิด กุนซือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และฝ่าย กปปส. พรรคประชาธิปัตย์ และย้อนหลังไปถึงคนสำคัญที่มีบทบาทตั้งแต่สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ก่อการรัฐประหารปี 2549 และฝ่ายมวลชน เช่น นายสนธิ ลิ้มทองกุล รวมมาถึงนักวิชาการสายนิติราษฎร์

รวมทั้งการใช้อำนาจในการควบคุมสื่อมวลชน ทั้งการสั่งปิด และการเซ็นเซอร์รายการที่วิจารณ์การเมือง โดย คสช. ต้องการให้เสนอข่าวด้านเศรษฐกิจ บันเทิง และเปิดเพลง มากกว่า

 

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการตอนหนึ่ง ว่า รู้ตัวว่าถูกด่าที่ปิดทีวี เพราะคนไทยติดละคร เขาจึงเร่งในการเปิดสัญญาณให้ฟรีทีวีก่อน

ท่ามกลางกลุ่มต่างๆ ที่ออกมาต่อต้านการปฏิวัติทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดย คสช. สั่งให้ทหารจัดการจับกุมทั้งหมด รวมทั้งการกวาดล้างอาวุธสงคราม และจับกุมแกนนำคนเสื้อแดงในพื้นที่ด้วย

หากบ้านเมืองไม่สงบ พล.อ.ประยุทธ์ ออกตัวไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า “ผมจะไม่ยอมเกษียณนะ” เพราะเขาและ ผบ.สส., ผบ.ทร., ผบ.ทอ. และ ผบ.ตร. แผงอำนาจ คสช. จะเกษียณราชการ ในกันยายนนี้พร้อมกันทั้งหมด ก็อาจเป็นไปได้ที่จะต่ออายุตัวเอง ซึ่งจะทำให้นายทหารในกองทัพ ที่รอขยับขึ้นทดแทน ไม่พอใจได้ หรือการออกคำสั่งให้พวกเขาเป็น คสช. ดูแลประเทศต่อไป จนกว่าจะปฏิรูปและเลือกตั้ง

สถานการณ์ที่ใช้ “ยาแรง” เพราะมีการต่อต้าน มีการใช้กองกำลังติดอาวุธ แต่ทว่าก็ทำให้เป็นห่วงกัน ว่าการต่อต้านรัฐประหารจะมุดลงเป็นขบวนการใต้ดิน และการต่อสู้ในทางโซเชี่ยลมีเดีย ที่ คสช. พยายามปิดและอุดทุกช่องโหว่

แต่ก็ต้องยอมรับว่า การรัฐประหาร ครั้งนี้ ได้รับการตอบรับในระดับหนึ่ง เพราะฝ่าย กปปส. และแนวร่วมนั้นแฮปปี้อยู่แล้ว ส่วนประชาชนก็ไม่มีทางเลือกอื่น เพราะเบื่อกับสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น แต่เมื่อทหารอาสาออกมาแก้ปัญหาด้วยการรัฐประหาร จึงทำให้เกิดความหวัง แต่ก็ถูกจับตามองว่าจะแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่

เพราะในช่วงแรกๆ ย่อมเป็นธรรมดาที่เรียกว่า เป็นช่วง Honey moon period ที่มีแต่ดอกไม้ รอยยิ้ม การให้กำลังใจทหาร และ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เปรียบเสมือนเป็นพระเอก หรือแม้แต่ซุปเปอร์แมน

“ช่วงนี้เป็น Honey moon period เราก็ต้องเตรียมพร้อมสำหรับช่วงเวลาหลังจากนี้” บิ๊กตู่กล่าว

ในขณะเดียวกัน กลุ่มต่อต้านปฏิวัติที่ออกมาตลอดนั้น ถูกฝ่าย คสช. มองว่ามีการจ้างมา และมองว่าเป็นพวกคนเสื้อแดงแฝงกายมามากกว่า ฝ่าย คสช. จึงเตือนว่าจะใช้มาตรการที่เข้มข้นต่อพวกที่ขัดคำสั่ง คสช.

