ภาคธุรกิจมึนตลาดหุ้นแกว่ง กังวลตั้งรัฐบาลยืดเยื้อ นักลงทุนรอดูสถานการณ์

หลังผ่านพ้นการเลือกตั้งใหญ่ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 โดยผลการเลือกตั้งทำให้เกิดกระแสขึ้นว่า ประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิม ทั้งจากการที่รอบนี้คนไทยออกมาใช้สิทธิกันมากเป็นประวัติการณ์ ซึ่งคะแนนเสียงส่วนใหญ่ถูกเทไปให้แก่พรรคคนรุ่นใหม่อย่าง “พรรคก้าวไกล”

ดร.เชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ผลการเลือกตั้งที่ออกมามีนัยยะในตัวเองที่สำคัญ สะท้อนว่าประชาชนส่วนใหญ่เลือกโดยมุ่งหวังความเปลี่ยนแปลง ซึ่งไม่ใช่ประเด็นทางเศรษฐกิจ หรือเหมือนกับการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ

“รอบนี้พรรคที่ชนะน่าจะมาจากมุมมองด้านการปฏิรูปทางการเมือง ทำให้ประชาชนที่ต้องการเห็นการปฏิรูป เห็นการแก้ไขประเด็นต่างๆ ตัดสินใจเลือก โดยจุดที่ตัดสินใจรอบนี้ไม่ได้มาจากนโยบายด้านเศรษฐกิจ ไม่ได้ชนะกันด้วยนโยบายประชานิยม แต่มาจากมุมมองทางการเมืองมากกว่า” ดร.เชาว์กล่าว

ดร.เชาว์กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ดี การจัดตั้งรัฐบาลก็ยังต้องรอความชัดเจน ที่ต้องผ่านอีกหลายขั้นตอน ทั้งการรับรองโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) การลงมติในขั้นรัฐสภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ถึงตอนนั้นจึงจะชัดเจนว่าหน้าตารัฐบาลใหม่เป็นอย่างไร

 

ขณะที่ในช่วง 2 วันแรกหลังเลือกตั้ง ตลาดหุ้นไทยตอบรับในเชิงลบ โดยวันจันทร์ที่ 15 พฤษภาคม ดัชนี SET ปิดตลาดที่ 1,541.38 จุด ลดลง 19.97 จุด หรือ -1.28% ต่อเนื่องมาวันที่ 16 พฤษภาคม SET ปิดตลาดที่ 1,593.84 จุด ปรับตัวลดลง 1.54 จุด หรือ -0.10% โดยตลอด 2 วัน นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิไปกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งหุ้นที่ถูกแรงขายหนักๆ เป็นหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า โรงกลั่นน้ำมัน และค้าปลีก

รวมถึงหุ้นกลุ่มทุนใหญ่และหุ้นที่มีความเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง เพราะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่มีโอกาสถูกกดดันจากความเสี่ยงด้านนโยบายจากพรรคที่ชนะเลือกตั้ง โดยเฉพาะกลุ่มโรงไฟฟ้าดิ่งหนัก จากนโยบายที่จะลดค่า Ft (ค่าไฟฟ้าผันแปร) และยกเลิกค่าความพร้อมจ่าย ทั้งอาจจะมีการเปลี่ยนรูปแบบในการทำธุรกิจของกลุ่มโรงไฟฟ้าด้วย

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) กล่าวว่า ผลการเลือกตั้งของไทยแต่ละครั้ง ภาพตลาดหุ้นจะตอบรับเชิงบวกหรือลบขึ้นอยู่กับการจัดตั้งรัฐบาลว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งในครั้งนี้ตลาดหุ้นไทยตอบรับเชิงลบ เพราะผลการเลือกตั้งที่ออกมาผิดคาด จากพรรคก้าวไกลได้คะแนนสูงสุด ทำให้เกิดความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเป็นอะไรที่นักลงทุนกังวลอยู่ว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะลงตัวได้ดีแค่ไหน

นอกจากนี้ นักลงทุนยังคาดการณ์ไปแล้วด้วย หากพรรคก้าวไกลเข้ามาเป็นรัฐบาล นโยบายบางอย่างอาจทำให้บริษัทขนาดใหญ่ได้รับผลกระทบมาก จึงเห็นแรงเทขายหุ้นขนาดใหญ่ออกมา แม้ว่ายังไม่มีการพูดออกมาชัดเจนก็ตาม

“อย่างไรก็ดี ตอนนี้ต้องติดตามต่อไปว่าพรรคก้าวไกลจะจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ ดังนั้น ภาพตลาดหุ้นไทยในช่วงสั้นคงเป็นภาพซึมๆ เพื่อติดตามดูสถานการณ์ จนกว่าจะมีความชัดเจน” นายไพบูลย์กล่าว

 

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ ประธานสายงานเศรษฐกิจและวิชาการ รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า พรรคก้าวไกลมีบางนโยบายที่ตรงกับเอกชน เช่น การลดกฎระเบียบกฎหมาย การแก้ปัญหาราคาพลังงาน

