ความเห็นแย้ง ต่อความพยายามกำหนดมาตรฐาน สถาปัตยกรรมไทย (จบ)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ความเห็นแย้ง

ต่อความพยายามกำหนดมาตรฐาน

สถาปัตยกรรมไทย (จบ)

 

จากทั้งหมดที่อธิบายมา ผมอยากสรุปว่า “เอกลักษณ์และความเป็นไทยทางสถาปัตยกรรม” เป็นเรื่องของการตีความของแต่ละบุคคล ไม่ใช่สัจธรรมที่มีอยู่จริง เป็นสิ่งที่เลื่อนไหลมากเกินกว่าจะหานิยามที่ชัดเจนได้ และเป็นเรื่องของรสนิยมทางการออกแบบมากกว่าหลักการจริงแท้ที่ก้าวข้ามกาลเวลาโดยไม่มีวันเปลี่ยนแปลง

จากความสนใจในเรื่องนี้โดยส่วนตัวมานานพบว่า ใครก็ตามที่พยายามค้นหาและนิยามความเป็นไทยทางสถาปัตยกรรมที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน สถาปนิก อาจารย์ นักวิชาการ หรือแม้กระทั่งศิลปินแห่งชาติ ต่างล้มเหลวทั้งสิ้น

คำอธิบายที่เกิดขึ้นมักเต็มไปด้วยความย้อนแย้งในตัวเอง ถ้าไม่เป็นการอธิบายที่เน้นกายภาพของรูปแบบและองค์ประกอบมาก (หลังคาจั่ว ทรงจอมแห ช่อฟ้า ใบระกา เสาลอย ย่อมุม) จนกลายเป็นความคับแคบแช่แข็งการสร้างสรรค์ ก็เป็นการอธิบายชนิดที่หลุดลอยออกไปสู่นามธรรมที่จับต้องอะไรแทบไม่ได้

จนลักษณะที่พูดออกมานั้นฟุ้งกระจายและสามารถจะเป็นอะไรก็ได้

 

เมื่อไม่สามารถจับต้องได้อย่างมีหลักเกณฑ์ ตัวชี้วัดว่าคำพูดที่ฟุ้งกระจายเหล่านั้น อันไหนน่าเชื่อถือและไร้สาระ จึงอยู่ที่สถานะและบารมีของผู้พูดเป็นสำคัญ มิใช่จากเนื้อหาและเหตุผลที่แท้จริง

หากคำอธิบายฟุ้งๆ มาจากตาสีตาสา นักศึกษาสถาปัตยกรรม สถาปนิกจบใหม่ หรือแม้แต่สถาปนิกที่จบมาโดยตรงจากสาขาสถาปัตยกรรมไทยแต่จบมาเพียงไม่นาน ทั้งหมดก็เป็นเพียงแค่ลมปากและความเพ้อฝันของคนที่ไม่รู้จริง

แต่เมื่อใดก็ตาม ที่คำอธิบายฟุ้งๆ มาจากผู้ที่ถูกเรียกว่า “ผู้เชี่ยวชาญ” (อาจารย์ นักวิชาการ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากศิลปินแห่งชาติ) ความฟุ้งนั้นจะแลดูเป็นเรื่องของหลักปรัชญาอันลึกซึ้ง และคนส่วนใหญ่ก็พร้อมจะพยักหน้าขานรับว่า “ใช่แล้ว นี่แหละความเป็นไทย ช่างสลับซับซ้อนเลอเลิศยิ่งนัก” แม้ว่าตัวเองอาจจะฟังไม่รู้เรื่อง แต่ก็ไม่กล้าพูดอะไร เพราะเกรงบารมีของความเป็นผู้เชี่ยวชาญ

ยิ่งไปกว่านั้น นิยามนามธรรมฟุ้งๆ หลายอย่างที่ถูกสอนกันในโรงเรียนสถาปัตยกรรม หากคิดอย่างรอบคอบเราก็จะพบว่า เป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งในการออกแบบงานสถาปัตยกรรมในสังคมอื่น เช่น ความโปร่งเบาลอย ก็ปรากฏให้เห็นแนวทางการออกแบบสถาปัตยกรรมยุคสมัยใหม่มากมาย ความอ่อนช้อยและพุ่งทะยานเสียดฟ้า เราก็พบเห็นมากมายในงานสถาปัตยกรรมยุคกลางหลายแห่งในโลก

ในขณะที่ความพยายามที่จะนิยามความเป็นไทยอย่างรูปธรรม เช่น เทคนิควิธีการเข้าไม้แบบโบราณของไทย ในหลายกรณีเราก็พบเห็นเทคนิคเดียวกันจากหลายสังคมจนไม่อาจพูดได้ว่ามันคือเทคนิคเฉพาะของสถาปัตยกรรมไทยเท่านั้น