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

งานนี้ถูกมองว่ามีการใช้อำนาจเข้มข้น ทั้งการลงดาบโยกย้ายฟ้าผ่า แต่ที่เกินคาด คือการย้ายบิ๊กอู๋ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ตามด้วย ย้าย บิ๊กแป๊ะ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกลาโหม เข้าประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยไม่แจ้งล่วงหน้าแก่เจ้าตัว

แต่ก็หวั่นๆ ว่า พล.ต.อ.อดุลย์ จะเคลื่อนไหว จึงยังคงให้ทำหน้าที่ รองหัวหน้า คสช. ต่อไป เพื่อให้มาทำงานใกล้ๆ ตัว ส่วน พล.อ.นิพัทธ์ นั้น ก็มีคำสั่งว่า “ให้อยู่เฉยๆ นิ่งๆ ไว้”

แต่ต้องยอมรับว่า เป็นการเพิ่มความขัดแย้งและรอยร้าวในกองทัพ และทหารกับตำรวจไม่น้อย แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังย้ำว่า 3 เหล่าทัพ กับตำรวจ เป็นหนึ่งเดียวกันก็ตาม

โดยเฉพาะ พล.อ.นิพัทธ์ นั้น แม้จะคาดการณ์ว่าถูกย้ายในการโยกย้ายเดือนกันยายน แต่ทว่า พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่รอใดๆ สั่งย้ายทันที แล้วให้บิ๊กเต่า พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รองปลัดกลาโหม เพื่อน ตท.12 ของ พล.อ.ประยุทธ์ เอง เป็นปลัดกลาโหม

พล.อ.ประยุทธ์ ที่แม้ไม่กำหนดกรอบเวลาของ คสช. ในการทำงานต่างๆ แต่ก็แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน โดยเขาบอกว่าจะทำให้เร็วที่สุด ใช้ม็อตโต้ “ถูกต้อง ชอบธรรม โปร่งใส เป็นธรรม และประสิทธิภาพ”

“ความขัดแย้งที่ยาวนานมา 9 ปี ไม่ใช่ว่าสังคมไทยจะต้องล่มสลายไป ทหารต้องออกมาดูแล เพราะ 6 เดือนที่ผ่านมา คนไทยทรมานมาพอแล้ว ถึงเวลาที่เราจะต้อง “คืนความสุขให้คนไทยทั้งชาติ” แล้ว บิ๊กตู่กล่าว และนั่นก็เป็นอีกชื่อหนึ่งของตัวย่อ คสช. ด้วยนั่นเอง

ท่ามกลางการจับตามองว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะนำพาประเทศไปในทิศทางไหน จะเป็นนายกรัฐมนตรีเสียเอง หรือตั้งใครขึ้นมา หรือว่าจะครองอำนาจไประยะหนึ่งก่อน หรือจนกว่าจะปฏิรูปเสร็จแล้วเลือกตั้ง

ที่สำคัญคือ รูปร่างหน้าตาของสภาปฏิรูป และสภานิติบัญญัติฯ ที่จะตั้งขึ้นนั้น จะเป็นตัวเฉลยว่า มีใครอยู่เบื้องหลังการรัฐประหารครั้งนี้บ้าง ดังนั้น จะต้องเลือกตัวแทนจากทุกฝ่ายจริงๆ เนื่องจากเวลานี้ แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะพยายามไม่เลือกปฏิบัติ เพราะจับแกนนำทุกฝ่าย เรียกทุกฝ่ายมารายงานตัว แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นฝ่ายระบอบทักษิณและคนเสื้อแดงมากกว่า

ความชอบธรรมของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงอยู่ที่ ความเป็นกลาง ยึดประโยชน์ประเทศสำคัญที่สุด แบบม็อตโต้ประจำใจของเขาที่ว่า Country First

เพราะประวัติศาสตร์ชาติไทย และประวัติศาสตร์แห่งชีวิตของ พล.อ.ประยุทธ์ เอง อยู่ในมือของเขาแล้ว อยู่ที่ว่า เขาจะว่า จะเขียนอย่างไรให้จบสวยงาม หรือตรงกันข้าม