แต่นโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทนั้น เอกชนมองว่ารัฐควรมองเรื่องสังคมและเศรษฐกิจไปพร้อมกัน หมายถึงต้องคุมค่าครองชีพไม่ให้ขึ้น ทำให้เงินในกระเป๋าแรงงานเหลือ และไปเพิ่มทักษะความสามารถแต่ละสายงาน ไม่ควรแก้ปัญหาด้วยการขึ้นค่าแรง

“ต่อให้ขึ้นค่าแรง แต่ค่าครองชีพยังสูง ก็ไม่มีประโยชน์ ในทางกลับกันทุกครั้งที่ขึ้นค่าแรง จะเห็นเม็ดเงินการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ลดลง เพราะนักลงทุนก็พิจารณาตัวนี้เป็นหลัก จึงมองว่าควรปล่อยให้เป็นกลไกตลาด จ่ายค่าแรงตามทักษะ อย่างจีนเขาใช้ automation เข้ามาช่วย ลดต้นทุน ผลิตภาพสูงขึ้น ก็ขึ้นค่าแรงได้ แต่ไทยไม่ใช่ เราคอยแต่จะแก้ปัญหาด้วยการขึ้นค่าแรงทุกครั้ง แบบนี้รายเล็กจะตาย รายใหญ่หนีไปใช้ automation ลดคน กลายเป็นคนตกงาน” นายมนตรีกล่าว

นายมนตรีกล่าวอีกว่า ส่วนการจัดตั้งรัฐบาล เชื่อว่าเดือนสิงหาคมน่าจะเป็นไปได้ แต่หากลากยาวจะสุญญากาศ 4-6 เดือน ก็จะมีผลต่องบประมาณแน่นอน ดังนั้น ควรรีบตั้งรัฐบาลและรีบทำงบประมาณให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้เร่งมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะยังมีอีกหลายโครงการที่ต้องสานต่อ

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวถึงนโยบายด้านพลังงานของพรรคก้าวไกลที่ประกาศจะปรับโครงสร้างพลังงานด้วยการทบทวนสัญญาเดิม เพื่อแก้ปัญหา “ทุนผูกขาด” พลังงานว่า สิ่งที่ภาคเอกชนจับตาคือ influencer หรือเจ้าของโครงการโรงไฟฟ้ารายเดิมๆ ที่นโยบายของรัฐเหมือนไปซัพพอร์ตรายนั้น ในส่วนนี้ พรรคก้าวไกลก็ทราบปัญหาดี เพราะทำการบ้านมาแล้ว

“การปรับแก้สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับภาคเอกชนเป็นเรื่องที่ทำได้ ที่อยากเห็นก็คือ ราคาต่อหน่วยต้องดีขึ้น และมีการแข่งขันเสรี ส่วนประเด็นความได้เปรียบของผู้ประกอบการไฟฟ้ารายใหญ่ก็มีบางรายได้ประโยชน์จากสัมปทานไฟฟ้าในอดีต ไม่ต่างกับธุรกิจสุราเช่นกัน” นายอิศเรศกล่าว

 

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO กล่าวว่า กรณีนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่อาจมีผลต่อการปรับลดค่าไฟฟ้านั้น ขณะนี้มองว่ายังเร็วเกินไปที่จะให้ความเห็น ขอดูนโยบายอย่างเป็นทางการที่ชัดเจนก่อน อย่างไรก็ตาม สำหรับการดำเนินธุรกิจของบริษัทปกติมีการปรับตัวตามสภาวการณ์และปัจจัยที่เปลี่ยนแปลง เพื่อให้พร้อมต่อการดำเนินธุรกิจอยู่เสมอ

นางจิราพรรณ ทองตัน หัวหน้าฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวในงาน Opportunity Day ว่า การที่มีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ นโยบายส่วนหนึ่งก็คงจะมุ่งไปที่การกระตุ้นเศรษฐกิจและการจับจ่ายภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการให้สวัสดิการกับประชาชน การปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ รวมถึงการลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน ซึ่งมองว่านโยบายในลักษณะนี้จะเป็นการกระตุ้นการจับจ่าย และเป็นการเพิ่มกำลังซื้อ ซึ่งจะส่งผลเชิงบวกในภาพธุรกิจของบริษัทและเศรษฐกิจในภาพรวม

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าพรรคไหนก็ตามที่มาเป็นรัฐบาล รู้อยู่แล้วว่าการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ดี และเห็นเงินได้เร็วที่สุด ดังนั้น ในเชิงนโยบายจึงไม่มีอะไรน่ากังวลมากนัก ส่วนตัวเป็นห่วงเรื่องวิธีการ หรือ implement มากกว่า และอยากเสนอให้รัฐบาลใหม่สนับสนุนให้การท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติ ฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ

ที่สุดแล้ว ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งจะออกมารูปแบบไหน คงต้องติดตามกันต่อไป