หากอ่านสิ่งที่ผมเขียนแล้วคล้อยตาม สิ่งที่ควรคิดต่อก็คือ เมื่อเราไม่มีทางที่จะนิยาม “เอกลักษณ์และความเป็นไทยทางสถาปัตยกรรม” ว่าคืออะไรอย่างแท้จริงได้ เราย่อมไม่ควรที่จะยอมหรือปล่อยให้มีใครมากำหนด “มาตรฐานสถาปัตยกรรมไทย” ด้วยเช่นกัน

ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะพกพาความเชี่ยวชาญ บารมี และคำนำหน้า (อาจารย์, ดร., ศาสตราจารย์, ราชบัณฑิต, ศิลปินแห่งชาติ, ปราชญ์ชาวบ้าน) มามากแค่ไหน

 

สังคมไทยมีตัวอย่างความน่ากลัวและอันตรายจากหน่วยงานหรือองค์กรที่เสนอตัวเข้ามาทำหน้าที่รักษาความเป็นไทย รักษามาตรฐานอันดีงาม รักษาวัฒนธรรมไทย ฯลฯ มากมายแล้วนะครับ ควรจะลองมองดูตัวอย่างเทียบเคียงเหล่านี้แล้วเอามาเป็นบทเรียน

“คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์” คือตัวอย่างชัดเจนที่คนในแวดวงภาพยนตร์หลายคนมองเห็นร่วมกันมานานแล้ว ว่าเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาแล้วขัดขวางการพัฒนาภาพยนตร์ไทยมากกว่าเป็นหน่วยงานที่จะส่งเสริมศิลปะแขนงนี้

การสั่งเซ็นเซอร์ฉากหลายฉากในภาพยนตร์หลายเรื่อง (ตลอดระยะเวลานับตั้งแต่มีคณะกรรมการชุดนี้) ด้วยเหตุผลแปลกประหลาดในนามของวัฒนธรรมไทยอันดีงาม เป็นตัวอย่างที่เราเห็นจนชินตาของการปล่อยให้เกิดหน่วยงานอะไรก็ไม่ทราบที่เข้ามาใช้อำนาจควบคุมศิลปะและการสร้างสรรค์

ล่าสุดคือ แนวคิดในการออกพระราชบัญญัติภาพยนตร์และเกมฉบับใหม่ ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม โดยมีเป้าหมายที่จะเข้ากำหนดมาตรฐานของเกมไทยในหลายด้าน ที่สำคัญคือ ต้องเป็นเกมที่ไม่ออกแบบขัดต่อค่านิยมและวัฒนธรรมอันดีงามของไทย, ความสงบเรียบร้อย, ศีลธรรมอันดี และความมั่นคงของรัฐ (ดูรายละเอียดใน http://www.culture.go.th/culture_th/ewt_news.php?nid=7039&filename=index)

ซึ่งเห็นได้ชัดถึงความพยายามของผู้มีอำนาจ ที่ต้องการเข้ามาควบคุมพื้นที่แห่งการสร้างสรรค์ด้วยข้ออ้างเรื่องความเป็นไทย

ความพยายามกำหนด “มาตรฐานสถาปัตยกรรมไทย” ก็มีลักษณะไม่ต่างกันในเชิงแนวคิดรากฐาน ที่มองว่าการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมไทยในพื้นที่วัดต้องถูกควบคุมด้วย “มาตรฐานสถาปัตยกรรมไทย” (ซึ่งคืออะไรก็ไม่รู้ ตามที่ผมอธิบายมาแล้วหลายตอน) โดยคนที่อ้างตนเองว่าเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” ในรูปแบบที่ไม่ต่างกันเลยจากคณะกรรมการทั้งหลายที่ยกตัวอย่างข้างต้นที่ชอบอ้างอำนาจของความเป็นผู้เชี่ยวชาญเพื่อมาสถาปนาอำนาจของตนเอง

 

ประเด็นต่อมา ผมอยากสื่อสารไปถึงสถาปนิกที่เรียนมาและมีปริญญาบัตรโดยตรงทางสถาปัตยกรรมไทย ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยเลยที่เห็นด้วยกับแนวคิดในการกำหนดมาตรฐานสถาปัตยกรรมไทย (ที่ไม่เห็นด้วยก็มีมากเช่นกันนะครับ) เพราะคิดว่าจะเป็นโอกาสดีในการที่จะได้รับงานออกแบบเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันงานออกแบบภายในวัด ผู้รับเหมาคือผู้ถือครองส่วนแบ่งทางการตลาดไว้เกือบทั้งหมด

แน่นอน การกำหนดมาตรฐานสถาปัตยกรรมไทย (หากเกิดขึ้นจริง) ผู้รับเหมาคงจะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก และในช่วงแรก สถาปนิกที่จบมาโดยตรงทางด้านสถาปัตยกรรมไทย (ซึ่งก็คงได้รับใบอนุญาตออกแบบภายในวัดโดยอัตโนมัติ เพราะเป็นผู้ศึกษาทางด้านนี้มาโดยตรง) น่าจะได้มีโอกาสทำงานเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

แต่ผมอยากจะชวนให้คิดว่า สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นข้างต้น ก็เป็นได้แค่เพียงผลประโยชน์ระยะสั้น ที่จะส่งผลร้ายต่อการสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมไทยในระยะยาวของทุกคน

เมื่อเราปล่อยให้มีกลุ่มคนที่สามารถชี้ว่า อะไรคือสถาปัตยกรรมไทยที่ถูกต้องและอะไรไม่ใช่ อะไรคือสถาปัตยกรรมที่สามารถสร้างในวัดได้และอะไรไม่ได้ นั่นเท่ากับว่าเราได้ยกเสรีภาพในการคิดสร้างสรรค์และตีความความเป็นไทยทางสถาปัตยกรรมของเราให้กับคณะบุคคลดังกล่าวไปจนหมดสิ้น

“เสรีภาพ” กับ “ความคิดสร้างสรรค์” เป็นสองด้านของเหรียญเดียวกันที่ไม่อาจขาดด้านใดด้านหนึ่งไปได้นะครับ หากเรายอมเสียเสรีภาพนี้ไปแล้ว เราย่อมไม่มีทางพัฒนาสถาปัตยกรรมไทยไปสู่อนาคตได้

ผมคิดว่าเกือบทุกคนที่เข้ามาเรียนสาขานี้ (ผมเองก็เช่นกัน) ต่างล้วนเคยมีความฝันที่อยากจะพัฒนาต่อยอดงานสถาปัตยกรรมไทยให้ก้าวไปข้างหน้า หลุดพ้นออกจากกรอบนิยามเดิมๆ (ไม่ว่าจะเป็นนิยามที่ยึดติดกับรูปแบบจนแช่แข็งตายตัว หรือนิยามแบบนามธรรมฟุ้งๆ ที่ฟังไม่รู้เรื่อง) และต้องการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมไทยใหม่ที่ทั้งคำนึงถึงบริบททางสังคมวัฒนธรรมไทยและสามารถยืนอยู่ได้ในระดับแนวหน้าของวงการสถาปัตยกรรมสากล

ผมอยากชวนให้ทุกคนย้อนกลับไปนึกถึงความฝันนี้อีกครั้ง และลองคิดดูว่า หากมีการกำหนดมาตรฐานสถาปัตยกรรมไทยขึ้นจริง สถาปัตยกรรมไทยใหม่ที่สร้างสรรค์และสามารถก้าวไปยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับสถาปัตยกรรมชั้นนำของโลกนั้นจะเกิดขึ้นจริงได้อย่างไร

การพัฒนาและสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมอย่างก้าวกระโดด หลายครั้งเรียกร้องการคิดที่ทะลุกรอบทลายกรง และแหวกออกจากมาตรฐานที่สังคมคุ้นเคย หลายครั้งเรียกร้องการลองผิดลองถูกมหาศาลจนกว่าจะเจอทิศทางที่ถูกต้อง ลักษณะดังกล่าวไม่มีวันจะเกิดขึ้นได้ หากเราปล่อยให้มีคนกลุ่มหนึ่งมีอำนาจในการกำหนดว่าอะไรคือไทยและอะไรไม่ใช่

 

ประเด็นสุดท้าย ผมอยากฝากไปถึงกลุ่มบุคคลที่ต้องการผลักดันให้เกิดการกำหนด “มาตรฐานสถาปัตยกรรมไทย”

ผมเชื่อว่าทั้งหมดคิดโครงการนี้ขึ้นด้วยเจตนาดี และไม่สบายใจที่เห็นงานออกแบบสถาปัตยกรรมในพื้นที่วัด ณ ปัจจุบันมีความไม่เหมาะสมหลายอย่าง

แต่สิ่งที่ผมอยากเสนอคือ วิธีแก้ปัญหาดังกล่าว ไม่ควรเลือกช่องทางแบบอำนาจนิยม ด้วยการออกกฎหมายมาบังคับในสิ่งที่ไม่ควรบังคับ (เรื่องศิลปวัฒนธรรมและการสร้างสรรค์) แต่ควรแก้ไขด้วยการพยายามให้ความรู้ในสิ่งที่พวกท่านคิดว่าถูกต้องดีงามแก่สังคม และโน้มน้าวให้สังคมเห็นว่าแนวทางที่ท่านคิดว่าถูกต้องนั้นคือแนวทางที่พวกเขาอยากทำด้วยความสมัครใจ

พูดให้ชัดก็คือ สถาปัตยกรรมไทยในแบบที่พวกท่านเห็นว่าเป็นมาตรฐานอันถูกต้องดีงามนั้น ควรพิจารณามันในฐานะของการเป็น “ทางเลือก” หนึ่งในหลายๆ ทางเลือกของการออกแบบสถาปัตยกรรมไทย

โปรดอย่าพยายามผลักดัน “ทางเลือก” ที่ตัวเองชอบให้กลายเป็นมาตรฐานที่ทุกคนต้องทำตาม เพราะมันสุ่มเสี่ยงมากที่จะกลายเป็นเผด็จการทางการออกแบบสถาปัตยกรรมไทย